– ๓ – การศึกษาเพื่ออารยธรรมที่ยั่งยืน

24 มกราคม 2538
เป็นตอนที่ 14 จาก 17 ตอนของ

– ๓ –
การศึกษาเพื่ออารยธรรมที่ยั่งยืน

มนุษย์มีความสามารถแท้ที่เหนือกว่าการพิชิตธรรมชาติ
คือทางสายกลางที่สร้างระบบความสัมพันธ์แห่งความเจริญที่เกื้อกูลกัน

ในยุคที่เป็นมานี้ถือว่าการ “พัฒนา” เป็นเรื่องสำคัญ ประเทศหนึ่งๆ จะถูกจัดเข้าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว หรือไม่ก็กำลังพัฒนา ซึ่งก่อนหน้านั้นสัก ๒๐ ปี เรียกว่า ด้อยพัฒนา ประเทศไทยเราก็มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งแต่ก่อนนี้ไม่เคยมี นับถอยหลังไปก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ คำว่า “พัฒนา” ในความหมายปัจจุบันยังไม่ขึ้นมาเป็นคำระดับชาติ

การที่ คำว่า “พัฒนา” กลายเป็นคำสำคัญในประเทศไทย ต้นเหตุมาจากแรงกระตุ้นของธนาคารโลกในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๐ นั้น ซึ่งก็เข้ามาประสานกับการที่สหประชาชาติได้ประกาศ ปี พ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๑๓ (ค.ศ.๑๙๖๐-๑๙๗๐) เป็น “ทศวรรษโลกแห่งการพัฒนา” (Development Decade) ถือได้ว่าประเทศไทยก็ขานรับนโยบายนี้ เราจึงเข้าสู่ยุคพัฒนาจริงจังตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๓ ยุคนั้นคำว่า “พัฒนา” ก็ถูกย้ำถูกเน้นและใช้ขยายกว้างขวางออกไปเป็นชื่อกิจการต่างๆ ของประเทศ แต่ก่อนนี้เรามีเพียงแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ พอยุคพัฒนาเริ่มแล้ว เราก็เปลี่ยนเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ เริ่มด้วยฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๐๔-๒๕๐๙ ต่อมาเราเห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเดียวจะทำให้สังคมเสียหายได้ ประชาชนจะเสื่อมคุณภาพ ได้แต่เจริญทางด้านวัตถุ เราก็เติมคำว่า “สังคม” เข้าไป ก็เลยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้นมา ตั้งแต่ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๑๐-๒๕๑๔ แล้วก็สืบต่อมาจนกระทั่งถึงแผน ๗ ในปัจจุบัน และกำลังก้าวสู่แผน ๘ ที่จะเริ่มในปี ๒๕๔๐

เราอยู่ในโลกยุคพัฒนา โลกใช้ศัพท์ว่า “พัฒนา” เป็นคำสำคัญ ครั้นพัฒนากันไปๆ ก็มามองเห็นว่าการพัฒนาที่ผ่านมาผิดพลาด สหประชาชาติก็เลยตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณา จนกระทั่ง ปี ๒๕๒๙ ก็ได้ข้อเสนอวิถีทางการพัฒนาแบบใหม่ พร้อมกับมีศัพท์ใหม่ว่า “การพัฒนาแบบยั่งยืน” ที่เรียกว่า “sustainable development” ซึ่งเป็นการพัฒนาแบบองค์รวม ไม่พัฒนาเอียงไปด้านหนึ่งด้านเดียว แต่ให้องค์ประกอบทั้งหลายของการพัฒนาเข้ามาร่วมประสานกันทั้งหมด มีความกลมกลืน แต่จุดที่มองเป็นหลักของ “การพัฒนาแบบยั่งยืน” นี้มี ๒ อย่าง

อย่างแรก มององค์ประกอบทางธรรมชาติเป็นใหญ่ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่านิเวศวิทยา (ecology) หมายถึง ระบบนิเวศ

อย่างที่สอง มองเรื่องเศรษฐกิจ (economy) คือการพัฒนาเศรษฐกิจ

เดิมโลกมุ่งแต่จะพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้การพัฒนาไม่มีดุลยภาพ เกิดความเสียหายมากมาย โดยเฉพาะธรรมชาติแวดล้อมจะพินาศ และโลกนี้จะเป็นที่อยู่อาศัยไม่ได้ มนุษย์ก็จะพลอยวอดวาย จึงต้องให้เศรษฐกิจพัฒนาประสานไปด้วยกันกับสิ่งแวดล้อม ถ้าเศรษฐกิจเจริญดี โดยที่สิ่งแวดล้อมก็อยู่ได้ หรือเศรษฐกิจเจริญได้โดยสิ่งแวดล้อมก็อยู่ดี อันนั้นคือ “การพัฒนาแบบยั่งยืน”

จะเห็นว่า องค์ประกอบสำคัญที่องค์การโลกมองในระบบองค์รวมนี้มีเพียง ๒ อย่าง คือ เศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อม แต่ที่จริงเวลานี้เราน่าจะต้องมองว่า การพัฒนาอย่างมีดุลยภาพที่ครบองค์รวมนั้น ไม่ใช่มีเฉพาะองค์ประกอบทางด้านสิ่งแวดล้อมกับเศรษฐกิจเท่านั้น มันจะต้องมีด้านอื่นอีก ในที่นี้ขอให้มองว่าองค์ประกอบในการอยู่ด้วยดีของมนุษย์มี ๓ ส่วน คือ

๑. ชีวิตมนุษย์

๒. สังคม

๓. สิ่งแวดล้อม หรือธรรมชาติ

สามส่วนนี้จะต้องเกื้อกูลประสานกัน มนุษย์จึงจะอยู่รอด ชีวิตของมนุษย์เองก็แบ่งเป็น ๒ ส่วนคือ ร่างกายกับจิตใจ จะต้องให้ทั้ง ๒ ด้านมีดุลยภาพ องค์ประกอบทั้งหมดดังกล่าวนั้นจะต้องประสานเกื้อกูลกัน ไม่ให้เป็นความขัดแย้งเหมือนแต่ก่อน ซึ่งการพัฒนาได้มีปัญหาว่า เพื่อประโยชน์แก่บุคคลสังคมก็เสียหาย เพื่อมนุษย์ได้ประโยชน์ธรรมชาติแวดล้อมก็เสื่อมโทรม ต่อไปนี้จะต้องหาทางพัฒนาให้ทุกส่วนไปด้วยกันด้วยดี กล่าวคือ ชีวิตมนุษย์ก็เจริญงอกงามมีความสุข สังคมก็อยู่ด้วยดีมีสันติ สิ่งแวดล้อมก็อยู่ในสภาพสมบูรณ์ไม่เสียหาย ชีวิตมนุษย์ทั้งกายและใจต้องประสานกัน ไม่ใช่ว่าพัฒนาร่างกายให้อยู่ดีมีสุขทางด้านวัตถุ แต่จิตใจเสื่อมโทรม เป็นโรคจิตโรคประสาท มีความเครียด และฆ่าตัวตายมากขึ้น นี้เป็นเรื่องของ “การพัฒนา” ซึ่งในยุคต่อไปจะต้องคำนึงถึงส่วนประกอบทั้ง ๓ อย่าง การศึกษาจะต้องเป็นเจ้าบทบาทใหญ่ และเป็นผู้นำในการที่จะทำให้เกิดการพัฒนาชนิดนี้ขึ้นมา

เรื่องที่ว่ามาเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโลกมนุษย์ ที่การศึกษาที่ดีจะต้องจัดการให้ได้ และเป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จของการศึกษานั้นว่า การศึกษาสัมฤทธิ์ความมุ่งหมายหรือไม่ ถ้าจะนำหลักศาสนามาใช้จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ก็จะต้องเอามาจัดการแก้ปัญหาต่างๆ ดังกล่าวให้สำเร็จ อย่างน้อยก็ให้เห็นช่องทาง หรือมองเห็นความเป็นไปได้ว่า การศึกษาที่จัดตามหลักของศาสนาเป็นไปได้ที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้สำเร็จ

พุทธศาสนามีหลักการสำคัญมุ่งจะช่วยแก้ปัญหาของมนุษยชาติทั้งหมด จุดมุ่งหมายของพุทธศาสนาชัดเจนอยู่แล้ว คือ “พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย” แปลว่า เพื่อประโยชน์สุขของชนจำนวนมาก เพื่อเกื้อกูลโลก หลักการของพระพุทธศาสนาก็คือ ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาของธรรมชาตินั่นเอง ที่เรารู้เข้าใจแล้วใช้ปัญญานำมาจัดดำเนินการให้ทุกสิ่งในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาตินั้น อยู่ร่วมสัมพันธ์กัน โดยมีการเบียดเบียนกันน้อยลงๆ และเกื้อกูลกันมากขึ้นๆ เช่น การพัฒนามนุษย์ให้อยู่กับสิ่งแวดล้อมได้ด้วยดี โดยธรรมชาติก็อยู่ดีงดงาม มนุษย์ก็มีความสุข

เวลานี้ฝรั่งที่สนใจการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ได้หันมาสนใจพุทธศาสนากันมาก เพราะเขามองว่า พุทธศาสนาถือว่า มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และถือว่ามนุษย์จะต้องอยู่ด้วยดีกับธรรมชาติแวดล้อม ไม่ใช่ไปแยกตัวต่างหากและเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน นี่เป็นเหตุปัจจัยด้านหนึ่งที่ทำให้ฝรั่งหันมาสนใจพุทธศาสนา คือด้านการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ฝรั่งที่มาสนใจพุทธศาสนาเหล่านี้ ก็ยังมักเข้าใจพุทธศาสนาไม่ตรงแท้ คือเห็นไม่ครบ เขามักเข้าใจว่า จะต้องอยู่อย่างประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ โดยอยู่ไปตามธรรมชาติ ให้เข้ากันได้กับธรรมชาติ จนบางทีมองว่ามนุษย์จะต้องเป็นฝ่ายปรับตัวให้เข้ากับความเป็นไปของธรรมชาติฝ่ายเดียว เขามองข้ามหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนาในเรื่องศักยภาพของมนุษย์ ที่ถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ศักยภาพของมนุษย์ที่ว่ามานี้ก็คือ ความสามารถที่จะช่วยให้ หรือทำให้ระบบความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลาย (โดยเฉพาะ ๓ อย่างที่ว่ามาแล้ว คือ ชีวิต สังคม ธรรมชาติแวดล้อม) อยู่ร่วมและดำเนินไปด้วยกันด้วยดี โดยเบียดเบียนกันน้อยลงและเกื้อกูลกันมากขึ้น นี้คือความสามารถที่แท้จริงของมนุษย์ ไม่ใช่เป็นเพียงความสามารถที่จะพิชิตหรือเอาชนะธรรมชาติ อย่างที่ถือกันมาในตะวันตกจนเป็นรากฐานนำอารยธรรมปัจจุบันมาสู่จุดติดตันอย่างที่กล่าวแล้ว

หลักการของพระพุทธศาสนานั้นคือมัชฌิมาปฏิปทา เป็นทางสายกลาง ไม่เอียงสุดทั้งในข้างที่ปล่อยตัวไปตามธรรมชาติ และในข้างที่จะพิชิตหรือรุกรานทำลายธรรมชาติ แต่เป็นหลักไม่เบียดเบียนตนและไม่เบียดเบียนผู้อื่น ทั้งได้ประโยชน์แก่ตนและเอื้อประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นวิถีชีวิตแห่งความพอดี ที่ช่วยให้สิ่งทั้งหลายในระบบสัมพันธ์เจริญงอกงามขึ้นไป อย่างมีดุลยภาพที่เกื้อกูลกัน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< มนุษย์พัฒนาโลกวัตถุให้ถึงกันหมดเป็นหนึ่งได้ แต่ยังข้ามไม่พ้นสิ่งกีดขวางการรวมใจให้เป็นสากลการศึกษาต้องสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ และการเป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท >>

No Comments

Comments are closed.