- ปฏิสันถาร
- ภาค ๑ สังฆทานครั้งใหญ่ ที่คลุมไปถึงค่อนปี / วันอาสาฬหบูชา กับวันเข้าพรรษา มาต่อกัน
- เข้าพรรษา มาถวายสังฆทานใหญ่ ทีเดียวได้ ๓ เดือน
- ทำบุญ อยู่แค่สังฆทานไม่พอ ต้องต่อให้ครบสาม หรือสิบ
- บุญจะเพิ่มขยาย เมื่อใจแผ่กว้าง และปัญญาเห็นไกล
- ทำบุญครบ ๕๐ ปี ที่มีวันอาสาฬหบูชา
- เหตุการณ์ของวันอาสาฬหบูชา เกิดมาแล้ว ๒๕๙๕ ปี
- ภาค ๒ จักรตัวใหม่ ที่ขับดันยุคไอที / ธรรมจักรหมุน ทางเป็นมัชฌิมา ถึงพุทธศาสนาทันที
- พอจักรเกิดขึ้น อารยธรรมก็ขยับเคลื่อน
- ธรรมจักรหมุนมา พาอารยธรรมเข้าสู่วิถี
- “จักร” เล็กก็สำคัญ “จักร” ใหญ่ก็อัศจรรย์
- “จักร” ถึงมือคน ก็เริ่มต้นผันอารยธรรม
- “จักร” ขับเคลื่อนอารยธรรม สู่ยุคใหม่แห่งอุตสาหกรรม
- “จักร” พาอารยธรรม ก้าวขึ้นยุคใหม่ที่ชื่อไอที
- “จักร” บอกความเป็นญาติมิตร ว่าลึกลงไปยังมั่น
- “จักร” จะหมุนไปทางไหน อยู่ที่คนเป็นเสรีทาส หรือเสรีไท
- “จักร” หมุนอย่างไร “เครือข่าย” จึงกลายเป็น “ตาข่าย”
- “จักร” นั้นไซร้ ไฉนต้องหมุนไปในทางสายกลาง
- “จักร” จะขับเคลื่อนอารยธรรมได้ ต้องหมุนไปด้วยปัญญา
- “ทางสายกลาง” พาคนถึงจุดหมาย นำอารยธรรมให้ศรีวิไล
“จักร” บอกความเป็นญาติมิตร ว่าลึกลงไปยังมั่น
ขอแทรกหน่อย ได้ลองไปดูในภาษามลายูว่า ชาวมลายูเรียก disk เหล่านี้ว่าอย่างไร ปรากฏว่า เขาเรียก disk ทุกอย่างเป็น “จักร” ทั้งนั้น
เริ่มด้วย floppy disk เขาเรียกว่า จักระ-Felopi, hard disk เรียกว่า จักระ-Keras, CD และ DVD เรียกว่า จักระ-Padat
นี่แสดงว่า วัฒนธรรมศรีวิชัยฝังลึกมากในดินแดนมลายู พระพุทธศาสนาเจริญอยู่ในอาณาจักรศรีวิชัยที่ยิ่งใหญ่ค่อนพันปี (ตอนเจริญมาก แผ่คลุมอินโดนีเซีย ตลอดมาเลเซีย ขึ้นมาถึงภาคใต้ของประเทศไทย อย่างน้อยถึงสุราษฎร์ธานี) ภาษาสันสกฤตจึงเข้าไปอยู่ในภาษามลายูมากมาย
เคยบอกญาติโยมและเด็กๆ ว่า ลองไปสืบค้นซิว่า ในภาษาไทย กับในภาษามลายู รวมทั้งภาษายาวีที่พูดกันในภาคใต้ของเรา อันไหนจะมีภาษาบาลีสันสกฤตปะปนอยู่มากกว่ากัน (ในภาษายาวีนี้ ก็ตั้งแต่คำบอกชื่อกันว่า “นามา สะยะ …”)
การที่ชาวมลายูรับเอาภาษาสันสกฤตเข้าไปในภาษาของตนนั้น ก็เนื่องมาจากการนับถือพระพุทธศาสนา เป็นการตั้งใจรับเอาไปใช้จนถึงขั้นเป็นค่านิยม โดยวิถีของศาสนาและการศึกษา ตลอดจนแม้แต่วิถีชีวิตในครอบครัว เช่น ชอบตั้งชื่อลูกเป็นภาษาสันสกฤต
การที่ภาษาหนึ่งจะรับเอาอีกภาษาหนึ่งเข้ามาใช้เป็นภาษาของตนด้วย ถ้าไม่ใช่มาจากความนิยมนับถือในทางพระศาสนาและการศึกษาอย่างที่ว่านั้นแล้ว จะติดต่อค้าขายกัน จะคบหากัน ถึงสัมผัสกันแสนนานก็เข้าได้น้อย
ดูอย่างภาษาจีนสิ คนไทย-คนจีนคบกันถึงไหน นานเท่าไร แต่ภาษาไทยมีคำจีนที่รับเข้ามาใช้ไม่กี่คำ และก็มีแค่คำชาวบ้านอย่างเรือ “สำปั้น” (คนไทยบางคนก็อาจจะไม่ยอม แล้วก็บอกว่าเรียกตรงกันเอง)
ยิ่งภาษาสันสกฤตด้วยแล้ว (ภาษาบาลีก็เช่นกัน) ไม่ใช่ภาษาที่พ่อค้าและชาวบ้านจะใช้พูดจาสื่อสารกันเลย แม้แต่ในอินเดียหรือชมพูทวีปเอง สันสกฤตก็เป็นภาษาชั้นสูง ใช้แต่ในศาสนาและวรรณคดีเท่านั้น คนอินเดียมาค้าขายที่สุมาตรา ชวา และมะละกา ไม่ได้พูดสันสกฤต แต่สันสกฤต มากับพระพุทธศาสนา
กลายเป็นว่า คนมลายูและคนไทยใช้ภาษาชั้นสูงของชมพูทวีป ซึ่งไม่ใช่ภาษาของสามัญชนคนอินเดียทั่วไป
คำสำคัญๆ ชาวมลายูยังนิยมหาคำสันสกฤตมาใช้ เช่น “ภูมิปุตระ” ใช้กันเป็นคำทางการ โดยชาวมลายูทั้งในอินโดนีเซียและในมาเลเซีย (“ภูมิปุตระ” หรือ “ภูมิปุตรา” เป็นคำแสดงสถานะที่ชื่นใจอยู่ในกฎหมายของมาเลเซีย เวลาเขียนด้วยตัวอักษรฝรั่งเขาสะกดเพี้ยนนิดหน่อยเป็น bumiputra บ้าง bumiputera บ้าง)
ในอินโดนีเซีย ชาวมลายูที่นั่น ถึงแม้ปัจจุบันตัวเองจะเป็นมุสลิม แต่จะเป็นเพราะยังภูมิใจในอารยธรรมศรีวิชัยของบรรพบุรุษที่เป็นชาวพุทธ หรืออย่างไรก็แล้วแต่ ดูเหมือนว่าจะนิยมใช้คำที่มาจากสันสกฤตมากเป็นพิเศษ ดังที่พระสงฆ์ไทยผู้ไปอยู่ที่นั่นเล่าว่า ถึงจะเป็นมุสลิม พอมีบุตร ก็มีผู้มาขอชื่อบาลีสันสกฤตจากพระ
รถยนต์เกาหลีใต้ ยี่ห้อ Hyundai รุ่น Elantra เข้าไปขายในอินโดนีเซีย ตั้งชื่อให้เข้ากับค่านิยมทางภาษาที่นั่นว่า “พิมันตระจักระ” (Bimantara Cakra)
เอาละ กลับมาว่าเรื่องคอมพิวเตอร์จักรกันต่อ
No Comments
Comments are closed.