จากภิกษุณี ถึงสิทธิสตรี

18 กันยายน 2526
เป็นตอนที่ 5 จาก 13 ตอนของ

จากภิกษุณี ถึงสิทธิสตรี1

การที่พระพุทธองค์ทรงตั้งภิกษุณีสงฆ์ขึ้นมีประโยชน์อย่างไรแก่สตรีและสังคมในสมัยนั้น

อันนี้ตอบอย่างสั้นๆ ว่า เป็นประโยชน์ทั้งในแง่ฐานะและการศึกษา ในแง่การศึกษาคือทำให้ผู้หญิงหรือสตรีได้มีโอกาสศึกษาเหมือนกับผู้ชาย คือวัดซึ่งเป็นที่อยู่ของพระก็มีทั้งพระผู้ชาย (ภิกษุ) และพระผู้หญิง (ภิกษุณี) เป็นศูนย์กลางของการศึกษาเล่าเรียน เมื่อไปบวชก็ได้ศึกษาเล่าเรียน แม้แต่ศัพท์ต่างๆ ที่ใช้เรียกก็จะมีเกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น สามเณรี คือเด็กหญิงที่ได้บวชเป็นสามเณร ก่อนจะบวชเป็นภิกษุณีก็เป็นสิกขมานา แปลว่าผู้กำลังศึกษา เมื่อเป็นภิกษุณีก็มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนต่อไปอีกจนเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ วัดจึงกลายเป็นศูนย์กลางของการศึกษาเล่าเรียนสำหรับผู้หญิงด้วย เรื่องผลทางการศึกษานี้ปัจจุบันยังไม่มีการค้นคว้ากันละเอียดนัก แต่เป็นที่น่าสังเกตในหนังสือวิชาการอย่าง Encyclopaedia Britannica ก็กล่าวถึงการศึกษาของอินเดียสมัยโบราณ ตั้งแต่พุทธกาลว่าได้เจริญ เคยมีสถิติผู้รู้หนังสือสูงมาก โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าอโศก หลังจากนั้นพุทธศาสนาเสื่อมลง อินเดียก็ทรุดลงทางด้านการศึกษา จนกระทั่งก่อนได้รับเอกราช สถิติผู้รู้หนังสือของอินเดียต่ำอย่างยิ่ง

ในด้านฐานะของสตรีนี้ก็สัมพันธ์กับการศึกษาด้วย คือ สตรีมีฐานะดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับสมัยก่อนหน้านั้น (ไม่ใช่วัดด้วยความต้องการในปัจจุบัน) ในตอนแรกพระพุทธเจ้าทรงตั้งภิกษุสงฆ์ก่อน ภิกษุณีสงฆ์ยังไม่มี ต่อมาเมื่อจะตั้งขึ้นก็ตั้งขึ้นด้วยความยากลำบาก ซึ่งตามทัศนะของอาตมาที่ได้อ่านเรื่องราวก็เห็นว่า ถ้าถือตามเหตุผลของสังคมสมัยนั้นพระพุทธเจ้าจะไม่ทรงยอมให้มีภิกษุณีสงฆ์ แต่ที่พระพุทธเจ้าทรงให้ผู้หญิงบวชก็โดยเหตุผลที่ว่า ผู้หญิงมีความสามารถที่จะบรรลุธรรม หมายความว่าพระพุทธเจ้ายอมรับว่าผู้หญิงสามารถจะเข้าถึงจุดหมายสูงสุดของพุทธศาสนาได้และด้วยเหตุผลนี้จึงให้บวช จึงเกิดภิกษุณีสงฆ์ขึ้น และแม้ภิกษุณีสงฆ์จะยังไม่มีฐานะเต็มที่เท่าพระภิกษุสงฆ์แต่ก็จะเห็นว่ามีฐานะสูงมาก อย่างเช่น ภิกษุณีได้รับความเคารพจากผู้ชายชาวบ้านทั่วไปมากราบมาไหว้ ในพระไตรปิฎกคัมภีร์วินัยก็มีเรื่องเกิดขึ้นว่า ตอนที่มีภิกษุณีสงฆ์ใหม่ๆ เมื่อผู้ชายไหว้ ภิกษุณีก็ยังไม่มีความมั่นใจในตัวเอง จึงถามพระพุทธเจ้าว่า ผู้ชายมาไหว้นี้ ภิกษุณียินดีในการไหว้ของเขาได้หรือไม่ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าได้ ในพระสูตรในพระไตรปิฎกนั้นเอง พระสูตรที่ภิกษุณีเป็นผู้แสดงก็มี เช่น จูฬเวทัลลสูตร นางภิกษุณีชื่อธัมมทินนาเป็นผู้แสดง ท่านตอบคำถามของอุบาสกซึ่งเป็นสามีเก่าชื่อวิสาขอุบาสก ตามเรื่องว่าวิสาขอุบาสกมาหากราบไหว้แสดงความเคารพพระธัมมทินนาเถรีแล้วถามปัญหาธรรม พระภิกษุณีก็ตอบชี้แจงให้อย่างแจ่มแจ้ง ต่อมาวิสาขอุบาสกไปกราบทูลเล่าเรื่องนั้นแด่พระพุทธเจ้า พระองค์ก็ตรัสสรรเสริญพระธัมมทินนาเถรีว่าเป็นผู้มีปัญญามาก ถึงแม้วิสาขอุบาสกทูลถามปัญหาเหล่านั้นกับพระองค์ ก็จะทรงตอบอย่างเดียวกับพระธัมมทินนาเถรี พระภิกษุณีชื่อเขมาเถรีก็มีชื่อเสียงมากว่าเป็นบัณฑิตเฉียบแหลมเป็นปราชญ์รอบรู้ แสดงธรรมได้วิจิตรคมคาย มีปฏิภาณดี พระเจ้าแผ่นดินแคว้นโกศลก็เคยเสด็จไปหากราบไหว้ถามปัญหากะภิกษุณีพระองค์นี้ และได้รับคำตอบชี้แจงที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องอย่างเดียวกัน นี้เป็นตัวอย่างแสดงว่าภิกษุณีมีความรู้มากสามารถแสดงธรรมแนะนำสั่งสอนประชาชนทุกชั้นทั้งหญิงชาย ได้รับความเคารพนับถือเป็นอย่างดี

ตามหลักการด้านสังคมของพุทธศาสนา จะเห็นว่ามีการแบ่งพุทธบริษัทออกเป็น ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทั้ง ๔ ส่วนนั้นมีความสำคัญเป็นองค์ประกอบของชุมชนชาวพุทธด้วยกันทั้งหมด แต่ละส่วนได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้า เช่น ในฝ่ายภิกษุเรามีพระโมคคัลลาน์และพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกซ้าย-ขวา ในฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ก็เช่นเดียวกัน มีอัครสาวิกาฝ่ายขวาชื่อเขมาเถรี และอัครสาวิกาฝ่ายซ้ายชื่ออุบลวรรณาเถรี และจะมีภิกษุณีที่ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางปัญญา ในทางธรรมกถึก ในทางบำเพ็ญฌาน เป็นต้น แสดงว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถได้รับความเคารพนับถือมาก หรืออย่างในหมู่อุบาสิกาเราก็เห็นชื่อนางวิสาขา ว่ามีบทบาทอย่างยิ่งในวงการพุทธศาสนา ในอรรถกถามีปรากฏว่าได้รับการยกย่องอย่างยิ่งจากสังคม เวลามีกิจการเรื่องราวทางสังคมก็ขาดไม่ได้ที่จะต้องเชิญนางวิสาขาไป แต่ไม่ค่อยพูดถึงสามีของนางด้วยซ้ำ พ่อผัวของนางวิสาขา ชื่อ มิคารเศรษฐีก็เคารพนางวิสาขามาก นางวิสาขามีฉายาเรียกว่า มิคารมารดา แปลว่า นางวิสาขาผู้เป็นมารดาของเศรษฐีมิคาระ คือพ่อผัวของนางวิสาขานี้เดิมเป็นมิจฉาทิฏฐิ อาศัยนางวิสาขาช่วยจึงกลับมาเข้าใจธรรมะในพุทธศาสนาได้ เศรษฐีมิคาระซึ่งเป็นพ่อผัวจึงเรียกนางวิสาขาเป็นแม่ นางวิสาขาจึงมีฉายาว่ามิคารมารดาต่อท้ายชื่อของตนสืบมา แสดงว่าเกียรติของผู้หญิงสมัยนั้นสูงมาก พอพุทธศาสนาเสื่อมลงก็กลายเป็นสังคมฮินดู ผู้หญิงก็หมดฐานะไม่สามารถเข้าถึงจุดหมายของศาสนาได้

เป็นไปได้หรือไม่ที่จะฟื้นฟูให้มีภิกษุณีสงฆ์ขึ้นในประเทศไทย จะมีอุปสรรคอย่างไรและควรสนับสนุนหรือไม่

พูดกันโดยหลักการแล้ว การจะมีภิกษุณีสงฆ์นั้นต้องสืบต่อกันมาจากครั้งพุทธกาล เพราะการบวชภิกษุณีต้องอาศัยสงฆ์ ๒ ฝ่าย เมื่อจะมีภิกษุณีบวชรูปหนึ่งก็ต้องมีภิกษุณีสงฆ์เป็นผู้รับเข้า ดังนั้นในเมื่อปัจจุบันภิกษุณีสายเถรวาททั้งหมดสูญไปเสียแล้ว จึงไม่มีผู้บวชให้ ดังนั้นโดยหลักการจึงเป็นไปไม่ได้ ทางเดียวที่จะเป็นได้คือสืบต่อจากทางมหายาน ทีนี้เราจะยอมรับหรือไม่ เพราะทางฝ่ายเถรวาทหมดไปแล้วจบแค่นั้น ถ้าบวชทางมหายาน ก็กลายเป็นภิกษุณีฝ่ายมหายาน ไม่ใช่เถรวาท กลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งไป แม้แต่ภิกษุสงฆ์ก็เหมือนกัน ในประวัติศาสตร์ลังกาเองภิกษุสงฆ์ก็เคยสูญสิ้นไปจากลังกาเหมือนกัน ก็ทำอะไรไม่ได้ต้องมาขอภิกษุสงฆ์จากประเทศไทยไปบวชให้ แต่ยังเป็นฝ่ายเถรวาทด้วยกันก็จึงสืบต่อไปได้ จึงเรียกพระในลังกาสายที่ไปจากประเทศไทยว่าสยามวงศ์ ดังที่ทราบกันอยู่ในปัจจุบัน

ถ้าหากเป็นไปไม่ได้ว่าจะมีภิกษุณีสงฆ์ขึ้นดังเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว ควรที่จะส่งเสริมบทบาทสตรีอย่างไรจึงจะมีโอกาสได้รับคุณค่าของชีวิตและสังคมที่พุทธศาสนาอาจเอื้ออำนวยให้ได้โดยสมบรูณ์

เราไม่ต้องไปติดอยู่ว่าจะต้องตั้งเป็นภิกษุณีสงฆ์ขึ้นก็ได้ หมายความว่า เราอาจตั้งสถาบันนักบวชผู้หญิงของพุทธศาสนาขึ้นในรูปอื่นแทนที่ภิกษุณี ในสมัยโบราณที่เกิดแม่ชีขึ้น อาตมาก็เห็นว่าเป็นความต้องการและเป็นความพยายามร่วมกันของสังคมและของผู้หญิงเอง ที่จะให้ผู้หญิงได้บรรลุจุดมุ่งหมายทางด้านศาสนาในเมื่อภิกษุณีสงฆ์สูญไปแล้ว แต่แม่ชีคงจะทำบทบาทแทนภิกษุณีได้เพียงบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แม่ชีในยุคหลังนี้เราต้องเข้าใจว่าได้เสื่อมลงมาทั้งในสภาพของตัวแม่ชีเอง กิจกรรมที่ดำเนินไปก็พร่ามัว และเสื่อมลงในด้านภาพพจน์ที่สังคมมีต่อแม่ชี ทางออกอย่างหนึ่งของเรื่องนี้ก็คือ ถ้าหากเราเห็นว่าจะฟื้นฟูฐานะบทบาทของแม่ชีได้ก็ต้องจัดตั้งขึ้นให้เป็นสถาบันที่ชัดเจน อย่างที่มีผู้พยายามทำอยู่บ้าง ต้องวางหลักวางระบบให้ดีให้มีการศึกษาอบรมและพัฒนาขึ้นไป แต่ถ้าไม่ชอบรูปแบบนี้ก็อาจจะคิดรูปแบบใหม่ขึ้นอีกให้ได้ผลตามวัตถุประสงค์โดยเลี่ยงไม่ต้องเป็นภิกษุณีสงฆ์

ในกรณีที่สันติอโศกมีแม่เณรขึ้นมาท่านเจ้าคุณเห็นเป็นอย่างไรครับ

อาตมายังไม่ได้ศึกษาชัดเรื่องสันติอโศก แต่รู้สึกว่ามีความพยายามจะทำเลียนแบบภิกษุณีสงฆ์อยู่ เรื่องนี้ควรจะเป็นการตกลงร่วมกันในสังคมหรือโดยสงฆ์ ถ้าทำเป็นเฉพาะกลุ่มชนก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ ยิ่งถ้าเป็นกลุ่มชนที่มีลักษณะขัดแย้งก็ยิ่งจะเกิดปัญหามาก ควรจะเป็นการริเริ่มของส่วนรวม หรือถ้าเป็นของกลุ่มชนก็ควรเป็นกลุ่มที่พยายามประสานก็จะน่าพึงประสงค์ ดีกว่าเริ่มด้วยความแตกแยกออกไป เป็นอันว่าเรื่องนี้เรามีทางเลี่ยงแล้วแต่จะตกลงกัน และต้องพัฒนากันไป ต้องศึกษาเรื่องภิกษุณีในสมัยโบราณให้เห็นแนวทางแล้วก็ปรับเข้ากับสังคมปัจจุบัน ถ้าเราต้องการทำจริงๆ ก็เป็นไปได้ ประโยชน์ก็มีอยู่ อย่างไรก็ตามก็ต้องดูด้วยว่า แม้แต่ภิกษุสงฆ์เองเดี๋ยวนี้มีประโยชน์มีบทบาทในทางสังคมเหมือนกับในสังคมไทยสมัยก่อนหรือไม่ เหมือนกับภิกษุสงฆ์ในสมัยพุทธกาลหรือไม่ การตั้งภิกษุณีสงฆ์ก็เหมือนกัน เราตั้งขึ้นมาโดยมองเห็นประโยชน์เพียงในสมัยพุทธกาลกับสังคมไทยในอดีตยังไม่พอต้องดูปัจจุบันด้วย เราอาจจะต้องปรับปรุงฐานะและบทบาทของทั้งภิกษุสงฆ์และสถาบันนักบวชหญิงที่จะมีขึ้นแทนภิกษุณีสงฆ์นั้นไปพร้อมกันด้วยเลย

การที่มีผู้เสนอว่าควรฟื้นฟูภิกษุณีสงฆ์เพื่อทำหน้าที่ด้านการศึกษา และบริการสังคมเช่นเดียวกับแม่ชีของคาทอลิกนั้น ท่านเจ้าคุณเห็นด้วยหรือไม่ในบทบาทนี้

อันนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร อาตมาเห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องตั้งเป็นภิกษุณีสงฆ์ก็ได้ เราพัฒนาสถาบันนักบวชหญิงรูปแบบอื่นขึ้นมาได้เพื่อทำงานนี้จะยิ่งสะดวกขึ้น เพราะกำหนดวินัยใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพสังคมและหน้าที่การงานได้ ถ้าเป็นภิกษุณีสงฆ์ก็ต้องใช้วินัยเดิม ซิ่งมีสิกขาบท ๓๑๑ ข้อ ก็จะมีปัญหาขึ้นอีกเช่นว่าเป็นอยู่และทำงานในสภาพปัจจุบันไม่สะดวก

เวลานี้ไม่มีภิกษุณีสงฆ์ แต่มีอุบาสิกา ท่านเจ้าคุณคิดว่าอุบาสิกาในเมืองไทยทำหน้าที่สมบูรณ์ดีหรือไม่

เรื่องนี้ไม่เฉพาะอุบาสิกาหรอก สมัยนี้ความเป็นกลุ่มชนที่เรียกว่าอุบาสกอุบาสิกา ไม่ค่อยชัดเจนเหมือนสมัยโบราณ ดังนั้นน่าจะพูดรวมไปทั้งอุบาสกอุบาสิกา ถ้าจะว่าไม่น่าพอใจก็ต้องบอกว่าไม่น่าพอใจทั้งคู่ไม่เฉพาะฝ่ายใด ทั้งชาวพุทธทั่วไปหรืออุบาสกอุบาสิกาก็ไม่ค่อยรู้ด้วยว่าบทบาทของอุบาสกอุบาสิกาในสมัยพุทธกาลและสมัยโบราณของไทยเป็นอย่างไร ยิ่งมาในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างปัจจุบันนี้ รูปศัพท์อุบาสกอุบาสิกาก็ไม่ค่อยได้ใช้และบทบาทก็ไม่มีชัดเจน กลายเป็นบทบาทที่มีในชื่ออื่นตราอื่นแทน ความเป็นอุบาสกอุบาสิกาไปอิงอยู่กับตราตำแหน่งอื่น

ในทางพุทธศาสนา อุบาสกอุบาสิกาที่ดีมีหน้าที่อย่างไรครับ

ท่านบอกไว้แต่คุณลักษณะของอุบาสกอุบาสิกาที่ดีไว้ว่าเป็นอย่างไรอย่างในหมวดธรรมต่างๆ ก็มีกล่าวไว้เช่นว่า…

“…อุบาสก อุบาสิกา คือ ผู้ใกล้ชิดพระศาสนาอย่างแท้จริง ควรตั้งตนอยู่ในธรรม ที่เป็นไปเพื่อความเจริญของอุบาสก เรียกว่า อุบาสกธรรม ๗ ประการ คือ

  1. ไม่ขาดการเยี่ยมเยียนพบปะพระภิกษุ
  2. ไม่ละเลยการฟังธรรม
  3. ศึกษาในอธิศีล คือ ฝึกอบรมตนให้ก้าวหน้าในการปฏิบัติรักษาศีลขั้นสูงขึ้นไป
  4. พรั่งพร้อมด้วยความเลื่อมใส ในพระภิกษุทั้งหลาย ทั้งที่เป็นเถระ นวกะ และปูนกลาง
  5. ฟังธรรมโดยมิใช่จะตั้งใจคอยจ้องจับผิด หาช่องที่จะติเตียน
  6. ไม่แสวงหาทักขิไณยภายนอกหลักคำสอนนี้ คือ ไม่แสวงหาเขตบุญนอกหลักพระพุทธศาสนา
  7. กระทำความสนับสนุนในพระศาสนานี้เป็นที่ต้น คือ เอาใจใส่ทำนุบำรุงและช่วยกิจการพระพุทธศาสนา” และอีกหมวดหนึ่งกล่าวว่า “อุบาสก อุบาสิกาที่ดี มีคุณสมบัติที่เรียกว่า อุบาสกธรรม ๕ ประการ คือ
    1. มีศรัทธา เชื่อมีเหตุผล มั่นในคุณพระรัตนตรัย
    2. มีศีล อย่างน้อยดำรงตนได้ในศีล ๕
    3. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล มุ่งหวังผลจากการกระทำ มิใช่จากโชคลาง หรือสิ่งที่ตื่นกันไปว่าขลังศักดิ์สิทธิ์
    4. ไม่แสวงหาทักขิไณยนอกหลักคำสอนนี้
    5. เอาใจใส่ทำนุบำรุงและช่วยกิจการพระพุทธศาสนา” ดังนี้เป็นต้น …

แต่เรื่องหน้าที่ท่านไม่ได้ตราไว้เป็นส่วนเฉพาะต่างหากถ้าจะพูดถึงก็ต้องรวบรวมจากที่ตรัสสอนในที่หลายแห่ง อย่างไรก็ตามเรื่องบทบาทนั้นเราพอจะศึกษาได้จากเอตทัคคะในด้านต่างๆ เช่นเรามีอุบาสกที่เป็นเอตทัคคะในด้านธรรมกถึกเป็นนักแสดงธรรม เดี๋ยวนี้ไม่มีใครใช้คำนี้สำหรับคฤหัสถ์แล้ว เรียกแต่พระว่าเป็นธรรมกถึก แต่ในสมัยพุทธกาลมีอุบาสกที่เป็นเอตทัคคะเยี่ยมในทางธรรมกถึก หรือว่าอุบาสิกาก็มีผู้ที่เป็นเอตทัคคะในด้านเป็นพหูสูตเป็นผู้มีความรู้กว้างขวาง แสดงว่าในสมัยนั้นอุบาสิกามีการศึกษาดีมากเป็นพหูสูตจึงมีเอตทัคคะในด้านนั้นขึ้น

ขอทราบทัศนะท่านเจ้าคุณในเรื่องสิทธิสตรีบ้างครับ

เรื่องสิทธิสตรีนี้อาตมาเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ต้องพิจารณากันให้ชัดเจนและต้องใช้เหตุผลมาก บางทีอารมณ์เข้าไปแทรกมากเหมือนกัน เท่าที่ดูลักษณะอาการแสดงออกที่เป็นไปโดยเหตุผลก็มีอยู่บ้าง แต่มีไม่น้อยที่แสดงออกโดยใช้อารมณ์เหมือนกับว่ามีการแก่งแย่งชิงอำนาจกันระหว่างผู้หญิงผู้ชาย หรือมาวัดว่าใครจะแน่กว่ากัน หรือฉันก็ไม่กลัวเหมือนกันซึ่งไม่น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนและให้ผลดี เมื่อมีความรู้สึกอย่างนี้แล้วทำให้การพิจารณาปัญหาไม่มองตามความเป็นจริงเท่าที่ควร มักมีการเอียงสุดไปด้านใดด้านหนึ่ง ในอดีตเราอาจจะพูดว่าการที่ผู้ชายได้เปรียบเอาเปรียบนี้เป็นการเอียงสุดไปด้านหนึ่ง เวลานี้ที่ผู้หญิงจะริเริ่มทำอะไร ถ้าเข้าลักษณะที่ว่าเมื่อกี้นี้ก็เป็นการเอียงสุดไปอีกด้านหนึ่ง แทนที่จะหาจุดที่ถูกต้อง เช่นเราอาจจะพูดถึงว่าพวกผู้ชายชอบอ้างเรื่องธรรมชาติของผู้หญิงผู้ชายมาเป็นข้อที่ทำให้ผู้ชายเอาเปรียบ หรือรักษาความได้เปรียบไว้ พอถึงคราวฝ่ายผู้หญิงพูด เมื่อเห็นว่าผู้ชายยกเรื่องธรรมชาติความเป็นหญิงเป็นชายขึ้นอ้างเพื่อตัวจะได้เอาเปรียบ ผู้หญิงก็เลยมองข้ามเรื่องของธรรมชาติเสียเลย หันไปมองจุดอื่นที่จะเรียกร้องให้ได้สิทธิเท่าเทียมกัน ในแง่ธรรมชาตินั้น เราต้องยอมรับตามที่มันเป็นจริง ต้องมองและเอามาประกอบการพิจารณาอย่างหนึ่งด้วย จุดเสียของเดิมอยู่ที่ว่า ผู้ชายจับเอาเฉพาะแง่ที่เป็นประโยชน์แก่ตัว เพื่อเอาเปรียบได้เปรียบ จึงเป็นการเสียดุลย์หรือบิดเบือนคลาดเคลื่อนหรือบกพร่องไป ทีนี้เวลาเราแก้ปัญหาเราจะถือว่าผู้ชายเอาธรรมชาตินี้มาอ้างเพื่อเอาเปรียบแล้วเราไม่ชอบใจเราจะไม่มองเลยก็ไม่ได้ เราต้องยอมรับธรรมชาติตามเป็นจริง และเอามาเป็นเครื่องพิจารณาประกอบในการแก้ไขด้วย ถ้าหากการแก้ไขไม่ตั้งอยู่บนฐานแห่งความจริงที่มองอย่างรอบด้านและด้วยใจเป็นกลางแล้ว การแก้ปัญหานั้นไม่ได้ผลยั่งยืน ต้องคำนึงถึงความจริงและอย่าให้มีการบิดเบือนเอาความจริงนั้นไปเป็นประโยชน์สนองตามต้องการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่มองในแง่ว่าจะเอาความแตกต่างมาเสริมเกื้อกูลอย่างไร

อีกอย่างหนึ่ง ถ้ายอมรับว่าผู้ชายมีโครงสร้างทางสรีรวิทยาที่โตใหญ่กว่าได้เปรียบ ทำให้ในอดีตผู้ชายมีโอกาสจะเอาเปรียบได้ ความเป็นมาของสังคมจึงออกมาในรูปว่าสตรีเสียเปรียบมีฐานะด้อยเรื่อยมา ถ้าเรามองในแง่การพัฒนาความเป็นมนุษย์หรืออารยธรรมที่แท้จะเห็นว่า มนุษย์พัฒนาเพื่อให้พ้นจากความป่าเถื่อน หรือความเป็นสัตว์ป่า ซึ่งเอาแรงกายหรืออำนาจเข้าว่า ใครแข็งแรงกว่ามีอำนาจมากอยู่ในภาวะได้เปรียบก็ข่มเหงเอาเปรียบ ส่วนมนุษย์ที่พัฒนาแล้วเจริญหรือมีอารยธรรม แทนที่จะถือกำลังกายหรืออำนาจเป็นใหญ่ก็เปลี่ยนมาถือคุณธรรมสติปัญญาความถูกต้องชอบธรรมและความเกื้อกูลกันเป็นหลักดำเนิน แทนที่จะเสวยความได้เปรียบเพื่อเอาเปรียบก็เปลี่ยนเป็นการช่วยจัดสรรโอกาส เพื่อให้ทุกคนสามารถพัฒนาศักยภาพของตน อย่างนี้จึงจะเป็นสังคมอารยชนที่เจริญแล้ว ตามหลักพุทธศาสนายอมรับว่าผู้หญิงก็มีความสามารถเข้าถึงจุดหมายคือบรรลุธรรมสูงสุดได้ มีสติปัญญาที่สามารถพัฒนาได้ ในเมื่อเราไม่เอาความได้เปรียบทางกายมาเอาเปรียบ แต่กลับพยายามช่วยเกื้อกูล โดยถ้าหญิงมีข้อที่เสียเปรียบอย่างไร ไม่ได้โอกาสจะพัฒนาชีวิต เราก็แก้ปัญหานั้นเสีย เพื่อสร้างเสริมบทบาทให้ผู้หญิงได้พัฒนาตัวเอง เพื่อเข้าถึงภาวะดีงามสูงสุดที่เขาสามารถจะเข้าถึงได้ อันนี้เป็นวิถีทางของสังคมของอารยชนที่ถูกต้องเป็นธรรม

ทีนี้ ในการพิจารณาว่าผู้หญิงมีฐานะด้อยถูกเอาเปรียบนั้นเหตุมาจากอะไร ต้องค้นหาเหตุต้นตอให้ได้จึงจะแก้ปัญหาได้ถูกต้อง เช่นเมื่อเทียบกันกับที่ศึกษาเรื่องชนชั้นอย่างนายทุนกรรมกรเขาบอกว่า เหตุที่นายทุนได้เปรียบเพราะนายทุนเป็นฝ่ายถือครองปัจจัยการผลิต ทีนี้ความได้เปรียบเสียเปรียบของหญิงชายเกิดจากอะไร ทำไมผู้ชายเอาเปรียบผู้หญิงได้ ต้องค้นให้เห็นเหตุ และเหตุนั้นจะไม่ใช่ชั้นเดียวอย่างในเรื่องนายทุนกับกรรมกรซึ่งเป็นปัญหาระหว่างคนกับคน ซึ่งอาจเป็นชายเหมือนกัน หรือเป็นหญิงเหมือนกัน แต่เรื่องนี้เป็นปัญหาระหว่างชายกับหญิงไม่ใช่เพียงแค่คนกับคน แต่คนผู้ชายกับคนผู้หญิง มีปัจจัยธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งต้องยอมรับเอาเข้ามาพิจารณาด้วย เช่น ถ้าเราจะบอกว่าผู้ชายมีโอกาสทางสังคมมากกว่า เหตุผลเท่านั้นไม่พอ ต้องสาวต่อไปว่าการที่ผู้ชายมีโอกาสทางสังคมมากกว่านั้นมีเหตุจากอะไร ซึ่งอาจจะเป็นเหตุธรรมชาติก็ได้ เมื่อสืบไปถึงเหตุเบื้องต้นนั้นแล้วที่ว่าเหตุนี้เป็นช่องเอื้ออำนวยให้ผู้ชายเอาเปรียบผู้หญิง ช่องนี้เปิดอยู่จะปิดได้หรือไม่ ปิดได้ด้วยวิธีการทางธรรมชาติหรือทางสังคม ถ้าหากว่าปิดไม่ได้โดยธรรมชาติก็หมายความว่า ภาวะทางธรรมชาติจะเปิดโอกาสเอื้ออำนวยให้ผู้ชายมีโอกาสหรือฉวยโอกาสเอาเปรียบได้เสมอ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ในแง่นี้การแก้ปัญหาจะออกมาในรูปที่เอาจริยธรรมเป็นแกน ซึ่งจะไปสอดคล้องกับการพัฒนามนุษย์ให้พ้นจากความป่าเถื่อน แทนที่จะเอาพลังกายหรือเอาอำนาจมาใช้แข่งขันแก่งแย่งครอบงำกัน ก็หันมาสร้างสรรค์โอกาสในการพัฒนาสติปัญญาความรู้ความสามารถคุณธรรมให้เกื้อกูลกัน คือผู้หญิงผู้ชายจะต้องร่วมมือกันช่วยเหลือกัน เมื่อเห็นว่ามนุษย์จะเป็นฝ่ายไหนก็ตามมีความสามารถจะพัฒนาตนเองได้ ต้องพยายามสร้างเสริมโอกาสนั้นขึ้น นี่จะเป็นลักษณะสังคมอารยะที่พึงปรารถนา

สิ่งที่ขอย้ำในที่นี้ก็คือ การใช้พลังกายและอำนาจครอบงำกัน รวมทั้งการช่วงชิงแก่งแย่งแข่งอำนาจกันฝ่ายหนึ่ง กับการช่วยกันจัดสรรอำนวยโอกาสเพื่อให้ทุกคนสามารถพัฒนาศักยภาพของตนให้ถึงที่สุดฝ่ายหนึ่งสองอย่างนี้เป็นเครื่องวัดภาวะที่ยังป่าเถื่อนและภาวะที่พัฒนามีอารยธรรมของมนุษยชาติ ในขณะที่สังคมมนุษย์ยังเดินทางคืบหน้าถอยหลังกลับไปกลับมาอยู่กลางทางระหว่างความป่าเถื่อนกับความมีอารยธรรมอย่างปัจจุบันนี้ ซึ่งการใช้อำนาจยังมีบทบาทสำคัญอยู่มาก การเรียกร้องต่างๆ ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่ามีความจำเป็นอยู่บ้าง เพราะอย่างน้อยก็ยังดีกว่าการถูกข่มเหงเหยียบย่ำโดยสิ้นเชิง และการใช้กำลังเข้าต่อสู้ห้ำหั่นทำลายกัน ซึ่งเป็นปลายสุดในทางเลวร้ายทั้งสองด้าน อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องเป็นต้นนั้น จะดำเนินไปอย่างพอดีและชอบธรรมก็ต่อเมื่อผู้กระทำตระหนักในมาตรฐานวัดความป่าเถื่อนและความเจริญอย่างที่ได้กล่าวถึงข้างต้น

อีกอย่างหนึ่งที่ควรเน้นไว้ด้วย คือ เท่าที่สังเกต การเรียกร้องสิทธิสตรี (และการเรียกร้องอื่นๆ) เท่าที่ทำกันอยู่ มักดำเนินไปในลักษณะที่เป็นการส่งเสริมค่านิยมแห่งเกียรติยศอำนาจคือยอมรับหรือเชิดชูใฝ่ทะยานต่อการมีเกียรติยศอำนาจความสูงเด่นในสังคม การมีตำแหน่งใหญ่โต การเป็นผู้บริหาร มีทรัพย์สินบริวาร เป็นต้น ยอมรับเชิดชูว่าฐานะเหล่านี้เป็นสิ่งสูงส่งและให้เห็นว่างานบ้านและการทำหน้าที่ของแม่เป็นสิ่งต่ำต้อยด้อยค่า แทนที่จะทำในทางตรงข้าม กล่าวคือ ขอเสนอแนะว่าสิ่งที่น่ากระทำก็คือ การเรียกร้องสิทธิไปพลาง พร้อมกันนั้นก็พยายามลดถอนหรือทำลายค่านิยมแห่งเกียรติยศอำนาจ และเชิดชูค่าแห่งการทำหน้าที่ของมารดาและงานบ้าน ความจริง ไม่ว่าสังคมจะผันผวนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร งานของแม่ก็ยังคงมีความสำคัญอยู่เรื่อยไป ต่อไปข้างหน้า ฐานะที่จำเจซ้ำซากนี้ ก็อาจปรากฏความสำคัญเป็นสิ่งสูงส่งที่สังคมยกย่องเชิดชูขึ้นได้อีก เมื่อว่าโดยประสิทธิภาพและผลดีต่อเด็กต่อความเจริญงอกงามของมนุษยชาติแล้ว มีใครจะทำหน้าที่ดูแลเด็กได้ดีกว่าสตรี ควรหรือที่สตรีจะปล่อยฐานะนี้ให้หลุดไปจากตน หรือยอมให้สังคมหยามฐานะนี้ว่าต่ำต้อยด้อยค่า ถ้าคนยังมีลูก ถึงหญิงจะเป็นรัฐมนตรีก็น่าจะเป็นแม่ที่ดีด้วย

ข้อที่เชื่อกันว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่อารมณ์อ่อนไหวมีอิตถีภาวะอยู่มากจึงอ่อนแอกว่าผู้ชาย ในข้อนี้ทางพุทธศาสนากล่าวไว้ว่าอย่างไรครับ เป็นไปโดยธรรมชาติหรือว่าเป็นเพราะสังคมวัฒนธรรมหล่อหลอมขึ้น

รู้สึกว่าคนทั่วไปยอมรับกันอย่างนั้น ปัญหาที่ว่าเป็นไปโดยธรรมชาติแท้ หรือโดยการสั่งสมอบรม อันนี้สามารถโยงไปถึงเรื่องทางกายด้วย ผู้ที่อ่อนแอทางกายมีโอกาสหวั่นไหวได้ง่าย คือถ้ายอมรับว่าในทางสรีระผู้หญิงอ่อนแอกว่าชายแล้ว เมื่อสองคนนี้มาสัมพันธ์กันขึ้นฝ่ายที่อ่อนแอจะอ่อนไหวง่ายและจะแสวงหาการพึ่งพึงจากฝ่ายที่แข็งแรงกว่า อันนี้เป็นผลทางจิตวิทยา แล้วจึงสั่งสมมาเป็นวัฒนธรรมอีกทีหนึ่งหรือเปล่า เราจะมองว่าวัฒนธรรมเป็นเหตุที่มาของสภาพทางจิตวิทยา หรือว่าสรีรวิทยาเป็นจุดเริ่มต้นแล้วส่งผลมาทางจิตวิทยาแล้วจึงมาถึงวัฒนธรรม และวัฒนธรรมนั้นก็ย้อนกลับมาเสริมเหตุผลทางจิตวิทยาอีกทีหนึ่งก็ได้ ฉะนั้นต้องศึกษาให้ดี แต่ว่ามองกันอย่างง่ายๆ ก็เห็นได้ว่า ถ้าความอ่อนแอทางร่างกายเป็นจริง เมื่อเข้ามาสัมพันธ์กันทั้ง ๒ ฝ่าย ฝ่ายที่อ่อนแอกว่าก็ต้องหวั่นไหวกว่า สมมติว่า ๒ คนนี้ไปด้วยกันในการเผชิญภัย ความรู้สึกของผู้อ่อนแอก็ต้องหวังพึ่งผู้ที่แข็งแรงกว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นความรู้สึกหวั่นไหวจึงย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นแก่ผู้อ่อนแอได้ง่าย และในเมื่อปัจจัยทางสรีรวิทยาและจิตวิทยาให้ช่องแล้ว ถ้าไม่ระวังให้ดีวัฒนธรรมก็จะสั่งสมมากขึ้นในลักษณะที่กำหนดสภาพทางสรีรวิทยาและจิตวิทยานั้นให้อ่อนแอสมจริงและหนักแน่นยิ่งขึ้น แทนที่จะช่วยในทางตรงข้าม

เรื่องอิตถีภาวะ-ปุริสภาวะนี้เป็นเรื่องภายในจิตใจเท่านั้นหรือ ? ในคนๆ เดียวมีทั้ง ๒ ภาวะใช่หรือไม่ ?

เรื่องนี้อยู่ในอภิธรรม คือในเรื่องอุปาทายรูป ๒๔ และในเรื่องอินทรีย์ ๒๒ ส่วนในพระสูตรมีกล่าวถึงกระจายอยู่บ้าง และใช้ในความหมายง่ายๆ คือความเป็นหญิงเป็นชายอย่างที่ชาวบ้านพูดถึงแล้วก็เข้าใจกัน เช่น ในสังยุตตนิกายและเถรีคาถา ภิกษุณีท่านหนึ่งกล่าวถึงอิตถีภาวะว่า เมื่อจิตมีสมาธิดี มีปัญญาเห็นแจ้งธรรมอยู่ ความเป็นหญิงก็ไม่สำคัญหรือไม่มีความหมายอะไร ปัญหาจะมีก็แต่สำหรับคนที่ยังยึดติดถือมั่นอยู่ว่า เราเป็นหญิงเราเป็นชาย และในอังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าตรัสถึงสภาพจิตที่ทำให้คนล่วงพ้นหรือไม่อาจล่วงพ้นจากความเป็นหญิงและจากความเป็นชาย (หมายความว่าผู้ที่หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวเกาะยึดติดกับความเป็นหญิงและความเป็นชาย) ถ้าเราพูดแง่ละเอียดบางแง่ เราอาจพูดเป็นกลางๆ ได้ว่าเพราะมันมีอยู่ทั้งคู่จึงสามารถเกิดกลับไปกลับมาได้ ในอภิธรรมยอมรับว่า ผู้หญิงอาจเกิดเป็นผู้ชายได้ และผู้ชายอาจเกิดเป็นผู้หญิงได้ คือเกิดเป็นคนจริงๆ ไม่ใช่แค่รู้สึกในใจ แต่ในแง่ที่มาเกิดเป็นผู้หญิงผู้ชายก็แสดงให้เห็นชัดเจนอยู่ว่าอิตถีภาวะเด่นชัด หรือปุริสภาวะเด่นชัด หรือปุริสภาวะเด่นชัด จิตเป็นส่วนสำคัญและเป็นเหตุแสดงให้ปรากฏในสภาพชีวิตร่างกาย ภาวะนี้แทรกซึมอยู่ทั้งหมดในองคาพยพทั้งสิ้นของชีวิต

ที่เชื่อกันว่า ถ้าหากทำความชั่วชาตินี้แล้วจะไปเกิดเป็นผู้หญิงชาติหน้า แต่ถ้าผู้หญิงทำความดีชาตินี้แล้วจะไปเกิดเป็นชาย มีโอกาสบรรพชา อุปสมบท บรรลุธรรมในชาติหน้านั้น คตินี้ตรงตามหลักพุทธศาสนาหรือไม่

ถ้าเชื่ออย่างนั้นจริงก็คลาดเคลื่อน เรื่องนี้มีในอรรถกถา ไม่ใช่พระไตรปิฎกและเป็นเรื่องความดีความชั่วเกี่ยวกับทางเพศ ไม่ใช่เรื่องดีชั่วทั่วๆ ไป และการบรรลุธรรมก็ไม่จำกัดโดยเพศ ในอรรถกถาพูดไว้ว่าถ้าผู้ชายไปเจ้าชู้ผิดลูกผิดเมียเขาต่อไปจะไปเกิดเป็นผู้หญิง ส่วนผู้หญิงที่มีใจซื่อสัตย์ต่อสามี รักเดียวใจเดียวมั่นคง ต่อไปจะไปเกิดเป็นผู้ชายเป็นเรื่องดีชั่วทางเพศ ไม่ใช่ดีชั่วด้านอื่น ถ้ามองจากคตินี้ก็เห็นว่า ถ้าผู้ชายอ่อนไหววุ่นวายกับเรื่องทางเพศมากก็ไปเกิดเป็นผู้หญิง แต่ผู้หญิงที่จิตใจมั่นคง จะไปเกิดเป็นผู้ชาย

นี่ก็แสดงว่า สังคมสมัยนั้นยกย่องให้ความสำคัญแก่ผู้ชายเหนือกว่าผู้หญิง

มีค่านิยมกันมาอย่างนั้น แต่จะพูดคลุมเครือว่า ชายดีกว่าหญิงไม่ได้ และมีข้อสำคัญอีกประการหนึ่งว่าในการเข้าถึงธรรมสูงสุดไม่มีความเป็นชายเป็นหญิง ในพุทธศาสนาจึงพูดได้ในทำนองนี้ว่า ในตัวสิกขา โดยเฉพาะการปฏิบัติขั้นจิตปัญญาและในการเข้าถึงความหลุดพ้น ไม่ต้องพูดถึงความเป็นชายเป็นหญิง ความหลุดพ้นอยู่พ้นเหนือความเป็นชายเป็นหญิง

ขอกราบขอบพระคุณท่านเจ้าคุณที่กรุณาให้ข้อคิดความเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งนี้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ธรรมกับกามทำอย่างไรจะหายโกรธ >>

เชิงอรรถ

  1. สัมภาษณ์โดยนายดุษฎี อังสุเมธางกูร แห่งคณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา (ศ.พ.พ.) เมื่อ ๑๘ กันยายน ๒๕๒๖ พิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร “สตรีทัศน์” ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๖ – มกราคม ๒๕๒๗

No Comments

Comments are closed.