(เนื้อหา)

23 มกราคม 2537
เป็นตอนที่ 1 จาก 1 ตอนของ

สงฆ์และหลักการเป็นฐานของบุคคล
บุคคลทำสงฆ์ให้งามเพราะทำตามหลักการ

พระพุทธเจ้าต้องการให้เราเป็นอิสระ พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งอิสรภาพเสรีภาพ พุทธศาสนิกชนมีเสรีภาพในการใช้ปัญญา จนกระทั่งเป็นอิสระไม่ต้องขึ้นแม้ต่อองค์พระพุทธเจ้า แต่ในด้านความสัมพันธ์เรามีความเคารพอย่างสูงสุดทีเดียว เพราะว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้มีคุณความดี เป็นแบบอย่างแก่เรา เราเคารพในคุณความดี เพียงแค่พระองค์สอนมีเหตุผลน่าเชื่อ ทำให้เรามีศรัทธา เรายังเคารพมาก นี่พระองค์ทำให้เรามองเห็นความจริงด้วยตัวเอง จนไม่ต้องเชื่อ เราก็ยิ่งซาบซึ้งในพระคุณและเคารพเต็มที่

แม้แต่พระภิกษุ ที่เข้ามาบวชนี่ บางทีหลายท่านก็มีคุณความดีน้อยกว่าโยม โยมบางคนบรรลุธรรม เป็นพระอริยบุคคล เช่นเป็นพระโสดาบันเป็นต้น แต่พระที่เข้ามาใหม่เพิ่งบวชวันนั้น เป็นปุถุชน ยังไม่ค่อยมีความรู้อะไรคุณธรรมก็ยังน้อย แต่เราก็เคารพกราบไหว้ ทำไมเราจึงให้เกียรติเคารพนับถือ ก็เพราะการเป็นพระภิกษุนั้น เป็นการเข้าสู่วิถีชีวิตแห่งไตรสิกขา เป็นชีวิตแห่งการศึกษาที่จะต้องฝึกอบรมพัฒนาตนอย่างจริงจังเต็มที่ เราถือว่าผู้บวชเป็นผู้ที่ยอมรับการฝึกและเข้าสู่แนวทางที่ถูกต้อง ตั้งใจจะฝึกฝนศึกษาในคุณธรรม จะเดินเข้าสู่มรรค เป็นผู้ฝึกตน ในพระพุทธศาสนานี้เราให้ความยกย่องยอมรับนับถือแก่บุคคลที่ฝึกฝนพัฒนาตน เมื่อท่านยอมรับที่จะฝึกฝนพัฒนาตน เราก็ให้เกียรติเลยกราบไหว้ได้

อีกอย่างหนึ่ง พระภิกษุนั้นได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนของสงฆ์ เป็นตัวแทนแห่งสถาบันที่ธำรงรักษาธรรมไว้ให้แก่สังคม เราเคารพธรรม เราจึงเคารพสงฆ์ที่รักษาธรรมนั้น และเคารพพระภิกษุที่เป็นองค์ประกอบและเป็นตัวแทนของสงฆ์ เพราะฉะนั้น เราก็เคารพพระด้วยเหตุผลนี้ และกราบไหว้เพื่อเตือนใจท่านให้ระลึกตระหนักในหน้าที่ของท่านในการที่จะประพฤติปฏิบัติบำเพ็ญสมณธรรมและทำศาสนกิจสืบต่ออายุพระศาสนา รักษาธรรมไว้ให้แก่สังคมต่อไป

เราไม่ได้นับถือพระสงฆ์ เพราะเห็นว่าท่านเป็นผู้มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์เดช หรือเป็นผู้วิเศษ ที่จะมาดลบันดาลอะไรให้เรา อันนั้นเป็นความนับถือแบบลัทธิฤาษี โยคีนอกพระพุทธศาสนา มีมาแต่ก่อนพุทธกาล เป็นเรื่องของการนับถือผู้วิเศษ เหมือนคนเกรงกลัวผู้มีอำนาจ หรือผู้ยิ่งใหญ่มีอิทธิพล ไม่ใช่การนับถือแบบอริยะที่ถือธรรมเป็นหลัก

ในเมื่อพระอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของสงฆ์ส่วนรวมอย่างนี้แล้ว ก็โยงเรามาสู่หลักการสำคัญอีกหลักหนึ่ง

เมื่อกี้นี้ได้หลักหนึ่งแล้ว คือที่ว่าให้ยึดหลักการ ถือหลักความจริง และการที่เข้าถึงความจริงแล้วเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อบุคคล ทีนี้ก็มาถึงอีกหลักหนึ่งที่ว่าพระสงฆ์เป็นตัวแทนของสงฆ์ส่วนรวม เพราะฉะนั้นพระทุกองค์หรือภิกษุทุกรูปจะต้องโยงตัวเองเข้าไปหาสงฆ์ เคารพสงฆ์ ถือสงฆ์เป็นใหญ่ มุ่งประโยชน์แก่สงฆ์ พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญแก่สงฆ์ ไม่ให้ความสำคัญมาอยู่ที่บุคคล พระพุทธเจ้าฝากพระพุทธศาสนาไว้แก่สงฆ์ส่วนรวม มิได้ฝากไว้แก่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง

เมื่อจะปรินิพพานนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แล้ว เราชาวพุทธต้องนึกคิดให้ดี เมื่ออยู่บนเตียงปรินิพพาน เรียกอย่างชาวบ้านว่า ตอนที่สั่งเสีย พระพุทธเจ้าตรัสอะไรบ้าง ชาวพุทธควรจะถือเป็นสำคัญ ตอนที่จะปรินิพพานนั้นสิ่งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัส ก็คือ เรื่องการฝากพระศาสนาไว้ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน คนทั้งหลายก็ต้องหวังแล้วว่า พระองค์จะตั้งใครเป็นศาสดาแทน ใครจะเป็นทายาทสืบต่อตำแหน่งพระศาสดาแทนพระองค์ แต่ถ้าคิดอย่างนั้นก็ผิดหวัง พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสอย่างนั้นเลย ไม่ได้ทรงตั้งใครให้เป็นศาสดาแทนพระองค์

พระองค์ตรัสว่า “โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต, โส โว มมจฺจเยน สตฺถา” แปลว่า ดูกรอานนท์ ในเวลาที่เราล่วงลับไปแล้ว ธรรมและวินัย ที่เราแสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย

พระพุทธเจ้าให้ถือธรรมวินัย คือหลักธรรมและหลักวินัยที่ทรงแสดงและบัญญัติไว้เป็นพระศาสดา เป็นมาตรฐานสืบต่อไป ไม่มีใครเป็นศาสดาแทนพระองค์ พระพุทธเจ้าไม่ได้มอบตำแหน่งไว้แก่บุคคลเลย ให้มาตรฐานอยู่ที่ตัวหลักธรรมวินัย และผู้ที่จะรักษาธรรมวินัยนี้ไว้ ก็คือสงฆ์ส่วนรวม ไม่ใช่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง เพราะฉะนั้นพุทธพจน์นี้จึงมีความหมายทั้งให้ถือธรรมวินัย คือถือหลักการ และให้ถือสงฆ์ คือส่วนรวมเป็นใหญ่ เมื่อบุคคลปฏิบัติตามหลักการ ก็เป็นส่วนร่วมที่ทำสงฆ์ให้งามมีความมั่นคง ดำรงอยู่ด้วยดี และประโยชน์ก็จะเกิดแก่แต่ละคนที่เป็นส่วนร่วมในสงฆ์นั้น

เพราะฉะนั้น ชาวพุทธจะต้องเอาหลักธรรมวินัยเป็นพระศาสดา พยายามศึกษาเล่าเรียนให้รู้ให้เข้าใจความจริง แล้วธรรมวินัยนี้ก็จะมาเป็นมาตรฐานตัดสินบุคคล ไม่ใช่เอาพระศาสนาไปแขวนไว้กับบุคคล หรือกระทั่งบางคนถึงกับเอาบุคคลมาตัดสินพระศาสนา ซึ่งเป็นการผิดหลักอย่างเต็มที่ ส่วนพระภิกษุนอกจากถือพระธรรมวินัยเป็นหลักแล้วก็ต้องถือสงฆ์เป็นใหญ่ เคารพสงฆ์ ให้ความสำคัญแก่สงฆ์ ทำการเพื่อประโยชน์แก่สงฆ์ส่วนรวม

สงฆ์และหลักการเป็นมาตรฐาน
เพื่อรักษาประโยชน์สุขของแต่ละคน

ฉะนั้น ถ้าเรารู้หลักและปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าแล้วก็ไม่เสีย หลักธรรมวินัยนี้เป็นศาสดาอย่างไร และสงฆ์เป็นใหญ่อย่างไร มีพระสูตรหนึ่งแสดงไว้ ขอยกเป็นตัวอย่าง มหาอำมาตย์ที่เป็นเสนาบดีผู้ใหญ่บริหารราชการแผ่นดินของแคว้นมคธ ไปที่วัด ไปเจอพระอานนท์ ตอนนั้นพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เสนาบดีก็ถามว่า นี่ท่าน! พระพุทธเจ้าก็ปรินิพพานไปแล้ว เมื่อตอนปรินิพพาน พระองค์ได้ตั้งใครเป็นศาสดาแทน จะได้มาบริหารการคณะสงฆ์

พระอานนท์ตอบว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ตั้ง เสนาบดีว่า อ้าว! แล้วท่านอยู่กันอย่างไรเล่า พระสงฆ์อยู่กันจำนวนมากมาย ไม่มีการบริหาร ไม่มีหัวหน้า จะอยู่กันอย่างไร พระอานนท์ก็ตอบว่า พระพุทธเจ้าทรงวางหลักธรรมวินัยไว้เป็นศาสดาเป็นมาตรฐานแล้ว บุคคลผู้ใดมีคุณสมบัติตามธรรมวินัยนั้น พวกเราก็พร้อมกันยกย่องขึ้นเป็นหัวหน้า

หลักธรรมวินัยเป็นศาสดามาคู่กับการที่สงฆ์เป็นใหญ่ ดังจะเห็นว่าวิธีดำเนินกิจการของสงฆ์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วในวินัย เช่น พระที่จะทำหน้าที่นี้ๆ ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ๆ คุณสมบัตินี้อยู่ในพระธรรมวินัยแล้ว พระก็ดูกันเอาเอง องค์ไหนมีคุณสมบัติตามนั้น สงฆ์ก็พิจารณาตกลงยกย่องขึ้นเป็นหัวหน้า เป็นเจ้าการ หรือเป็นผู้บริหารในเรื่องนั้นๆ ในนามของสงฆ์ จึงเรียกว่าสงฆ์เป็นผู้ดำเนินกิจการ นี้เรียกว่าถือหลักการ มีธรรมวินัยเป็นหลัก มีธรรมวินัยเป็นศาสดา และมีสงฆ์เป็นใหญ่ ไม่ต้องตั้งบุคคลตายตัวไว้ ถ้าตั้งบุคคลเดี๋ยวก็มาเปลี่ยนแปลงบัญญัติของพระพุทธเจ้าหมดเท่านั้น ใช่ไหม พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว องค์ได้รับที่ตั้งเป็นศาสดาแทนก็มาคิดว่า เอ! น่ากลัวเราจะต้องเอาใหม่ แล้วที่พระพุทธเจ้าวางไว้ เดี๋ยวก็เปลี่ยนแก้ใหม่ ก็ยุ่งกันใหญ่

เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว ให้พระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทน แล้วพระองค์ก็ให้พระศาสนาอยู่กับสงฆ์ อยู่กับส่วนรวม ไม่ขึ้นอยู่กับบุคคล มีแนวทางและวิธีปฏิบัติมากมาย ที่ให้ระวังไม่ให้ความสำคัญมาอยู่ที่บุคคล และให้กระจายอะไรต่ออะไรไปสู่สงฆ์ ดังปรากฏในหลักธรรมหลักวินัยต่างๆ มากมาย การที่พระพุทธเจ้าทรงฝากไว้อย่างนี้ จะเห็นว่า พระองค์ต้องการให้พระศาสนานี้อยู่กับสงฆ์ส่วนรวม เพราะถ้าความสำคัญไปอยู่กับบุคคล บุคคลนั้นไม่แน่นอน อาจมีอันเป็นไป เสร็จแล้วพระศาสนาและประโยชน์สุขของประชาชนก็จะคลอนแคลนร่วงหล่นไปด้วย จะขอยกตัวอย่างหลักการที่พระพุทธเจ้าทรงให้ถือธรรมวินัยเป็นหลัก และถือสงฆ์เป็นใหญ่ ไม่ให้ติดยึดตัวบุคคล เช่น

หลักที่หนึ่ง ก็คือศรัทธาที่ยึดติดต่อตัวบุคคลที่พูดมาแล้วข้างต้น ซึ่งมีผลเสียคือบุคคลนั้นกลายเป็นตัวบังหลัก หรือกั้นเราไม่ให้เข้าถึงหลัก และถ้าบุคคลนั้นมีอันเป็นไปอย่างไร ศรัทธาของเราก็พลอยสิ้นสลายไปกับบุคคลนั้นด้วย และตัวหลักก็พลอยหล่นหายไป โดยที่เราทิ้งไปเสียเอง เพราะฉะนั้น ศรัทธาต่อบุคคลจะต้องให้เป็นเครื่องนำเข้าสู่ธรรม และอิงอยู่กับธรรม เพื่อให้เราเข้าถึงธรรมและอยู่กับธรรมด้วยปัญญาต่อไป นั่นก็เป็นประการหนึ่ง

อีกตัวอย่างหนึ่ง ก็คือ การอวดอุตริมนุสธรรม การบรรลุมรรคผลนิพพานก็เป็นจุดหมายในพระศาสนา แต่เสร็จแล้วทำไม เมื่อบรรลุแล้วพระพุทธเจ้ากลับมาห้ามอวด เหตุผลก็คือเพราะคุณสมบัติเหล่านี้เป็นของในใจ เป็นสิ่งที่คนอื่นไม่สามารถรู้ได้นอกจากผู้ที่บรรลุแล้วด้วยกัน และเมื่ออวดไปแล้ว ก็จะเกิดการยึดตัวบุคคลเป็นสำคัญ ไม่ต้องพูดถึงหลอกลวง แม้แต่ถ้าเป็นจริง บุคคลนั้นก็กลายเป็นจุดรวมของความสนใจ สงฆ์ก็จะหมดความหมาย พอพระศาสนาไปฝากอยู่กับบุคคล เมื่อบุคคลนั้นมีอันเป็นอะไรไป ประชาชนก็ไม่เอาใจใส่ต่อพระศาสนา เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงไม่ให้ความสำคัญมาอยู่ที่บุคคล

ส่วนตัวหมดกิเลสไร้ทุกข์ ส่วนรวมขวนขวายประโยชน์สงฆ์
พระอรหันต์คือแบบอย่างทั้งด้านชีวิตและสังคม

พระพุทธเจ้าเองนั้น ตอนแรกพระองค์ทำหน้าที่เดินทางสั่งสอนธรรมไม่ได้หยุดหย่อน ทรงประกาศพระศาสนา ตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมา พอสงฆ์เจริญขยายตัวมีขนาดใหญ่ พระองค์ก็ทรงมอบอำนาจให้สงฆ์ ต่อจากนั้นก็ให้สงฆ์เป็นใหญ่ แต่ก่อนนั้นพระองค์เคยบวชพระเอง ใครจะบวชเมื่อมีคุณสมบัติถูกต้องพระองค์ก็บวชให้ แต่พอให้สงฆ์เป็นใหญ่แล้ว พระองค์ไม่บวชเลย ให้สงฆ์เป็นผู้บวช กิจการต่างๆ ก็ให้สงฆ์วินิจฉัย เพราะฉะนั้นความเคารพสงฆ์ และการถือสงฆ์เป็นใหญ่ จึงเป็นหลักการที่สำคัญมากในพระศาสนา พระทุกองค์ต้องเคารพสงฆ์ และถือความสามัคคีของส่วนรวมเป็นเรื่องใหญ่ แม้แต่พระอรหันต์ก็อาจถูกสงฆ์ลงโทษ

เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญทางพระศาสนา มีเรื่องกระทบกระเทือนต่อส่วนรวมเกิดขึ้น พระอรหันต์จะเป็นผู้นำในการเอาใจใส่ขวนขวายแก้ไขสถานการณ์ จะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ มีตัวอย่างเรื่อยมาตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน เคยเล่าให้โยมฟังแล้ว เอามาเล่าซ้ำย้ำอีก

มหากัสสปะเป็นพระอรหันต์ผู้ชอบปลีกหลีกเร้น ท่านถือธุดงค์อยู่ป่าตลอดชีวิตเลย หลายท่านคงนึกว่าท่านปลีกตัวไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร แต่พระอรหันต์ที่ในชีวิตส่วนตัวชอบแสวงวิเวกอยู่สงัดอย่างนั้น พอมาถึงเรื่องกิจของสงฆ์ท่านไม่ทิ้งเลย นอกจากรับผิดชอบเป็นผู้อบรมพระสงฆ์หมู่ใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาเมื่อมีเรื่องของส่วนรวมเกิดขึ้นด้วย

ในตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน มีพระองค์หนึ่งพูดไม่ดีต่อการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย น่าเป็นห่วงว่าพระศาสนาจะยืนยงหรือไม่ พระอรหันต์กัสสปะได้เป็นผู้นำเรียกประชุมพระอรหันต์และชักชวนในการทำสังคายนา เพื่อปกป้องพระศาสนา รักษาพระธรรมวินัย และเชิดชูประโยชน์สุขของพหูชน

สมัยต่อๆ มาก็เหมือนกัน เวลามีเหตุการณ์กระทบกระเทือนพระศาสนาเกิดขึ้น พระอรหันต์จะมาประชุมกันพิจารณาหาทางระงับปัญหาแก้ไขสถานการณ์ ในกรณีนั้น ถ้าพระอรหันต์องค์ไหนขาดประชุม ก็อาจจะถูกลงโทษ เคยมีพระอรหันต์บางองค์ไปอยู่ในป่า ในตอนที่พระอรหันต์ท่านอื่นมาประชุมพิจารณากิจการของส่วนรวม ที่ประชุมก็มีมติลงโทษพระอรหันต์ที่ไม่มาประชุม เรียกว่า ทำทัณฑกรรม แต่ท่านลงโทษด้วยวิธีมอบงานให้ทำ เป็นการทำให้ต้องเหน็ดเหนื่อยเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม รวมความก็คือถือว่าพระอรหันต์ต้องเป็นผู้นำในเรื่องกิจการของส่วนรวม

ในเมืองไทยนี่มีเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากอย่างหนึ่ง คือได้เกิดท่าทีที่ผิด โดยมีความเข้าใจว่าพระหรือใครก็ตามที่ไม่ยุ่ง ไม่เอาเรื่องเอาราวอะไรนี่ เป็นพระหมดกิเลส อันนี้เป็นอันตรายต่อพระศาสนาอย่างยิ่ง ในประวัติพระพุทธศาสนาของเราไม่ได้เป็นเช่นนี้ พระอรหันต์เป็นผู้นำในกิจการส่วนรวมเป็นประเพณีในทางธรรมมาโดยตลอด เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวมแล้ว พระอรหันต์และพระผู้ใหญ่จะต้องเอาใจใส่เป็นผู้นำทันที

ในประเทศศรีลังกามีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นบ่อย บางครั้งสถาบันพระพุทธศาสนาถึงกับสูญสิ้น เพราะภัยสงคราม เช่นภัยสงครามจากทมิฬในอินเดียตอนใต้ยกมา และภัยลัทธิอาณานิคมจากชาติตะวันตก โดยเฉพาะพวกโปรตุเกสมาปกครองทำให้พระสงฆ์ถูกกำจัดหมดเลย ท่านเล่าไว้ในคัมภีร์ถึงการรักษาพระศาสนาว่า ในขณะที่ฉุกละหุก ทั้งประชาชนและพระสงฆ์เร่งรีบหนีภัยกัน ตอนนั้นบ้านเมืองอยู่ไม่ได้แล้ว ทุกคนต่างก็ไปลงเรือหนี แต่เรือไม่พอ พระผู้ใหญ่ที่สูงอายุ บอกว่าเราไม่นานก็ตาย แต่พระหนุ่มบางองค์ที่มีคุณสมบัติจะต้องรักษาพระศาสนาต่อไป เราจะไม่ลงเรือนี้ เราจะต้องให้ที่ในเรือนี้ แก่พระหนุ่มนั้น อะไรทำนองนี้ ท่านทำมาอย่างนี้เป็นแบบอย่าง คือการถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก พระจะต้องถือสงฆ์และประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ

ไม่ให้ความวิเศษหรือความดีพิเศษของบุคคล
มารอนประโยชน์สงฆ์และขวางการพัฒนาประชาชน

เพราะฉะนั้น การที่พระอวดอุตริมนุสธรรม คือ บรรลุคุณพิเศษ ได้มรรคผลนิพพาน เป็นพระอรหันต์ เป็นพระอริยะนี่ แม้จะเป็นจริง ถ้าเอามาอวดบอกญาติโยม ก็มีความผิด พระพุทธเจ้าปรับอาบัติไว้1 เพราะอะไร เพราะว่าท่านไม่ต้องการให้เอาความเด่นไปไว้ที่บุคคลเดียวแล้วทำให้สงฆ์เลือนลับหาย แต่ท่านต้องการให้สงฆ์อยู่ เมื่อสงฆ์อยู่ พระศาสนาก็อยู่ แล้วประชาชนก็ต้องมาเอาใจใส่ช่วยกันขวนขวายว่าจะทำอย่างไรให้พระสงฆ์ส่วนใหญ่มีคุณสมบัติดี และมีความพร้อมต่างๆ ที่จะรักษาพระศาสนาไว้ได้

การที่พระรูปใดมีคุณสมบัติดีเด่นขึ้นมา ก็ให้เป็นประโยชน์แก่สงฆ์ เพื่อจะได้มาช่วยกันปรับปรุงสงฆ์ให้ดีขึ้น ไม่ใช่ไปเอาเด่นเอาดีให้มหาชนมายึดติดเป็นเครื่องเชิดชูตัว เมื่อเรามีความสามารถขึ้นมาเราต้องเอาความสามารถนั้นไปช่วยสงฆ์ ว่าทำอย่างไรจะให้คุณสมบัติส่วนรวมดีขึ้นมาได้ และให้พระศาสนาอยู่ ให้บุคคลดี โดยเอื้อประโยชน์แก่สงฆ์ ให้สงฆ์ดี เพื่อเกื้อกูลแก่การพัฒนาบุคคล ไม่ใช่ให้บุคคลดีเพื่อดูดเอาประโยชน์ไปจากสงฆ์ และไม่ใช่ให้สงฆ์ดีเพื่อผลประโยชน์ของบุคคล ตลอดจนอย่าให้พระศาสนาล่มหายไปกับบุคคล พระพุทธเจ้าเองก็เป็นตัวอย่างมาแล้ว พระองค์ตั้งพระศาสนาเสร็จ พอสงฆ์พร้อม พระองค์ก็มอบให้สงฆ์เป็นใหญ่ เป็นหลักของพระศาสนาสืบมา

เหตุผลอื่นยังมีอีก อย่างที่ได้พูดมาแล้วว่า การบรรลุธรรมเช่นความเป็นพระอริยะนั้น เป็นสภาพที่เกิดขึ้นภายในเฉพาะตัว คนอื่นรู้ไม่ได้ นอกจากผู้ที่บรรลุธรรมระดับเดียวกันหรือสูงกว่า ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวจะเป็นผู้รับรองว่าใครได้บรรลุแล้ว สำหรับชาวบ้านหรือมหาชนผู้ไม่มีความรู้เพียงพอ บางทีก็มองการบรรลุธรรม ความเป็นพระอรหันต์ ความเป็นพระอริยะ เหมือนอย่างความเป็นผู้วิเศษหรือความศักดิ์สิทธิ์ พอได้ยินว่าท่านผู้ใดเป็นอริยะ หรือเป็นพระอรหันต์ ก็พากันตื่นเต้นมาหลงตอมติดตาม หวังผลบุญจากการระดมอุปฐากบำรุง ซึ่งนอกจากทำให้มองข้ามสงฆ์ส่วนรวมแล้วตัวชาวบ้านเหล่านั้นเองก็ละเลยกิจในการฝึกฝนพัฒนาตนยิ่งๆ ขึ้นไป

ที่ร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือ เพราะเหตุที่ชาวบ้านและหมู่มหาชนนั้นไม่อาจรู้ความเป็นพระอริยะหรือความเป็นพระอรหันต์เป็นต้น ในตัวบุคคลที่อวดอ้างนั้นได้ว่าเป็นจริงหรือไม่ การอวดอ้าง จึงเป็นช่องทางของการหลอกลวง หลายคนที่หลอกลวงจะเป็นคนที่ฉลาด และเพราะเหตุที่ตั้งใจจะหลอกลวง คนเหล่านี้ ก็จะจัดแต่งเตรียมการปั้นแต่งท่าทีให้ดูน่าทึ่งน่าเชื่อจูงความเลื่อมใสสนใจของมหาชนผู้ไม่รู้ให้ได้ผลที่สุด เช่น แสดงให้เห็นว่าเคร่งครัดขัดเกลาหรือเข้มงวดในการปฏิบัติต่างๆ จนเกินไปกว่าที่เป็นคุณสมบัติแท้จริงของพระอริยะหรือพระอรหันต์เป็นต้นนั้น ทำเกินพอดีสำหรับผู้รู้เท่าทัน แต่กลายเป็นน่าทึ่งน่าอัศจรรย์สำหรับมหาชนที่ไม่รู้เท่าทัน พากันหลงเลื่อมใสตายใจเชื่อเหลือเกิน จนพระอริยะหรือพระอรหันต์จริงๆ ที่ปฏิบัติไปตามธรรมดาสภาวะของท่านก็ถูกมหาชนมองข้าม ไม่สนใจ หรือถึงกับดูแคลนเอา สภาพอย่างนี้มีแต่จะนำความเสื่อมมาให้ทั้งแก่หมู่ชนนั้นเอง แก่สังคม แก่สงฆ์และแก่พระศาสนาส่วนรวมทั้งหมด

ในเมื่อไม่อาจรู้ได้ว่าสิ่งที่อวดจะเป็นจริงหรือไม่ และคนส่วนมากก็ไม่ค่อยรู้เข้าใจหลักพระศาสนาที่จะเอามาวัดหรือตรวจสอบ จึงมีการเอาอิทธิฤทธิ์ความขลังหรือความเคร่งครัดเข้มงวดมาหลอกกันได้ ท่านจึงไม่ให้อวดอ้างคุณพิเศษ แต่ท่านเปิดปล่อยไว้ให้ประชาชนใช้สติปัญญาเท่าที่ตนมีอยู่ พิจารณาด้วยวิจารณญาณ ตรวจดูตามเหตุผล อันเป็นไปตามหลักการในวิสัยของตนเองว่าท่านผู้ใดมีพฤติกรรมอาการที่ไม่เป็นที่ตั้งแห่งโลภะ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งโทสะ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งโมหะ แล้วเลื่อมใสศรัทธาฟังธรรมตลอดจนอุปถัมภ์บำรุงภายในขอบเขตที่จะไม่กลายเป็นการเอาพระศาสนามาตันอยู่ที่ตัวบุคคล แต่ให้บุคคลเป็นเครื่องนำเข้าสู่พระศาสนา และเป็นจุดเริ่มกระจายสู่สงฆ์ ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้ กิจการเพื่อความดำรงอยู่ของพระศาสนาก็จะดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ ก็จะไม่ฮวบฮาบฮือฮาอยู่ชั่วคราว และตัวประชาชนนั้นเองก็จะพัฒนาไปด้วย

เชิงอรรถ

  1. ดู พุทธบัญญัติ ใน ภาคผนวก

หน้า: 1 2 3 4

No Comments

Comments are closed.