- การสื่อภาษาเพื่อเข้าถึงสัจธรรม
- ขอบเขตและขีดจำกัดของภาษา
- เบื้องหลังความผิดพลาดและความบกพร่อง ในการสื่อภาษาและการใช้ภาษาเป็นสื่อ
- ระหว่างการใช้ภาษาเป็นสื่อ กับการมุ่งสู่ประสบการณ์ตรง จับจุดพลาดให้ถูก
- งมงายในวิทยาศาสตร์ ย่อมไม่ลุถึงวิทยาศาสตร์
- ฐานที่แท้ของการแก้ความผิดพลาด
- เมื่อรู้จักใช้ ก็ประสานประโยชน์ได้ เมื่อปฏิบัติพอดี ก็เป็นคุณทั้งหมด
- บทสรุป
เมื่อรู้จักใช้ ก็ประสานประโยชน์ได้
เมื่อปฏิบัติพอดี ก็เป็นคุณทั้งหมด
นอกจากนั้น ก็มีอีกแง่หนึ่ง ขั้นสุดท้ายสำหรับตัวบุคคลที่เป็นผู้พูดเอง คือ การใช้ภาษาอย่างรู้เท่าทัน ไม่ยึดติด ตรงนี้เป็นตัวสำคัญ ซึ่งจะมีผลต่อตัวเองในทางจิตใจ ทำให้เกิดความปลอดโปร่งใจ และเมื่อใจปลอดโปร่ง ปัญญาก็จะแจ่มใสด้วย ช่วยในการที่จะใช้ภาษาต่อๆ ไป อย่างมีประสิทธิภาพ ใจของคนนั้นจะต้องเป็นอิสระ ใจที่เป็นอิสระก็คือใจที่ใช้ภาษาอย่างรู้เท่าทัน ท่านเรียกว่าไม่ยึดติด ใช้ไปตามโวหารโลก อย่างพระพุทธเจ้าที่ทรงมีลักษณะอย่างหนึ่งว่า ทรงรู้เท่าทันภาษา รู้ว่าสิ่งนี้เขาสมมติเรียกกันว่าอย่างนี้ ก็เข้าใจและใช้ไปตามสมมตินั้น แต่ไม่ติดในภาษานั้น อันนี้ก็เป็นลักษณะสุดท้าย อาจจะยากสักนิด แต่เป็นลักษณะในขั้นสูงสุดที่เกี่ยวกับอิสรภาพของมนุษย์
ต่อไปแง่ที่สองคือ ฝ่ายผู้รับสื่อหรือผู้ฟังจะปฏิบัติอย่างไร ผู้รับสื่อ หรือผู้ฟังนี้ ในการปฏิบัติต่อเรื่องภาษามี ๒ ขั้น
ขั้นที่ ๑ คือขั้นที่ยังต้องอาศัยภาษาเป็นสื่อ การที่เรายังอาศัยภาษาเป็นสื่อนั้น มีความหมายรวมไปด้วยถึงการที่เรายังต้องอาศัยผู้อื่นในการเข้าถึงสัจธรรม การที่เราจะพึ่งผู้อื่น เราสัมพันธ์กับผู้อื่น เราจะต้องใช้ปัญญาให้ดี ผู้อื่นก็มีทั้งซื่อสัตย์ มีทั้งหลอกลวง มีทั้งผู้ที่รู้จริง มีทั้งผู้ที่หลงผิด มีทั้งผู้ที่ถ่ายทอดได้ดี มีทั้งผู้ถ่ายทอดไม่เป็น องค์ประกอบหรือปัจจัยฝ่ายผู้พูดก็ส่วนหนึ่ง แต่การที่จะได้ผลต้องอยู่ที่ฝ่ายตัวผู้ฟังด้วย ถ้าผู้พูดสื่อได้น้อย แต่ผู้ฟังมีประสิทธิภาพมาก ก็ยังได้ผลมากอยู่นั่นเอง
ฉะนั้น หลักการนี้ก็คือว่า ผู้ฟังจะต้องมีโยนิโสมนสิการ รู้จักใช้ปัญญา รู้จักคิดพิจารณาในสิ่งที่เป็นข้อมูลหรือสิ่งที่ตนได้รับมาฟังมา ในการที่จะปฏิบัติต่อภาษานั้น อย่างที่พูดมาทีหนึ่งแล้วว่า โยนิโสมนสิการ คือความคิดเป็น รู้จักวิเคราะห์ เช่น รู้จักถามว่า คืออะไร เป็นอย่างไร ทำไมเป็นอย่างนี้ มันจะทำให้เกิดผลอย่างไร สืบทอดกับเรื่องอย่างไร สัมพันธ์โยงกันอย่างไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร คนที่ถามอย่างนี้มากแล้วคิดค้นไปตามคำถามเหล่านี้ พยายามตอบคำถามเหล่านี้จะทำให้ปัญญาแก่กล้าขึ้นแล้วก็เป็นทางหนึ่งของการเข้าถึงสัจธรรม
อย่างพระพุทธเจ้า ก่อนตรัสรู้พระองค์ก็ใช้วิธีนี้ถามตัวเอง เมื่อมีประสบการณ์ที่ควรรู้ ก็ตั้งเป็นคำถามขึ้นว่า ตัวนี้เกิดขึ้นจากอะไร เพราะอะไรอันนี้จึงมี พระองค์สืบค้นต่อไปก็จับได้ รู้ว่า เพราะอันนี้มี อันนี้จึงมีด้วย พอถึงตัวไหนก็ถามเพื่อสืบค้นตัวนั้นต่อไป แล้วอันนี้ล่ะ มีขึ้นได้เพราะอะไร อะไรจึงทำให้อันนี้มี สืบค้นต่อไป ก็ได้ตัวต่อไปสืบค้นเรื่อยไป จนกระทั่งตลอด หลักการคิดอย่างนี้ก็อยู่ในกระบวนการที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ คือ การรู้จักคิดพิจารณาโดยแยบคาย สืบค้นจนตลอดถึงต้นเค้า
ฉะนั้น ถ้ามองอะไรก็อย่ามองผิวเผิน ต้องสืบค้นให้ถึงต้นเค้าแล้วต่อไปคือ การรู้เท่าทันสมมติ หรือปรมัตถ์ คือการรู้เท่าทันความจริงที่แบ่งเป็นระดับ หมายความว่า ความจริงก็แบ่งเป็นระดับต่างๆ โดยหลักใหญ่ก็มีสองระดับ
อย่างภาษาทางวิทยาศาสตร์ ถ้าเราพูดว่า ‘น้ำ’ มันก็คือความจริงระดับหนึ่ง แต่ความจริงระดับนี้ในแง่วิทยาศาสตร์ ยังไม่ถึงความจริงแท้ ก็ยังต้องสืบค้นลึกลงไปอีก
วิทยาศาสตร์บอกว่า H2O ไฮโดรเจน ๒ อะตอม ออกซิเจน ๑ อะตอม เป็น H2O นี่คือ น้ำก็ทำให้เข้าถึงความจริงมากขึ้น พอพูดว่า H2O ผู้ที่เรียนวิทยาศาสตร์ก็รู้และมองความจริงลึกลงไปอีกระดับหนึ่ง จะไม่มองแค่น้ำขอให้นึกถึงคนสองคน เมื่อพูดคำว่า น้ำ เขาจะมองความจริงไม่เท่ากัน คนที่เรียนวิทยาศาสตร์และมีใจใฝ่ในวิทยาศาสตร์ก็จะมองน้ำในความรู้ความเข้าใจอย่างหนึ่ง แต่คนที่เป็นชาวบ้านมองคำว่าน้ำในความหมายและความรู้ความเข้าใจอีกอย่างหนึ่ง
นี่คือความจริงในต่างระดับ เราจะต้องรู้เข้าใจเท่าทันว่าภาษานั้นสื่อความหมายในความจริงที่ต่างระดับกันได้ด้วย ซึ่งขึ้นต่อผู้ที่พูดและผู้ที่ฟังด้วย ทั้งหมดอย่างนี้ ทางพระเรียกว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เรียกว่า ความรู้ประเภทที่ ๑ กับความรู้ประเภทที่ ๒
อะไรคือความรู้ประเภทที่ ๑ และความรู้ประเภทที่ ๒ ในภาษาไทยอันนี้เป็นคำที่ยังกำกวม เราพูดว่าความรู้ แต่ความรู้นั้นแบ่งเป็น ๒ ประเภท ที่จริงท่านแบ่งได้หลายประเภท แบ่งโดยวิธีอื่นอาจจะมี ๓ มี ๔ ได้ แต่ในแง่นี้ แบ่งเป็น ๒ ที่แบ่งเป็น ๒ มีอะไร
ความรู้ที่เราเอามาพูดกัน เรียนนั่น เราเรียนนี่ เรารู้วิชาวิทยาศาสตร์ รู้วิชาเศรษฐศาสตร์ ความรู้อย่างนี้ รู้ตามที่อาจารย์มาถ่ายทอด มาสอนมาบรรยายให้ฟัง จดกันไปบ้าง จำกันไปบ้าง รู้ว่าอันนั้นเขาแปลว่าอย่างนี้ รู้อย่างนี้เป็นความรู้ประเภทที่ ๑
ความรู้ประเภทที่ ๑ นี้ บางทีคนไม่รู้จักแยกจากความรู้ที่แท้จริง ก็ทำให้เกิดปัญหา ความรู้อย่างนี้ เป็นเพียงความรู้ระดับต้น ซึ่งยังไม่สามารถใช้แก้ปัญหาได้แท้จริง ความรู้ประเภทนี้จะเป็นความรู้ประเภทอุปกรณ์ เป็นความรู้ประเภทข้อมูลข่าวสารที่รับถ่ายทอดมา
ความรู้ประเภทที่ ๒ คือ เมื่อเรารับถ่ายทอดข้อมูลนั้นมาแล้ว เราเองมีความเข้าใจต่อสิ่งนั้นอย่างไร รู้ข้อมูลที่รับนั้นเขาว่ามาอย่างไร เราก็รู้ได้ตามนั้น เข้าใจ เห็นความหมายหรือสาระของความรู้นั้น อย่างนี้ก็เรียกว่าความรู้เหมือนกัน
ถึงตอนนี้ เราจะเป็นตัวของตัวเอง ความรู้ประเภทที่ ๑ เป็นความรู้ของคนอื่น เรารับมาเก็บเอาไว้เหมือนกับของฝาก เราลองสำรวจตัวเอง เรามีความรู้ของคนอื่นมาเก็บใส่ตัวเองไว้เป็นของฝากหรือเปล่า ถ้าเต็มไปด้วยความรู้ประเภทนี้มาก เป็นของเก็บมารวมๆ ไว้เฉยๆ ถ้าได้แค่นี้ก็มีเพียงความรู้ประเภทที่ ๑
ต่อไปอีกขั้นหนึ่ง เรามีความรู้เข้าใจต่อความรู้นั้นอย่างไร ความรู้ที่เข้าใจสาระสำคัญของมัน เข้าใจเหตุผลของมัน เข้าใจความสัมพันธ์ของมันกับเรื่องราวอื่น อันนี้เป็นความรู้ที่สำคัญ เป็นความรู้ที่เข้ามาเป็นเนื้อเป็นตัวของเรา เป็นความรู้ประเภทที่ ๒
ความเข้าใจในการวิเคราะห์แยกแยะองค์ประกอบประการหนึ่ง ความเข้าใจในการสืบค้นเหตุปัจจัยประการหนึ่ง ความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งนั้นกับสิ่งอื่นประการหนึ่ง ความรู้ระดับนี้เราเรียกว่าเป็นปัญญา แล้วความรู้ประเภทที่ ๑ เรียกว่าอะไร
ความรู้ประเภทที่ ๑ ที่เป็นเหมือนของที่คนอื่นเขาถ่ายทอดมา เราเอามาเก็บไว้เป็นของฝาก เรียกว่า ‘สุตะ’ ภาษาปัจจุบันก็เป็น data และ information คนจำนวนมากเข้าใจว่า information หรือ data เป็นความรู้ของตัวเอง ที่แท้มันไม่ใช่ มันเป็นเพียงของที่เก็บรวบรวมเอาไว้ ซึ่งเป็นของดิบ เป็นข้อมูล เป็นอุปกรณ์ที่จะใช้ประโยชน์ ถ้าไม่มีปัญญาของตัวเองที่จะเข้าใจถึงสาระ ไม่สามารถแยกแยะองค์ประกอบของสิ่งนั้น ไม่สามารถสืบสาวปัจจัยและความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสิ่งอื่น เขาจะไม่สามารถนำสุตะ หรือ information หรือ data ไปใช้ให้เป็นประโยชน์
เพราะฉะนั้น เราจะต้องพัฒนาตัวปัญญานี้ขึ้นมา ทางพระท่านกล่าวว่า ปญฺา สุตวินิจฺฉินี แปลว่า ปัญญาเป็นเครื่องวินิจฉัยสุตะ หมายความว่า สุตะนี้เป็นตัวความรู้เบื้องต้น จะต้องมีปัญญามาเป็นตัววินิจฉัยให้รู้สุตะนั้น ตั้งแต่ว่า เป็นของจริงหรือไม่ มีความหมายเป็นอย่างไร เป็นต้น จนกระทั่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์และอันนี้ก็เป็นข้อปฏิบัติในฝ่ายผู้รับสื่อ
ผู้รับสื่อแยกเป็น ๒ ชั้น หรือ ๒ ประเภท ประเภทที่ ๑ คือ พวกที่ยังต้องอาศัยภาษาเป็นสื่อ ประเภทที่ ๒ คือ พวกที่อยู่ในขั้นทะลุผ่านภาษาเข้าถึงตัวประสบการณ์ อย่างที่บอกแล้วว่า ตราบใดที่เรายังใช้ภาษาเป็นสื่อ ก็คือ การที่เรายังต้องอาศัยคนอื่นในการที่จะเข้าถึงสัจธรรมอยู่
การเข้าถึงความจริงนั้นไม่จำเป็นจะต้องใช้ภาษาเสมอไป เพราะความจริงนั้นเป็นสภาวะ ความจริงนั้นมันเปิดเผยตัวของมันเองตลอดเวลา แต่มนุษย์ทำไมจึงไม่รู้ความจริง ทำไมไม่เข้าถึง ก็เพราะเอาอะไรไปบังตัวเองไว้ หรือบางทีก็หลอกกันไปเสีย รวมทั้งภาษานี้ด้วย ภาษาที่ว่าเป็นสื่อให้เข้าถึงความจริง แต่บางทีมันเป็นตัวที่ไปปิดบังความจริงเสียอย่างที่ว่าแล้ว
บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องอาศัยภาษา และไม่ต้องอาศัยคนอื่น เราก็เข้าถึงตัวประสบการณ์นั้นได้ด้วยตนเอง ในเมื่อธรรมชาติเปิดเผยตัวมันอยู่แล้ว คนบางคนก็เข้าถึงความจริงของธรรมชาติโดยประสบการณ์ตรง จากการที่เขารู้จักโยนิโสมนสิการ
ยกตัวอย่างทางวิทยาศาสตร์ นายไอแซค นิวตันไปนั่งอยู่ใต้ต้นแอปเปิ้ล ลูกแอบเปิ้ลตกลงมา เขาคิดได้ถึงกฎ gravitation หรือเรื่อง gravity ก็ได้ความจริงขึ้นมาเป็นความจริงระดับหนึ่ง ถึงแม้ว่า gravity หรือหลักว่าด้วย gravitation ในทางวิทยาศาสตร์อีกระดับหนึ่งถือว่า มันไม่ใช่ความจริงแท้ แต่อย่างน้อยมันก็เป็นกฎธรรมชาติที่ใช้ได้ในระดับหนึ่ง ในการเข้าถึงความรู้ในความจริงนี้เขาไม่ต้องอาศัยภาษาที่คนอื่นถ่ายทอดมา แต่มันเป็นภาษาที่มี concept อยู่ในใจ เขาอาศัยประสบการณ์ตรงนี้ ทำให้เขาสามารถเข้าถึงความจริงได้ แต่คนอื่นทำไมไม่ได้ความจริงนี้ คนจำนวนมากมายก่อนนายนิวตันตั้งแสนตั้งล้าน หรือหลายล้านคนเห็นลูกแอบเปิ้ลตกลงมาไม่รู้กี่ครั้ง แต่ไม่เคยมีใครได้ความรู้นี้ ทำไมจะต้องมารอนายนิวตัน นายนิวตันมีอะไรพิเศษ นายนิวตันพิเศษ เพราะมีโยนิโสมนสิการ
เพราะฉะนั้น เราอาจจะมองผ่านทะลุสื่อภาษาไปเข้าถึงประสบการณ์ตรงโดยที่ตัวเรามีปัญญาที่รู้จักคิดพิจารณาหรือโยนิโสมนสิการนี้ ก็เข้าถึงสัจธรรมได้ด้วยตนเอง หรืออย่างพระภิกษุรูปหนึ่งไปนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ ได้เห็นใบไม้ร่วงหล่น พอใบไม้แก่ร่วงหล่นมาก็เกิดมีปัญญาโพลงสว่างขึ้นมา เห็นความไม่เที่ยงแท้ของสรรพสิ่ง เกิดความรู้เข้าถึงกฎแห่งอนิจจังขึ้นนี้ก็เรียกว่า การเข้าถึงโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านสื่อภาษาเหมือนกัน
รวมความว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องของการต้องใช้โยนิโส-มนสิการทั้งนั้น ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะใช้ภาษาก็ตาม หรือจะใช้วิธีประสบการณ์ตรงโดยไม่ผ่านภาษาก็ตาม เข้าหลักของพุทธภาษิตว่า โยนิโส วิจิเน ธมฺมํปญฺาตฺถํวิปสฺสติ แปลว่า พึงวิจัยสืบค้นให้ถึงต้นเค้า หรือวิจัยโดยแยบคาย ถ้าแปลง่ายๆ ก็วิจัยธรรมโดยแยบคาย หรือใช้ปัญญาสืบค้นโดยแยบคาย ก็จะมองเห็นแจ้งความหมายด้วยปัญญา
ในคำที่ว่า “พึงวิจัยธรรมโดยแยบคาย แล้วจะเห็นความหมายแจ้งชัดด้วยปัญญา” ธรรมในความหมายที่ ๑ คือ ตัวสภาวะหรือสิ่งที่มีอยู่โดยธรรมชาติ หรือตัวความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติธรรมในความหมายที่ ๒ คือ คำสอนของคนที่เข้าถึงความจริงนั้นแล้วนำความจริงนั้นมาถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจ คำสอนของเขาที่แสดงความจริงนั้น ก็เรียกว่า ธรรม เหมือนอย่างเราเรียกคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า ธรรม ก็เพราะเป็นคำสอนของท่าน ที่เข้าถึงความจริงแล้วนำมาถ่ายทอดแสดงให้เข้าใจ
ตัวสภาวะความจริงของธรรมชาติก็เรียกว่า ธรรม คำสอนที่แสดงสภาวะนั้นก็เรียกว่า ธรรม ภาษายังมาสื่อธรรมในความหมายทั้ง ๒ นี้อีก เป็นการสื่อสองชั้น
เพราะฉะนั้น ถ้าเราวิจัยตัวธรรมในความหมายที่ ๑ ก็คือ การเข้าถึงประสบการณ์ตรง ไม่ต้องผ่านภาษา หรือถ้าวิจัยธรรมในความหมายที่ ๒ ก็คือ วิจัยตัวคำพูดบอกเล่าที่แสดงสัจธรรมนั้น ก็อาศัยภาษาพุทธภาษิตนี้ใช้ได้ทั้งสองความหมาย
ทีนี้ ต่อไปก็ถึงข้อที่ ๓ ขอทวนว่า ข้อที่ ๑ พูดถึงวิธีปฏิบัติของผู้ใช้ภาษาเป็นสื่อหรือพูด ข้อที่ ๒ พูดถึงผู้รับสื่อหรือผู้ฟังว่าจะปฏิบัติอย่างไร ข้อที่ ๓ ก็คือกระบวนการ หมายถึงกระบวนการใช้สื่อที่ได้ผลดี มีประสิทธิภาพในการที่จะช่วยให้เข้าถึงสัจธรรม อันนี้คือการที่มีการใช้ภาษาสื่อนำความจริงต่อๆ ไป โดยก้าวคู่เคียงไปกับการเข้าถึงประสบการณ์จริงๆ นั้น หมายความว่าเป็นกระบวนการที่ทั้ง ๒ อย่าง อาศัยซึ่งกันและกัน คือเรารู้อยู่แล้วว่าสาระของการสื่อด้วยภาษาก็เพื่อนำคนเข้าถึงสัจธรรมแต่เราจะมัวใช้ภาษากันอยู่เพื่ออธิบายสัจธรรมทุกระดับไม่ได้มันจะไม่มีการก้าวหน้าไป
เพราะฉะนั้น เราจึงควรทำแบบควบประสานและเป็นขั้นตอนตามลำดับ เริ่มด้วยภาษาจะโยงไปถึงสัจธรรมในระดับที่เราควรจะเข้าถึงในตอนต้นก่อน เราก็อาศัยภาษานั้นเป็นสื่อเข้าถึงประสบการณ์ระดับต้นนั้น พอถึงประสบการณ์ระดับนั้นแล้ว เราก็มีฐานที่ว่า ภาษาเป็นสื่อที่โยงไปหาประสบการณ์ที่เราได้ถึงแล้วด้วยตนเองจริง จากนั้นเราก็ใช้ภาษาโยงไปหาประสบการณ์ขั้นต่อไปที่เรายังไม่รู้ โดยวิธีนี้ก็จะเป็นการก้าวไปเรื่อยๆ
จริงอยู่ สัจธรรมเรายังไม่ถึง แต่ด้วยการใช้ภาษาอย่างชาญฉลาด ก็ทำให้เราก้าวไปพร้อมกัน ระหว่างการใช้ภาษาเป็นสื่อกับการเข้าถึงระดับต่างๆ ของสัจธรรม จนถึงเข้าถึงสัจธรรมโดยสมบูรณ์ในที่สุด นี่คือการใช้ภาษาเป็นสื่อโดยคู่เคียงกันไปกับการเข้าถึงประสบการณ์นั้นๆ อันนี้เป็นวิธีการที่สำคัญในกระบวนการโดยที่ว่าประสบการณ์ต่างๆ มาเป็นฐานทางภาษาให้แก่การเข้าถึงประสบการณ์ที่สูงขึ้นไป ซึ่งเป็นการอาศัยสิ่งที่เป็นสื่อแต่ขั้นให้ออกผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง ซึ่งก็อาศัยผลการปฏิบัติเป็นเครื่องช่วยในการพิสูจน์ด้วย
แต่ก็อย่างที่พูดมาแล้วว่า จะต้องมีการโยงกลับไปเรื่อยๆ ผลปฏิบัติอาจจะหลอกลวงเราได้ และภาษาในการสื่อประสบการณ์ตรงก็อาจจะหลอกลวงเราได้ แต่เราก็มีภาษานั้นแหละมาเป็นสื่อในการแก้ไข เช่น โดยมีคนที่ชาญฉลาดมาช่วยมาวิเคราะห์วิจารณ์กัน มีการอภิปราย การรู้จักรับฟังก็ทำให้เกิดความเข้าใจในความหลงผิด แล้วก็เกิดการถอนตัวได้อีก เพราะฉะนั้น การที่จะก้าวไปสู่การเข้าถึงสัจธรรมจึงเป็นการรู้จักปฏิบัติอย่างชาญฉลาดระหว่างการใช้ภาษากับการที่จะได้สัมผัสประสบการณ์เหล่านั้นคู่เคียงอย่างเอื้อกันไป
No Comments
Comments are closed.