- (กล่าวนำ)
- มงคลสองด้านประสานเสริมกัน
- ความสมบูรณ์มีไม่ได้ ถ้าไร้ดุลยภาพ
- ดุลยภาพทางร่างกายทำให้มีสุขภาพดี
- ดุลยภาพทางเศรษฐกิจ ทำให้ชีวิตมีความมั่นคง
- สังคมไม่เสียดุลยภาพ ประชาชนก็ไม่ขาดสันติสุข
- เมื่อมนุษย์ทำลายธรรมชาติ ก็นำความพินาศมาสู่โลก
- ดุลยภาพของจิตใจ ภายในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลง
- ดุลยภาพของจิตใจ: ศูนย์พลังยิ่งใหญ่แห่งการสร้างสรรค์
- ถึงจะเสียดุลยภาพกาย ก็ต้องรักษาดุลยภาพใจไว้ให้ได้
- คนโง่ เสียดุลยภาพกายแล้วก็พลอยเสียดุลยภาพใจไปด้วย คนฉลาด เอาดุลยภาพใจมาช่วยดุลยภาพกาย
- แม้แต่ธรรมก็ต้องมีดุลยภาพ
- ถ้าจัดธรรมเข้าดุลได้ ก็ไม่พลาดจากผลที่มุ่งหวัง
- ในที่สุด ธรรมคือดุลยภาพ และดุลยภาพก็คือธรรม
- ทางสายกลาง คือ ทางแห่งดุลยภาพ
- ดุลยภาพ คือสาระขององค์รวม
- ผู้มีดุลยภาพทางใจ แม้แต่ความตายก็ดึงขึ้นมาเข้าดุลได้
- อยู่ในโลก ก็รู้จักมองสิ่งทั้งหลาย ยามเจ็บไข้ ก็ปฏิบัติให้พร้อมดุล
- มาร่วมกันสร้างกุศล ช่วยกันทำวันเวลาให้เป็นมงคล และปฏิบัติตนให้สุขสันต์ทุกเวลา
ทางสายกลาง คือ ทางแห่งดุลยภาพ
ปฏิปทา ก็คือ ข้อปฏิบัติหรือการปฏิบัติ มัชฌิมา ก็คือ พอดี ที่เราแปลกันว่าทางสายกลาง ก็คือวิธีปฏิบัติที่พอดีนั่นเอง ปฏิบัติอย่างได้สัดได้ส่วนพอเหมาะพอดี ต้องมีองค์ประกอบ ๘ อย่างเข้ามาประสานกันพอเหมาะแล้วจึงจะเกิดเป็นมัชฌิมาปฏิปทา กล่าวคือ
๑. มีทิฏฐิที่เป็นสัมมา ครบถ้วนเหมาะเจาะ คือถูกต้องพอเหมาะกับความเป็นจริง
๒. มีสังกัปปะ ความดำริที่สัมมา คือถูกต้องครบถ้วนพอเหมาะพอดี เรียกว่าโดยชอบ
สำนวนโบราณ ท่านเรียกว่าโดยชอบ หมายความว่า ถูกต้องอย่างครบถ้วน โดยสอดคล้องกับความจริง พูดง่ายๆ ก็คือมีปัญญาเห็นชอบ มีความคิด มีความดำริที่ถูกต้องชอบธรรม
๓. แล้วก็มีการใช้วาจา ใช้คำพูดอย่างถูกต้อง
๔. แล้วก็รู้จักแสดงออก กระทำการต่างๆ ทางกายอย่างถูกต้อง
๕. เลี้ยงชีพ คือประกอบอาชีพที่เป็นสัมมาชีพ
๖. แล้วก็มีความเพียรพยายามอย่างถูกต้อง
๗. มีสติที่ใช้อย่างถูกต้อง
๘. แล้วก็มีสมาธิ จิตตั้งมั่นอย่างถูกต้อง
ทั้งหมดนี้ต้องมาเป็นองค์ประกอบประสานกลมกลืนกัน ถ้าได้ไม่ครบถ้วนก็ไม่เกิดเป็นมัชฌิมาปฏิปทา พอครบถ้วนได้สัดส่วนพอเหมาะพอดี มันจะเสริมกัน มาเป็นปัจจัยแก่กันและกัน แล้วทำงานร่วมกันให้เกิดผลสำเร็จ คือการบรรลุจุดหมายแห่งชีวิตที่ดีงามมีความสุข เป็นอิสรภาพอย่างแท้จริง จึงเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง คือ ข้อปฏิบัติสายกลาง หรือข้อปฏิบัติที่พอดี คำว่าสายกลางในที่นี้คือพอดี
เพราะฉะนั้น ข้อปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาจึงเต็มไปด้วยเรื่องของความพอดี
หลักใหญ่มัชฌิมาปฏิปทาก็พอดี
เราจะเป็นมนุษย์ที่ดี ท่านบอกว่า ต้องมีสัปปุริสธรรม ธรรมของสัตบุรุษ หรือธรรมของคนดี ธรรมของคนดีนั้นมีอะไรบ้าง มีรู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักบุคคล รู้จักชุมชน ในบรรดา ๗ ข้อนี้ ข้อที่สำคัญอันหนึ่งก็คือ รู้จักประมาณ รู้จักประมาณ ก็คือ รู้จักความพอดี ได้แก่ การรู้จักพอดีในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง จะทำอะไรต้องรู้จักพอดี
ความพอดีนี้เป็นเรื่องสำคัญเป็นเคล็ดลับในความสำเร็จของทุกอย่าง ถ้าทำพอดี นอกจากสำเร็จแล้ว ผลดีเกิดขึ้นด้วย ถ้าไม่พอดี ก็ต้องเกิดปัญหาไม่มากก็น้อย เพราะฉะนั้น หลักพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า ทางสายกลางคือหลักของความพอดี แม้แต่รับประทานอาหารท่านยังบอกว่าต้อง โภชเนมัตตัญญุตา คือต้องรู้จักประมาณในการบริโภค ก็คือรับประทานแต่พอดี ถ้ารับประทานไม่พอดี เดี๋ยวน้ำหนักเพิ่มมากเกินไป ก็เสียดุลยภาพ ทีนี้ก็จะยุ่ง เดี๋ยวเสียสุขภาพด้านนั้นด้านนี้
เพราะฉะนั้น หลักพระพุทธศาสนาหมดทุกประการ ไม่ว่าจะไปมองอะไร จะเป็นเรื่องปรับอินทรีย์ ๕ ให้พอดีก็ตาม เรื่องรับประทานอาหารให้พอดีก็ตาม เรื่องสัปปุริสธรรม ในข้อที่ว่ารู้จักประมาณคือรู้จักความพอดีก็ตาม ตลอดจนกระทั่งมัชฌิมาปฏิปทา ปฏิบัติให้พอดีเป็นทางสายกลาง ล้วนแต่เป็นเรื่องของความพอดี ซึ่งเกี่ยวกับดุลยภาพทั้งสิ้น ตกลงว่า ทั้งหมดนี้ก็คือหลักของการดำเนินชีวิตอยู่ในโลก ให้อยู่ได้ด้วยดี
No Comments
Comments are closed.