ธรรมชาติของจิตเองนั้นเปล่งปลั่ง

2 พฤศจิกายน 2551
เป็นตอนที่ 6 จาก 8 ตอนของ

ธรรมชาติของจิตเองนั้นเปล่งปลั่ง

ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงเน้นย้ำบ่อยมาก ให้เรามีจิตใจและทำจิตใจให้ปราโมทย์ คือให้ร่าเริงเบิกบานสดชื่นแจ่มใส

มองดูง่ายๆ จิตใจที่มีปราโมทย์อย่างที่ว่านี้ ก็คือตรงข้ามกับจิตใจที่ขุ่นมัวเศร้าหมองหงุดหงิด หรือหดหู่ซึมเซาเหงาหงอย ซึ่งเป็นจิตไม่ดี ที่เปิดช่องให้อกุศลทั้งหลายเข้ามา

จิตที่ขุ่นข้องอย่างนั้นจะกีดกั้นกุศลความดีงามต่างๆ ไม่ให้เจริญงอกงาม ไม่เหมาะไม่พร้อมที่จะใช้งาน ปิดกั้นความเจริญของปัญญา

แต่จิตใจที่มีปราโมทย์ ร่าเริงเบิกบานสดใส แสดงว่าไม่มีอกุศลหรือตัวก่อกวนร้ายๆ เข้ามาครอบงำแทรกแซง จิตเป็นตัวของมันเอง และเป็นจิตที่เปิดโล่งโปร่งเบาสะอาดหมดจด อย่างน้อยในระดับหนึ่ง ซึ่งเอื้อต่อการเจริญพัฒนาของกุศลหรือคุณสมบัติที่ดีงามทั้งหลาย

จิตมีปราโมทย์เป็นจิตที่แข็งแรงมีกำลัง เหมาะและพร้อมที่จะใช้งาน เอื้อต่อการที่ปัญญาจะทำงานคิดพิจารณาและพัฒนาเจริญงอกงาม ดังนั้น จิตที่ปราโมทย์จึงดีอย่างยิ่ง

มีพุทธพจน์ที่หลายคนคุ้นๆ ตรัสถึงสภาวะของจิตไว้ว่า1 “ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ” แปลว่า “ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ประภัสสร (ผ่องใส ผุดผ่อง หรือเปล่งปลั่ง)”

ที่ว่าประภัสสร หรือผ่องใส ก็คือสะอาด บริสุทธิ์ นี่คือสภาพของจิตใจตามธรรมชาติของมันเอง

แล้วตรัสต่อไปอีกว่า “ตฺจ โข อาคนฺตุเกหิ อุปกฺกิเลเสหิ อุปกฺกิลิฏฺํ” แปลว่า “แต่ว่าจิตนั้นแล เศร้าหมองแล้ว ด้วยอุปกิเลสที่จรมา”

หมายความว่า: จิตใจที่ใสผ่องนั้น ขุ่นหมองไปเสีย เพราะสิ่งสกปรกที่เป็นของแปลกปลอมเข้ามา (คนที่เป็นเจ้าของจิตใจนั้นแหละ เอาของเสีย คือกิเลสและความทุกข์ ใส่เข้าไป)

ยังไม่จบแค่นั้น พระองค์ตรัสต่อไปอีกว่า “ตํ อสฺสุตวา ปุถุชฺชโน ยถาภูตํ นปฺปชานาติ, ตสฺมา อสฺสุตวโต ปุถุชฺชนสฺส จิตฺตภาวนา นตฺถีติ วทามิ

แปลว่า: “ปุถุชนผู้ขาดสุตะ (ไม่ได้เล่าเรียน ขาดความรู้ ไม่มีการศึกษา) ไม่รู้จักจิตนั้นตามที่มันเป็น ฉะนั้น ปุถุชนผู้ขาดสุตะ จึงไม่มีจิตตภาวนา (การพัฒนาจิตใจ) – เราย่อมกล่าวฉะนี้”

ในทางตรงข้าม พระองค์ตรัสว่า “ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ, ตฺจ โข อาคนฺตุเกหิ อุปกฺกิเลเสหิ วิปฺปมุตฺตํ, ตํ สุตวา อริยสาวโก ยถาภูตํ ปชานาติ ตสฺมา สุตวโต อริยสาวกสฺส จิตฺตภาวนา อตฺถีติ วทามิ

แปลว่า: “ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ประภัสสร, แลจิตที่ประภัสสรนั้นแล พ้นไปได้ จากอุปกิเลสที่จรมา, อริยสาวกผู้มีสุตะ (ผู้ได้เล่าเรียนมีความรู้, ผู้มีการศึกษา) รู้ชัดจิตนั้นตามที่มันเป็น ฉะนั้น อริยสาวกผู้มีสุตะ จึงมีจิตตภาวนา (การพัฒนาจิตใจ) – เราย่อมกล่าวฉะนี้”

ขออธิบายประกอบเล็กน้อยว่า พระพุทธเจ้าตรัสบอกให้เรามองดูความจริงที่ว่า จิตนั้นตามธรรมชาติของมันเอง เป็นสภาวะที่บริสุทธิ์ แต่ที่มันขุ่นมัวเศร้าหมองไปต่างๆ นั้น เป็นเพราะอุปกิเลสคือสิ่งสกปรกที่โผล่เข้ามา2

(เหมือนท้องฟ้าเองโล่ง ส่วนพวกเมฆ หมอก ฝุ่น ควัน เป็นของโผล่จรแปลกปลอมมา)

พูดง่ายๆ ว่า: กิเลสเป็นของแปลกปลอม ไม่ใช่เป็นเนื้อเป็นตัวของจิต

ในเมื่อจิตเองเป็นสภาวะบริสุทธิ์ และสภาพขุ่นมัวทุกข์โศกเศร้าหมองเป็นของจรมา การพัฒนาชำระล้างทำจิตใจให้ใสสะอาดผุดผ่อง จึงเป็นไปได้

(ถ้ากิเลสและความทุกข์เป็นเนื้อตัวอยู่ในจิตเองแล้ว การพัฒนาทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้)

เมื่อจิตใจขุ่นมัวทุกข์โศกเศร้าหมองเพราะของสกปรกที่จรมา จิตใจก็หลุดรอดปลอดพ้นจากของสกปรกเหล่านั้นได้ แล้วมันก็จะสะอาดแจ่มใสบริสุทธิ์ผุดผ่องตามธรรมชาติของมัน

พวกปุถุชนที่ขาดการศึกษา เมื่อไม่รู้ความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติของจิตอย่างนี้ ก็ปล่อยตัวให้ถูกกิเลสบงการ ถูกทุกข์รังควาญ ก่อปัญหากันวุ่นวาย ไม่คิดที่จะพัฒนาจิตใจให้ดีงามมีความสามารถตามศักยภาพของมัน ให้จิตปลอดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ เพื่อให้มีความสุขที่แท้และเป็นอิสระ

แต่อริยสาวกผู้มีการศึกษา ได้เรียนรู้หลักความจริง เข้าใจธรรมชาติของจิตที่เป็นสภาวะจำรัสเจิดจ้า และรู้ทันประดากิเลสและทุกข์ภัยทั้งหลายแล้ว ก็ดำเนินไปในมรรคาแห่งการพัฒนาจิตใจ ให้เป็นอิสระหลุดพ้นจากอิทธิพลครอบงำบงการของกิเลสและความทุกข์ที่เป็นสภาพขุ่นมัวทุกข์โศกเศร้าหมองทั้งมวล จนลุถึงความสุขเกษมศานต์ที่แท้จริงและยั่งยืนนาน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< แทรกความรู้วิชาการประภัสสร สะท้อนสู่ ปราโมทย์ >>

เชิงอรรถ

  1. องฺ.เอก.๒๐/๕๐–๕๒/๑๑
  2. อรรถกถาอธิบายว่า จิตที่บริสุทธิ์ตามสภาวะของมันเอง คือภวังคจิต และมันขุ่นหมองเมื่อขึ้นสู่วิถีมาเกลือกกลั้วกิเลสในขณะแห่งชวนะ คือแล่นไปรับรู้เสพอารมณ์

No Comments

Comments are closed.