“จักร” เล็กก็สำคัญ “จักร” ใหญ่ก็อัศจรรย์

29 กรกฎาคม 2550
เป็นตอนที่ 11 จาก 20 ตอนของ

“จักร” เล็กก็สำคัญ “จักร” ใหญ่ก็อัศจรรย์

มาดูความหมายของศัพท์ก่อน เมื่อกี้พูดไปทีหนึ่งแล้ว “จักร” นี้ ไทยเราใช้ตามรูปสันสกฤต (จกฺร) แต่ในภาษาบาลี ท่านเขียนสอง ก เป็น จกฺก

“จักร” คือวัตถุที่มีรูปทรงเป็นมณฑล คือเป็นรูปวงกลม แต่ถ้าแค่เป็นมณฑล ก็อาจจะเป็นรูปทรงกลมที่อยู่นิ่งๆ

ทีนี้ จักร นั้น นอกจากเป็นมณฑล มีรูปทรงกลมๆ แล้ว ยังมีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง คือมันเคลื่อนไหวด้วย และการเคลื่อนไหวของมันนั้น มีอาการที่เป็นวัฏฏะ คือหมุน หรือวน

เพราะฉะนั้น จักร จึงเป็นวงที่วน หรือเป็นวงกลมที่หมุนได้ เป็นอันว่า จักรมีลักษณะ ๒ อย่างที่สำคัญ คือ หนึ่ง รูปทรงมันกลม และ สอง มันมีอาการหมุนได้

รวมแล้วก็เป็นวงกลมที่หมุน ดังตัวอย่างที่รู้จักกันดีก็คือ วงล้อ หรือล้อนี่เอง

วงกลมที่หมุนได้นี้แหละสำคัญอย่างยิ่ง มันเป็นเครื่องหมายของอารยธรรมมนุษย์ตลอดมา เรียกได้ว่าทุกยุคสมัยจนกระทั่งปัจจุบันนี้

เดิมทีนั้น จักรก็เป็นวงกลมธรรมดา อย่างลูกตาดำเรานี้ก็เป็นวงกลม เป็นอักขิมณฑล แต่คงจะเป็นเพราะมันเคลื่อนไหว (กลอกไปกลอกมา มองกวาดและกราดไปได้ทั่วๆ รอบๆ) ก็เรียกว่าจักรอย่างหนึ่ง (เป็นอักขิจักร) นี่จักรเล็ก

แล้วก็มีจักรอื่นที่ใหญ่ขึ้นไปๆ จนถึง “จักรราศี” แล้วก็ “จักรวาล” ก็เป็นจักร

จนกระทั่งเข้ามาในพุทธศาสนาแบบวัชรยาน เกิดเป็นวงล้อมหึมาแห่งกาละ เรียกว่า “กาลจักร” ที่โยงเข้าด้วยกันทั้งด้านกาละ ด้านเทศะ และด้านจิต ที่นับถือเป็นตันตระอันยิ่งใหญ่สืบมาในทิเบต

เอาละ นี่เป็นด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติ แต่ไปๆ มาๆ ชักจะเลยไปทางลึกลับ พอแค่นี้ก่อน

ทีนี้ เรามาดูจักรที่เข้ามาสู่การใช้ประโยชน์ของมนุษย์

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ธรรมจักรหมุนมา พาอารยธรรมเข้าสู่วิถี“จักร” ถึงมือคน ก็เริ่มต้นผันอารยธรรม >>

No Comments

Comments are closed.