มองดูให้ทั่วถึงทั้งหมด ทั้งเลี้ยงคน ทั้งรักษาธรรม แล้วลูกจะนำชีวิตของเขาไปได้อย่างดี

13 สิงหาคม 2545
เป็นตอนที่ 7 จาก 9 ตอนของ

มองดูให้ทั่วถึงทั้งหมด ทั้งเลี้ยงคน ทั้งรักษาธรรม
แล้วลูกจะนำชีวิตของเขาไปได้อย่างดี

อุเบกขา มีไว้รักษาธรรม เมตตามีไว้รักษาคน เรารักษาคน แต่ถ้าไม่รักษาธรรมก็พลาด จะเสียความยุติธรรมระหว่างมนุษย์ ทำให้ไม่มีความเป็นธรรม และเมื่อเด็กได้รับการตามใจเกินไป พ่อแม่ทำอะไรๆ ให้หมด…ก็จะอ่อนแอ พึ่งตนเองไม่ได้ ทำอะไรไม่เป็น

ทีนี้พอมีตัวที่ ๔ คืออุเบกขามาช่วย ด้านความรู้สึกก็จะวางใจเป็นกลาง ที่เรียกกันมาว่า เฉย โดยไปเน้นด้าน รู้–ปัญญา คืออุเบกขานี้ด้านความรู้สึกก็วางเป็นกลาง แต่ไปเปิดทางให้ด้านรู้ คือมองว่าจะทำอย่างไรให้ถูกต้อง ให้ตรงตามความเป็นจริง เพื่อให้เกิดความถูกต้องลงตัวพอดีไว้ อุเบกขาจะได้คงอยู่ต่อไป

๓ ข้อแรก คือเมตตา กรุณา มุทิตา นั้นหนักด้านความรู้สึก ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ดี แต่คนเราจะอยู่กับความรู้สึกอย่างเดียวไม่พอ…ต้องมีความรู้ด้วย ความรู้ก็ไปรออยู่ที่ข้ออุเบกขา และอาศัยข้ออุเบกขานั้นออกมาจัดมาปรับความรู้สึกและการแสดงออกให้พอดี พูดง่ายๆ ว่าอุเบกขาเปิดโอกาสให้ปัญญาเข้ามาทำให้วางใจและทำการทั้งหลายได้พอดี

ที่พูดเน้นบ่อยๆ ได้บอกว่า ลูกมีสถานะเป็น ๒ อย่างในเวลาเดียวกัน คือ
๑. เป็นบุคคลที่อยู่ในโลก หรือในสังคมมนุษย์ ในแง่นี้หรือในสถานะนี้ก็เป็นเรื่องของการมีความสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์ เราก็ให้สัมพันธ์กันด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา ช่วยเหลือเกื้อกูล มีความรู้สึกดีงามต่อกัน

๒. แต่พร้อมกันนั้นเด็กก็มีอีกสถานะหนึ่ง คือเป็นชีวิต ที่อยู่ในธรรมชาติและเป็นธรรมชาติ ชีวิต ทั้งร่างกายและจิตใจของเขา ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ร่างกายของเขารับประทานอาหารดีก็เจริญเติบโตได้ดี รับประทานอาหารไม่ดี…ก็ท้องเสีย เสียสุขภาพ อะไรต่างๆ เหล่านี้ อันนี้เป็นด้านชีวิต ซึ่งเป็นไปตามความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ

ในฐานะเป็นบุคคล เด็กจะต้องอยู่ได้กับมนุษย์ หรือกับสังคม และในฐานะเป็นชีวิต จะต้องอยู่ได้กับความเป็นจริงของธรรมชาติ

เมื่อเด็กอยู่กับธรรมชาติ คืออยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิตนั้น ไม่มีใครมาทำให้เขาได้…เขาต้องรู้เข้าใจแล้วทำเองเป็น เมื่อเด็กเป็นชีวิตอยู่กับความเป็นจริงของธรรมชาตินั้น แม้แต่ร่างกายของเขาก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติหมด

สิ่งที่พ่อแม่และกัลยาณมิตรทั้งหลายจะช่วยได้ ก็คือช่วยให้เขามีความรู้ หรือพูดกว้างๆ คือ ให้มีการศึกษา แล้วเขาก็จะปฏิบัติจัดการกับด้านธรรมชาติให้เป็นผลดีได้

พ่อแม่จะต้องเอาใจใส่ด้านที่ลูกเป็นชีวิตที่อยู่กับธรรมชาตินี้ด้วย จะมัวมองในแง่เป็นบุคคลอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองไว้ด้วยว่าลูกจะต้องรับผิดชอบตัวเองได้ เขาจะต้องอยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิตได้ ตอนนี้เราต้องเตรียมเขาไว้

พ่อแม่จะต้องใช้ปัญญาคิดว่า เออ…ทำอย่างไรลูกของเราจะรับผิดชอบตัวเองได้ ทำอย่างไรเขาจะสนใจเรียนรู้เหตุปัจจัยต่างๆ เพื่อทำอะไรๆ ให้ถูกต้องและได้ผลดี เมื่อคิดอย่างนี้ ก็จะต้องหันมาเอาใจใส่ในการฝึกลูก

ถึงตอนนี้พ่อแม่จะไม่ใช่เพียงทำให้อย่างเดียว ถ้าพ่อแม่มีแต่เมตตา กรุณา และมุทิตา ก็จะทำให้เรื่อย เพราะอะไรๆ ก็กลัวลูกจะลำบาก แต่พอมีอุเบกขา โดยเข้าใจถึงความเป็นจริงของธรรมชาติ และมองลูกในฐานะเป็นชีวิตที่ต้องเป็นไปตามความเป็นจริง พ่อแม่ก็จะคิดเตรียมว่าทำอย่างไรลูกจะรับผิดชอบตัวเองได้ จะเติบโตอย่างดี ถึงแม้ว่าต่อไปเราไม่อยู่กับเขา…เขาก็จะไปได้

ตอนนี้เราก็คิดหาทางฝึกให้เขาทำเองเป็น ให้เขามีความเข้มแข็ง ให้สามารถพึ่งตนเองได้ นี่คือด้านที่อุเบกขารับหน้าที่

จึงได้บอกว่า ด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา พ่อแม่ก็ทำให้ลูก แต่พออุเบกขา พ่อแม่ก็ดูให้ลูกทำ

ต้องครบทั้งสองบทบาทนี้ ความเป็นพ่อเป็นแม่จึงจะสมบูรณ์

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< คุณแม่ยิ่งทำหน้าที่ได้ผลมาก หากมีกำลังหนุนทั้งที่บ้านและสถานที่เล่าเรียนเมื่อพระคุณแม่สมบูรณ์ ลูกก็เติบโตเป็นคนที่สมบูรณ์ นำโลกขึ้นสู่วิถีแห่งความดีงามที่สมบูรณ์ >>

No Comments

Comments are closed.