(กล่าวนำ)

23 กันยายน 2539
เป็นตอนที่ 1 จาก 4 ตอนของ

เพื่อชุมชนแห่งการศึกษา
และบรรยากาศแห่งวิชาการ1

วันนี้มาคุยกันเรื่อง “คุณธรรมของผู้บริหารและอาจารย์: ผลกระทบต่อการอุดมศึกษาไทย” หัวข้อนี้แบ่งเป็น ๒ ตอน ตอนต้นคือ คุณธรรมของผู้บริหารและอาจารย์ และตอนที่สองคือ ผลกระทบต่อการอุดมศึกษาไทย

ด้านผลกระทบต่ออุดมศึกษาไทยนั้น อาตมาไม่ค่อยทราบ อาจจะรู้น้อย จึงคงจะเน้นในด้านที่หนึ่ง แต่ก็คิดว่ามันจะโยงถึงกันไปเอง อาจจะพูดถึงผลกระทบในแง่ที่ว่า เมื่อพูดถึงคุณธรรมของผู้บริหารและอาจารย์ ก็จะช่วยให้ได้ผลดีและเป็นการช่วยไม่ให้เกิดผลกระทบในทางร้ายไปเองในตัว เพราะว่าถ้าเรามีคุณธรรมและมีการปฏิบัติที่ถูกต้องแล้วก็เกิดผลดี ผลกระทบในทางเสียหายก็ไม่มี หรือถ้ามีอยู่แล้วก็จะหมดไปเอง

บทนำ
แหล่งวิชาการ คือแหล่งแสวงปัญญา

ทีนี้เริ่มต้นก็มาพูดกันในเรื่องอุดมศึกษาสักนิดหน่อย

อุดมศึกษาในที่นี้จะพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในอุดมศึกษานั้น ได้แก่ ครูอาจารย์ และผู้บริหาร แต่เมื่อพูดถึงตัวบุคคลก็ต้องอาศัยสถาบัน ในที่นี้จึงจะพูดถึงเรื่องของสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย

สถาบันอุดมศึกษานั้น บางทีก็พูดกันว่าเราต้องการให้เป็นชุมชนทางวิชาการ และยิ่งเป็นมหาวิทยาลัยแล้วชื่อก็บอกชัด มหาวิทยาลัย แปลว่าแหล่งแห่งวิชาการที่ยิ่งใหญ่ คือมาจากคำว่า “มหา”+[“วิทยา”+“อาลัย”]

“วิทยา” ก็คือ วิชา อันเดียวกัน เป็นแต่เพียงว่าวิชาเป็นคำภาษาบาลี ส่วนวิทยาเป็นคำภาษาสันสกฤต มีความหมายเหมือนกัน แม้ว่าในภาษาไทยเมื่อเรานำมาใช้แล้วต่อมาได้เกิดมีความหมายเปลี่ยนแปลงต่างออกไปบ้าง แต่ที่จริงศัพท์เดิมเหมือนกัน และต่อเข้ากับ “อาลัย” ซึ่งแปลว่า ที่อยู่ หรือแหล่ง เติม “มหา” เข้าข้างหน้า เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยก็คือ มหาวิชาลัย แปลว่า “แหล่งวิชาการที่ยิ่งใหญ่”

เมื่อเป็นแหล่งวิชาการ มันก็โยงไปถึงเรื่องของปัญญา อะไรที่จะมารู้วิชาการก็คือ “ปัญญา” ตัววิทยาหรือวิชาเองนั้น ความจริงเดิมก็เป็นคุณสมบัติในตัวคน คือ ตัวความรู้แจ้ง แต่ตอนหลัง แทนที่เราจะใช้ในความหมายว่าเป็นความรู้ หรือความรู้แจ้ง วิชาหรือวิทยากลับไปหมายถึงสิ่งที่ถูกรู้ หรือสิ่งที่ถูกเรียนรู้ก็เลยกลายเป็นว่า วิชาการ หรือวิชานั่นแหละ กลายมาเป็นตัวสิ่งที่ถูกเล่าเรียน ไม่ใช่ตัวความรู้ นี่เป็นเรื่องของความหมายของศัพท์ที่เปลี่ยนแปลงไป พอเติม “การ” เข้าไปก็ยิ่งชัดว่าเป็นเรื่องภายนอก วิชาการจึงมีความหมายที่เรารู้กันว่าเป็นสิ่งที่ถูกรู้ และรู้ด้วยปัญญา

ฉะนั้น มหาวิทยาลัย ที่ว่าเป็นแหล่งวิชาการที่ยิ่งใหญ่ ก็ต้องเป็นแหล่งแห่งปัญญาที่ยิ่งใหญ่ด้วย และการที่จะมีปัญญายิ่งใหญ่ก็หมายถึงการที่ต้องแสวงปัญญา เพราะฉะนั้นในมหาวิทยาลัยจะต้องมีกิจกรรมในการแสวงปัญญากันอย่างเอาจริงเอาจัง

ทีนี้พอพูดถึงเรื่องปัญญา ก็หมายถึงจุดยอดของการศึกษา เพราะว่าการศึกษาเป็นการพัฒนาคน เป็นการเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนามนุษย์ ให้เกิดคุณสมบัติต่างๆ มากมาย และจุดยอดของคุณสมบัตินั้นก็คือเกิดปัญญา

เมื่อพูดถึงปัญญาในฐานะเป็นคุณสมบัติที่เยี่ยมยอดของมนุษย์ ก็โยงไปหาคุณสมบัติอื่นอีกมากมาย เพราะฉะนั้นเมื่อเราพูดถึงมหาวิทยาลัยในฐานะเป็นแหล่งวิชาการที่ยิ่งใหญ่ และโยงไปหาปัญญา การแสวงปัญญานั้นก็โยงต่อไปหาคุณสมบัติต่างๆ ที่ดีงามของมนุษย์อีกมากมาย ซึ่งในทางพุทธศาสนาบอกว่า การพัฒนาคุณสมบัติเหล่านี้รวมแล้วก็อยู่ที่การพัฒนาชีวิต ๓ ด้านของมนุษย์ คือ

๑. พัฒนาพฤติกรรม

๒. พัฒนาจิตใจ และ

๓. พัฒนาปัญญา

ถ้าเราโยงสามอย่างนี้ให้มาประสานกันได้ ให้มาเป็นปัจจัยเอื้อต่อกัน ก็จะเกิดผลโดยสมบูรณ์ โดยที่ในระหว่างที่พัฒนาปัญญาไปนั้น ถ้าเราพัฒนาถูกต้อง คุณสมบัติอื่นก็จะเกิดพ่วงมาด้วย ตามหลักความจริงของธรรมชาติแห่งความสัมพันธ์ระหว่าง ๓ ด้านของชีวิต กล่าวคือ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา

ชีวิต ๓ ด้านนั้นสัมพันธ์อาศัยกันอย่างไร? คนเราจะมีปัญญาได้ ต้องอาศัยพฤติกรรมที่ถูกต้อง เช่น พฤติกรรมในการแสวงหาความรู้ ต้องมีการเคลื่อนไหวทางกาย มีการเดินไป มีการสังเกต ใช้ตาดูหูฟัง เพื่อจะได้รับข้อมูลความรู้ เป็นต้น และต้องใช้วาจา รู้จักพูดจักจา รู้จักไถ่ถามสนทนา รู้จักปรึกษาหารือ เป็นต้น พฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะทำให้เกิดปัญญา

พร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่งก็ต้องอาศัยจิตใจ ทางด้านจิตใจก็ต้องมีคุณสมบัติหลายอย่าง เช่น ความเพียรพยายาม ความขยัน ความอดทน ถ้าไม่มีคุณสมบัติทางจิตใจ โดยเฉพาะความเพียรพยายาม ความขยัน ใจสู้ การก้าวไปข้างหน้า ก็จะพัฒนาปัญญายาก เช่นเจอปัญหาก็ท้อเสียแล้ว ถ้าเจอปัญหาท้อ ไม่มีความเพียรพยายาม ไม่พยายามคิด และไม่พยายามค้นคว้าเป็นต้น ก็พัฒนาตัวเองไม่ได้ ปัญญาก็ไม่เกิด

นอกจากนั้น การที่จิตใจสงบ ไม่พลุ่งพล่าน ไม่กระสับกระส่าย ไม่กระวนกระวาย ไม่ขุ่นมัว ก็สำคัญ ถ้าจิตใจเร่าร้อน กระวนกระวาย พลุ่งพล่าน ขุ่นมัว เศร้าหมอง ก็เกิดปัญญายาก จะคิดอะไรก็ไม่ออก ใจไม่อยู่กับเรื่องที่คิด เดี๋ยวคิดเรื่องนี้ เดี๋ยวไปคิดเรื่องโน้น คิดไม่ตลอดไม่เสร็จสักเรื่อง คุณสมบัติที่ทำให้จิตใจหนักแน่น สงบ มั่นคง ผ่องใส ไม่มีอะไรรบกวน ใช้ความคิดต่อเนื่องไปได้ตลอด นี้คือ สมาธิ เมื่อสมาธิมาก็ทำให้การใช้ปัญญาได้ผลดี

นอกจากสมาธิแล้ว สติก็เป็นองค์ประกอบสำคัญ สติทำให้เราตื่นตัวต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น เป็นไป อะไรเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เรากำลังจะหาความรู้หรือกำลังพิจารณา สติจะจับมาหมด จะไม่ปล่อย ถ้าคนไม่มีสติก็ปล่อยผ่าน มองข้าม สติเป็นตัวจับ ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นเป็นไป อะไรจะเข้ามามีผลกระทบ สติจับหมด จับเอามา แล้วปัญญาจึงทำงาน เช่น คิด พิจารณา และรู้สิ่งนั้นได้ เพราะฉะนั้น คุณสมบัติด้านจิตเช่นสติและสมาธินี้ก็สำคัญมากที่จะเอื้อต่อการที่จะเกิดปัญญา

ในเวลาเดียวกัน ปัญญาก็ส่งผลต่อพฤติกรรม พฤติกรรมอะไรจะเกิดประโยชน์แก่ชีวิต พฤติกรรมอะไรถูกหรือผิด จะได้ผลหรือไม่ ปัญญาก็เป็นตัวบอก และทำให้เรามีพฤติกรรมที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิต แม้แต่การที่จะไปแสวงหาปัญญา ก็ปัญญานั่นแหละเป็นตัวบอกอีกเหมือนกันว่าควรจะใช้พฤติกรรมอย่างไร จะพูดจะจาอย่างไร ไปหาข้อมูลที่ไหน

จิตใจก็เหมือนกัน ถ้าเราคิดติดขัด ปัญญาไม่มี ไม่มีความรู้ ก็จะเกิดความรู้สึกคับข้องใจ บีบคั้น แต่พอปัญญามา รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร คิดออกว่าจะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นอย่างไร ก็โล่งใจโปร่งสบาย หรือถ้าเจออะไรที่ไม่สบายใจ ขัดใจ เช่น กิริยาท่าทาง หรือคำพูดของผู้อื่น เราจะรู้สึกโกรธเคือง แต่ถ้าเรารู้ หรือมีปัญญาเกิดขึ้นมาในแง่ใดแง่หนึ่ง เช่นรู้ว่าคนนี้เขามีปัญหา มีความกดดันในจิตใจ มีเรื่องราวทางบ้าน เป็นต้น พอเรารู้อย่างนี้ หรือแม้แต่เริ่มคิดเท่านั้นแหละ ความบีบคั้นในใจจะหายไป เปลี่ยนจากความขุ่นมัวเศร้าหมอง หรือจากความโกรธ กลายเป็นความสงสาร คุณธรรมก็เกิดมีขึ้น

เพราะฉะนั้นปัญญาจึงเป็นตัวเปลี่ยนสภาพจิตที่สำคัญที่สุด และในขั้นสุดท้าย ปัญญาจะเป็นตัวคุมทั้งพฤติกรรม ทั้งปรับเปลี่ยนสภาพจิตใจ แม้แต่ทำให้จิตใจเป็นอิสระ

คุณสมบัติที่สำคัญของปัญญาก็คือ ทำให้จิตเป็นอิสระ อย่างที่ว่า พอเจออะไรที่เราไม่รู้ เราติดขัด ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็คือเกิดความทุกข์ ที่เรียกว่า ปัญหา หรือความบีบคั้น ติดขัด คับข้อง แต่พอปัญญามา รู้ว่าอะไรเป็นอะไร จะทำอย่างไร ก็โล่ง เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นตัวปลดปล่อยจิตให้เป็นอิสระ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป– ๑ – จิตใจของนักวิชาการ >>

เชิงอรรถ

  1. บรรยายแก่คณะอาจารย์ และนิสิตบัณฑิตศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่วัดญาณเวศกวัน ณ วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙

No Comments

Comments are closed.