- ไหว้พระประธาน
- แก้ความเข้าใจ ความหมายของบุญ ที่แคบและเพี้ยนไป
- ให้ทานอย่างไร จึงจะได้ทำบุญอย่างสมบูรณ์
- ไปทำบุญอย่างเดียว แต่ได้กลับมาสามอย่าง
- ถ้าจะทำบุญ ก็ควรทำให้ครบทุกความหมาย
- หนทางที่จะทำบุญ มีอยู่มากมาย
- ทำบุญ ต้องให้สมบูรณ์ขึ้นไปถึงปัญญา
- บุญที่แท้แผ่ความสุขออกไป ให้ความงอกงามทั้งแก่ชีวิตของเราและทั่วสังคม
- โยมทำบุญแล้ว พระก็อนุโมทนา แต่ถ้าโยมทำบุญเพราะพระชวน อาจจะเสี่ยงอเนสนา
- ทำบุญ ทำที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าทำอะไร ถ้าทำเป็น ก็ได้บุญ
- ศึกษาบุญไป ให้ปัญญาพาปุญญังถึงจุดหมาย กลายเป็นบุญอย่างสูงสุด
ทำบุญ ต้องให้สมบูรณ์ขึ้นไปถึงปัญญา
๘. ธรรมสวนมัย ทำบุญด้วยการฟังธรรม ธรรมะเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เรามีปัญญา ทำให้เรามีหลักในการประพฤติปฏิบัติและดำเนินชีวิตที่ดี
ถ้าเราไม่อ่านไม่ฟัง ไม่รู้จักหาความรู้ ไม่ถามไถ่ ไม่มีการฟังธรรม ไม่อ่านหนังสือธรรมะ ความก้าวหน้าในธรรมของเราอาจจะชะงัก แล้วการเจริญในบุญก็จะเป็นไปได้ยาก จึงต้องมีข้อนี้มาช่วย
ท่านสอนให้มีธรรมสวนมัย คือทำบุญด้วยการฟังธรรม ซึ่งจะทำให้รู้หลัก มองเห็นช่องทางแม้แต่ในการทำบุญเพิ่มขึ้นอีก รวมทั้งให้รู้จักหาความรู้ที่เป็นประโยชน์ เจริญปัญญา
๙. ธรรมเทศนามัย ทำบุญด้วยการแสดงธรรม การแสดงธรรมให้ผู้อื่นฟัง ก็เป็นบุญ
แต่ในเวลาแสดงธรรมให้ผู้อื่นฟัง ต้องตั้งใจให้ถูกต้อง ท่านว่า ถ้ามีเจตนาหาลาภ หาเสียง ถือว่าเจตนาไม่ดี มุ่งที่ผลส่วนตัว จะไม่มีผลมาก แต่ถ้าตั้งเจตนาว่า เราจะแสดงธรรมไปเพื่อให้โยมได้รู้เข้าใจถูกต้อง ให้มีสัมมาทิฐิ ให้โยมได้รับประโยชน์ ให้โยมได้พัฒนาชีวิตขึ้นไป ผู้ที่แสดงธรรมก็ได้บุญด้วย
ถึงโยมก็เหมือนกัน ก็ทำบุญข้อธรรมเทศนามัยนี้ได้ โดยนำธรรมไปบอก ไปเผื่อแผ่ ไปสอนลูกสอนหลาน ให้รู้จักสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ให้เขาเจริญในทาน ศีล ภาวนาด้วย
เริ่มตั้งแต่ไปแนะนำในครอบครัวของตัวเอง ทำบุญกับลูกกับหลานก็ได้ ด้วยธรรมเทศนามัยนี้
ยิ่งเป็นเรื่องที่ยาก หรือเขาไม่เคยสนใจ เราก็ได้ฝึกตัวเอง หาทางที่จะสอนที่จะแนะนำอธิบายให้ได้ผล ทำให้เขามีปัญญา ทำให้เขาทำดี เป็นคนดีได้ เราเองก็ปลื้มใจ ได้พัฒนา ก็ยิ่งได้บุญมาก
๑๐. ทิฏฐุชุกรรม ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง คือทำความคิดความเข้าใจให้ถูกต้อง
ความเห็นถูกต้องนี้ ต้องทำกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะทำอะไร ควรพิจารณาตรวจสอบกิจกรรมทุกอย่างว่า เราทำด้วยความรู้เข้าใจถูกต้องหรือเปล่า
เริ่มตั้งแต่เมื่อทำทาน ก็พิจารณาว่า เราทำด้วยความเข้าใจถูกต้องไหม เรื่องนี้เป็นไปได้มากว่า โยมหลายท่านอาจจะทำด้วยความเข้าใจผิดอยู่ก็ได้
ไม่ว่าอะไร เช่นอย่างรักษาศีล บางทีก็รักษาไปตามตัวบทพยัญชนะ หรือตามที่ยึดถือกันมา ไม่เข้าใจจริง เมื่อเราไปฟังธรรม เราก็มาปรับความเห็นของตัวให้ถูกต้อง แล้วการทำบุญข้ออื่นๆ ก็จะพลอยถูกต้องไปด้วย
เพราะฉะนั้น เรื่องทิฏฐุชุกรรม หรือการทำความเห็นให้ตรงให้ถูกต้องนี่ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ต้องพัฒนาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะทำอะไร ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องประกอบอยู่
ทั้งหมดนี้รวมเป็น ๑๐ ข้อ แต่ใน ๑๐ ข้อนี้ ที่เป็นหลัก ก็คือ ทาน ศีล ภาวนา ส่วนที่เติมมา ๗ ข้อนั้น เป็นการขยายจาก ๓ ข้อต้น เพื่อให้เห็นความหมายและช่องทางที่จะทำบุญเพิ่มขึ้น
No Comments
Comments are closed.