ชีวิตนั้นสำคัญที่ใจ สู่ความเกษมสันต์นิรันดร์กาล

24 สิงหาคม 2538
เป็นตอนที่ 1 จาก 1 ตอนของ
  • ชีวิตนั้นสำคัญที่ใจ สู่ความเกษมสันต์นิรันดร์กาล

ชีวิตนั้นสำคัญที่ใจ
สู่ความเกษมสันต์นิรันดร์กาล
ธรรมกถาของ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน นครปฐม

ฝึกตนยิ่งขึ้นไป ดำเนินชีวิตให้ถูก
…ความสุขยิ่งเพิ่มพูน…
เมื่อทำตัวเป็นพระพรหมได้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว
ก็มาทำชีวิตให้เข้าถึง…ความสุข…
ในที่นี้ขอพูดคร่าวๆ ถึงความสุข ๕ ชั้น
ขอพูดอย่างย่อในเวลาที่เหลืออันจำกัดดังนี้

ขั้นที่ ๑ คือ ความสุขจากการเสพวัตถุ
หรือสิ่งบำรุงบำเรอภายนอกที่นำมาปรนเปรอ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ของเรา
ข้อนี้เป็นความสุขสามัญที่ทุกคนในโลกปรารถนากันมาก
ความสุขประเภทนี้ขึ้นต่อสิ่งภายนอก
เพราะว่า…เป็นวัตถุหรืออามิสภายนอก
เมื่อเป็นสิ่งภายนอก อยู่นอกตัว ก็ต้องหา ต้องเอา

เพราะฉะนั้น…
สภาพจิตของคนที่หาความสุขประเภทนี้
จึงเต็มไปด้วยความคิดที่จะได้จะเอา
แล้วก็ต้องหา และดิ้นรนทะยานไป
เมื่อได้มาก ก็มีความสุขมาก…
แล้วก็เพลิดเพลินไปกับความสุขเหล่านั้น

…พอได้มากๆ เข้า…
ต่อมาก็นึกว่าตัวเองเก่งมากๆ ไปๆ มาๆ…โดยไม่รู้ตัว
ก็มีภาวะอย่างหนึ่งเกิดขึ้น คือ…
ชีวิตและความสุขของตัวเองต้องไปขึ้นกับวัตถุเหล่านั้น
อยู่ลำพังง่ายๆ อย่างเก่า ไม่สุขเสียแล้ว
ตอนที่เกิดมาใหม่ๆ นี้ ไม่ต้องมีอะไรมากก็พอจะมีความสุขได้
ต่อมามีวัตถุมาก เสพมาก ทีนี้ขาดวัตถุเหล่านั้นไม่ได้เสียแล้ว
กลายเป็นว่า…
สูญเสียอิสรภาพ ชีวิตและความสุข
…ต้องไปขึ้นกับวัตถุภายนอก แต่เข้าใจผิดคิดว่าตัวเองเก่ง
อันนี้เป็นข้อสำคัญที่คนเราหลงลืมไป

ทางธรรมจึงเตือนไว้เสมอว่า…
เราอย่าสูญเสียอิสรภาพนี้ไป
พร้อมทั้งอย่าสูญเสียความสามารถที่จะเป็นสุข

สิ่งที่คนเราจะพัฒนากันมากก็คือ…
การพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพมาบำเรอความสุข
แม้แต่การศึกษา ทำไปทำมาก็ไม่รู้ตัวว่า
กลายเป็นการพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุข
แต่อีกด้านหนึ่งของชีวิตที่ลืมไป คือ…
การพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข
ถ้าเราไม่พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข
หรือ…แม้แต่ไม่รักษามันไว้
เราก็สูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข

อาการของคนที่สูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข
…ก็คือ…
ยิ่งอยู่ในโลกนานไปก็ยิ่งกลายเป็นคนที่สุขยากขึ้น
คนจำนวนมากสมัยนี้มีลักษณะอย่างนี้
คืออยู่ในโลกนานไป เติบโตขึ้น กลายเป็นคนที่สุขได้ยากขึ้น
ต่างจากคนที่รักษาดุลยภาพของชีวิตไว้ได้
โดยพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขควบคู่ไปด้วย
จะเป็นคนที่มีลักษณะตรงข้าม
คือยิ่งอยู่ในโลกนานไป ก็ยิ่งเป็นคนที่สุขได้ง่ายขึ้น

ถ้าเป็นคนที่สุขได้ง่ายขึ้น ก็ดี ๒ ชั้น
คือ เราพัฒนาสองด้านไปพร้อมกัน
ทั้งพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุขด้วย
และพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขด้วย
ผลก็คือ เราหาสิ่งมาบำเรอความสุขได้เก่ง ได้มากด้วย
และพร้อมกันนั้นเราก็เป็นคนที่สุขได้ง่ายด้วย
เราก็เลย…สุขซ้อนทวีคูณ
ส่วนคนที่สูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข
แม้จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุขได้มาก
แต่ความสุขก็เท่าเดิมเรื่อยไป เพราะข้างนอกได้มา ๑
แต่ข้างในก็ลดลงไป ๑ เลยเหลือ ๐ เท่าเดิม
กระบวนการวิ่งหาความสุขจึงดำเนินไปไม่รู้จักจบสิ้น
เพราะความสุขวิ่งหนีเราไปเรื่อยๆ…
…เพราะฉะนั้น…
จะต้องพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขไว้ด้วยคู่กัน
เป็นคนที่สุขได้ง่าย ก็เป็นอันว่าสบาย
อย่างน้อยก็ฝึกตัวเองไว้ อย่าให้ความสุขต้องขึ้นกับวัตถุมากเกินไป

ศีล ๘ เป็นตัวอย่างของวิธีฝึกไม่ให้เราสูญเสียอิสรภาพ
โดยไม่เอาความสุขไปขึ้นต่อวัตถุมากเกินไป
…แปดวันก็รักษาศีล ๘ ครั้งหนึ่ง
ลองหัดดูซิว่า ให้ความสุขของเรา…
ไม่ต้องขึ้นกับการบำรุงบำเรอทางกายด้วยวัตถุ
เริ่มด้วยข้อวิกาลโภชนาฯ ไม่ต้องบำเรอลิ้นด้วยอาหารอร่อยอยู่เรื่อย
ไม่คอยตามใจลิ้น กินแค่เที่ยง…
เพียงเท่าที่ร่างกายต้องการ เพื่อให้มีสุขภาพดี แข็งแรง
ตลอดจนข้ออุจจาสยนะฯ
ไม่บำเรอตัวด้วยการนอน ไม่ต้องนอนบนฟูก
ลองนอนง่ายๆ บนพื้น บนเสื่อธรรมดา ลองไม่ดูการบันเทิงซิ
…ทุก ๘ วัน เอาครั้งเดียว…
จะเป็นการรักษาอิสรภาพของชีวิตไว้
และฝึกให้เรามีชีวิตอยู่ดีได้โดยไม่ต้องขึ้นกับวัตถุมากเกินไป

พอฝึกได้แล้ว…
ต่อมาเราจะพูดถึงวัตถุหรือสิ่งบำรุงความสุขเหล่านั้น
ว่า “มีก็ดี ไม่มีก็ได้”
ต่างจากคนที่ไม่พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข
ซึ่งจะเอาความสุขไปขึ้นต่อวัตถุ
ถ้าไม่มีวัตถุเหล่านั้นเสพแล้ว อยู่ไม่ได้ ทุรนทุราย
ต้องพูดถึงวัตถุหรือสิ่งเสพเหล่านั้นว่า
“ต้องมีจึงจะอยู่ได้ ไม่มีอยู่ไม่ได้”
คนที่เป็นอย่างนี้จะแย่…ชีวิตนี้สูญเสียอิสรภาพ
คนยิ่งอายุมากขึ้น สถานการณ์ก็ไม่แน่นอน
ถึงเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ร่างกายเสพความสุขจากสิ่งเหล่านั้นไม่ได้
เช่น ลิ้นไม่รับรู้รส กินอาหารก็ไม่อร่อย
ถ้าไม่ฝึกไว้…ความสุขของตัวไปอยู่ที่วัตถุเหล่านั้นเสียหมดแล้ว
และตัวก็เสพมันไม่ได้
จิตใจก็ไม่มีความสามารถที่จะมีความสุขด้วยตนเอง
ก็จะลำบากมาก…ทุกข์มาก
เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้ฝึกไว้
รักษาศีล ๘ นี้แปดวันครั้งหนึ่ง จะได้ไม่สูญเสียอิสรภาพนี้ไป

เพราะฉะนั้นเอาคำว่า “มีก็ดี ไม่มีก็ได้” นี้ไว้ ถามตัวเอง
เป็นการตรวจสอบอยู่เสมอว่า เราถึงขั้นนี้หรือยัง
หรือต้องมีจึงจะอยู่ได้ ถ้ายังพูดได้ว่า “มีก็ดี ไม่มีก็ได้”
ก็เบาใจได้ว่า เรายังมีอิสรภาพอยู่ต่อไป
ถ้าเราฝึกเก่งขึ้นไปอีก อาจจะมาถึงขั้นที่พูดได้ในบางเรื่องว่า
“มีก็ได้ ไม่มีก็ดี” ถ้าได้อย่างนี้ก็ยิ่งดีขึ้นไปอีก
คนที่พูดได้อย่างนี้ จะมีความรู้สึกว่าของพวกนี้เกะกะ
เราอยู่ของเราง่ายๆ ดีแล้ว มีก็ได้ ไม่มีก็ดี ไม่มีเราก็สบาย
ชีวิตเป็นอิสระโปร่งเบา…
ความสุขเริ่มไม่ขึ้นต่อวัตถุอามิสสิ่งเสพภายนอก
ความสุขเริ่มไม่ต้องหา

ความสุขที่ต้องหาแสดงว่าเราขาด คือยังไม่มีความสุขนั้น
เราหาได้ที เสพที ก็มีสุขที
แต่ระหว่างนั้นต้องอยู่ด้วยการรอ อยู่ด้วยความหวัง
บางทีก็ถึงกับทุรนทุราย กระวนกระวาย
เพราะฉะนั้น…
จะต้องทำตัวให้มีความสุขด้วยตนเองสำรองไว้ให้ได้
ด้วยวิธีฝึกรักษาอิสรภาพของชีวิต
และ…รักษาความสามารถที่จะมีความสุขไว้

ขั้นที่ ๒ พอเจริญคุณธรรม เช่น มีเมตตากรุณา มีศรัทธา
เราก็มีความสุขเพิ่มขึ้นอีกประเภทหนึ่ง
แต่ก่อนนี้ชีวิตเคยต้องได้วัตถุมาเสพ ต้องได้ ต้องเอา
เมื่อได้จึงจะมีความสุข ถ้าให้คือเสียก็ไม่มีความสุข
แต่คราวนี้ คุณธรรมทำให้ใจเราเปลี่ยนไป

เหมือนพ่อแม่ที่มีความสุขเมื่อให้แก่ลูก เพราะรักลูก
ความรักคือเมตตา ทำให้อยากให้ลูกมีความสุข
พอให้แก่ลูกแล้ว เห็นลูกมีความสุข ตัวเองก็มีความสุข
เมื่อพัฒนาเมตตากรุณาขยายออกไปถึงใคร ให้แก่คนนั้น
ก็ทำให้ตัวเองมีความสุข ศรัทธาในพระศาสนา ในการทำความดี
และในการบำเพ็ญประโยชน์เป็นต้น
…ก็เช่นเดียวกัน…
เมื่อให้ด้วยศรัทธา ก็มีความสุขจากการให้นั้น
ดังนั้น คุณธรรมที่พัฒนาขึ้นมาในใจ เช่น เมตตากรุณา ศรัทธา
จึงทำให้เรามีความสุขจากการให้…การให้กลายเป็นความสุข

ขั้นที่ ๓ ความสุขเกิดจากการดำเนินชีวิตถูกต้อง
สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ
…ไม่หลงอยู่ในโลกของสมมติ…
ที่ผ่านมานั้นเราอยู่ในโลกของสมมติมาก
และบางทีเราก็หลงไปกับความสุขในโลกของสมมตินั้น
แล้วก็ถูกสมมติล่อหลอกเอา
อยู่ด้วยความหวังสุขจากสมมติที่ไม่จริงจังยั่งยืน
และพาให้ตัวแปลกแยกจากความจริงของธรรมชาติ
และขาดความสุขที่พึงได้จากความเป็นจริงในธรรมชาติ

เหมือนคนทำสวนที่มัวหวังความสุขจากเงินเดือน
เลยมองข้ามผลที่แท้จริงตามธรรมชาติจากการทำงานของตัว
คือความเจริญงอกงามของต้นไม้
ทำให้ทำงานด้วยความฝืนใจเป็นทุกข์
ความสุขอยู่ที่การได้เงินเดือนอย่างเดียว
…ได้แต่รอความสุขที่อยู่ข้างหน้า
แต่พอใจมาอยู่กับความเป็นจริงของธรรมชาติ
อยากเห็นผลที่แท้จริงตามธรรมชาติของการทำงานของตน
คือ อยากเห็นต้นไม้เจริญงอกงาม
หายหลงสมมติ ก็มีความสุขในการทำสวน
และได้ความสุขจากการชื่นชมความเจริญงอกงามของต้นไม้
…อยู่ตลอดเวลา…

ดังนั้น…
คนที่ปรับชีวิตได้ เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ
จึงสามารถหาความสุขจากการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง
ตามความเป็นจริงของธรรมชาติได้เสมอ
พอปัญญามาบรรจบให้วางใจถูก
ชีวิตและความสุข…ก็ถึง…ความสมบูรณ์

ขั้นที่ ๔ ความสุขจากความสามารถปรุงแต่ง
คนเรานี้มีความสามารถในการปรุงแต่ง
…ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของมนุษย์..
ปรุงแต่งทุกข์ก็ได้ ปรุงแต่งสุขก็ได้
โดยเฉพาะที่เห็นเด่นชัดก็คือ…
ปรุงแต่งความคิดมาสร้างสิ่งประดิษฐ์
จนมีเทคโนโลยีต่างๆมากมาย
ที่สำคัญก็คือในใจของเราเอง
เรามักจะใช้ความสามารถในทางที่เป็นผลร้ายแก่ตนเอง
แทนที่จะปรุงแต่งความสุข เรามักจะปรุงแต่งทุกข์
คือเก็บเอาอารมณ์ที่ไม่ดี ที่ขัดใจ ขัดหู ขัดตา
เอามาครุ่นคิดให้ไม่สบายใจ ขุ่นมัว เศร้าหมอง
โดยเฉพาะคนที่สูงอายุนี่…ต้องระวังมาก
ใจคอยจะเก็บอารมณ์ที่กระทบกระเทือน ไม่สบาย
แล้วก็มาปรุงแต่ง ให้เกิดความกลุ้มใจ
ว้าเหว่…เหงา
เรียกว่า…ใช้ความสามารถไม่เป็น

พระพุทธเจ้า
ทรงสอนให้เรารู้จักใช้ความสามารถในการปรุงแต่ง
แทนที่จะปรุงทุกข์ ก็ปรุงสุข
เก็บเอาแต่อารมณ์ที่ดีมาปรุงแต่งใจให้สบาย
แม้แต่หายใจยังให้ปรุงแต่งความสุขไปด้วย

ลองฝึกดูก็ได้ เวลาหายใจเข้า ก็ทำใจให้เบิกบาน
เวลาหายใจออก ก็ทำใจให้โปร่งเบา

ท่านสอนไว้ว่า…
สภาพจิต ๕ อย่างนี้ ควรปรุงแต่งให้มีในใจอยู่เสมอ คือ
๑. ปราโมทย์ ความร่าเริงเบิกบานใจ
๒. ปีติ ความอิ่มใจ
๓. ปัสสัทธิ ความสงบเย็น ผ่อนคลายกายใจ ไม่เครียด
๔. ความสุข ความโปร่งโล่งใจ คล่องใจ สะดวกใจ
ไม่มีอะไรมาบีบคั้น หรือติดขัดคับข้อง
๕. สมาธิ ภาวะที่จิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการ ได้ตามต้องการ
ไม่มีอะไรมารบกวน จิตอยู่ตัวของมัน

ขอยํ้าว่า ๕ ตัวนี่สร้างไว้ประจำใจให้ได้ เป็นสภาพจิตที่ดีมาก
ผู้เจริญในธรรมจะมีคุณสมบัติของจิตใจ ๕ ประการนี้
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตโต ปาโมชฺชพหุโล ทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสติ
แปลว่า ภิกษุปฏิบัติถูกต้องแล้ว มากด้วยปราโมทย์
มีจิตใจร่าเริงเบิกบานอยู่เสมอ จักทำทุกข์ให้หมดสิ้นไป
ท่านพูดไว้ถึงอย่างนี้

ฉะนั้น ท่านผู้เกษียณอายุนั้น ถึงเวลาแล้ว
ควรจะใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ถือเป็นโอกาสดีมาปรุงแต่งใจ
แต่ก่อนนี้ปรุงแต่งแต่ทุกข์…ทำให้ใจเครียด ขุ่นมัว เศร้าหมอง

ตอนนี้ปรุงแต่งใจให้มีธรรม ๕ อย่างนี้ คือ
ปราโมทย์ มีความร่าเริงเบิกบานใจ ปีติ ความอิ่มใจ
ปัสสัทธิ ความผ่อนคลาย สงบเย็นกายใจ สุข โล่งโปร่งใจ
สมาธิ สงบใจตั้งมั่น ไม่มีอะไรมารบกวน อยู่ตัวสบายเลย
ทำใจให้ได้อย่างนี้อยู่เสมอ
พระพุทธเจ้าประทานไว้แล้ว ทำไมเราไม่เอามาใช้
นี่แหละความสามารถในการปรุงแต่งจิต
เอามาใช้…สบายแน่ และก็เจริญงอกงามในธรรมด้วย
โดยเฉพาะผู้สูงอายุนั้นก็เป็นธรรมดาว่า
จะต้องมีเวลาพักและเวลาที่ว่างจากกิจกรรม
มากกว่าคนหนุ่มสาวและคนวัยทำงาน
ที่เขายังมีกำลังร่างกายแข็งแรงดี ว่างจากงานเขาก็ไปเล่น
ไปทำกิจกรรมอื่นๆ ได้มาก
แต่ท่านที่สูงอายุ นอกจากออกกำลังบริหารร่างกายบ้างแล้ว
ก็ต้องการเวลาพักผ่อนมากหน่อย จึงมีเวลาว่าง
ซึ่งไม่ควรปล่อยให้กายว่างแต่ใจวุ่น
เพราะฉะนั้น ในเวลาที่ว่าง ไม่มีอะไรทำ
และก็ยังไม่พักผ่อนนอนหลับ หรือนอนแล้วก่อนจะหลับ
ก็พักผ่อนจิตใจให้สบาย
ขอเสนอวิธีปฏิบัติง่ายๆ ไว้อย่างหนึ่งว่า ในเวลาที่ว่างอย่างนั้น
ให้สูดลมหายใจเข้าและหายใจออกอย่างสบายๆ สม่ำเสมอ
ให้ใจอยู่กับลมหายใจที่เข้าและออกนั้น
พร้อมกันนั้นก็พูดในใจไปด้วย ตามจังหวะลมหายใจเข้าและออก
ว่า จิตเบิกบานหายใจเข้า จิตโล่งเบาหายใจออก
ในเวลาที่พูดในใจอย่างไร ก็ทำใจให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ ด้วย
หรืออาจจะเปลี่ยนเป็นสำนวนใหม่ก็ได้ว่า
หายใจเข้า สูดเอาความสดชื่น
หายใจออก ฟอกจิตให้สดใส
ถูกกับตัวแบบไหน ก็เลือกเอาแบบนั้น
หายใจพร้อมกับทำใจไปด้วยอย่างนี้ ตามแต่จะมีเวลาหรือพอใจ
ก็จะได้การพักผ่อนที่เสริมพลังทั้งร่างกายและจิตใจ
ชีวิตจะมีความหมาย มีคุณค่า และมีความสุขอยู่เรื่อยไป

ขั้นที่ ๕ สุดท้าย ความสุขเหนือการปรุงแต่ง
คืออยู่ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต
การเข้าถึงความจริงด้วยปัญญาเห็นแจ้ง
ทำให้วางจิตวางใจลงตัวสนิทสบายกับทุกสิ่งทุกอย่าง
…อยู่อย่างผู้เจนจบชีวิต…

สภาพจิตนี้จะเปรียบเทียบได้เหมือนสารถีที่เจนจบการขับรถ
สารถีผู้ชำนาญในการขับรถนั้น
จะขับม้าให้นำรถเข้าถนน และวิ่งด้วยความเร็วพอดี
ตอนแรกต้องใช้ความพยายาม ใช้แส้ ดึงบังเหียนอยู่พักหนึ่ง
แต่พอรถม้านั้นวิ่งเข้าที่เข้าทางดี ความเร็วพอดี อยู่ตัวแล้ว
สารถีผู้เจนจบผู้ชำนาญแล้วนั้น จะนั่งสงบสบายเลย
แต่ตลอดเวลานั้น…
เขาไม่มีความประหวั่น ไม่มีความหวาด จิตเรียบสนิท
ไม่เหมือนคนที่ยังไม่ชำนาญ…
จะขับรถนี่ ใจคอไม่ดี หวาดหวั่น ใจคอยกังวลโน่นนี่ ไม่ลงตัว
แต่พอรู้เข้าใจความจริงเจนจบดี ด้วยความรู้นี่แหละ
จะปรับความรู้สึกให้ลงตัว เป็นสภาพจิตที่เรียบสงบสบายที่สุด

คนที่อยู่ในโลกด้วยความรู้เข้าใจโลกและชีวิตตามเป็นจริง
จิตเจนจบกับโลกและชีวิต วางจิตลงตัวพอดี
ทุกอย่างเข้าที่อยู่ตัวสนิทอย่างนี้
ท่านเรียกว่าเป็นจิตอุเบกขา
…เป็นจิตที่สบาย ไม่มีอะไรกวนเลย…เรียบสนิท
เป็นตัวของตัวเอง ลงตัว เมื่อทุกสิ่งเข้าที่ของมันแล้ว

คนที่จิตลงตัวเช่นนี้…
จะมีความสุขอยู่ประจำตัวอยู่ตลอดเวลา
เป็นสุขเต็มอิ่มอยู่ข้างใน ไม่ต้องหาจากข้างนอก
และเป็นผู้มีชีวิตที่พร้อมที่จะทำเพื่อผู้อื่นได้เต็มที่
เพราะไม่ต้องห่วงกังวลถึงความสุขของตน
และไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตัวเองอีกต่อไป
จะมองโลกด้วยปัญญาที่รู้ความจริง
และด้วยใจที่กว้างขวางและรู้สึกเกื้อกูล

คนที่พัฒนาความสุขมาถึงขั้นสุดท้ายแล้วนี้
เป็นผู้พร้อมที่จะเสวยความสุขทุกอย่างใน ๔ ข้อแรก
ไม่เหมือนคนที่ไม่พัฒนา ได้แต่หาความสุขประเภทแรกอย่างเดียว
เมื่อหาไม่ได้ก็มีแต่ความทุกข์เต็มที่
และในเวลาที่เสพความสุขนั้น จิตใจก็ไม่โปร่งไม่โล่ง
มีความหวั่นใจหวาดระแวงขุ่นมัว มีอะไรรบกวนอยู่ในใจ สุขไม่เต็มที่

แต่พอพัฒนาความสุขขึ้นมา ยิ่งพัฒนาถึงขั้นสูงขึ้น
ก็มีโอกาสได้รับความสุขเพิ่มขึ้นหลายทาง
กลายเป็นว่า…ความสุขมีให้เลือกได้มากมาย
และจิตใจที่พัฒนาดีแล้ว ช่วยให้เสวยความสุขทุกอย่างได้เต็มที่
โดยที่ในขณะนั้นๆ ไม่มีอะไรรบกวนให้ขุ่นข้องหมองมัว

…ธรรมะ…
ช่วยให้เรารู้จักความสุขในการดำเนินชีวิตมากยิ่งๆขึ้นไป
สู่ความเป็นผู้เต็มเปี่ยมสมบูรณ์
จนกระทั่งความสุขเป็นคุณสมบัติของชีวิตอยู่ภายในตัวเอง
ตลอดทุกเวลา ไม่ต้องหาไม่ต้องรออีกต่อไป
ความสุข ๕ ขั้นนี้ ความจริงแต่ละข้อต้องอธิบายกันมาก
แต่วันนี้พูดไว้พอให้ได้หัวข้อก่อน
คิดว่า…คงจะเป็นประโยชน์พอสมควร

No Comments

Comments are closed.