สัมโมทนียกถา1
การสร้างสันติภาพ
ขอเจริญพร อาตมภาพขออนุโมทนา ท่านอาจารย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุกท่าน มีท่านรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร เป็นต้น ตลอดจนท่านอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านอื่นๆ ซึ่งบางท่านก็รู้จักคุ้นเคยกันอย่างท่านอาจารย์ ดร.ระวี ภาวิไล เป็นต้น
วันนี้ท่านได้มีน้ำใจเกื้อกูลมาเยี่ยมเยียนอาตมภาพ และได้แสดงมุทิตาจิตด้วยการถวายเครื่องมุทิตาสักการะ ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความมีน้ำใจในการแสดงความยินดีด้วย ในเมื่อมีบุคคลได้รับสิ่งที่ดีงามเป็นความก้าวหน้าหรือความสำเร็จ ซึ่งทางพระพุทธศาสนาจัดเป็นธรรมะข้อสำคัญในพรหมวิหารธรรม คือ มุทิตาธรรม
แต่การแสดงออกที่ว่าเกี่ยวข้องกับบุคคลนั้น อาตมภาพคิดว่า คงยังไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริง เป้าหมายสำคัญนั้นก็คือ การแสดงออกนี้ มีความหมายเชื่อมโยงต่อไปถึงการเชิดชูธรรมะนั่นเอง คือการที่บุคคลได้ทำอะไร เป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นประโยชน์ ก็คือ การปฏิบัติสอดคล้องกับธรรมะ ท่านผู้อื่นที่เห็นคุณประโยชน์ของธรรมะต้องการจะส่งเสริมเชิดชูธรรมะนั้น เพื่อให้ธรรมะนั้นมีความสำคัญ หรือจะได้เป็นสิ่งที่คนในสังคมนี้มองเห็นเป็นสิ่งสำคัญ เราก็จึงมาแสดงออก หมายความว่า การแสดงออกต่อบุคคลนี้ มีความหมายโยงไปถึงธรรมด้วย ในแง่นี้ อาตมภาพขออนุโมทนาท่านอาจารย์ทุกท่านเป็นอย่างยิ่ง
รางวัลนี้ได้ชื่อว่า เป็นรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ ต้องขอออกตัวว่า อาตมภาพเองก็ไม่ทราบชัดถึงความเป็นมาของเรื่องนี้ สำหรับเหตุผลในการที่ได้รับก็เป็นเรื่องของผู้ที่อยู่ในสังคมไทยด้วยกัน โดยเฉพาะทางกระทรวงศึกษาธิการ เริ่มจากกรมการฝึกหัดครู ได้เห็นความสำคัญ มีการทำเรื่องเสนอไปทางยูเนสโก อาตมภาพก็มาทราบตอนหลังๆ ในเมื่อทางโน้นได้ดำเนินการไป จนกระทั่งถึงขั้นตอนของการส่งไปทางโน้น ส่วนในแง่ของเหตุผลที่ว่า เขาให้เพราะอะไร ทางโน้นก็กล่าวเพียงสั้นๆ ตอนที่แจ้งมาเป็นทำนองว่า งานที่อาตมภาพได้เขียน หรือได้กระทำ ได้แสดงออก เป็นเรื่องที่ให้เห็นความสำคัญของสันติภาพภายใน หรือสันติภายใน คือสันติในจิตใจ และการย้ำเน้นในเรื่องที่ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการแก้ไขป้องกันปัญหาสังคม อันนี้คือเท่าที่ปรากฏในหนังสือที่แจ้งมา แต่รายละเอียดก็ยังไม่ทราบ คิดว่าอันนี้เป็นการสรุป หรือเป็นสาระสำคัญอย่างหนึ่งในเหตุผลของทางยูเนสโก
เรื่องสันติภาพนี้ เวลานี้เป็นเรื่องใหญ่ของโลกหรือของสังคมมนุษย์ทั้งหมด สันติภาพในเวลานี้มีความหมายกว้างออกไป ไม่เฉพาะเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่จะอยู่ร่วมกันด้วยดี มีความสงบสุขเท่านั้น แต่หมายถึงการอยู่ในโลกทั้งหมด ในระบบของชีวิตทั้งหมด ที่จะอยู่ได้อย่างสันติสุข ซึ่งรวมไปถึงความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้วย
เพราะฉะนั้น เวลานี้ ความหมายของสันติภาพ จึงเห็นได้ว่าขยายกว้างออกไป โดยเฉพาะปัญหาใหญ่ของมนุษย์ปัจจุบันก็คือเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่คุกคามต่ความมั่นคงปลอดภัยของชีวิตมนุษย์ เวลานี้จึงต้องมองสันติภาพให้มีความหมายโยง ทั้งในแง่ของชีวิตภายในของบุคคลว่าทำอย่างไรคนจะมีสันติสุข คือเริ่มตั้งแต่จิตใจ ก็มีสันติ มีความสงบ ไม่พลุ่งพล่านเร่าร้อน ไม่มีความทุกข์บีบคั้น แล้วขยายออกไปในชีวิตความเป็นอยู่ของเขาก็ให้ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความสงบสุข และขยายกว้างออกไปในสังคม ก็อยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์โดยไม่มีการเบียดเบียนข่มเหงซึ่งกันและกัน ตลอดไปจนถึงการอยู่ในระบบชีวิตทั้งหมดที่อยู่ภายในความแวดล้อมของธรรมชาติ ก็จะต้องไม่เบียดเบียน เอารัดเอาเปรียบธรรมชาติด้วย ให้ธรรมชาติอยู่ในภาวะที่ดี ที่เกื้อกูลต่อความเป็นอยู่โดยสงบสุขนั้น ความหมายจึงกว้างมาก
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองดูไปให้ตลอด ในที่สุด สันติ หรือความสงบที่แท้ต้องเริ่มมาจากในบุคคลแต่ละคน คือ สังคมก็ดี ระบบชีวิตที่รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมก็ดี ที่จะมีสันติสุขนั้นทุกคนต้องช่วยกันสร้าง แต่คนที่จะไปสร้างสันติต้องมีสันติในตัวเองด้วย ตัวเองไม่มีสันติภายในก็จะไปสร้างสันติภายนอกได้ยาก เพราะฉะนั้น ในจิตใจที่เป็นแกนแห่งชีวิตของแต่ละคน จึงจะต้องมีตัวสันติ คือความสงบอันนี้
ทีนี้ สันติภายในนี้จะเกิดได้อย่างไร สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือความสุข ถ้าคนเราไม่มีความสุข มีแต่ความเร่าร้อน ความรู้สึกบีบคั้น และความกระวนกระวายเป็นต้น ภาวะที่เป็นทุกข์นั้นเอง ก็เป็นความไม่สงบอยู่ในตัว เป็นความไม่สันติ ฉะนั้นคนที่มีทุกข์จึงมีสันติไม่ได้ เพราะว่ามีสิ่งที่บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ สันติจึงโยงไปหาความสุข ที่จะมีสันติก็ต้องมีความสุขด้วย
ในภาษาทางพระ เราก็พูดควบกันอยู่บ่อยๆ คนไทยเราก็นำมาพูดว่า สันติสุข แสดงว่าสองอย่างนี้มีความสัมพันธ์กัน แต่ว่าสันติสุขนั้น ยังต้องโยงไปหาอีกสิ่งหนึ่งคืออิสรภาพ ถ้าคนใดไม่มีอิสรภาพ ก็ยากที่จะมีความสุขได้ ว่ากันไปก็คือ มีไม่ได้นั่นเอง เพราะว่า ตราบใดที่ยังถูกสิ่งภายนอก หรือในที่สุดคือภายในจิตใจของตนเอง มีกิเลส ความเร่าร้อนใจ คอยรบกวน รังควานอยู่ บีบคั้นอยู่ จิตใจไม่เป็นอิสระ ก็จะมีความสุขไม่ได้ จิตใจที่มีความสุขก็จะต้องเป็นจิตใจที่เป็นอิสระ
ในที่สุด สันติความสงบก็ต้องมากับความสุข และความสุขก็ต้องอาศัยอิสรภาพซึ่งทางพระท่านเรียกว่าวิมุตติ คือความหลุดพ้น เพราะฉะนั้น เวลาพูดถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา ท่านจึงให้ความหมายว่าเป็นความหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ หมายความว่า ต้องพ้นจากความทุกข์ จะพ้นจากทุกข์ได้ก็ต้องไม่มีกิเลสรังควานจิตใจ
ด้วยเหตุนี้เรื่องของจิตใจก็จึงเป็นเรื่องที่สำคัญคล้ายๆ ว่าเป็นแก่นเป็นสาระเป็นเนื้อแท้ของชีวิตของมนุษย์นั่นเอง นี่คือต้นตอหรือว่าเป็นจุดตั้งต้น เป็นรากฐานในการที่จะสร้างสันติ ตกลงว่ามนุษย์นี้ข้อสำคัญต้องมีความสุข
ก่อนที่จะมีสันติภาพเป็นขั้นๆ จนถึงสมบูรณ์นั้น เราก็มีอิสรภาพเป็นขั้นๆ เพื่อให้เกิดความสุขในแต่ละขั้น แต่ความสุขในขั้นแรกๆ ยังมีปัญหา เพราะว่าการที่คนเราจะอยู่ในโลกอย่างมีความสุข เรามักมองแต่การที่จะมีสิ่งมาบำรุงบำเรอทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ของเรา เราจะมองที่นี่ก่อนแล้วก็คิดว่าถ้าเรามีวัตถุมาบำรุงร่างกายของเรา บำรุงตา หู จมูก ลิ้น กาย ของเรา ที่เรียกว่ามีสิ่งเสพ ถ้าเรามีพรั่งพร้อมในสิ่งเหล่านี้ เราก็คิดว่าเราจะมีความสุข อันนี้เป็นความสุขพื้นฐาน
แต่ความสุขแบบนี้มีปัญหาว่า จะเป็นความสุขที่ทำให้เกิดสันติได้จริงหรือ เพราะว่าเมื่อมนุษย์แสวงหาสิ่งเหล่านี้ คือแสวงหาวัตถุมาเสพมาบริโภค มาบำรุงบำเรอตัวเอง คนอื่นทุกคนก็ต้องพยายามที่จะหาเช่นเดียวกัน ในการแสวงหานั้นทุกคนก็คิดว่าจะต้องได้ เมื่อตัวต้องได้ ต้องเอามา ต่างคนต่างต้องเอา ต้องได้ ต้องได้ต้องเอาให้มากที่สุด ก็กลายเป็นเกิดการแย่งชิงกัน พอเกิดการแย่งชิงกัน ความสุขของคนหนึ่งก็คือความทุกข์ของอีกคนหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ที่ว่าความสุขเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดสันตินั้น จึงต้องมีข้อพิจารณาว่าเป็นความสุขแบบไหน ความสุขที่เกิดจากการแสวงหาวัตถุมาบำรุงบำเรอให้มากที่สุด ด้วยความคิดที่ว่า เสพมากที่สุดจะสุขมากที่สุดนี้ ทำให้เกิดการเบียดเบียนแย่งชิง เพราะฉะนั้นจึงเป็นสุขประเภทแย่งชิงกัน คือถ้าฝ่ายหนึ่งได้อีกฝ่ายหนึ่งก็เสีย อีกฝ่ายหนึ่งสุขอีกฝ่ายหนึ่งก็ทุกข์ ฉะนั้น ความสุขแบบนี้จึงไม่ทำให้สังคมมีความร่มเย็นเป็นสุขแน่นอน สันติคงเกิดไม่ได้ และจิตใจของคนที่แสวงหาสิ่งเหล่านี้ ก็เป็นจิตใจที่เร่าร้อน เร่าร้อนก็คือคิดทะยานที่จะหา ตลอดเวลาที่แสวงหาสิ่งเหล่านั้นก็ไม่มีความสุขจริง มีความสุขตอนเดียวคือตอนที่ได้สิ่งนั้นมา มาเสพ มาบำรุงบำเรอตนเอง ซึ่งเป็นเวลาสั้น ส่วนเวลาที่เหลือคือเวลาที่แสวงหานั้น เต็มไปด้วยความเร่าร้อน คือความทุกข์ เพราะฉะนั้น ความสุขถ้ามีอยู่เพียงแค่นี้ คงจะไม่เป็นความสุขที่ทำให้เกิดสันติ
แต่ในทางธรรมะ ท่านบอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่พัฒนาได้ เมื่อพัฒนาได้ก็พัฒนาแม้ในความสุขได้ด้วย เพราะฉะนั้นมนุษย์จะต้องพัฒนาขึ้นไป ในทางพระพุทธศาสนาบอกว่ามนุษย์นั้นสามารถจะเข้าถึงความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไป เมื่อมนุษย์ประสบความสุขที่ประณีตแล้ว อันนี้แหละจะเป็นทางนำไปสู่สันติที่แท้จริง สันติทั้งภายในจิตใจของตนก็มีความสงบ แล้วก็นำมาซึ่งความสงบสุขในสังคมมนุษย์ด้วย หมายความว่าความสุขนั้นจะต้องพัฒนาจากความสุขแบบแย่งชิงไปสู่ความสุขแบบอื่น
ความสุขอะไรจะเป็นความสุขที่ช่วยให้เกิดสันติหรือเกื้อกูลต่อสันติสุข อันนี้ก็คือการพัฒนามนุษย์ การพัฒนามนุษย์นั้น พัฒนาทุกด้าน เมื่อพัฒนาขึ้นไปแล้ว ความสุขที่เป็นความสุขแบบแย่งชิงก็จะเปลี่ยนไปเป็นความสุขแบบประสานกลมกลืน
พระพุทธศาสนาเน้นเรื่องการอยู่ร่วมในสังคมมาก หลักธรรมเบื้องต้นสำหรับชาวพุทธจะเน้นเรื่องหลักปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันในสังคม ทั้งธรรมะภายนอกที่แสดงออกในทางกาย วาจา และทั้งธรรมะที่อยู่ในใจ คือ ท่านให้ฝึกคนทั้งพฤติกรรม และจิตใจ ในการที่จะอยู่ร่วมในสังคมด้วยดี ธรรมะชุดนี้ ก็คือที่เราพูดกันบ่อยว่า ทาน ศีล ภาวนา แต่ชาวพุทธเดี๋ยวนี้มักจะมองแคบ เอาเรื่องทาน ศีล ภาวนาที่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับวัดกับพระสงฆ์อย่างเดียว
ความจริงทาน ศีล ภาวนานั้นก็คือวิธีฝึกคนในการอยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคมมนุษย์นั่นเอง ในพระสูตรแห่งหนึ่งท่านใช้คำว่า สิกขา คือ มองว่าเป็นเรื่องการฝึก ทาน ศีล ภาวนา นี้เป็นการฝึกฝนคน ท่านบอกว่า ปุญฺญเมว โส สิกฺเขยฺย แปลว่าพึงศึกษาบุญ คือความดี ได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา หมายความว่าให้ฝึกในเรื่องที่หนึ่ง ทาน การให้ สอง เรื่องศีล การที่จะไม่เบียดเบียนกัน แล้วก็สาม เรื่อง ภาวนา ภาวนาในที่นี้ท่านให้เริ่มด้วยเมตตาภาวนา คือการปลูกฝังความรัก ความปรารถนาดีต่อกันนั่นเอง
ฉะนั้นจึงได้ความว่า พระพุทธศาสนาเริ่มด้วยการฝึกฝนพัฒนาคนในการอยู่ร่วมกัน แต่พร้อมกับการฝึกคนให้อยู่ร่วมกันนั้น ท่านให้ฝึกพัฒนาเรื่องความสุขภายในตัวไปด้วย คือ พัฒนาให้คนเจริญในความสุข เพราะถ้าคนไม่เจริญในความสุขแล้ว การพัฒนาในเรื่องพฤติกรรมก็จะยาก ยากที่จะสำเร็จผลได้ ทีนี้คนจะมีความสุขในการอยู่ร่วมกันได้อย่างไร หลักธรรมเรื่อง ทาน ศีล ภาวนา นี้จะมาช่วย มันจะเป็นไปอย่างประสานกลมกลืน
เริ่มด้วยธรรมะที่พุทธศาสนาสอนก่อนอื่นคือ ทาน เพราะอะไร เพราะว่ามนุษย์เรานั้นมีชีวิตเกี่ยวข้องกับวัตถุ วุ่นวายเกี่ยวกับการแสวงหาวัตถุการทำมาหาเลี้ยงชีพต่างๆ ก็แสวงหาปัจจัย ๔ หาวัตถุเครื่องบำรุงบำเรอให้ความสะดวกสบาย คนเราก็จึงคิดว่าจะได้จะเอา ทำอย่างไรจะได้สิ่งนั้นมาสิ่งนี้มา คิดอยู่เสมอ จะได้จะเอา
ทีนี้พระพุทธศาสนาก็สอนว่า ท่านจะเอาจะได้อย่างเดียวไม่ได้ ไม่มีดุลยภาพ ชีวิตนี้ไม่สมดุล โลกนี้ในธรรมชาติแวดล้อม สิ่งทั้งหลายต้องมีทั้งให้และได้ หรือได้และให้ด้วย คนเราก็เหมือนกัน เมื่อเกี่ยวข้องกับวัตถุจะมองแต่ว่าจะเอาจะได้อย่างเดียวไม่พอ ชีวิตเสียดุล ต้องมองที่จะให้ด้วย ถ้าเมื่อไรชีวิตของเรามีทั้งการได้ และการให้ เมื่อนั้นชีวิตจึงจะมีดุลยภาพ เพราะฉะนั้น พร้อมกับการที่คนทั้งหลายคิดแต่จะได้จะเอา ท่านก็เลยสอนทานแทรกเข้ามา บอกว่าคิดให้ด้วยนะ พอเราคิดทานคือการให้ขึ้นมา ชีวิตก็เริ่มมีดุลยภาพ
คนที่คิดจะเอาจะได้ อยู่ๆ ไปเขาจะมองเพื่อนมนุษย์เป็นคู่แข่ง แล้วนานไปก็จะมองเป็นเหยื่อ
คนที่คิดจะได้จะเอา ตอนแรก เพราะต่างคนต่างจะได้จะเอา ก็มองคนอื่นเป็นคู่แข่ง แต่พอตัวเองมีความสามารถเข้า เอาได้มาก เก่งในการที่จะได้จะเอา ก็จะมองเพื่อนมนุษย์เป็นเหยื่อไปหมด ถ้าอย่างนี้ก็ทำให้เสียสันติภาพ ถ้าคนเราเป็นอย่างนี้ ชีวิตและสังคมก็ต้องเกิดความวุ่นวายแน่นอน
พระพุทธศาสนาสอนให้เริ่มต้นด้วยการฝึกในทาน คือการให้ ให้มองเพื่อนมนุษย์ด้วยจิตคิดจะให้ พอมองด้วยจิตคิดจะให้ เราจะเข้าใจคนอื่น คนเราที่ไปในสังคมคอยมองในทางที่คิดจะได้จะเอา จะมองมนุษย์หรือเพื่อนมนุษย์ด้วยสายตาอย่างหนึ่ง แต่พอมองด้วยความคิดจะให้ ความรู้สึกจะเปลี่ยนไป จะมองคนทั้งหลายเป็นเพื่อนมนุษย์ จะมองด้วยความเห็นอกเห็นใจ แล้วจะเริ่มเอาใจใส่ เห็นความเป็นมนุษย์ของเขาที่แท้จริง เห็นสภาพที่แท้จริง เกิดความเห็นอกเห็นใจ เขาทุกข์เราก็สงสาร ตอนนี้คุณธรรมเกิดขึ้น แม้เพียงได้ตั้งจิตคิดจะให้เท่านั้น คุณธรรมในใจก็เริ่มพัฒนา
เพราะฉะนั้น พอเราให้ เราก็มองเห็นสภาพชีวิตของเขา พอเรารู้สึกว่า เขามีความทุกข์ความเดือดร้อน เราก็จะเห็นใจ และสงสาร พอให้ คุณธรรมจะเกิดตามมาทันที พอให้เขา เห็นเขาดีใจ เห็นเขาเป็นสุข เห็นเด็กที่เดือดร้อน แต่งตัวมอมแมม และหน้าตาอิดโรย พอได้อาหารได้เสื้อผ้าจากเราไปให้ เขายิ้มแย้มแจ่มใส หน้าตาเป็นสุข เราเห็นเขาเป็นอย่างนั้น เราก็อิ่มใจ เราก็มีความสุขด้วย พอเรามีความสุขอย่างนี้ จิตใจเราก็สบาย เขาสุขเราก็สุข ความสุขของเขาเป็นความสุขของเรา พร้อมกันนั้นในใจเราก็เกิดคุณธรรม คือความรัก ความอยากให้เขาเป็นสุข เรียกว่าเมตตาเกิดขึ้น นี่คือการเจริญคุณธรรมพร้อมกับพฤติกรรม เป็นไปด้วยกัน
เพราะฉะนั้นในทางพระพุทธศาสนาจึงสอนหลักธรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นหลักของการประสาน และทำให้มีการพัฒนามนุษย์ เมื่อพัฒนาอย่างนี้แล้วก็จะได้ผลทั้งสองประการ คือตัวคนนั้นเองก็พัฒนาขึ้นในความสุข ตัวเขาเองก็มีความสุข แล้วก็ทำให้ความสุขเกิดขึ้นแก่ผู้อื่นในสังคม จึงเป็นความสุขแบบประสานเกิดขึ้น โดยที่ทั้งสองฝ่ายจะมีความสุข เพราะว่าเขาสุขเราก็สุข ความสุขของเขาเป็นความสุขของเรา เป็นความสุขที่ประสานกลมกลืน ไม่เหมือนกับความสุขประเภทแรกที่ต้องแย่งชิงกัน
จะเห็นว่า ความสุขแบบนี้ เมื่อมนุษย์เข้าถึงแล้วก็จะช่วยให้สังคมมีสันติสุข แล้วพอมนุษย์พัฒนาขึ้น มีความสุขภายใน ที่ท่านเรียกว่ามีความสุขที่ประณีตขึ้น การที่จะต้องดิ้นรนแสวงหาวัตถุบำเรอตนเอง ก็มีความจำเป็นน้อยลง เพราะมีช่องทางในการหาความสุขมากขึ้น ก็ทำให้ไม่จำเป็นต้องบริโภค เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม หรือทำลายทรัพยากรธรรมชาติให้มากมาย
การพัฒนามนุษย์นี้ มีผลดี ทั้งชีวิตเขาเองก็มีความสุข อยู่ร่วมสังคมกับเพื่อนมนุษย์ก็มีความสุขด้วยกัน และธรรมชาติแวดล้อมก็ไม่ถูกเบียดเบียนทำลาย ฉะนั้นการพัฒนามนุษย์จึงนำไปสู่สันติสุขในทุกด้าน ในระบบความเป็นอยู่ของมนุษย์
พระพุทธศาสนาถือหลักเรื่องการพัฒนามนุษย์เป็นสำคัญ และพัฒนาแม้แต่ในเรื่องความสุขด้วย พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ถ้าพระองค์ไม่ประสบความสุขที่ประณีต พระองค์จะยืนยันพระองค์ไม่ได้เลยว่าจะไม่เวียนกลับมาหาความสุขที่อิงอาศัยอามิสสิ่งเสพทั้งหลาย แต่เพราะพระองค์ได้ประสบความสุขที่ประณีตแล้ว พระองค์จึงยืนยันได้ว่า พระองค์ไม่ต้องเวียนกลับมาหาความสุขจากการแสวงหาสิ่งเสพมาบำรุงบำเรอ ฉะนั้นจึงจำเป็นที่มนุษย์จะต้องพัฒนาในเรื่องความสุข
ในกรณีนี้ก็มาถึงหลักการของพระพุทธศาสนาอีกข้อหนึ่ง เวลานี้เราไปเชื่อว่า จริยธรรมนี่เป็นเรื่องของความจำใจ คือเราไปมองในแง่เหตุผลที่ว่า ถ้าเราเบียดเบียนเขาไปแสวงหาแย่งชิง คนอื่นเขาก็จะเอาบ้าง แล้วต่างก็จะเกิดความเดือดร้อนด้วยกัน ทั้งสองฝ่ายก็จะไม่มีความสุข เพื่อนมนุษย์ก็จะมีความทุกข์ เราก็ทุกข์ ฉะนั้นเราจำเป็นต้องประพฤติตามหลักจริยธรรม จะต้องไม่เบียดเบียนกัน เป็นต้น จริยธรรมแบบนี้เป็นจริยธรรมแบบจำใจ ซึ่งเป็นความเชื่อในทางจริยธรรมสมัยปัจจุบัน ความจริงไม่ใช่หลักในพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนานั้นเป็นจริยธรรมแห่งความสุข เพราะสอนว่ามนุษย์นั้นพัฒนาไปแล้ว เมื่อเขาประพฤติความดี เขาจะทำด้วยความสุข ดังนั้น เมื่อมนุษย์เกิดมาแล้วจึงต้องพัฒนาสองด้านไปพร้อมกัน ให้มีดุลยภาพ
มนุษย์โดยทั่วไป แม้แต่การศึกษาปัจจุบันนี้ จะมองความหมายของความสุขในแง่ของการพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งบำรุงความสุข ถ้ามองในแง่ความสุข การศึกษาในปัจจุบันแทบจะมีความหมายอย่างนี้ คือเป็นการพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งมาบำรุงความสุข แต่เมื่อพัฒนาไปๆ คนจะไม่รู้ตัวว่าอีกด้านหนึ่งเราสูญเสีย คือสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข
คนจำนวนมากอยู่ในโลกไป มีความเก่งกล้าสามารถในการหาสิ่งมาบำรุงความสุข แต่สูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข ยิ่งอยู่ไปนานเข้า ก็ยิ่งเป็นคนมีความสุขยากขึ้น เมื่อเป็นคนมีความสุขยากขึ้นได้มาเท่าไรก็ไม่มีความสุข พอได้มาสิบ ก็สูญเสียความสามารถที่จะมีความสุขไปสิบ เลยกลายเป็นศูนย์ คือเท่าเดิม ฉะนั้นแม้สิ่งที่ได้มามากมายก็ไม่สามารถที่จะทำให้มีความสุข เพราะว่าพัฒนาอย่างขาดดุลยภาพ
ชีวิตที่ดีจริงจะต้องพัฒนาทั้งสองด้าน นอกจากพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งบำรุงความสุขแล้ว ต้องพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขด้วย พระพุทธศาสนาสอนให้พัฒนาทั้งสองด้านไปพร้อมกัน ถ้าเราพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข เราอยู่ในโลกไป เราจะเป็นคนมีความสุขง่ายขึ้นทุกที พอมีความสุขง่ายขึ้น สิ่งที่จะบำรุงความสุขแก่เราก็มีความจำเป็นน้อย แต่พร้อมกันนั้น การศึกษาอีกด้านหนึ่ง ช่วยให้เรามีความสามารถในการหาสิ่งบำรุงความสุขมากขึ้น เมื่อเราสามารถหาสิ่งบำรุงความสุขได้มาก วัตถุเหล่านั้น เกินจำเป็นสำหรับความสุขของเราแล้ว เราก็เอาไปเผื่อแผ่ช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ ด้วยการที่เราได้พัฒนาคุณธรรมจากทานให้มีเมตตาเป็นต้นนั้น เราก็อยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ด้วยดีและเกื้อกูลกันมากขึ้น ตัวเราเองก็มีความสุขง่ายขึ้น ทั้งมีทางหาความสุขจากการที่ได้สนองคุณธรรมด้วย ก็เลยมีความสุขมากมาย พร้อมกับทำให้โลกนี้มีความสุขมากขึ้นด้วย
ฉะนั้นหลักการในพระพุทธศาสนาจึงเป็นหลักการอย่างที่กล่าวแล้ว คือการพัฒนามนุษย์ พัฒนาทุกด้าน พัฒนาทั้งด้านพฤติกรรม พัฒนาด้านจิตใจ และพัฒนาด้านปัญญา ซึ่งจะทำให้ชีวิตมีดุลยภาพ ชีวิตจะได้ประสบแต่สิ่งที่ดีงามมีความสุขยิ่งขึ้น พร้อมทั้งความสุขนั้นก็เกื้อกูลต่อเพื่อนมนุษย์ ทำให้สังคมมีความสุขมากขึ้น แล้วก็ทำให้ลดการบริโภค ลดความสิ้นเปลืองแก่ทรัพยากรธรรมชาติไปด้วย
คิดว่าแนวความคิดในการพัฒนามนุษย์และในการสร้างความสุขด้วยการมีอิสรภาพ ไม่ต้องขึ้นต่อวัตถุเกินไปในการมีความสุข พร้อมทั้งการทำให้เกิดสันติความสงบขึ้นมาโดยวิธีการนี้ จะเป็นหลักการสำคัญในการแก้ไขปัญหาของโลกสืบต่อไป
อาตมภาพขอนำเอาหลักการทางพระพุทธศาสนามากล่าว เพราะว่าท่านอาจารย์ทุกท่านได้มีน้ำใจ ซึ่งประกอบด้วยคุณธรรม มาแสดงมุทิตาจิตแก่อาตมภาพ มุทิตาจิตนี้ก็อยู่ในหลักธรรมชุดเดียวกันนี้ คือหลักพรหมวิหารสี่ประการ ซึ่งเริ่มต้นด้วยเมตตา คือความรัก ความปรารถนาดี ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้มนุษย์ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และแม้แต่ทานก็เป็นพฤติกรรมที่ช่วยพัฒนาคุณธรรมข้อนี้ และพร้อมกันนั้นคุณธรรมข้อนี้ก็ยิ่งทำให้มนุษย์บำเพ็ญทานได้มากขึ้นด้วย ประสานสอดคล้องกันไป
ด้วยการพัฒนามนุษย์ให้คนเรามีชีวิตที่ประสานกลมกลืนกัน ทั้งในชีวิตภายในของตนเอง ทั้งกายกับจิต และทั้งความประสานกลมกลืนในชีวิตของบุคคลกับสังคม แล้วก็มาประสานกลมกลืนกับธรรมชาติแวดล้อม ก็จะทำให้เราแก้ปัญหาของมนุษย์และนำสันติสุขมาให้ได้อย่างแท้จริง
การที่ท่านอาจารย์ได้มาแสดงมุทิตาจิตในวันนี้ ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสันติภาพ เพราะว่าท่านมาด้วยจิตใจที่มีคุณธรรม มีความปรารถนาดี เป็นความสัมพันธ์ที่ดีงามเกิดขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสันติความสงบสุขในสังคม เพราะฉะนั้น อาตมภาพจึงขออนุโมทนาต่อท่านอาจารย์ทุกท่าน ผู้มาในนามของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกครั้งหนึ่ง
ขอตั้งกัลยาณจิต อวยชัยให้พรตอบแทน โดยอ้างอิงคุณพระรัตนตรัย เป็นเครื่องอภิบาลรักษา รตนตฺตยานุภาเวน รตนตฺตยเตชสา ด้วยอานุภาพแห่งคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม และคุณพระสงฆ์ พร้อมทั้งคุณธรรม มีพรหมวิหารธรรม อันได้แก่ เมตตาจิต ความกรุณา มุทิตาธรรม ที่เกิดขึ้นในจิตใจของท่านแล้ว จงเป็นปัจจัยอภิบาลรักษาให้ทุกท่านเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีความเจริญก้าวหน้าในการดำเนินชีวิต ในการประกอบกิจอาชีพการงาน บรรลุความสำเร็จ และความก้าวหน้า มีความร่มเย็นงอกงามในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดกาลนาน เทอญ
No Comments
Comments are closed.