- ปฏิสันถาร
- ภาค ๑ สังฆทานครั้งใหญ่ ที่คลุมไปถึงค่อนปี / วันอาสาฬหบูชา กับวันเข้าพรรษา มาต่อกัน
- เข้าพรรษา มาถวายสังฆทานใหญ่ ทีเดียวได้ ๓ เดือน
- ทำบุญ อยู่แค่สังฆทานไม่พอ ต้องต่อให้ครบสาม หรือสิบ
- บุญจะเพิ่มขยาย เมื่อใจแผ่กว้าง และปัญญาเห็นไกล
- ทำบุญครบ ๕๐ ปี ที่มีวันอาสาฬหบูชา
- เหตุการณ์ของวันอาสาฬหบูชา เกิดมาแล้ว ๒๕๙๕ ปี
- ภาค ๒ จักรตัวใหม่ ที่ขับดันยุคไอที / ธรรมจักรหมุน ทางเป็นมัชฌิมา ถึงพุทธศาสนาทันที
- พอจักรเกิดขึ้น อารยธรรมก็ขยับเคลื่อน
- ธรรมจักรหมุนมา พาอารยธรรมเข้าสู่วิถี
- “จักร” เล็กก็สำคัญ “จักร” ใหญ่ก็อัศจรรย์
- “จักร” ถึงมือคน ก็เริ่มต้นผันอารยธรรม
- “จักร” ขับเคลื่อนอารยธรรม สู่ยุคใหม่แห่งอุตสาหกรรม
- “จักร” พาอารยธรรม ก้าวขึ้นยุคใหม่ที่ชื่อไอที
- “จักร” บอกความเป็นญาติมิตร ว่าลึกลงไปยังมั่น
- “จักร” จะหมุนไปทางไหน อยู่ที่คนเป็นเสรีทาส หรือเสรีไท
- “จักร” หมุนอย่างไร “เครือข่าย” จึงกลายเป็น “ตาข่าย”
- “จักร” นั้นไซร้ ไฉนต้องหมุนไปในทางสายกลาง
- “จักร” จะขับเคลื่อนอารยธรรมได้ ต้องหมุนไปด้วยปัญญา
- “ทางสายกลาง” พาคนถึงจุดหมาย นำอารยธรรมให้ศรีวิไล
“จักร” จะหมุนไปทางไหน อยู่ที่คนเป็นเสรีทาส หรือเสรีไท
เจ้าจักรประเภท disk พวกนี้แหละที่เป็นพาหะของความเจริญยุคไอที เราก็อาศัยเจ้าจักรใหม่หรือคอมพิวเตอร์จักรนั้นหมุนพาเราท่องเที่ยวไปใน space ใหม่ ที่เรียกว่า cyberspace
Cyberspace นี่เป็นอวกาศทางความคิด หรือเป็นอวกาศแห่งจินตนาการ ไม่ใช่อวกาศที่แท้จริง และเราก็อาศัยเจ้า disk พวกนี้พาเราไป เราก็ท่องเที่ยวไปกับมัน โดยที่บางทีเราก็ไม่รู้ว่ามันเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ ไม่เห็นคุณค่าของมันเท่าไรนัก
เรามี Internet เป็นเครือข่ายที่เชื่อมต่อถึงกันทั่วทั้งโลกแล้วก็อย่างที่ว่า เราก็ใช้คอมพิวเตอร์จักรท่องเที่ยวไปใน cyberspace จะดูจะหาจะค้นคว้าอะไร จะติดต่อพูดจาสื่อหากันก็ง่ายและสะดวกไปหมด แถมมีอะไรแปลกๆ ให้ได้รู้ได้เห็นเยอะแยะ แล้วเราก็สนุกสนานกันใหญ่ บางทีก็เลยมัวแต่เพลิดเพลิน
ที่หนักนัก ก็ถึงขั้นลุ่มหลง ติดอยู่นั่น เรื่องอื่นๆ แม้จะสำคัญก็ปล่อยเรื่อยเปื่อย เวลาผ่านไปๆ ไม่คิดทำอะไร แม้แต่หน้าที่การงานการเล่าเรียนศึกษาของตัว ก็ละเลยจนเสื่อมเสีย ที่ถึงกับชักพากันออกนอกลู่นอกทาง เสียหายเสียคนไปเลย ก็มีไม่น้อย
คิดกันให้ดี หันหน้าย้อนไปมอง ก็จะพบว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แล้ว เรื่องจักรนี่ มันเป็นวงล้อที่หมุนพาเราไป
แต่ที่จริงก็ตัวเรานี่แหละ ที่จะให้มันหมุนไปทางไหน ถ้าไม่ใช้ให้ดี ไม่ดูทิศดูทาง เราอาจจะไปทางผิด
เมื่อกี้นี้ ได้บอกแล้วว่า พระพุทธเจ้าทรงเตือนไว้ให้เราเดินไปในทางที่ถูกต้อง เพราะพระองค์ทรงเห็นแล้วว่าคนเดินทางผิดกันมาก ทางที่ถูกต้อง คือทางสายกลาง
ทางผิดนั้น เรียกว่าทางสุดโต่ง มี ๒ ทาง ทางสุดโต่งซ้ายกับทางสุดโต่งขวา ทางหนึ่งไปแล้วตกหลุม ตกเหวตาย อีกทางหนึ่งไปแล้วก็วนเวียนอยู่นั่น ไม่ไปไหน เพราะวนเวียนแล้ว ไม่ออกไป หาทางออกไม่ได้ ก็จน ก็จม ก็จบอยู่ในนั้น
สองทางผิดที่พระพุทธเจ้าทรงบอกให้หลีกเสีย ไม่ให้ไปนั้นไม่ว่ามนุษย์ในยุคสมัยไหนก็สามารถพลาดไปได้ทั้งนั้น
ที่เป็นกันมาแล้วก็ตาม ที่เป็นกันอยู่ก็ตาม วิถีชีวิตของมนุษย์และการทำกิจกรรมดำเนินกิจการทั้งหลาย แม้แต่อารยธรรมของมนุษย์ก็อย่างนี้ทั้งนั้น เมื่อไม่เข้าสู่วิถีที่ถูกต้องเป็นทางสายกลางก็แล่นไปในทางสุดโต่ง เป็นทางซ้ายบ้าง ทางขวาบ้าง ไม่หมกอยู่ในกามสุขัลลิกานุโยค ก็ไถลเลยเถิดไปอัตตกิลมถานุโยค
ดังเช่น ในรัฐอย่างหนึ่ง หรือสังคมแบบหนึ่ง ก็มุ่งไปในทางของการเสพบริโภคเสรี ปล่อยตามใจอยากกันเต็มที่ ใครจะเป็นทาสกาม เป็นทาสกินอย่างไร ก็เป็นทาสของตัณหาได้อย่างเสรี
ขณะที่ในรัฐอีกอย่างหนึ่ง หรือสังคมอีกแบบหนึ่ง ก็จะบังคับจะกำหนดให้ต้องทำ ต้องเป็นอยู่อย่างนั้นๆ ห้ามคิด ห้ามพูดขัดแย้งหรือแตกต่างออกมา ให้เป็นทาสแห่งวิหิงสากันอย่างเต็มที่
วิถีชีวิต และวิถีสังคม ที่สุดโต่ง พวกเชิดตัณหา กับพวกชูวิหิงสา ต่างผงาด เผชิญหน้า และผจญกัน ปิดกั้นวิถีมัชฌิมา ทำท่าจะพาทั้งอารยธรรมของมนุษย์และโลกแห่งธรรมชาติไปสู่อวสาน
No Comments
Comments are closed.