- กรณีสันติอโศก
- จับปัญหาให้ตรงประเด็น
- สันติอโศกเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อกฎหมายคณะสงฆ์ จริงหรือไม่?
- พระโพธิรักษ์มีเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่จะลาออกจากคณะสงฆ์ไทย จริงหรือ?
- การอยู่มาได้นานโดยไม่ถูกจัดการ แสดงว่าไม่ผิดกฎหมาย?
- แนวทางปฏิบัติที่ควรจะเป็น
- พระสงฆ์กับการเมือง
- ปัญหาเกี่ยวกับพระธรรมวินัย
- บทสรุป
- คำปรารภ
- ชี้แจงข่าวคลาดเคลื่อน
- อนุโมทนา
บทสรุป
บุคคลบางคนบวชเข้ามาในพระศาสนาแล้ว มีเจตนาดี ตั้งใจจริงจัง แต่เพราะศึกษาธรรมวินัยไม่เพียงพอ ก็อาจผลีผลามจมลงไปในข้อปฏิบัติที่ผิด และอาศัยความมุ่งมั่นจริงจังนั้น พาตนแน่วดิ่งไปในความผิดพลาดยิ่งขึ้น นำโทษมาทั้งแก่ตนและแก่ผู้ถือตาม ยิ่งถ้าสมาทานมิจฉาทิฏฐิเข้าอีกด้วย ก็จะยิ่งทวีโทษแก่ตนและแก่สังคมอย่างลึกซึ้งยาวนาน
ปัญหาต่างๆ ในคณะสงฆ์และวงการพระศาสนา ได้เกิดขึ้นและหมักหมมอยู่มากมาย ควรได้รับการแก้ไขปรับปรุง เมื่อมีผู้พยายามช่วยแก้ไขปรับปรุง ก็เป็นที่น่ายินดี แต่บางทีก็ต้องผิดหวัง น่าเสียใจ และน่าเสียดายที่ว่า บางคนที่มีทีท่าจะมาช่วยแก้ปัญหา แต่กลับกลายเป็นว่ามาสร้างปัญหาเพิ่มใหม่แก่พระศาสนาทับถมให้ซับซ้อนนุงนังยิ่งขึ้นไปอีก เข้าทำนองว่า โรคเก่าก็เพียบหนัก แล้วยังมีโรคใหม่แทรกซ้อนเข้ามาอีก
ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของพระโพธิรักษ์ คือ การติเตียน ความประพฤติผิดสมณวิสัย และความบกพร่องย่อหย่อนที่เกิดขึ้นและแพร่หลายอยู่ในวงการพระศาสนา และการติเตียนของพระโพธิรักษ์นั้น มีลักษณะที่มักทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกเหมือนว่า
๑. มีพระสงฆ์ทั้งหมดอยู่เพียง ๒ พวกเท่านั้น คือ พวกตนกับพวกพระในคณะสงฆ์ไทย และพระสงฆ์ทั้งหมดในคณะสงฆ์ไทยล้วนมีความประพฤติปฏิบัติเสียหายอย่างเดียวกันทั้งนั้น
๒. ปัญหาที่ระบาดอยู่ในคณะสงฆ์ไทย ชนิดที่ท่านยกขึ้นมาติเตียนนั้นโดดเด่น เหมือนไม่มีปัญหาอย่างอื่นอีก และความโดดเด่นของปัญหาในคณะสงฆ์ไทยนั้นก็เป็นเหมือนสีดำที่ขับให้สีขาวของสันติอโศกโดดเด่นยิ่งขึ้น
ควรจะมองกันตามเป็นจริงว่า สำนักสันติอโศกเป็นเพียงหน่วยย่อยหน่วยหนึ่งในคณะสงฆ์ไทย ซึ่งมีหน่วยย่อยๆ ต่างๆ อื่นๆ อยู่อีกมากมาย สันติอโศกได้ยกข้อปฏิบัติที่ดี บางอย่างขึ้นมาเน้นหนัก ซึ่งถ้าถืออย่างถูกต้อง ก็จะเป็นที่น่าชื่นชมอย่างมาก แต่ในเวลาเดียวกัน สันติอโศกก็ได้ก่อปัญหาใหม่ขึ้นในวงการพระศาสนา ซึ่งบางอย่างก็จะส่งผลสะท้อนให้การแก้ปัญหาที่มีอยู่แล้วในคณะสงฆ์ ยากแก่การแก้ไขยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากปัญหาเกี่ยวกับสันติอโศกแล้ว ในคณะสงฆ์และวงการพระศาสนาทั่วไปยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งที่พระโพธิรักษ์ยกขึ้นมาติเตียน และที่พระโพธิรักษ์มิได้พูดถึงปัญหาที่พระโพธิรักษ์มิได้พูดถึง (จะด้วยเหตุที่ไม่ทราบ หรือด้วยเหตุใดก็ตาม) บางอย่างก็มีความสำคัญยิ่งกว่าปัญหาที่พระโพธิรักษ์ยกขึ้นมาทำให้โดดเด่นเป็นอันมาก เมื่อจะแก้ไขปัญหาทั้งหลายนั้น จะแก้ไขแต่ปัญหาสันติอโศกเท่านั้นหาเพียงพอไม่ เพราะแท้ที่จริงแล้ว ถ้าไม่มีปัญหาทั้งหลายในวงการพระศาสนาอยู่ก่อน ปัญหาเกี่ยวกับสันติอโศกก็ยากที่จะเกิดขึ้น และถึงจะเกิดขึ้นก็จะไม่สามารถขยายตัวออกไป นอกจากนั้น การที่จะมุ่งแก้ปัญหาของสันติอโศกอย่างเดียว ย่อมแสดงถึงความประมาท ที่รอต่อเมื่อมีเรื่องใดบีบคั้นตนขึ้นมา จึงขวนขวายแก้ปัญหา และหากประมาทเช่นนั้น แม้สมมติว่าแก้ปัญหาสันติอโศกสำเร็จ ก็คงจะต้องมีปัญหาอื่นเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน และอาจจะรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก
ควรจะยอมรับว่า ถึงเวลาแล้วที่จะร่วมมือกัน สันติอโศกก็ควรจะต้องยอมรับความผิดพลาดของตน และหันมาร่วมในกระบวนการแก้ปัญหา ซึ่งจะทำให้ความดีของตนเป็นความดีที่บริสุทธิ์ ไม่ใช่ความดีที่เป็นเครื่องเสริมส่งความผิดพลาด ความดื้อรั้นในความผิดมิใช่สิ่งที่ตนจะสามารถกลบทับ จนไม่มีใครมองเห็น ส่วนทางฝ่ายคณะสงฆ์ส่วนใหญ่ พุทธวจนะจากพระธรรมบท ข้อต่อไปนี้ คงจะเป็นคติที่เหมาะสมที่สุดบทหนึ่ง กล่าวคือ
“ผู้ใดประมาทแล้วในกาลก่อน ภายหลังมากลับตัวได้ ไม่ประมาท ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างสดใส ดุจดวงจันทร์ที่พ้นจากเมฆหมอก” (ขุ.ธ. ๒๕/๒๓/๓๘)
ความไม่ประมาทในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว และในการสร้างสรรค์ปัจจัยแห่งความเจริญมั่นคง ที่จะเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่อไป จะสำเร็จผลด้วยดี ก็ต้องดำเนินตามหลักการแห่งสังฆสามัคคี คือความพร้อมเพรียง ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจกัน ในการที่จะแก้ปัญหา ตามหลักอปริหานิยธรรม ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น
No Comments
Comments are closed.