(เนื้อหา)

23 มกราคม 2537
เป็นตอนที่ 1 จาก 1 ตอนของ

พระโพธิสัตว์ทำความดีด้วยมุ่งในปณิธาน
พระอรหันต์ทำความดีเพราะเป็นธรรมดาที่ท่านจะทำ

ตกลงว่าพระโพธิสัตว์เป็นแบบอย่างแก่เรา เราจะต้องเอาอย่างพระโพธิสัตว์ ตั้งปณิธานในการทำความดีให้เป็นไปตามคติพระโพธิสัตว์ที่ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตามพระโพธิสัตว์ก็มีจุดอ่อนหรือข้อบกพร่อง เป็นข้อหย่อนข้อขาดไป ๒ อย่าง อ้าว! เรารู้กันว่าพระโพธิสัตว์นี่ดีมาก ต่อไปจะเป็นพระพุทธเจ้า ท่านบำเพ็ญเพียรเต็มที่ ช่วยเหลือคนอื่นอย่างเดียว พระโพธิสัตว์ดีขนาดนี้ ทำไมเราจึงไม่นับถือสูงสุดอย่างพระพุทธเจ้า ทำไมจึงว่าพระโพธิสัตว์มีจุดอ่อนสำคัญ ๒ ประการ

จุดอ่อนหรือข้อหย่อนอะไร ๒ ประการ (ในแง่ที่เกี่ยวกับการทำความดี)

๑. พระโพธิสัตว์ที่ทำความดีนั้น ท่านทำด้วยปณิธาน ทำดีด้วยตั้งใจบำเพ็ญบารมี โดยตั้งเป้าหมายจะบรรลุธรรมสูงสุด

พระโพธิสัตว์ต้องการบรรลุนิพพาน ต้องการเป็นพระพุทธเจ้า ต้องการจะหลุดพ้น จึงต้องบำเพ็ญคุณความดีเหล่านั้น โดยตั้งปณิธานคือตั้งใจมั่นคงว่าจะเพียรบำเพ็ญคุณความดีเหล่านั้น แล้วก็อยู่ด้วยปณิธาน ปณิธานนั้นเข้มแข็งมาก ขนาดที่จะสละชีวิตเพื่อผู้อื่นได้ แต่รวมแล้วก็คือทำด้วยปณิธาน ต่างจากพระอรหันต์เช่นพระพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์) พระอรหันต์ทั้งหลายนั้นทำความดีโดยไม่ต้องอาศัยปณิธาน แต่ท่านทำความดีโดยเป็นธรรมชาติของท่านอย่างนั้นเอง จุดต่างกันอยู่ตรงนี้

พระโพธิสัตว์ต้องอาศัยปณิธาน ตั้งแต่เริ่มต้นเลย มุ่งหมายจะเป็นพระพุทธเจ้าก็ตั้งปณิธาน จากนั้นก็ทำความดีและอยู่ด้วยปณิธานเรื่อยไป พระโพธิสัตว์ท่านมุ่งมั่นแน่วแน่ในเป้าหมาย มีความเข้มแข็ง จิตมีพลังแรงมากในการที่จะทำตามปณิธานนั้นให้สำเร็จ แต่พระอรหันต์เป็นผู้บรรลุประโยชน์ตนแล้ว ไม่มีอะไรจะต้องทำเพื่อตนเองอีก เพราะฉะนั้นการกระทำเพื่อผู้อื่นจึงเป็นธรรมชาติของท่าน ท่านทำความดีอย่างเป็นไปเอง

พระพุทธเจ้าทรงพ้นจากภาวะที่ถือปณิธานแล้ว เพราะฉะนั้นพระองค์จึงทำความดีคือการไปโปรดไปช่วยสรรพสัตว์อย่างเต็มที่ เพราะพระองค์ไม่ต้องทำอะไรให้พระองค์เอง ไม่มีอะไรที่จะต้องทำให้ตัวเองแล้ว ท่านจึงเรียกว่าเป็นผู้บรรลุประโยชน์ตนแล้ว ไม่มีอะไรที่ต้องทำเพื่อตนเองอีกต่อไป เพราะฉะนั้นชีวิตที่เหลืออยู่นี่จะทำอะไร ก็ทำสิ่งที่ควรทำที่เป็นประโยชน์ คือบำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น แก่สังคม แก่ประชาชาวโลก และท่านก็ทำของท่านเรื่อยไปโดยไม่มีเรื่องอะไรอื่นที่จะต้องทำ นี่คือลักษณะของพระอรหันต์ พระอรหันต์ต่างกับพระโพธิสัตว์ตรงนี้ ที่ว่าทำความดี บำเพ็ญประโยชน์โดยธรรมชาติของท่านเอง ไม่ต้องอาศัยปณิธาน แต่พระโพธิสัตว์ต้องใช้ปณิธาน

พระโพธิสัตว์เป็นยอดสุดของผู้ทำดีด้วยความยึดในความดี
เหนือกว่านี้คือพระอรหันต์ผู้ทำความดีเพราะได้เข้าถึงธรรม

๒. พระโพธิสัตว์ที่ทำความดีนั้น ท่านทำความดีตามที่ยึดถือกันอยู่ อย่างที่เข้าใจกันว่าสูงเลิศที่สุด ตามที่หมู่มนุษย์ตกลงยอมรับกัน ซึ่งยังไม่ใช่ความดีสูงสุด ที่เกิดจากปัญญาหยั่งรู้สัจจธรรม

พระโพธิสัตว์ยังอยู่ระหว่างบำเพ็ญบารมี ยังไม่ได้บรรลุธรรมสูงสุด ยังไม่ได้บรรลุปัญญาสูงสุด ยังไม่ได้บรรลุโพธิ ฉะนั้นปัญญาของท่านจึงยังไม่ถึงสัจจธรรม ยังไม่รู้ตัวความจริงที่แท้ถึงที่สุด เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีก็ว่าตามที่ยึดถือหรือตามที่ตกลงกันในสังคมนั้น ตามที่สอนกันมาว่าอันนี้ดีก็ยึดถือเป็นความดี แม้อาจจะเหนือกว่าในบางกรณี เพราะพัฒนาปัญญามามากแล้ว แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ เมื่อยึดถือในความดีใด ท่านก็พยายามทำความดีนั้นให้เต็มที่ถึงที่สุด ไม่มีใครทำได้อย่างพระโพธิสัตว์ เวลาทำความดีอันไหน แม้แต่พระพุทธเจ้าก็อาจจะไม่ทำเท่ากับพระโพธิสัตว์ในความดีเฉพาะข้อนั้น อ้าว! ทำไมเป็นอย่างนั้น เพราะพระโพธิสัตว์ท่านตั้งใจทำความดีอย่างนั้นๆ ด้วยปณิธาน เวลานั้นท่านมีปณิธานในเรื่องนั้น ท่านก็ทำของท่าน จนกระทั่งเกินขนาดไปก็มี ความดีของพระโพธิสัตว์นั้น ไม่สมบูรณ์เพราะเหตุว่า เป็นความดีตามที่ยึดถือกัน เขายึดถือมารู้กันมาอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น และทำความดีนั้นได้สูงสุด

เพราะฉะนั้น เราจะเห็นว่าพระโพธิสัตว์ในหลายชาติบรรลุฌานสมาบัติ เพราะฌานสมาบัติเป็นความดีสูงสุดแล้วในยุคสมัยนั้น บางชาติก็ได้อภิญญา ๕ เช่นในครั้งที่เป็นสุเมธดาบส ในสมัยนั้นก็ไม่มีใครได้อภิญญา ๕ เก่งเชี่ยวชาญอย่างสุเมธดาบส เป็นอันว่าพระโพธิสัตว์ทำได้สูงสุดในความดีที่เขาได้กันในยุคนั้น แต่ฌานสมาบัติตลอดจนอภิญญาทั้ง ๕ นั้น เมื่อพระโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็ตรัสว่านี่ยังไม่ใช่ธรรมสูงสุดยังไม่ใช่จุดหมาย ไม่เป็นอิสรภาพ ถ้าใครขืนหลงติดในความวิเศษเหล่านี้ก็เป็นความผิดพลาดด้วยซ้ำไป แต่พระโพธิสัตว์ก็ไปเอาจริงเอาจังกับความดีนั้น เพราะอะไร เพราะยังไม่หมดกิเลส ยังไม่ถึงสัจจธรรม ยังไม่ถึงโพธิญาณ

ฉะนั้น พระโพธิสัตว์ก็อยู่กับความดีในระดับที่มนุษย์จะรู้กันนี่ถึงขั้นสูงสุดยอดเลย แต่ก็ไม่ถึงโพธิ ความดีของพระโพธิสัตว์จึงเป็นความดี ตามที่ยึดถือกันในโลกมนุษย์ แต่พระพุทธเจ้าทรงพ้นเลยจากความยึดถืออันนี้ เพราะรู้ว่าอะไรเป็นความดีที่แท้โดยสัมพันธ์กับตัวสัจจธรรม จนกระทั่งอยู่พ้นบาปเหนือบุญได้ พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์อื่นๆ ทำความดีบริสุทธิ์ล้วนๆ เพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ เพราะไม่มีอะไรจะต้องทำเพื่อตัวเองอีก อย่างที่กล่าวแล้ว และเพราะไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้ทำความชั่วเหลืออยู่เลย

สองประการนี้คือข้อหย่อนของพระโพธิสัตว์ สรุปว่าพระโพธิสัตว์ยังไม่ตรัสรู้ ยังไม่หลุดพ้น จึง

๑. ทำความดีด้วยปณิธาน

๒.ยึดถือความดีตามที่ตกลงกันในหมู่มนุษย์ ไม่ใช่ตัวธรรมที่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติโดยสมบูรณ์ ด้วยปัญญาอันสูงสุด

ส่วนพระพุทธเจ้าที่ประเสริฐ ก็เพราะพระองค์ผ่านการบำเพ็ญเพียรอย่างพระโพธิสัตว์มาแล้วจนสมบูรณ์ แล้วก็ทำความดีเพราะเป็นปกติธรรมดาของพระองค์เอง ไม่ต้องอาศัยปณิธาน

ทีนี้ คติทั้งหมดที่อาตมภาพนำมาพูดในวันนี้ ก็เพื่อให้เข้าใจว่าเราจะต้องนับถือพระโพธิสัตว์ให้ถูกต้อง และรู้ขอบเขตของพระโพธิสัตว์ กล่าวคือ

ประการที่หนึ่ง ถ้าเราจะนับถือพระโพธิสัตว์ เราก็ควรจะเอาแบบอย่างพระโพธิสัตว์ในการบำเพ็ญเพียรทำความดี ให้เสียสละได้อย่างพระโพธิสัตว์ ไม่ใช่ไปคอยขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์

ประการที่สอง ขอบเขตของพระโพธิสัตว์ก็คือพระโพธิสัตว์ยังไม่บรรลุธรรมสูงสุด ยังไม่เข้าถึงปัญญาตรัสรู้ จึงยังมีจุดอ่อน แม้แต่ในการบำเพ็ญความดีที่เป็นสาระสำคัญของพระโพธิสัตว์นั้นเอง คือท่านยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาที่จะต้องเป็นพระพุทธเจ้าต่อไป จนกว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าจึงเป็นผู้ประเสริฐสูงสุด ดังที่กล่าวมา

เมื่อพุทธศาสนิกชนรู้หลักอย่างนี้แล้ว ก็จะได้นับถือพระพุทธศาสนาและปฏิบัติต่อพระศาสนาได้ถูกต้อง เพราะความไม่รู้นี่แหละ จึงทำให้เราเชื่อถือและปฏิบัติคลาดเคลื่อนไปต่างๆ

ทั้งหมดนี้เป็นหลักการบางอย่างที่อาตมภาพนึกขึ้นมาได้ก็พูดไป ที่จริงมีเรื่องราวอะไรที่ควรจะพูดต่อไปอีกมากมาย แต่ตอนนี้อยากจะโยงเรื่องมาหาตัวโยม

ฝึกทำความดีให้ชินจนเป็นธรรมดา
นั่นแหละจะเป็นคนที่เรียกว่ามีวาสนาดี

เป็นอันว่าอย่างน้อยพระโพธิสัตว์ท่านก็เก่งมากแล้ว เราคงไม่ถึงขั้นพระพุทธเจ้า เพราะเราก็ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ยังไม่ถึงขั้นที่จะทำดีอย่างเป็นธรรมดาของเราเอง ถ้าจะทำได้บ้าง พอจะเรียกว่าเป็นการทำดีโดยธรรมชาติได้ในแง่หนึ่ง ก็คือทำด้วยการฝึกตัวเองมาจนชิน เป็นเรื่องติดตัว ไม่ใช่เป็นไปโดยธรรมดาแท้ๆ ถ้าเราทำอะไรให้จริงจัง ฝึกฝนทำอยู่เสมอ ก็จะสะสมติดตัวจนเรียกได้ว่าเป็นธรรมดาของเรา ในความหมายแบบของมนุษย์ปุถุชน

ฉะนั้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในหมู่มนุษย์ก็คือทำให้จริง ถ้าจะทำความดีอะไรแล้วทำให้จริง ทำให้เป็นลักษณะประจำตัว ทำให้เป็นนิสัย ทำให้เป็นวาสนา

เอาอีกแล้ว คำว่าวาสนานี้ ก็ต้องทำความเข้าใจกันอีก แต่วันนี้จะไม่พูดยาว เดี๋ยวจะไปกันใหญ่ วาสนานี่ไม่ได้มีความหมายอย่างที่เข้าใจกันในภาษาไทย วาสนานั้นที่จริงคือลักษณะประจำตัวที่แต่ละคนได้สั่งสมอบรมมาจนเคยชิน เช่นเป็นคนที่มีท่าทางเดินอย่างนี้ มีท่วงทำนองพูดอย่างนี้ ชอบพูดคำอย่างนี้ มีความสนใจแบบนี้เป็นต้น อันนี้เรียกว่า วาสนา

วาสนา คือความเคยชินที่สั่งสมอบรมมาจนเป็นลักษณะประจำตัวนี้ เป็นตัวกำกับและกำหนดวิถีชีวิตของคนเป็นอย่างมาก ท่านจึงถือว่าวาสนาเป็นเรื่องสำคัญ คนเรานี้ เมื่อมีลักษณะประจำตัวที่จะแสดงออกอย่างไรแล้ว ก็จะปรากฏแก่ผู้อื่นแล้วมีผลย้อนกลับต่อชีวิตของตัวเอง เช่น เรามีลักษณะการพูดอย่างนี้ คนอื่นเขาได้ยินคำพูดของเรา เขาก็มีท่าทีเป็นปฏิกิริยาตอบย้อนกลับมา บางคนนี้พูดแล้วคนอื่นชอบฟัง บางคนพูดแล้วคนอื่นอยากหนี บางคนพูดแล้วคนอื่นอยากตี จะเดินก็เหมือนกัน บางคนเดินคนอื่นชอบดู บางคนเดินคนอื่นชื่นชมนับถือ บางคนเดินคนอื่นระคายใจ ไม่ว่าจะเดิน จะยืน จะทำอะไรก็ตาม ต่างคนก็ต่างกันไปหมด นี้เป็นวาสนา วาสนาอยู่ที่ตัวเรา ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ลอยมาจากฟากฟ้า วาสนาอยู่ที่ตัวเรา แล้วมันก็กำหนดวิถีชีวิตของเรา

แต่ละคนมีวาสนาไม่เหมือนกัน เพราะสั่งสมอบรมมาไม่เหมือนกัน ทีนี้ในการที่จะทำความดีให้ติดตัว จนกระทั่งเรารู้สึกเหมือนเป็นธรรมชาติของเรานั้น ก็คือทำจนเป็นวาสนา ต้องทำด้วยความจงใจคัดเลือกความดีที่จะทำ และทำให้จริงจัง ถ้าเราปล่อยเรื่อยเปื่อยเราก็จะได้วาสนาที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นต้องตั้งใจว่า อะไรที่ดี ก็ตั้งใจฝึกทำให้สม่ำเสมอ ทำให้ชิน

โดยเฉพาะผู้ที่มีลูกหลานจะต้องระลึกไว้ว่า คนเรานี้จะอยู่ด้วยความเคยชินเป็นส่วนมาก กิริยา มารยาท การวางตัว การพูดจาอะไรต่างๆ ที่เป็นลักษณะประจำตัวของแต่ละคนนั้น เริ่มต้นก็เกิดจากการทำอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนแล้วก็ทำอย่างนั้นๆ จนชิน เพราะฉะนั้นถ้าเราปล่อยให้การกระทำอย่างใดเกิดขึ้นเป็นจุดเริ่มต้นแล้ว ต่อไปก็มักจะชินอย่างนั้น และเมื่อชินแล้วก็จะแก้ยากที่สุด ฉะนั้นพ่อแม่จะต้องชิงให้เขาได้ความเคยชินที่ดี แล้วเขาก็จะได้วาสนาที่ดี เพราะฉะนั้นจะต้องเอาใจใส่คอยใช้โอกาส ตั้งแต่ตอนแรกให้เขาได้ความเคยชินที่ดี เป็นวาสนาติดประจำตัวไป แล้วความเคยชินที่เป็นวาสนานั้นก็จะเป็นโชคเป็นลาภของเขาในอนาคต เพราะฉะนั้น ความสำเร็จจึงอยู่ที่เราจะทำให้ความประพฤติปฏิบัติที่ดีงาม กลายเป็นความเคยชินของเขา

เมื่อเราฝึกตัวเองให้ดี พยายามทำให้เคยชินในเรื่องนั้นๆ ต่อไปการกระทำหรือความประพฤติอย่างนั้นก็จะเป็นไปเองโดยเราไม่รู้สึกตัวเลย การทำจนชินหรือวาสนาอย่างนี้ถ้าเราจะเรียกว่าธรรมชาติหรือธรรมดาของเราก็พอได้ แต่ธรรมชาติระดับนี้ ไม่ใช่ธรรมชาติแบบพระพุทธเจ้า เป็นเพียงธรรมชาติแบบเคยชิน

จะก้าวหน้าดีในการปฏิบัติ เมื่อเอาวัตรมาเสริมศีล

การที่อาตมภาพยกเอาหลักในเรื่องคติพระโพธิสัตว์ขึ้นมาพูดนั้น ก็เข้ากันกับเรื่องนี้ คือในการทำความดีนั้นจะต้องมีแนวทางหรือมีจุดเน้นบ้าง จึงต้องตั้งเป้าไว้ว่า เราจะเอาอย่างไร ไม่ใช่ว่าประพฤติปฏิบัติความดีพร่าไปหมด ต้องเอาเป็นข้อๆ อย่างน้อยทีละข้อ ทีละเรื่องหรือสองสามเรื่องก็พอ เพราะฉะนั้นนอกจากมีศีลแล้วท่านจึงให้มีวัตรด้วย

ศีลเป็นความประพฤติสามัญที่ควรปฏิบัติเสมอกันสำหรับทุกคน ในโลก ในสังคม ในชุมชน หรือในหมู่ชนนั้นๆ แล้วแต่กรณี เช่น ในหมู่มนุษย์ทั้งหมด คนเราอยู่ในสังคมด้วยกัน ก็ไม่ควรละเมิดต่อกัน ไม่ควรเบียดเบียนกัน เมื่อต่างคนพากันประพฤติอย่างนี้ ก็อยู่กันดี เมื่อประพฤติกันได้อย่างนี้เป็นปกติก็เป็นคนมี ศีล

ทีนี้ นอกเหนือจากความประพฤติที่ทุกคนควรมีเหมือนๆ กันเป็นปกติที่เรียกว่าศีลนี้แล้ว หรือเหนือจากความประพฤติดีขั้นพื้นฐานนี้แล้ว เราก็ต้องการจะทำความดีพิเศษบางอย่างเพิ่มขึ้นอีก ความประพฤติพิเศษ นั่นท่านเรียกว่าวัตร อย่างพระนี่มีศีล ท่านให้มีศีลเหมือนกันทุกองค์ แต่นอกจากศีล อาจจะถือธุดงค์ข้อนั้นข้อนี้ นี่เรียกว่า วัตร เป็นข้อปฏิบัติพิเศษ เพื่อฝึกตนให้ดียิ่งขึ้น อันนี้เหมือนเป็นเคล็ดลับ

เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะทำความดีอย่างใดอย่างหนึ่งหรือบางอย่างให้ได้ผล ก็เอามาถือเป็นวัตรซะเลย พระท่านจึงมีการสมาทานวัตร เพราะฉะนั้น เมื่อเราคิดพิจารณาด้วยเหตุผลแล้ว เห็นว่าการกระทำหรือการปฏิบัติอันนี้ถ้าถือแล้วจะเป็นประโยชน์แก่เรา ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ในทางลบก็ตาม ในทางบวกก็ตาม ก็ตั้งใจสมาทาน คือถือปฏิบัติด้วยความเจาะจงจำนงใจ

ในทางลบ เช่นต้องการจะแก้นิสัยบางอย่าง รู้สึกว่าตัวเรานี้เป็นคนมีนิสัยเสียในเรื่องชอบกินจุกกินจิก คิดขึ้นมาว่าอย่างนี้ไม่ดีนะ ถ้าแก้ได้จะดีกว่า เราก็สมาทานวัตรกินไม่จุกไม่จิก หรือถือวัตรในข้อว่า ทานอาหารวันละเท่านั้นมื้อเฉพาะเมื่อตรงเวลาเท่านั้นเท่านี้ จะสมาทานแม้แต่ทานมื้อเดียวก็ได้ แล้วแต่พิจารณาให้เหมาะกับตนหรือเป้าหมายของตน อย่างนี้เรียกว่าเป็นวัตรทั้งนั้น พอเราตกลงกับใจของเราได้มั่นใจแล้วก็สมาทานเลย ถือเป็นวัตร แล้วตกลงว่า เราจะถือข้อปฏิบัติอย่างนี้เป็นเวลาเท่านั้นเท่านี้ วัตรนี้จะถือจำกัดเวลาก็ได้ ไม่จำกัดเวลาก็ได้ คือเป็นเรื่องยืดหยุ่น แต่เมื่อตกลงสมาทานให้จริง เมื่อเอามาตั้งเป็นวัตรแล้ว ทำเป็นข้อเจาะจงอย่างนี้ก็จะประสบความสำเร็จ

เพราะฉะนั้น ในเรื่องของข้อปฏิบัติ เรื่องความประพฤติ เรื่องพฤติกรรมต่างๆ ถ้าจะให้สำเร็จต้องทำเป็นวัตร ใครจะเลิกเหล้าเลิกบุหรี่ ก็สมาทานวัตรซะ ก็มีทางแก้ไขได้สำเร็จ นี่คือเคล็ดลับในการฝึกคน ท่านจึงให้หลักไว้สองชั้น ไม่ใช่อยู่แค่ศีลแต่ต้องมีวัตรด้วย ศีลนี่เรามีเหมือนกับคนอื่นแล้ว ความประพฤติของเราอยู่ในระดับปกติดีแล้ว ต่อไปเราก็ถือวัตรเพื่อจะแก้ไขอะไรบางอย่าง หรือทำอะไรพิเศษยิ่งๆ ขึ้นไป

ในทางบวก เมื่อจะทำความดีบางอย่าง เช่น จะฝึกให้เป็นคนมีเมตตากรุณาชอบช่วยเหลือผู้อื่น ก็สมาทานวัตรในการช่วยเหลือคน เราได้ฟังพระท่านสอนว่ากินคนเดียวไม่เป็นสุข เราก็อาจจะสมาทานวัตรที่เกี่ยวกับการไม่กินคนเดียว เรื่องนี้มีตัวอย่างพระโพธิสัตว์ในชาติหนึ่งท่านถือวัตร ว่าไม่ยอมกินอะไรก่อนให้คนอื่น ท่านสมาทานวัตรว่าแต่ละวันเมื่อตื่นขึ้นมา จะยังไม่ยอมกินอะไร จนกว่าจะได้ให้แก่ผู้อื่นแล้วก่อน ญาติโยมจะถือวัตรขึ้นมาอย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน พอถือวัตรในข้อที่จะต้องให้แก่ผู้อื่นก่อนแล้ว ในวันหนึ่งๆ เมื่อตื่นขึ้นมาก็ต้องหาทางไปให้คนอื่น ไม่รู้จะให้ใครก็ถวายพระ ไปตักบาตร ก็เป็นอันว่าได้ให้แล้ว จากนั้นตัวเองจึงจะกินข้าว อย่างนี้ก็ได้สมาทานวัตรแล้ว เป็นตัวอย่างหนึ่ง

จะพัฒนาได้ผลดี ต้องเป็นคนมีปณิธาน

ทีนี้ต่อไป ในทางจิตใจที่สูงกว่านั้นก็ทำปณิธาน อย่างพระโพธิสัตว์ ปณิธานมีคุณค่าก็เพราะเหตุผลนี้ คือการที่จะทำความดีพิเศษอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งนี้ ถ้าเราไม่ตั้งใจเอาจริงเอาจังเฉพาะอย่างหรือเป็นเรื่องๆ เป็นข้อๆ ไปแล้ว มันก็จะพร่าไปหมด จับจุดไม่ได้ ดังนั้นเราก็ตั้งปณิธานขึ้นมา พระโพธิสัตว์ในชาติหนึ่งๆ ท่านก็ตั้งปณิธานหนักในบารมีอย่างหนึ่งอย่างเดียวใช่ไหม ท่านไม่ได้ทำทีเดียวสิบบารมี ในชาติที่เป็นพระมโหสถ ก็เอาทางปัญญา ในชาติเป็นพระชนกก็เอาทางความเพียร ในชาติเป็นพระเวสสันดรก็เอาทางทาน เรียกว่ามีปณิธานเต็มที่ในเรื่องนั้นๆ

เพราะฉะนั้น โยมเองนี้ก็เหมือนกัน ถ้าจะฝึกฝนตนเองทำความดีอะไรบางอย่างให้สำเร็จและให้ก้าวหน้า ก็ตั้งปณิธานเลย ว่าจะทำความดีอันนี้ให้เป็นพิเศษ แล้วก็จะสำเร็จด้วยปณิธานนั้น เป็นการดำเนินตามอย่างพระโพธิสัตว์

เรายอมรับว่าเรายังไม่ถึงขั้นของพระอรหันต์ ที่จะทำความดีอย่างเป็นไปเองโดยธรรมชาติ เพราะฉะนั้นวัตรกับปณิธานนี่จะช่วยเรามากในการที่จะก้าวหน้าไปในการบำเพ็ญไตรสิกขา หรือในการประพฤติปฏิบัติตามหลักพระศาสนา

คนที่ได้หลักอย่างนี้แล้ว ได้สมาทานวัตร ได้ถือปณิธานในการทำความดีอย่างนี้แล้ว จะไม่แกว่งไกวไปกับเรื่องมงคลตื่นข่าว เรื่องขลัง ศักดิ์สิทธิ์ ฤทธิ์เดช ดังที่นั่น ดังที่นี่ เขาว่าที่โน้นที่นั้นดีอย่างนั้นอย่างโน้น ไม่ว่าอะไรก็ไม่ตื่นไม่เขว เรามีหลักของเราแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเรื่องประกอบผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านออกไป ถ้าเรารู้เข้าใจและปฏิบัติอย่างนี้แล้ว เราก็อยู่กับหลักที่เป็นเนื้อตัวของพระพุทธศาสนา เหตุการณ์อะไรต่ออะไรแบบนี้เกิดขึ้น แล้วมันก็ผ่านไป มันไม่อยู่ยั่งยืน เมื่อมันผ่านแล้ว พระพุทธศาสนาของเราก็ไม่กระทบกระเทือน เพราะพระศาสนาอยู่ที่ตัวเราเอง

ตกลงว่า เมื่อปฏิบัติถูกต้องพระศาสนาก็อยู่ที่ตัวเราเอง เราไม่ต้องไปทำอะไร ตัวเรานี่แหละเป็นที่สืบพระศาสนา เพราะว่าพระธรรมมาอยู่ในตัวเราแล้ว ตัวเราเดินไปพระธรรมก็เดินไป ตัวเราอยู่พระศาสนาก็อยู่ เราก็ทำหน้าที่สืบต่อรักษาพระศาสนาอยู่ตลอดชีวิตของเรา ด้วยการที่เราทำความดีนั้นเอง นี่เรียกว่าพุทธศาสนิกชนได้หลักแล้ว

เพราะฉะนั้นจึงขอเชิญชวน ขอให้พวกเรามาเรียนรู้ให้เข้าใจหลักพระศาสนา แล้วประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องอย่างน้อยก็ให้พุทธศาสนิกชนเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ดี มีคุณสมบัติเป็นอุบาสกแก้ว อุบาสิกาแก้ว อย่างที่ท่านเรียกไว้ เราก็จะเอาใจใส่ฝึกฝนพัฒนาชีวิต มาฟังธรรม ศึกษาธรรม เรียนรู้หลักทั้งพระวินัยและคำสอนพื้นฐานของพระพุทธเจ้า แล้วยึดถือหลักกรรม เอาการกระทำเป็นเครื่องนำมาซึ่งผลสำเร็จ ด้วยการใช้สติปัญญาแล้วเพียรพยายามให้ตรงกับเหตุปัจจัย ไม่ตื่นข่าวมงคล ไม่เอาพระศาสนาไปขึ้นต่อบุคคล แล้วก็ไม่แกว่งไม่ไกว มีหลักอยู่กับตัวและพระศาสนาก็อยู่กับเรา ตัวเราก็เกื้อต่อพระศาสนา พระศาสนาก็ช่วยเรา ตัวเรากับพระศาสนาก้าวหน้าไปด้วยกัน ก็จะเป็นความเจริญมั่นคง เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขทั้งแก่ชีวิตของเราเองและแก่สังคม

วันนี้อาตมภาพได้พูดมายืดยาวนาน ถ้าหากว่ายาวเกินไป ก็ต้องขออภัยโยมด้วย แต่ถ้าเป็นประโยชน์ก็ขอให้เอามาช่วยกันประพฤติปฏิบัติ จะได้สืบพระศาสนากันต่อไป

ขออนุโมทนาโยมญาติมิตรทุกท่านอีกครั้งหนึ่ง และในโอกาสนี้ ด้วยการที่โยมมีความตั้งใจดี มีน้ำใจประกอบด้วยเมตตาและไมตรีธรรม พร้อมด้วยมุทิตาธรรมต่ออาตมภาพ ก็ขอให้ความตั้งใจดีนั้น ซึ่งเป็นธรรมอยู่ในตัว จงเกิดเป็นพรขึ้นมา ซึ่งจะอำนวยผลเป็นอานิสงส์ ให้เกิดความสุขความเจริญ

พร้อมนี้ขออ้างอิงคุณพระรัตนตรัย อวยชัยให้พร รตนตฺตยานุภาเวน รตนตฺตยเตชสา ด้วยเดชานุภาพคุณพระรัตนตรัย พร้อมทั้งบุญกุศลที่โยมได้บำเพ็ญแล้ว มีศรัทธาและเมตตาเป็นต้น ที่ตั้งขึ้นในใจของโยมเอง จงเป็นปัจจัยอันมีกำลังอภิบาลรักษา ให้ทุกท่านเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีความก้าวหน้างอกงาม ในการดำเนินชีวิต ในการประกอบกิจอาชีพการงาน และในการปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้า ให้ประสบความสำเร็จ มีความร่มเย็นเป็นสุขในชีวิต และช่วยกันทำสังคมนี้ให้มีความสงบสุขร่มเย็น โดยทั่วกัน ตลอดกาลนาน

หน้า: 1 2 3 4

No Comments

Comments are closed.