- ปฏิสันถาร
- ภาค ๑ สังฆทานครั้งใหญ่ ที่คลุมไปถึงค่อนปี / วันอาสาฬหบูชา กับวันเข้าพรรษา มาต่อกัน
- เข้าพรรษา มาถวายสังฆทานใหญ่ ทีเดียวได้ ๓ เดือน
- ทำบุญ อยู่แค่สังฆทานไม่พอ ต้องต่อให้ครบสาม หรือสิบ
- บุญจะเพิ่มขยาย เมื่อใจแผ่กว้าง และปัญญาเห็นไกล
- ทำบุญครบ ๕๐ ปี ที่มีวันอาสาฬหบูชา
- เหตุการณ์ของวันอาสาฬหบูชา เกิดมาแล้ว ๒๕๙๕ ปี
- ภาค ๒ จักรตัวใหม่ ที่ขับดันยุคไอที / ธรรมจักรหมุน ทางเป็นมัชฌิมา ถึงพุทธศาสนาทันที
- พอจักรเกิดขึ้น อารยธรรมก็ขยับเคลื่อน
- ธรรมจักรหมุนมา พาอารยธรรมเข้าสู่วิถี
- “จักร” เล็กก็สำคัญ “จักร” ใหญ่ก็อัศจรรย์
- “จักร” ถึงมือคน ก็เริ่มต้นผันอารยธรรม
- “จักร” ขับเคลื่อนอารยธรรม สู่ยุคใหม่แห่งอุตสาหกรรม
- “จักร” พาอารยธรรม ก้าวขึ้นยุคใหม่ที่ชื่อไอที
- “จักร” บอกความเป็นญาติมิตร ว่าลึกลงไปยังมั่น
- “จักร” จะหมุนไปทางไหน อยู่ที่คนเป็นเสรีทาส หรือเสรีไท
- “จักร” หมุนอย่างไร “เครือข่าย” จึงกลายเป็น “ตาข่าย”
- “จักร” นั้นไซร้ ไฉนต้องหมุนไปในทางสายกลาง
- “จักร” จะขับเคลื่อนอารยธรรมได้ ต้องหมุนไปด้วยปัญญา
- “ทางสายกลาง” พาคนถึงจุดหมาย นำอารยธรรมให้ศรีวิไล
“จักร” ถึงมือคน ก็เริ่มต้นผันอารยธรรม
ในสมัยพุทธกาล จักรได้ถูกนำมาใช้ในความเป็นอยู่ของมนุษย์หลายอย่าง อย่างหนึ่งที่เด่นมากก็คือ แป้นหมุนของช่างหม้อในการปั้นหม้อ
ช่างหม้อ สมัยนั้นเรียกว่ากุมภการ เวลาปั้นหม้อนั้นเขามีแป้นหมุน และเขาก็ปั้นหม้อบนแป้นหมุนนั้น ซึ่งเรียกว่าจักร หรือเรียกเต็มคำว่า “กุมภการจักร” แปลว่าจักรของช่างหม้อ ก็คือแป้นหมุนของช่างหม้อนั่นแหละ เมื่อก้อนดินอยู่บนแป้นหมุนแล้วจะทำหม้อโดยปั้นแต่งแปลงรูปอย่างไรก็ง่าย เป็นเทคโนโลยีพื้นฐานสมัยนั้น
เทคโนโลยีประเภทจักรคงจะมีอีกหลายอย่าง ดังที่บางทีก็พบในพระไตรปิฎก อย่างเรื่องในพระวินัยว่า สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายใช้เถาวัลย์บ้าง ประคดเอวบ้าง ผูกภาชนะตักน้ำ ต่อมาพระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตอุปกรณ์ต่างๆ จนถึงคันโพง ระหัด และจักรผันน้ำ ที่ท่านเรียกว่า “จักรวัฏฺก์” (วินย.๗/๙๕/๓๖, คำบาลีว่าจกฺกวฏฺฏก, กลับกันกับที่ไทยเราบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใช้ว่า วัฏจักร ซึ่งมีความหมายอย่างอื่น และไม่มีในภาษาบาลี)
เรื่องเก่าๆ แบบนี้ พอละ คนสมัยนี้ไม่รู้จักช่างปั้นหม้อแล้ว จักรวัฏฺก์ ก็ไม่ทันเห็น
เอาจักรที่มีมาถึงปัจจุบันนี้ ก็คือล้อรถ ล้อเกวียน เป็นเทคโนโลยีที่มีอายุยืนยาวที่สุด แม้จะแปลงรูปมาเรื่อยๆ
อย่างที่ว่าเมื่อกี้ เมื่อมีล้อเกิดขึ้น ล้อก็หมุนพาเกวียนไป พารถไป ทำให้การเกษตรเจริญขยายกว้างถึงกัน ทำให้การค้าพาณิชย์รุ่งเรือง ทำให้การเมืองการทหารแผ่อำนาจรุกไปฉับไวเร็วไกล เข้าสู่ยุคที่คนสื่อสารคมนาคมกันได้กว้างไกลไพศาล เรียกว่าเป็นความเจริญของอารยธรรม
เพราะฉะนั้น จักรจึงเป็นเครื่องหมายของความเจริญแห่งอารยธรรมมนุษย์ อย่างที่บอกไปแล้ว ที่เด่นก็คือ ทางด้านอำนาจและความเจริญทั้งด้านการเมืองและในเรื่องบ้านเมือง จักรก็เข้ามาอยู่ในคำสำคัญ ที่เรียกว่า “อาณาจักร”
คำว่า “จักร” นี้ ตามศัพท์ ท่านแปลว่า “สิ่งที่บดแผ่นดินไป”คือเวลามันหมุนไป มันก็บดผืนแผ่นดินไป เป็นความหมายในเชิงแสดงอำนาจ ใช้กำลัง กด ข่ม หรือทำลาย
จากล้อรถ จักรก็มาเป็นอาวุธของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ คือพระนารายณ์ เรียกว่า จักราวุธ
พระนารายณ์มีจักรเป็นอาวุธ จักราวุธของพระนารายณ์นั้นเป็นวงกลมที่มีขอบเป็นจักๆ นี่คือ วงจักรบาลีสันสกฤต มามีจักไทยเป็นขอบ รวมกันนะ อย่าเพิ่งงง
พูดอีกทีว่า จักรที่มีขอบเป็นจักๆ นี้ มาเป็นอาวุธของพระนารายณ์ พระนารายณ์พิโรธ ไม่พอพระทัยใคร ก็ขว้างเปรี้ยงไปตัดคอเลย นี่เป็นเครื่องหมายของอำนาจชัดเลย
แล้วก็มีการลงโทษชนิดหนึ่งในแดนของเปรต ซึ่งใช้จักรหมุนบดบนศีรษะ
รวมแล้วก็เป็นทั้งการมองและการใช้จักร ในฐานะเป็นเครื่องมือของอำนาจและความรุนแรง เป็นเรื่องของอาณา แล้วก็อาชญา
พระพุทธเจ้าทรงมองเห็นว่า จักรนั้นคนเอามาใช้กันมุ่งไปแต่ในเรื่องของอำนาจ เรื่องความรุนแรง มีการเบียดเบียนกันมาก ไม่เป็นการสร้างสรรค์ที่แท้จริง ควรจะนำมาใช้ในทางของความดีงาม การแสวงปัญญา และการพัฒนามนุษย์ หรือพูดสั้นๆ ว่า ใช้ในเรื่องของ “ธรรม”
คำศัพท์ใหม่ และความคิดใหม่ว่า “ธรรมจักร” จึงเกิดขึ้นมา อย่างที่ว่าเมื่อกี้
เพราะฉะนั้น เราจะต้องเข้าใจถึงความสำคัญของธรรมจักรโดยเฉพาะต้องจับแนวคิดใหม่นี้ให้ได้ เพื่อจะเปลี่ยนแปลงหันเหแนวทางของอารยธรรมมนุษย์ เอาละ ขอผ่านไป
No Comments
Comments are closed.