ขอบเขตและขีดจำกัดของภาษา

20 มกราคม 2533
เป็นตอนที่ 2 จาก 8 ตอนของ

ขอบเขตและขีดจำกัดของภาษา

คนเรานี้ใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการบอกความต้องการแสดงความประสงค์ บรรยายความรู้สึก และถ่ายทอดความคิด ความรู้ ความเข้าใจ แก่กันและกัน ในการที่เราถ่ายทอดความรู้ความคิด ความเข้าใจ หรือแสดงความประสงค์ ความต้องการ เราใช้ภาษากันอย่างไร เราจึงได้เกิดความรู้ความเข้าใจกันขึ้นอย่างนั้น ขอให้นึกถึงอย่างนี้ก่อนในตอนแรก

ก่อนที่เราจะมีภาษาใช้นั้นเราเริ่มต้นกันอย่างไร เราอาจจะเห็นอะไรสักอย่างหนึ่งอยู่เบื้องหน้าเรา สมมติว่ายืนกันอยู่สองคน สิ่งที่อยู่เบื้องหน้านั้น ทั้งสองคนที่มองนั้นเห็น แล้วก็เห็นสิ่งเดียวกัน แต่สมมติว่าไม่มีคำพูด ไม่มีคำเรียกสิ่งนั้นต่อไปจากนั้นอีก ๑๐ นาที หลังจากออกจากที่นั้นไปแล้ว จะพูดถึงสิ่งนั้น คือสิ่งที่ทั้งสองคนเห็น การจะพูดถึงสิ่งนั้น เมื่อไม่รู้จะเรียกว่าอย่างไร ก็ไม่สามารถสื่อสารกันได้ อันนี้คือปัญหาในการสื่อสาร

ฉะนั้น ถ้าหากว่า ตอนที่สองคนนั้นมองดูสิ่งนั้นอยู่ด้วยกันแล้ว ก็มาตกลงกันว่า เอ้อ! สิ่งที่เราเห็นข้างหน้านี่นะขอเรียกชื่อว่าอย่างนี้ ก็ตั้งชื่อให้มัน สมมติว่าเรียกว่า คน ตอนนั้นสมมติว่ายังไม่มีคำว่า คน ก็เรียกสิ่งที่เห็นอยู่เบื้องหน้า ทั้งสองคนนั้นว่า คน ต่อไปเมื่อออกจากที่นั้นไปแล้ว ถ้าจะพูดถึงสิ่งนั้น ก็พูดขึ้นมาได้ พอบอกว่า คน ทั้งสองคนนี้ก็จะมีความคิดความเข้าใจอย่างเดียวกันขึ้นมาในใจว่า อ้อ! หมายถึงสิ่งอย่างนั้น รูปร่างลักษณะอย่างนั้น

ตอนนี้ การสื่อสาร เกิดขึ้นแล้ว แต่ต้องอาศัยอะไร ก็อาศัยสิ่งที่เรียกว่า ภาษา หรือ ถ้อยคำ การที่จะเกิดมีถ้อยคำขึ้นมาได้นั้น ในใจของแต่ละคนจะต้องมีภาพของสิ่งนั้นก่อนคือ ภาพของสิ่งที่มองเห็น หรือสิ่งที่กำลังจะเรียกชื่อ ภาพรวมของสิ่งนั้นที่อยู่ในใจของแต่ละคน เราเรียกกันทางพระว่า สัญญา (ความกำหนดได้หมายรู้) ไม่ใช่สัญญาที่เข้าใจกันในภาษาไทย ภาษาอังกฤษเรียกว่า concept เรามี concept เป็นภาพรวมของสิ่งนั้น แล้วเราก็ตั้งชื่อ concept นี้ว่า คน พอเรียกชื่ออย่างนี้เมื่อไร คำที่เราเรียกว่า คน นั้น ก็โยงไปหา concept ที่อยู่ในใจอันนั้น แล้วก็ได้ภาพอย่างเดียวกัน การสื่อสารจึงเกิดขึ้น

เราก็จะมีภาพรวมในใจอย่างนี้อีกมากมาย เช่น เห็นการเคลื่อนไหวอย่างหนึ่ง แล้วเราเรียกการเคลื่อนไหวอย่างนั้นว่า เดิน ต่อมาเราเห็นการเคลื่อนไหวอีกอย่างหนึ่ง แล้วเราเรียกมันว่า วิ่ง ทีนี้ พอเราพูดว่า “คนเดิน” เราก็ได้ภาพขึ้นมาว่า อ้อ! สิ่งที่มีลักษณะอย่างนั้น กำลังกระทำอาการอย่างนั้น นี่คือการใช้ภาษาในการสื่อสารถ่ายทอด

ต่อมาเราก็อาจจะมีคำว่า สุนัข มีคำว่า แมว แล้วเวลาเราพูดว่า “แมวมา” เราก็เข้าใจหมายรู้ร่วมกัน เพราะสองคนหรือสิบคนนั้นมี concept อยู่ในใจแบบเดียวกัน เวลาบอกว่า “สุนัขวิ่ง” ก็จะมี concept อย่างเดียวกัน เพราะว่าคำพูดนั้นโยงไปหา concept ซึ่งมันโยงไปหาประสบการณ์ที่ทั้งสองคนหรือสิบคนนั้นเคยได้ผ่านมาแล้ว4การสื่อภาษาเพื่อเข้าถึงสัจธรรม

เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญก่อนที่จะเกิดมีภาษาก็จะต้องมีประสบการณ์ แล้วตัวประสบการณ์ที่ได้รับทราบเข้ามานั้น มาเป็นภาพความเข้าใจรวมที่เรียกว่า concept แล้วก็มีคำเรียก concept นั้นว่าอย่างนั้น ว่าอย่างนี้ เป็นภาษา ภาษาก็จะโยงไปหาประสบการณ์ต่างๆ ถ้าหากว่าเราพูดถึงสิ่งที่แต่ละคนได้มีประสบการณ์มาแล้ว เราก็พูดกันรู้เรื่อง สื่อสารกันได้ ไม่มีปัญหา

แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นในกรณีที่เราพูดถึงสิ่งที่บางคนไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ตอนนี้ ก็จะเกิดปัญหาว่า ภาษาไม่พอเสียแล้ว ภาษาไม่พอที่จะสื่อความหมายให้เข้าใจได้ สิ่งใดที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน สิ่งนั้นภาษาไม่สามารถที่จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจได้โดยสมบูรณ์

เพราะฉะนั้น เราจึงมาถึงขั้นที่เกี่ยวข้องกับสัจธรรมว่า ภาษาไม่สามารถแสดงหรือถ่ายทอดความจริงหรือสัจธรรมได้โดยสมบูรณ์ เพราะว่าภาษานั้นไม่ใช่เป็นการเอาสิ่งนั้นมาตั้งหรือมาแสดงให้ดู เราไม่ได้เอาของนั้นที่เป็นจริงมาวางไว้ข้างหน้า แต่มันเป็นเพียงตัวที่สื่อผ่านโยงไปหาความจริงนั้นอีกทีหนึ่ง โดยที่ความจริงนั้นอยู่ใน concept ซึ่งจะต้องมีประสบการณ์มาก่อน ถ้าไม่มีประสบการณ์มาก่อน ก็เป็นว่าความคิดติดตัน

สมมติว่า มีคนหนึ่งมาพูดในที่ประชุม ซึ่งไม่มีใครเคยเห็นช้างมาก่อน คนในที่ประชุมนี้ไม่เคยเห็นช้าง ไม่รู้จักช้าง พอเขาพูดว่า “ฉันเห็นช้าง” คำว่า ฉัน มี concept อยู่ ก็รู้ว่าหมายถึงตัวคนพูดนั้น เห็น ก็มี concept ว่า หมายถึง กิริยาอาการที่ใช้ตามองดู และรับรู้ทางตา แต่พอถึงคำว่า ช้าง ทุกคนไม่มี concept นี้ และไม่มีประสบการณ์มาก่อน จึงนึกไม่ออกเลย ตอนนี้ คำว่า ช้าง ไม่มีความหมายใดๆ ในใจทั้งสิ้น

ตอนต่อไปมนุษย์ก็จะต้องมีการอธิบายคำว่า ช้าง คนที่บอกว่า “ฉันเห็นช้าง” ก็จะถูกถามว่า ช้าง คืออะไร คนที่จะอธิบายคำว่าช้าง ก็จะต้องอาศัย concept หรือสัญญาเก่าๆ ที่คนในที่ประชุมนั้นรู้จักมาก่อน คือ สิ่งที่เคยมีประสบการณ์ โดยเชื่อมโยงกับประสบการณ์เก่าที่เขามีอยู่แล้ว

เริ่มต้นตั้งแต่บอกว่า ช้างเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง พอบอกว่าเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง คนในที่ประชุมนั้นเคยมีประสบการณ์และมี concept ของสัตว์มาแล้ว ก็นึกได้ภาพขึ้นมาหน่อยหนึ่ง ความหมายของคำว่าช้าง เริ่มมีเป็นขอบเขตขึ้นแล้ว แต่ก็ยังไม่ชัด เพราะสัตว์อาจจะเป็นนกบินก็ได้ อาจจะเป็นปลาในน้ำก็ได้ อาจจะเป็นสัตว์สี่เท้า หรือสองเท้า หรือหลายเท้า หรือเลื้อยคลานก็ได้ อาจจะตัวเล็กเท่ามดก็ได้ ตัวใหญ่เท่าปลาวาฬก็ได้ หรืออะไรก็ได้ ยังไม่มีความแน่นอน

ต่อไป เขาก็อธิบายว่า ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ พอบอกว่า ใหญ่ ขึ้นมา ใหญ่ นี่ก็เป็น concept ที่ทุกคนในที่นั้นมีประสบการณ์อยู่แล้ว ก็ได้ภาพขึ้นมาอีกหน่อยหนึ่ง ตอนนี้เขาก็จะไม่นึกถึงมดแล้วเขาจะนึกถึงควาย วัว หรือม้า หรืออะไรที่มันใหญ่ขึ้นมาหน่อย ต่อไปจากนี้อีกมากมาย เขาก็จะต้องอธิบายโดยเอา concept ที่คนในที่ประชุมมีประสบการณ์มาแล้วอธิบายทั้งนั้น เช่น บอกว่าเป็นสัตว์สี่เท้า แล้วก็เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีงา พอถึงงา จบอีกแล้ว ไม่มี concept ที่จะเทียบ ติดตันแล้ว ต้องมาอธิบายอีก งาคืออะไร ถ้าอธิบายไปอาจจะบอกว่าเป็นฟันของช้าง แล้วก็บอกว่า รูปร่างมันประหลาด มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ต้องอธิบายกันไป มีลักษณะแหลม ใช้งานอย่างไร มีงวง งวงก็ติดอีก แล้วไม่รู้เรื่องต้องอธิบาย

ทีนี้ ถ้าเป็น concept ที่ไม่มีอะไรจะเทียบได้ตรง ไม่มีประสบการณ์เก่าที่จะมาโยงให้ชัดเจนพอ คนฟังก็จะได้ภาพช้างที่ไม่แน่นอนชัดเจน แล้วก็ไม่ตรงกัน คนในที่ประชุมนั้นก็จะสร้างภาพช้างกันไปต่างๆ ช้างของคนหนึ่งก็อาจจะตัวใหญ่เท่าปลาวาฬ ช้างของอีกคนหนึ่งก็อาจจะตัวใหญ่เท่าม้า ช้างของอีกคนหนึ่งอาจจะรูปร่างคล้ายๆ กับแรด อีกคนหนึ่งอาจจะไปอีกรูปร่างหนึ่ง แล้วแต่ว่า concept ที่เอามาเทียบเคียงนั้น จะมีความละเอียดลออมากเพียงไร ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ที่จะมาอธิบายบรรยายที่จะดึงเอา concept ต่างๆ มาชี้แจง และผู้ฟังที่จะระลึกเอา concept มาเทียบได้แค่ไหน

เพราะฉะนั้น ในที่นี้ เราจะเห็นว่าภาษาสามารถสื่อสารสัจธรรมได้ไม่สมบูรณ์ คือมันไม่สามารถเอาสัจธรรมมาวางตั้งให้เราเห็นเหมือนวางสิ่งของไว้ต่อหน้าได้ มันจะต้องอาศัยประสบการณ์เก่าที่เรามีอยู่ ถ้าสิ่งใดไม่เคยมีประสบการณ์ ก็เป็นอันว่า เกิดความติดตันที่ไม่สามารถรู้ความจริงได้เต็มที่ นี้คือประการที่หนึ่ง คือต้องมีประสบการณ์มาก่อน ถ้าไม่มีก็ไม่ได้ภาพที่สมบูรณ์

ประการที่สองก็คือ ภาษาไม่สามารถแสดงให้รู้ ให้สัมผัสกับประสบการณ์ตรงได้ ยกตัวอย่างเช่นใครคนหนึ่งมาพูดว่า “ฉันได้กินมะม่วง มะม่วงมีรสหวาน” แถมยังบอกด้วยว่า “ฉันกินมะม่วงเขียวเสวย” สมมติว่าอย่างนั้น ทีนี้ คนในที่ประชุมนั้นไม่เคยรู้จักมะม่วงเขียวเสวย บางคนนั้น สมมติว่าไม่รู้จักแม้แต่มะม่วง พอบอกว่า “ฉันกินมะม่วง มะม่วงอร่อย” เขาก็ไม่รู้จักว่ารสอร่อยของมะม่วงเป็นอย่างไร มัน หรือว่า หวาน

คนนั้นก็ต้องพูดต่อไปว่า หวาน พอได้ยินว่า หวาน คนฟังก็ได้ concept เท่าที่เขามีอยู่มาเทียบ แต่หวานที่เขานึกอาจจะเป็นอย่างน้ำตาลก็ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่รสของมะม่วง ถ้าเขาเคยรู้จักมะม่วงและเคยกินมะม่วงมาก่อน เขาก็จะได้ concept และประสบการณ์เก่าที่มาเทียบเคียง เอ้อ! เป็นรสมะม่วงอย่างหนึ่ง ซึ่งเอาไปเทียบกับรสมะม่วงที่เขาเคยกิน แต่มันก็ไม่ใช่เขียวเสวย แต่รสมันของมะม่วงเขียวเสวย ก็ไม่เหมือนรสของมะม่วงที่เขาเคยชิมมาก่อน เพราะฉะนั้น เขาก็ไม่มีทางที่จะรู้จักรสของมะม่วงเขียวเสวยได้

นี่ก็คือการที่ว่า ภาษาไม่สามารถสื่อแสดงประสบการณ์ตรงได้ เพราะฉะนั้น ความรู้สึกในใจ ความรัก ความโกรธ ความเกลียด การได้ลิ้มรสอร่อย หวาน มัน เค็ม และแยกออกไปเป็นหวานมะม่วง หวานมะปราง เปรี้ยวแบบมะปราง เปรี้ยวแบบมะยม เปรี้ยวอะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็ต่างๆ กันไป ซึ่งก็ต้องเป็นประสบการณ์เฉพาะตัวที่ภาษาไม่สามารถนำมาถ่ายทอดได้โดยสมบูรณ์ นี่ความจำกัด หรือขอบเขตของภาษาที่ไม่สามารถให้ถึงความจริงโดยสมบูรณ์ได้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< การสื่อภาษาเพื่อเข้าถึงสัจธรรมเบื้องหลังความผิดพลาดและความบกพร่อง ในการสื่อภาษาและการใช้ภาษาเป็นสื่อ >>

No Comments

Comments are closed.