(เนื้อหา)

23 มกราคม 2537
เป็นตอนที่ 1 จาก 1 ตอนของ

เมืองไทยจะวิกฤต
ถ้าคนไทยมีศรัทธาวิปริต

สังคมไทยกำลังใช้พระพุทธศาสนาเป็นที่ถ่ายทุกข์

ทีนี้ พอเลยจากเรื่องของวัดก็ขยายออกไปถึงเรื่องของพระศาสนา จะเห็นได้ว่าเวลานี้ภัยอันตรายของพระศาสนาเกิดขึ้นมาก อย่างเรื่องที่เล่าเมื่อกี้นี้ก็เป็นภัยอันตรายอย่างหนึ่งของพระศาสนา เรื่องคนปลอมเป็นพระ ตลอดจนคนแต่งตัวเป็นชี เดี๋ยวนี้คงจะมาก แล้วก็มีพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งถ้าโยมแยกไม่ถูกก็จะทำให้เอาตัวบุคคลนั้นเป็นตัวพระศาสนา แล้วก็ทำให้มีความรู้สึกที่ไม่ดี อาจถึงกับเสื่อมศรัทธา ถ้าแยกคนกับแยกพระศาสนาออกจากกันไม่ได้ ก็ทำให้เสื่อมความเลื่อมใสต่อพระศาสนาไปด้วย อย่างเวลานี้ก็จะมีพวกที่แต่งตัวเป็นพระเข้ามาเรี่ยไรในกรุงเทพฯ จำนวนมาก เพราะถึงฤดูแล้งนี่ชาวชนบทเข้ามาหารายได้ในกรุงเทพฯ เป็นประจำทุกปี

ในบางจังหวัดมีหมู่บ้านพระปลอม ซึ่งโยมบางท่านก็คงเคยได้ยิน โดยเฉพาะที่จังหวัดชัยภูมินี่มีข่าวชัดเจนมาหลายปีแล้ว บางหมู่บ้านคนทั้งหมู่บ้านเป็นพระปลอมชีปลอม เขาอยู่กันในหมู่บ้านก็เป็นชาวบ้านนี่แหละ แต่ในฤดูแล้ง เขาโกนผมศีรษะโล้น แล้วก็มีจีวรตากไว้ตามระเบียงบ้าน ตัวเองนุ่งกางเกงใส่เสื้อ พอถึงเวลาเหมาะในหน้าแล้งนั้นไม่มีทางทำมาหากินก็พากันเข้ากรุงเทพฯ แล้วก็ไปอยู่รวมกันที่แหล่งหนึ่ง ถึงเวลาเช้าก็จะนั่งรถปิคอัพออกไปจ่ายตัวตามจุดต่างๆ แล้วก็ออกไปบิณฑบาตพร้อมทั้งเรี่ยไรไปด้วย พฤติการณ์นี้มีมาหลายปี หนังสือพิมพ์ก็เอามาเปิดเผย แต่นานๆ เข้าโยมก็ลืมไป

สภาพอย่างนี้ ก็คือการที่วัดและพระศาสนาของเรากลายเป็นที่รับระบายทุกข์และระบายปัญหาของสังคม แทนที่จะเอาพระพุทธศาสนาไปบรรเทาดับทุกข์ของสังคม สังคมกลับเอาพระพุทธศาสนาเป็นที่ถ่ายทุกข์ของตน อะไรยุ่งยาก อะไรเป็นปัญหา ของทิ้ง ของเสีย ตัวเองแก้ไขไม่ได้ จัดการไม่ไหว ก็เอาไปเท เอาไปทิ้ง ปล่อยเข้าไปในพระศาสนา ชาวบ้านที่ยากจนมาเอาพระพุทธศาสนาเป็นที่หาเลี้ยงชีพ ช่วยชีวิตของตน แต่ถ้าต้องช่วยชาวบ้านกันแบบนี้ พระศาสนาก็แย่ มีแต่จะทรุดจะเสื่อมและหมดแรงลงไป แล้วก็จะไม่มีกำลังที่จะช่วยสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่สังคมตามหน้าที่ที่ถูกต้องของตน

สภาพที่ชาวบ้าน คนยากไร้ คนด้อยโอกาส คนด้อยการศึกษา คนมีปัญหาต่างๆ และคนหมดทางไป มาอาศัยวัดและพระศาสนาเป็นที่ทำมาหาเลี้ยงชีพ และแสวงหาหนทางอยู่รอดในสังคมนี้ ยังมีอีกมาก ที่พูดมานี้เป็นเพียงตัวอย่าง บางอย่างมีแต่โทษภัย บางอย่างถ้าเรารู้ตระหนักปัญหา และช่วยกันจัดให้ดี ก็กลายเป็นประโยชน์ได้ แต่ถ้าไม่รับรู้ปัญหา และปล่อยปละละเลยอยู่ในความประมาท ก็มีแต่จะนำความเสื่อมความพินาศมาให้ เสื่อมแก่วัดและพระศาสนา และในที่สุดสังคมไทยทั้งหมดนั่นแหละก็จะต้องประสบวิบากแห่งกรรม

ปีนี้จะแล้งมากขึ้น เมื่อแล้งมากขึ้นปัญหาอย่างนี้ก็จะยิ่งมากขึ้น เพราะฉะนั้น โยมก็เตรียมรับสถานการณ์ได้เลย เมื่อมีปัญหาอย่างนี้เกิดขึ้นอีก เราก็ต้องรู้เท่าทัน แต่ทีนี้โยมก็ไม่ค่อยรู้หลัก บางทีก็ไม่รู้จะทำอย่างไร มีพระมาเรี่ยไร ก็เกรงใจ เห็นว่าเป็นพระ นุ่งเหลืองห่มเหลืองก็เกรงใจให้ไปบ้าง บางทีก็ให้พอให้พ้นๆ ไป บางคนก็หลงเชื่อให้ไปมากๆ มันก็กลายเป็นทางทำมาหาเลี้ยงชีพของคนเหล่านี้ วันๆ หนึ่ง เขาก็ได้เยอะ จากบ้านนี้นิดบ้านโน้นหน่อย บางบ้านก็มาก บางทีก็เอาถังไปวางไว้ร้านโน้นถังหนึ่ง ร้านนี้ถังหนึ่ง เอาไปตั้งเพื่อให้คนมาบริจาคเป็นต้นผ้าป่าอะไรต่างๆ แล้วถึงเวลาก็เดินมาเก็บไป

ทีนี้ ถ้าเราชาวพุทธรู้ทัน เรารู้วินัยของพระว่า พระนี่เรี่ยไรไม่ได้ ออกปากขอชาวบ้านก็ไม่ได้ พระสงฆ์นี่ท่านห้ามขอ ตามศัพท์ ภิกฺขุ แปลว่าผู้ขอ แต่ต้องขอตามวินัย หมายความว่าพระไม่ได้เลี้ยงชีพด้วยตนเอง ไม่ได้ทำมาหากิน แต่ท่านมีอาชีพของท่าน

อาชีพของพระ คือการรักษาวินัย ประพฤติตนอยู่ในศีล และบำเพ็ญสมณธรรม พูดสั้นๆ ว่าทำหน้าที่ของพระ เมื่อทำหน้าที่ของพระโดยถูกต้องแล้ว ประชาชนมีความเลื่อมใสก็อุปถัมภ์บำรุง อย่างนี้ถือว่าเป็นอาชีวะที่ถูกต้อง

ทีนี้ ถ้าพระจะขอ ก็ออกปากขอไม่ได้ พระจะบอกขอได้กับคนที่เป็นญาติ หรือคนที่ปวารณาไว้เท่านั้น

ปวารณาก็คือ คฤหัสถ์หรือโยมท่านนั้นบอกเปิดโอกาสหรือนิมนต์ไว้ว่าให้ขอได้ บอกแก่พระองค์ใด องค์นั้นก็ขอได้ และขอได้ในขอบเขตที่โยมได้ปวารณาไว้ เช่น โยมปวารณาว่าถ้าท่านต้องการในเรื่องจีวรก็ขอให้บอกโยม โยมจะจัดถวาย อย่างนี้ถือว่าปวารณาจีวร พระท่านก็ขอได้เฉพาะจีวร ขออย่างอื่นไม่ได้ โยมปวารณาอะไรก็ขอได้เฉพาะสิ่งนั้น แต่โยมบางท่านก็ปวารณาทั่วไป คือ ปวารณากว้างๆ ว่า ท่านมีความต้องการอะไรที่เหมาะสมกับพระก็ขอให้บอกโยม อย่างนี้ถือว่าปวารณาทั้งหมด พระท่านต้องการอะไรที่เหมาะสมก็ขอได้ แต่จะออกปากขอกับคนอื่นที่ไม่ใช่ญาติ และไม่ได้ปวารณาไว้ไม่ได้ ผิดพระวินัย

เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นคนแต่งตัวเป็นพระมาขออะไร โยมมีสิทธิที่จะไม่ยอม แล้วก็ใช้ปฏิภาณเอาเอง ในการที่จะซักถามเพื่อหาความจริง ถ้าโยมช่วยพระศาสนาได้ก็ดี คือถ้าช่วยกันเอาคนที่ไม่ใช่พระที่มาแสวงหาผลประโยชน์จากพระศาสนาออกไปได้ ก็เป็นการช่วยพระศาสนาไปในตัว ฉะนั้น เราต้องนึกในแง่ที่ว่า นี่เราจะช่วยพระศาสนาของเราได้อย่างไร เราจะช่วยป้องกันแก้ไขเพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของพระศาสนาไว้ นี่ก็อีกเรื่องหนึ่ง ตกลงว่าชาวพุทธเวลานี้อยู่ในสภาวการณ์ที่มีปัญหาต่อพระศาสนาที่เราจะต้องช่วยกันแก้ไข

ชาวพุทธจะสอบผ่านหรือไม่
หรือไม่ได้แม้เพียงเป็นบทเรียน

ยิ่งระยะนี้ก็มีข่าวคราวอะไรต่างๆ มากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องไม่ดีไม่งาม ที่เราจะต้องมีความหนักแน่นและตั้งหลักให้ดี มองไปให้ดีเหตุการณ์ร้ายเหล่านี้เป็นบททดสอบชาวพุทธว่าจะสอบผ่านไหม ถ้าโยมไม่มีหลัก โยมก็สอบไม่ผ่าน อาจจะสอบตกแล้วก็หล่นจากพระศาสนาไปก็ได้ แต่ถ้าเป็นคนที่มีหลักดีก็สอบผ่าน บททดสอบเหล่านี้ก็จะทำให้เราเข้มแข็งยิ่งขึ้น กลับเป็นเรื่องดีไป เพราะเราได้บททดสอบมาช่วยทำให้เราพัฒนาตัวเองดียิ่งขึ้น

สำหรับบางท่าน ถ้าสอบไม่ผ่าน ก็อาจจะได้เป็นบทเรียน คือเอาเป็นบทเรียนสอนตัวเองว่า เออ เรานี่รู้ไม่เท่าทัน เราพลาดไปแล้ว ทีนี้เราก็ได้บทเรียนในการที่จะวางตัวให้ดีขึ้น ในการที่จะเข้าให้ถึงหลักพระศาสนา ถ้าได้เป็นบทเรียนอย่างนี้ก็ยังดี

ตอนนี้บททดสอบและบทเรียนก็เกิดขึ้นอีกแล้ว ก็ขอให้เราใช้บททดสอบนี้ให้เป็นประโยชน์ หรือมิฉะนั้นก็เอาเป็นบทเรียนที่ทำให้เราได้ความรู้ และรู้จักฝึกฝนปฏิบัติตนเองในทางพระศาสนาให้ถูกต้องยิ่งขึ้น

พระพุทธศาสนาของเรานี้เป็นศาสนาที่มีหลัก เป็นศาสนาที่มีเหตุผล พุทธศาสนิกชนจะต้องยึดหลักให้ได้ แล้วเอาตัวพระศาสนาและเอาความรู้ในพระศาสนาเป็นหลัก พอเรารู้หลักพระศาสนาแล้วเราก็ไม่แกว่งไกว ที่ว่าแกว่งไกวนั้น ก็คือแกว่งไกวไปตามบุคคล และเสียงเล่าข่าวลือเกี่ยวกับความวิเศษ ฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ หรือความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่ผูกติดอยู่กับบุคคล คนโน้นดังมาคนนี้ดังมามีเสียงฮือฮาอย่างไรก็เฮกันไป เสร็จแล้วพอมีอะไรเกิดขึ้นเราก็เอาพระศาสนาไปแขวนไว้กับบุคคลนั้นเสียแล้ว บุคคลนั้นเป็นอย่างไรไปเราก็พลอยเป็นไปด้วย นี่เรียกว่าไม่มีหลัก

ในทางตรงข้าม ถ้าเรามีหลักของเราแล้ว บุคคลโผล่ขึ้นมา เราก็เอาหลักเป็นเครื่องวัด ถ้าท่านประพฤติถูกหลัก ทำตามหลัก สอนตามหลักดี เราก็อนุโมทนาด้วย ถ้าท่านมีอันเป็นไปอย่างไรเราก็อยู่กับหลักต่อไป บุคคลนั้นก็ผ่านไป

รู้หลักแล้ว ศาสนาอยู่ที่ตัวเรา
ไม่ต้องเอาศาสนาไปแขวนไว้กับใคร

อย่าว่าแต่บุคคลที่เกิดขึ้นในยุคสมัยหนึ่งๆ เลย แม้แต่องค์พระพุทธเจ้าเองก็ไม่ผูกมัดใครและไม่ผูกขาดอะไร พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้แล้วนี่ เราฟังพระสวดอยู่เสมอว่า อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ อนุปฺปาทา วา ตถาคตานํ พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า ตถาคตคือพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม หลักความจริงก็เป็นอยู่อย่างนั้นๆ ตถาคตเพียงแต่ค้นพบความจริงนั้นแล้วนำมาเปิดเผยแสดง แนะนำ ทำให้เข้าใจง่ายว่าความจริงเป็นอย่างนี้ๆ

หน้าที่ของพระพุทธเจ้าคือเป็นผู้เปิดเผยความจริง และด้วยความสามารถก็ทรงสอนแนะนำทำให้เราเข้าใจหลักความจริงนั้น คือทรงพาให้เราเข้าถึงความจริงที่มีเป็นธรรมดาอยู่แล้วนั้นแหละ

ตัวความจริงที่เป็นอยู่ตามธรรมดานี่ซิสำคัญ แม้แต่พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาแล้ว พระองค์ก็ผ่านไป แต่ตัวหลักความจริงนั้นก็คงอยู่ หมายความว่า ความจริงเป็นธรรมชาติ มีอยู่ตามธรรมดาตลอดเวลา พระพุทธเจ้ามาช่วยให้เราเข้าถึงความจริงนั้น เราเข้าถึงความจริงแล้วเราก็อยู่กับความจริงนั้น พระพุทธเจ้าทำหน้าที่ของพระองค์แล้ว พระองค์ก็ผ่านไป ความจริงก็อยู่นั่น ไม่หายไปไหน พระพุทธเจ้าไม่ได้พาเอาความจริงดับไปด้วย เรารู้ความจริงถึงความจริงแล้ว ความจริงก็อยู่กับเรา พระศาสนาก็อยู่กับเรา เป็นของเรา

ครูอาจารย์รุ่นหลังนี้ไม่ถึงพระพุทธเจ้าด้วยซ้ำ ท่านเป็นพระสาวกหรือลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ท่านมาช่วยแนะนำให้เรารู้เข้าใจหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ อาจจะเรียกว่ามาพาเราเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระอาจารย์ทำหน้าที่พาเราเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเสร็จก็หมดหน้าที่ เรื่องของเราก็คือฟังพระพุทธเจ้าต่อไป เมื่อฟังพระพุทธเจ้าเสร็จเราเข้าถึงหลักความจริง เราก็ไปอยู่กับหลักความจริงนั้น ก็จบ ตัวหลักความจริงนั้นเป็นมาตรฐาน เป็นของจริงแท้แน่นอน เป็นตัวธรรม เป็นธรรมชาติ เมื่อเราจับหลักนี้ได้แล้ว ก็ไม่แกว่งไม่ไกวไปไหน

เวลานี้คนไม่มีหลัก แกว่งไกวไปตามกระแสข่าวเล่าลือ และกระแสค่านิยม เอาตัวไปผูกติดไว้กับบุคคลที่ผ่านไป ผ่านมา เอาศาสนาไปแขวนไว้กับบุคคลนั้น ก็เลยเลื่อนลอยไป หรือถูกชักลากไปเรื่อยๆ พอบุคคลนั้นมีอันเป็นไป ไม่ใช่ของแท้ของจริงที่มั่นคง คนเหล่านี้ก็ถูกซัดเหวี่ยงกลิ้งกระดอนกระทบกระแทกช้ำชอกไป หรือไม่ก็หล่นหลุดกระเด็นไปเลย

เป็นอันว่าเวลานี้พุทธศาสนิกชนได้บทเรียน สำหรับท่านที่มีหลักอยู่บ้างแล้ว ก็ได้บททดสอบ ถ้าหากเรารู้จักใช้เหตุการณ์นี้ให้เป็นประโยชน์ มันก็กลับดี เพราะเป็นการกระแทกหรือกระตุกอย่างแรงให้เรารู้ตัวหรือตื่นขึ้นมา แล้วหันมาหาหลัก มาเข้าสู่ทางที่ถูกต้อง ดีกว่าจะช้านานไป จนเตลิดกันไปไกล ซึ่งอาจจะสายไปเสียแล้ว อย่างน้อยก็ทำให้เรามีความเข้มแข็งมั่นคงขึ้น และรู้จักที่จะปฏิบัติต่อพระพุทธศาสนาให้ถูกต้อง

พระพุทธเจ้าตรัสนักหนาให้เราอยู่กับหลัก เช่นตรัสสอนไม่ให้เอาศรัทธาไปขึ้นต่อบุคคล ถ้าศรัทธาขึ้นต่อตัวบุคคล บุคคลนั้นมีอันเป็นไป เช่น ตายบ้าง ต้องอาบัติหนักบ้าง หรือมีอันเป็นอะไรไปอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาก็จะไม่ยอมฟังใครแสดงธรรมอีกต่อไป แล้วเขาก็จะพลาดจากประโยชน์ที่ควรจะได้

สำหรับพระสงฆ์ พระพุทธเจ้าเตือนหนักยิ่งกว่านั้นอีก ทรงเตือนว่า ถ้าพระประพฤติตัวไม่ดีจะเป็นมหาโจร มหาโจรมี ๕ ประเภท1 แต่อาตมภาพจะไม่นำมาแสดงในที่นี้ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่ามาพูดอะไรที่ไม่เป็นสิริมงคล ในโอกาสนี้ที่โยมอาจจะถือว่าเป็นเวลามงคล โยมต้องไปค้นคว้าเอา เพราะฉะนั้นพระจะต้องไม่ประมาท ต้องระวังตัว ต้องประพฤติปฏิบัติอยู่ในหลัก ต้องทำหน้าที่ของตัวให้ถูกต้อง หน้าที่ของพระก็คือพาโยมให้เข้าไปสู่หลักความจริง แล้วตัวก็หมดหน้าที่ ถ้ามิฉะนั้นก็จะเอาพระศาสนามาแขวนไว้กับตัวเอง

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราพึ่งตัวเองได้ ให้เราเป็นอิสระ พระพุทธเจ้าไม่ยอมให้ใครมาขึ้นต่อพระองค์ ตอนแรกเราอาจจะไปศรัทธาต่อพระองค์ เพื่อจะได้ให้พระองค์นำเราเข้าสู่คำสอน เข้าสู่ความจริง แต่ในที่สุดเราจะต้องพึ่งตัวเองได้ เป็นอิสระ จะเห็นได้ว่า ศรัทธาไม่เป็นคุณสมบัติของพระอรหันต์ ท่านเชื่อไหม

เห็นกับตา ไม่ต้องถามว่าเชื่อไหม

ศรัทธาเป็นคุณสมบัติของพวกเรา ที่เป็นพุทธศาสนิกชนในเบื้องต้น แต่พระอรหันต์เป็นบุคคลที่ไม่ต้องมีศรัทธา ศรัทธาไม่เป็นคุณสมบัติของพระอรหันต์ ท่านเรียกพระอรหันต์ว่าเป็น อสฺสทฺโธ ด้วยซ้ำ ถ้าแปลตรงตามศัพท์ก็ว่า ไม่มีศรัทธา แต่ประเดี๋ยวจะแปลความหมายผิด ที่ว่าไม่มีศรัทธานั้นอย่างไร อย่าเข้าใจเป็นเรื่องเสียหาย ในกรณีนี้ คือพระอรหันต์นั้นท่านขึ้นถึงระดับปัญญา รู้แจ้ง ซึ่งเลยขั้นศรัทธาไปแล้ว ท่านมองเห็นสิ่งที่เราศรัทธานั้นด้วยตัวท่านเองแล้ว ท่านจึงไม่ต้องอยู่ด้วยศรัทธา ไม่ต้องอาศัยศรัทธา เป็นผู้พ้นหรืออยู่เหนือศรัทธา เพราะฉะนั้น ที่ว่าพระอรหันต์ไม่มีศรัทธา ก็คือ ไม่ต้องมีศรัทธา

ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสถามพระสารีบุตรเกี่ยวกับหลักธรรม พระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวก สามารถแสดงธรรมได้เทียบเทียมพระพุทธเจ้าทีเดียว พระพุทธเจ้าทรงยกย่องท่านมาก พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า สารีบุตร เธอเชื่อไหมว่าอย่างนั้นเป็นอย่างนั้น พระสารีบุตรทูลตอบว่า ข้าพระองค์เห็นว่าเป็นอย่างนั้น อย่างที่พระองค์ตรัส พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่า ที่เธอกล่าวว่าดังนี้ กล่าวเพราะเชื่อต่อเราหรืออย่างไร พระสารีบุตรกราบทูลว่า ที่ข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้ มิใช่เพราะเชื่อต่อพระองค์ แต่เพราะได้เห็นความจริงว่ามันเป็นอย่างนั้น นี่คือลักษณะของพระอรหันต์ที่ไม่ต้องขึ้นต่อศรัทธา แต่ไม่ใช่ว่าพระอรหันต์ไม่เคารพพระพุทธเจ้า ท่านเคารพมาก เคารพอย่างยิ่งเลย แต่อันนี้เป็นเรื่องของสัจจธรรม พระอรหันต์เป็นผู้เห็นความจริง พระพุทธเจ้าได้เห็นความจริงอะไรท่านก็เข้าถึงความจริงนั้น เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จึงไม่ต้องพูดไปตามความเชื่อต่อพระพุทธเจ้า แต่ไม่ใช่ว่าท่านไม่เชื่อพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าต้องการให้เราเข้าถึงความจริงอย่างเดียวกับที่พระองค์เห็น แล้วเราก็จะเป็นอิสระของเราเอง ไม่ต้องขึ้นต่อพระองค์ นี่เป็นลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า คือไม่ต้องการให้สาวกขึ้นต่อพระองค์ และให้ทุกคนเป็นไทแก่ตัวเอง เป็นอิสระแก่ตนเอง เพราะจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือ วิมุตติ อิสรภาพ ความหลุดพ้น ความเป็นไท ความที่ไม่ต้องอยู่ด้วยศรัทธา แต่เป็นการเข้าถึงด้วยปัญญา รู้ความจริงแจ้งประจักษ์

อย่างไรก็ตาม ควรจะเตือนใจกันไว้เล็กน้อยว่า สำหรับพวกเราที่ยังไม่รู้แจ้งสัจจธรรมถึงที่สุดนี้ ยังจะต้องมีทั้งศรัทธาและปัญญาคู่กันไป ให้ทั้งสองอย่างได้ดุลกันไว้ สำหรับคนเริ่มแรก ศรัทธาที่ถูกต้องจะช่วยได้ดีที่สุด ศรัทธาที่ถูกต้องก็คือต้องมีปัญญาช่วยตรวจตรา ถ้าปฏิบัติได้ดี ศรัทธาจะช่วยให้มีทิศทาง จุดเน้น และมีเรี่ยวแรงในการแสวงปัญญา และสำหรับผู้แสวงปัญญานั้น บางคนจะมีความโน้มเอียงที่จะเกิดความรู้สึกว่าตนเป็นผู้รู้ผู้มีเหตุผล แล้วมีท่าทีอาการแบบภูมิลำพอง ท่านจึงให้มีความสุภาพอ่อนน้อมถ่อมตนประกบตัวไว้ เพราะในการแสวงปัญญาอยู่เสมอนั้น เราไม่ควรมุ่งมองในแง่ที่ว่าตนรู้แล้ว แต่ควรมองหนักไปในด้านที่ตนยังไม่รู้ ซึ่งควรจะรู้ต่อไป

พึ่งศรัทธา เพื่อได้ปัญญาที่พาสู่อิสรภาพ

มีปราชญ์ท่านหนึ่งพูดไว้น่าฟัง ท่านเปรียบเทียบระหว่างศรัทธากับปัญญา หรือระหว่างความเชื่อกับการเห็นความจริง เหมือนอย่างว่า อาตมภาพนี้ กำมือขึ้นมา แล้วก็ตั้งคำถามว่า โยมเชื่อไหม? ในมือของอาตมานี่มีดอกกุหลาบอยู่ดอกหนึ่ง พออาตมาถามอย่างนี้ โยมก็คงจะคิดว่า เอ! เชื่อดีไหมหนอ บางท่านก็ว่า อ๋อ! องค์นี้เรานับถือ เชื่อทันทีเลย ไม่ต้องคิด หรืออาตมภาพอาจจะมีมือปืนไว้บังคับว่า ถ้าไม่เชื่อจะยิงตายเลย อย่างนี้ก็จำใจ ใจเชื่อหรือไม่เชื่อแต่ปากก็บอกว่าเชื่อ

ทีนี้ สำหรับบางท่านก็จะคิดว่า เออ! เชื่อได้ไหมนะ ขอคิดดูก่อน ท่านองค์นี้มีประวัติมาอย่างไร เป็นคนพูดจาขล่อกแขล่กหรือเปล่า น่าเชื่อไหม อือ! องค์นี้ท่านไม่เคยพูดเหลวไหลนะ เท่าที่ฟังมาท่านก็พูดจริงทุกที ท่าจะน่าเชื่อ นี่เรียกว่าเอาเหตุผลในแง่เกี่ยวกับประวัติบุคคลมาพิจารณา แต่บางท่านก็มองในแง่ของเหตุผลแวดล้อมอย่างอื่นว่าเป็นไปได้ไหม มือแค่นี้จะกำดอกกุหลาบได้ เอ! ก็เป็นไปได้นี่ แล้วก็พิจารณาต่อไปอีกว่า ท่านนั่งอยู่ในที่นี้จะมีดอกกุหลาบมาให้กำได้หรือเปล่า ท่านจะเอามาจากไหนได้ไหม ท่านเดินผ่านที่ไหนมาบ้าง อะไรต่างๆ ทำนองนี้ ก็คิดไป ในตอนนี้ก็จะเป็นการพิจารณาด้วยเหตุผลว่าเป็นไปได้ไหม

ทั้งหมดนี้จะเห็นว่าศรัทธาของคนหลายคนนั้นต่างกัน ของบางคนเป็นศรัทธาที่เชื่อโดยไม่มีเหตุผลเลยงมงาย บอกให้เชื่อก็เชื่อ บางคนก็เชื่อเพราะถูกบังคับ บางคนก็เชื่อโดยใช้เหตุผล แต่การใช้เหตุผลก็มากบ้างน้อยบ้าง ไม่เท่ากัน แต่ทั้งหมดนั้นก็อยู่ในระดับของศรัทธาหรือความเชื่อทั้งนั้น ไม่ว่าจะแค่ไหนก็ตาม ตอนนี้ก็อยู่ในขั้นที่ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อว่า อาตมภาพนี่มีดอกกุหลาบอยู่ในกำมือ โยมก็คิดเอาเองว่าจะเชื่อไหม

ทีนี้ สุดท้ายอาตมภาพก็แบมือ พอแบมือออกมาแล้วเป็นอย่างไร โยมก็เห็นเลยใช่ไหม เห็นด้วยตาของโยมเอง ว่าในมือของอาตมภาพนี่มีดอกกุหลาบหรือไม่ ตอนนี้ไม่ต้องพูดเรื่องเชื่อหรือไม่เชื่ออีกแล้ว ใช่หรือเปล่า มันคนละขั้น ปัญหาความเชื่อมันอยู่ที่ตอนยังกำมืออยู่ แต่ตอนแบมือแล้ว เห็นด้วยตาแล้ว ไม่ต้องพูดเรื่องความเชื่อ มันเป็นเรื่องของการประจักษ์ว่ามีหรือไม่มี เพราะฉะนั้นจึงได้บอกว่า พระอรหันต์ท่านถึงขั้นที่เห็นความจริงประจักษ์เองแล้ว จึงไม่ต้องอยู่ด้วยความเชื่อ แต่สำหรับปุถุชนก็ยังต้องอยู่กับความเชื่อ จะต่างกันก็ตรงที่ว่าเป็นความเชื่อที่มีเหตุผลหรือไม่มีเหตุผล มีปัญญาประกอบหรือไม่มี

สำหรับพุทธศาสนิกชนนั้น เราต้องการเข้าถึงความจริงที่ประจักษ์ ที่ไม่ต้องเชื่ออีกต่อไป แต่ระหว่างนี้ ในขณะที่เรายังไม่เข้าถึงความจริงนั้น เราใช้ความเชื่อชนิดที่มีเหตุผล มาเป็นเครื่องมือ เพื่อจะเข้าถึงความจริงที่ไม่ต้องเชื่อต่อไป เราไม่ต้องการความเชื่อชนิดที่งมงาย ฉะนั้นเราจะต้องมีหลัก เมื่อเรามีหลักในใจแล้วก็จะเป็นคนมีเหตุผล ไม่งมงาย ไม่ตื่นตูมแกว่งไกวไป นี่เป็นลักษณะของศรัทธาในพระพุทธศาสนา

เชิงอรรถ

  1. ดู มหาโจร ๕ ใน ภาคผนวก

หน้า: 1 2 3 4

No Comments

Comments are closed.