(กล่าวนำ)

9 มิถุนายน 2547
เป็นตอนที่ 1 จาก 40 ตอนของ

พุทธศาสนากับโลกธุรกิจ

ทั้งคนมี ทั้งคนจน ต่างก็กระทบผัสสะ ทั้งคนพาล ทั้งนักปราชญ์ ก็ถูกกระทบเหมือนกัน แต่คนพาล เพราะความที่อ่อนปัญญา ย่อมนอนผวา ส่วนผู้ที่เป็นปราชญ์ ถึงถูกผัสสะกระทบก็หาสะท้านไม่ เพราะฉะนั้น ปัญญานั่นแหละจึงประเสริฐกว่าทรัพย์ ด้วยเป็นเหตุให้บรรลุจุดหมายสูงสุดได้ในโลกนี้

ม.ม. ๑๓/๔๕๑/๔๑๑ : ขุ.เถร.๒๖/๓๘๘/๓๗๗

นายมิวเซนเบิร์ก

ผมได้เคยคุยกับท่านดาไลลามะเกี่ยวกับเรื่องธุรกิจ ดูเหมือนว่าท่านมีความลังเลอยู่บ้างที่จะพูดถึงเรื่องนี้ เพราะท่านไม่มีประสบการณ์ส่วนตัวในเรื่องธุรกิจ ในขณะเดียวกัน จากหนังสือของท่านเจ้าคุณฯ ท่านยอมรับว่า ธุรกิจเป็นส่วนสำคัญของสังคม วิธีการดำเนินธุรกิจก็มีความสำคัญมากสำหรับสังคม พฤติกรรมของพวกนักธุรกิจมีความสำคัญกับสังคม ซึ่งผมกำลังค้นคว้าเรื่องคุณค่า ข้อดีข้อเสีย จริยธรรมในการทำธุรกิจ เพื่อเป็นข้อมูลในการเขียนหนังสือ ผมจึงอยากสนทนากับท่าน เพื่อปรึกษากับท่านว่า พระพุทธศาสนามีคำสอนใดที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้บ้าง1

พระพรหมคุณาภรณ์

อาตมาก็มีความรู้น้อยในเรื่องธุรกิจ แต่อาจพูดถึงหลักการทั่วไปในเรื่องธุรกิจ

นายมิวเซนเบิร์ก

ผมได้อ่านหนังสือของท่านเรื่อง Buddhist Economics2 และได้ใช้ข้อมูลในหนังสือเล่มนั้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีบางตอนระบุว่า ธุรกิจเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม นอกจากนั้น หนังสืออีกเล่มหนึ่งของท่าน เรื่อง A Constitution for Living (ธรรมนูญชีวิต) ท่านได้พูดถึงหลักการ ซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะนักบวช แต่สำหรับผู้ครองเรือน ใช้เป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ซึ่งผมคิดว่าช่วยได้มาก

พระพรหมคุณาภรณ์

จากพื้นฐานนี้ เราจะค่อยๆ พูดขยายความไปถึงธุรกิจต่อไปจะดีไหม

นายมิวเซนเบิร์ก

ครับ…ผมควรกล่าวถึงหัวข้อต่างๆ ในหนังสือที่ผมเขียน แล้วนำมาเป็นแนวของคำถาม

บทที่ ๑ หนังสือเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า การเพิ่มพูนความคาดหวังของผู้บริโภค ไม่ใช่แต่เฉพาะในสังคมไทย หากเป็นสังคมโลกทั่วทั้งหมด รวมถึงพฤติกรรมในการทำธุรกิจของนักธุรกิจในทิศทางที่เคร่งเครียด

บทที่ ๒ ว่าด้วยธุรกิจมีผลตอบสนองอย่างไรต่อความหวังนั้น การตอบสนองต่อความต้องการนั้น

บทที่ ๓ เกี่ยวกับบทบาทและพฤติกรรมของรัฐบาล อันเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาล

บทที่ ๔ คำถามเรื่องการแข่งขัน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ และธุรกิจ

จากนั้นไปถึงเรื่องความเปลี่ยนแปลง ปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกปัญหาหนึ่ง คือ ความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่และปัญหาที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงนั้น จนมาถึงหัวข้อ ความมั่งคั่ง ความสุข การบริโภค และการงาน

บทต่อไปคือ อิทธิพลของบริษัทใหญ่ๆ ระดับโลก พวกเขาควรทำอะไรบ้างเพื่อที่จะได้รับการยกย่องว่าเป็นองค์กรที่ดี และบทสุดท้าย เกี่ยวกับการฝึกฝนจิต การปฏิบัติสมาธิภาวนา เพราะการพัฒนามนุษย์จะเกิดขึ้นได้ต้องผ่านการฝึกฝนทางด้านจิตใจ

ผมได้ส่งต้นฉบับถวายท่านดาไลลามะในเดือนเมษายน เราได้ review ต้นฉบับนี้ และคาดว่าจะทำให้เสร็จภายในเดือนเมษายนปีหน้า ดังนั้น จึงยังมีโอกาสปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีกมาก นี่คือความเป็นมาทั้งหมดครับ

สำหรับท่านเจ้าคุณฯ ได้ค้นคว้าเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ และเรื่องเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่สัมพันธ์กัน เมื่อผมทำการวิจัยเรื่องนี้ ก็พบว่า คนมักเห็นว่า เศรษฐศาสตร์ ก็คือ เศรษฐศาสตร์อย่างเดียว แต่ไม่เห็นเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องว่ามีส่วนสัมพันธ์กันเหมือนอย่างที่ท่านเห็น ดังนั้น จึงไม่มีจริยธรรมในเศรษฐศาสตร์ เรากำลังพยายามทำให้ ๒ ศาสตร์นี้รวมกัน และผมก็ได้พยายามดูไปถึงรัฐศาสตร์ สังคมวิทยา จิตวิทยา สำหรับทัศนะทางศาสนา ผมได้ศึกษาแต่ในแง่มุมของพระพุทธศาสนาและส่วนที่เกี่ยวข้อง และหนังสือของท่านก็คือกุญแจดอกหนึ่งที่ใช้ในการวิเคราะห์ของผม

คำถามแรกที่ผมอยากจะถาม ทัศนะของท่านในเรื่องธุรกิจเป็นอย่างไรบ้างครับ

พระพรหมคุณาภรณ์

อาตมาได้บอกคุณแล้วแต่ต้นว่า อาตมาเองไม่ค่อยรู้เรื่องธุรกิจ พอรู้บ้างในเรื่องของเศรษฐศาสตร์ เราอาจคุยกันถึงเรื่องเศรษฐศาสตร์ แล้วเราค่อยพูดถึงเรื่องธุรกิจ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปเป้าหมายของเศรษฐศาสตร์ >>

เชิงอรรถ

  1. หนังสือเล่มดังกล่าว ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในปี ๒๕๕๑ ในชื่อว่า The Leader’s Way: The Art of Making Right Decision in our Lives, Our Organizations and the Larger World มีฉบับแปลเป็นภาษาไทยแล้ว จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เนชันบุ๊คส์
  2. ชื่อภาษาไทย คือ เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ แปลโดย ธรรมวิชัย (นามปากกา) ซึ่งเป็นพระภิกษุชาวอังกฤษ จากวัดป่านานาชาติ

No Comments

Comments are closed.