- บทบาทของมหาวิทยาลัยสงฆ์ในการเป็นผู้นำทางการศึกษาพระพุทธศาสนา
- (มองดูสภาพการศึกษาทั่วๆ ไปในโลกนี้)
- (หันกลับมามองใกล้ตัว)
- (สรุปเรื่องบทบาทความเป็นผู้นำการศึกษาทางพระพุทธศาสนา)
- (อุปสรรคและจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข)
- (สิ่งที่จะทำได้ในปัจจุบัน)
บทบาทของมหาวิทยาลัยสงฆ์
ในการเป็นผู้นำทางการศึกษาพระพุทธศาสนา1
ท่านพระเถรานุเถระครูอาจารย์ แห่งมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เจริญพรท่านอาจารย์ประธานจัดงาน ท่านนายกสมาคม ศิษย์เก่ามหาจุฬาฯ พร้อมทั้งกรรมการและท่านผู้ร่วมประชุมทุกท่าน
อาตมภาพขออนุโมทนาในการที่สมาคมศิษย์เก่า ได้มีความคิดริเริ่มจัดการประชุมสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้ขึ้น รู้สึกว่าทางสมาคมมีความเอาจริงเอาจังในเรื่องกิจการของมหาจุฬาฯ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคราวนี้ก็ปรารภเรื่องสำคัญคือการที่ทางการได้ออกพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะของผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง พร้อมทั้งเปรียญ ๙ ประโยค เห็นว่าเป็นเวลาสำคัญที่ควรจะได้มีการคิดการพิจารณากันอย่างจริงจังในเรื่องการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ หรือการศึกษาของคณะสงฆ์เป็นส่วนรวม ข้อนี้แสดงลึกลงไปถึงความมีใจห่วงใยต่อสถาบัน และอีกแง่หนึ่งก็เป็นการต้อนรับด้วยความดีใจต่อเหตุการณ์อันแสดงถึงความเจริญก้าวหน้า ของมหาวิทยาลัยที่จะมีในอนาคต การจัดการสัมมนาครั้งนี้ เป็นการแสดงความรู้สึกหวังดีมีเจตนา งานทั้งสองอย่างดังกล่าวมานี้ อาตมภาพจึงขออนุโมทนา ณ ที่นี้เป็นอย่างยิ่ง
สำหรับการที่นิมนต์อาตมภาพมาพูดในวันนี้ได้กำหนดหัวข้อไปว่า “เรื่องบทบาทของมหาวิทยาลัยสงฆ์ในการเป็นผู้นำทางการศึกษาพระพุทธศาสนา” นิมนต์ไปอย่างนี้ พอได้ยินก็รู้สึกว่าไม่ค่อยเต็มใจจะพูด คือตามปกติก็ไม่เต็มใจอยู่แล้ว ตอนนี้เป็นระยะที่งดพูด โดยทั่วๆ ไป แต่ในเมื่อเป็นเรื่องของมหาจุฬาฯ และเป็นเหตุการณ์ที่บอกว่าพิเศษก็ต้องทนกล้ำกลืนรับ ทีนี้ก็มานึกว่า เอ…! เราจะพูดอะไรดี นี้เป็นประการหนึ่ง ประการที่สองที่ท่านให้พูด ตั้งหัวข้อไปด้วยบอกว่า “บทบาทของมหาวิทยาลัยสงฆ์ในการเป็นผู้นำทางการศึกษาพระพุทธศาสนา” ทำให้สงสัยในความนึกคิดของทางสมาคมที่เป็นผู้ตั้งหัวข้อเรื่องว่าท่านตั้งนี้มีความหมายอย่างไรกันแน่ คือหัวข้อนี้ มองได้ ๒ อย่าง
อย่างที่ ๑ อาจจะมองได้ว่าหมายถึงบทบาทที่มีอยู่ คือ บทบาทในความเป็นผู้นำที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถ้าพูดในแง่นี้ก็หมายความว่าเราประกาศความเป็นผู้นำทางการศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างไรบ้าง หรืออาจจะเป็นไปได้ว่า มีความหมายแง่ที่ ๒ คือ บทบาทที่ควรที่จะมีหรือควรจะเป็น ถ้าหากว่าเป็นบทบาทที่ควรจะมีก็มองได้ว่าบัดนี้ทางมหาวิทยาลัยสงฆ์ยังไม่มีความเป็นผู้นำนั้น หรือไม่ค่อยจะมีก็เลยต้องการจะมี และก็พูดหรือตั้งหัวข้อขึ้นมาเพื่อจะหาทางช่วยกันคิดกันนึกในการที่จะมีบทบาทในการเป็นผู้นำเช่นนั้น อันนี้จะวินิจฉัยได้อย่างไรว่ามีความหมายอย่างแรกหรืออย่างหลัง อาตมภาพก็มานึกถึงตัวพระราชบัญญัติที่ออกมานั่นแหละ ซึ่งอาตมาขอย้ำความที่เคยพูดไว้เมื่อการประชุมครั้งก่อน คือตอนนั้นอาตมภาพได้กล่าวว่าที่พระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะออกมาคราวนี้นั้น น่าดีใจหนึ่งส่วน น่าสังเวชสามส่วน ได้พูดไว้อย่างนี้
ที่ว่าอย่างนี้ก็ได้อธิบายไปแล้ว หมายความว่า ที่น่าดีใจก็เป็นการแสดงถึงความเจริญก้าวหน้าไปขั้นหนึ่ง กล่าวคือ แต่ก่อนนั้น ทางการไม่ได้มีตัวบทกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร แสดงการยืนยันรับรองฐานะการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ ตลอดจนการศึกษาของคณะสงฆ์โดยส่วนรวม ให้ชัดเจน เช่นเปรียญ ๙ ก็อาจจะเทียบคล้ายๆ เป็นอนุปริญญาในเวลาเข้ารับราชการ ตอนนี้ก็มากำหนดชัดเจนเป็นตัวบทกฎหมายและให้เป็นปริญญาตรี อันนี้ก็เป็นความ ก้าวหน้าที่น่าดีใจ แต่ที่น่าสังเวชก็เพราะว่ามันเป็นการประจานหรือเป็นการประกาศบอกทราบ ถึงการศึกษาของคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้นำของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยเราว่า มีอย่างสูงสุดแค่ปริญญาตรีเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษาอย่างแผนใหม่หรือแผนเก่าก็ตาม
พอพูดถึงตอนนี้เรามามองเทียบกับหัวข้อเรื่องที่ตั้งไว้ ก็เท่ากับบอกในตัวว่า ถ้าพิจารณาในแง่ทางการแล้ว มหาวิทยาลัยสงฆ์หรือคณะสงฆ์ก็ตาม คงจะไม่เป็นผู้นำแน่ เพราะฐานะในทางการบอกว่าเป็นแค่ปริญญาตรีเท่านั้น ความเป็นผู้นำย่อมหมายความว่า ถ้าจะมองในแง่ปริญญาก็ต้องมีปริญญานั้นสูงสุด แต่ปัจจุบันทางการบอกเราและเราก็ยอมรับว่าเรามีแค่ปริญญาขั้นต้นคือปริญญาตรีเท่านั้น
ถ้ามองไปข้างนอกเราก็จะเห็นว่ามีการศึกษาพระพุทธศาสนาที่สูงกว่าปริญญาตรีในที่อื่นหลายแห่ง หรือจะมองในแง่ความเชื่อถือก็ได้ ถ้าหากว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์หรือการศึกษาของคณะสงฆ์โดยส่วนรวมนี้ มีความเป็นผู้นำหรือมีบทบาทในการเป็นผู้นำในการศึกษาพระพุทธศาสนาวงการต่างๆ ภายนอก เมื่อเขามีข้อสงสัยมีปัญหาอะไรขึ้นมา เขาจะต้องมองมาที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ มองมาที่การศึกษาของคณะสงฆ์ จะต้องเอาเป็นหลักเป็นที่สอบถามอ้างอิง แต่ทว่าในความเป็นจริง สภาพที่เป็นอยู่ไม่สู้จะเป็นเช่นนั้น จะเห็นได้ว่าใน ปัจจุบันนี้เมื่อต้องการศึกษาพระพุทธศาสนาในชั้นสูง ถ้าเป็นคฤหัสถ์ ก็จะต้องไปศึกษาที่ประเทศทางยุโรป อเมริกา ขณะนี้ก็มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยในเมืองไทยบางท่านกำลังศึกษาปริญญาเอกทางพระพุทธศาสนาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และก็มีบางท่านกำลังติดต่อขอไปอีก หรือถ้าเป็นพระเราเอง จะเป็นเปรียญ ๙ ก็ตาม พธ.บ. ศน.บ. ก็ตาม เมื่อจะเรียนต่อชั้นสูงขึ้นไปแม้แต่ในเรื่องพระพุทธศาสนา ก็พากันไปเรียนต่อที่ประเทศอินเดียหรือลังกา อย่างในอินเดีย เช่นที่มหาวิทยาลัยเดลลี ก็มีเรียนพระพุทธศาสนาถึงปริญญาเอก เพราะฉะนั้น ก็เป็นเครื่องบ่งบอกว่าเราไม่มีฐานะเป็นผู้นำ
หรือจะมองใกล้เข้ามาที่การศึกษาทางพระพุทธศาสนาในประเทศนี้เอง มหาวิทยาลัยทางโลก ก็มีการศึกษาทางบาลีและพระพุทธศาสนาสูงกว่ามหาจุฬาฯ นี้ว่าโดยฐานะทางการ อย่างที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ทราบกันอยู่แล้วว่า ที่คณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาปรัชญาก็อาจจะเรียนพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นปรัชญา ตอนนี้ก็มีถึงปริญญาโท ปีนี้ว่าจะเปิดให้ถึงปริญญาเอก โดยเน้นที่พระพุทธศาสนา และในคณะอักษรศาสตร์ด้วยกัน ที่จุฬานั้นก็มีการสอนวิชาภาษาบาลี ซึ่งเรียนได้ถึงปริญญาโทและก็พยายามจะเปิดถึงปริญญาเอก หรือที่มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการศาสนาเปรียบเทียบก็เรียนต่อได้ถึงปริญญาโท และก็ได้ พยายามมาหลายปีแล้วเหมือนกันที่จะเปิดปริญญาเอก
นี้ก็เป็นเรื่องของฐานะโดยทางการ ซึ่งได้กล่าวว่า ถ้าเอามาตรฐานอย่างนี้เข้าวัด มหาวิทยาลัยสงฆ์และคณะสงฆ์ ก็มีฐานะเป็นผู้นำไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องฐานะกับบทบาทบางทีก็ไม่เหมือนกัน ฐานะอาจจะไม่มี แต่บทบาทอาจมีหรือไม่สมบูรณ์ แต่อาจจะมีบ้างก็ได้ แต่เรื่องนี้อาจจะเอาไปพูดกันทีหลัง ในตอนนี้เราพูดฐานะเสียก่อน
อีกอย่างหนึ่งที่จะเป็นเครื่องวัดที่สำคัญก็คือ ในประเทศไทยที่เป็นประเทศนับถือพระพุทธศาสนา มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาตินี้ วิชาหนึ่งที่หาอาจารย์สอนได้ยากก็คือวิชาพระพุทธศาสนา แม้แต่ในมหาวิทยาลัยสงฆ์เองก็เข้าใจว่าวิชาพระพุทธศาสนานี้เป็นวิชาที่หาอาจารย์สอนไม่ง่ายนัก แล้วมีแนวโน้มหรือมีทางเป็นไปได้ว่าในอนาคตมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของไทยอาจจะต้องเชิญอาจารย์สอนวิชาพระพุทธศาสนามาจากประเทศสหรัฐอเมริกา แนวโน้มมีอยู่ ทำไมเมืองไทยเราเป็นประเทศพระพุทธศาสนา และในคณะสงฆ์ก็มีผู้ศึกษาเล่าเรียนสอบนักธรรมกันเป็นแสน สอบบาลีเปรียญธรรมกันเป็นหมื่น แต่เราหาอาจารย์สอนวิชาพระพุทธศาสนาชนิดที่ว่าถึงขั้นจริงๆ ที่จะได้ระดับมาสอนปริญญาหาได้ยากจริงๆ นี้ก็เป็นข้อพิจารณาอย่างหนึ่ง
No Comments
Comments are closed.