- การสื่อภาษาเพื่อเข้าถึงสัจธรรม
- ขอบเขตและขีดจำกัดของภาษา
- เบื้องหลังความผิดพลาดและความบกพร่อง ในการสื่อภาษาและการใช้ภาษาเป็นสื่อ
- ระหว่างการใช้ภาษาเป็นสื่อ กับการมุ่งสู่ประสบการณ์ตรง จับจุดพลาดให้ถูก
- งมงายในวิทยาศาสตร์ ย่อมไม่ลุถึงวิทยาศาสตร์
- ฐานที่แท้ของการแก้ความผิดพลาด
- เมื่อรู้จักใช้ ก็ประสานประโยชน์ได้ เมื่อปฏิบัติพอดี ก็เป็นคุณทั้งหมด
- บทสรุป
บทสรุป
เรื่องที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ย่อมสรุปลงในหลักการใหญ่ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว คือต้องโยงเข้าหาจุดสัมพันธ์ในระบบชีวิตของมนุษย์ ปัญญาที่เห็นสอดคล้องกับสัจธรรม ซึ่งจะพัฒนาขึ้นไปจนเป็นปัญญาที่รู้แจ้งเข้าถึงสัจธรรมนั้น เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ปัจจัยที่จะให้เกิดสัมมาทิฏฐินั้นมี ๒ อย่าง คือปัจจัยภายนอก ได้แก่เสียงบอกเล่าคำกล่าวสอนจากผู้อื่น (ปรโตโฆสะ) โดยเฉพาะจากกัลยาณมิตร และปัจจัยภายใน ได้แก่การรู้จักคิดพิจารณาด้วยตนเอง (โยนิโสมนสิการ)
ปัจจัยภายนอกนั้นก็คือการสื่อภาษา ซึ่งสำคัญมาก แต่ตัวบุคคลก็จะต้องมีปัจจัยภายใน คือ โยนิโสมนสิการด้วย จึงจะทำให้ภาษาที่สื่อสำเร็จประโยชน์ในการเข้าถึงสัจธรรมได้จริง
ปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในนี้ มาประสานกันเชิงปฏิบัติการในกระบวนการที่ทำให้ความรู้ความเข้าใจเจริญเพิ่มพูนยิ่งขึ้นๆ จนกลายเป็นปัญญาที่เข้าถึงสัจธรรมกระบวนการนี้ดำเนินไปโดยอาศัยการสืบทอดต่อกันขององค์ประกอบ ๔ อย่าง ที่สัมพันธ์ส่งผลอุดหนุนกันเป็นระบบ องค์ประกอบ ๔ อย่างชุดนี้ ท่านเรียกว่า ปัญญาวุฒิธรรม กล่าวคือ
๑. การเข้าหาแหล่งความรู้ที่เชื่อถือหรือไว้ใจได้ (สัปปุริสสังเสวะ—การเสวนาสัตบุรุษ)
๒. ความขยันหมั่นเพียรและรู้จักรับข่าวสารข้อมูลที่สื่อผ่านแหล่งความรู้นั้นๆ (สัทธัมมัสสวนะ—การสดับพระสัทธรรม)
๓. การรู้จักมอง รู้จักคิดพิจารณาวิเคราะห์สืบสาวเชื่อมโยงเป็นต้นที่จะหาความจริงและใช้ประโยชน์จากข่าวสารข้อมูลที่สื่อกันนั้นได้ (โยนิโสมนสิการ—การทำใจให้แยบคาย)
๔. การลงมือปฏิบัติ หรือทำการให้เป็นไปอย่างมีความประสานสอดคล้องกันระหว่างองค์ประกอบทั้งหลายในระบบ ทั้งที่เป็นหลักการ วิธีการ และจุดมุ่งหมาย เพื่อให้ได้ประสบการณ์ตรงที่จะนำสู่การเข้าถึงสัจธรรมในที่สุด (ธัมมานุธัมมปฏิบัติ—การปฏิบัติองค์ธรรมย่อยโดยสอดคล้องกับหลักใหญ่) ในองค์ประกอบ ๔ อย่างนั้น สองข้อแรก เป็นฝ่ายปัจจัยภายนอกที่จะติดต่อผ่านสื่อภาษา สองข้อหลัง เป็นฝ่ายปัจจัยภายในของตนเองที่ต้องการจะเข้าถึงธรรม
ในองค์ประกอบ ๒ ข้อของฝ่ายปัจจัยภายนอกนั้น ข้อแรกที่ว่าเป็นแหล่งความรู้ที่เชื่อถือไว้ใจได้ ก็คือบุคคลที่มีประสบการณ์ตรงจากการเข้าถึงสัจธรรมด้วยตนเองแล้ว ซึ่งเป็นฐานรองรับการสื่อภาษาในข้อที่ ๒ ทำให้การสื่อภาษานั้นมีความหมายเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ตรงในการเข้าถึงสัจธรรม
ส่วนในองค์ประกอบสองข้อของฝ่ายปัจจัยภายใน ข้อ ๓ เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องได้ผลต่อข้อมูลข่าวสารที่ผ่านการสื่อภาษามาถึงตนซึ่งนำไปสู่ข้อ ๔ ที่จะช่วยให้ได้ประสบการณ์ตรงในการเข้าถึงสัจธรรม
โดยนัยนี้ การสื่อภาษาเพื่อเข้าถึงสัจธรรม ในขั้นพื้นฐานก็คือการที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ตรงในการเข้าถึงสัจธรรมของ
บุคคลหนึ่ง (ในข้อ ๑) ไปยังอีกบุคคลหนึ่ง เพื่อให้บุคคลผู้นั้นเข้าถึงสัจธรรมด้วยประสบการณ์ตรงด้วย (ในข้อ ๔) ในแง่นี้ ข้อ ๑ และ ๔ เป็นเรื่องของประสบการณ์ตรง ส่วนข้อ ๒ และ ๓ เป็นเครื่องมือที่จะช่วยประสบการณ์ตรงของบุคคลหนึ่ง (ข้อ ๑) ช่วยนำอีกบุคคลหนึ่งไปถึงจุดหมายแห่งการได้ประสบการณ์ตรงนั้นนั่นเอง (ข้อ ๑)
ในกระบวนการพัฒนาปัญญาที่ดำเนินไปในระบบความสัมพันธ์อย่างถูกต้องนี้ จะเห็นว่ามีการประสานเกื้อหนุนกัน ทั้งระหว่างปัจจัยภายในกับปัจจัยภายนอก และระหว่างข้อมูลหรือสิ่งสดับผ่านสื่อภาษากับประสบการณ์ตรงในการปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้ความรู้ข้อมูลเบื้องต้น พัฒนาขึ้นไปเป็นความรู้ความเข้าใจถูกต้องสอดคล้องกับสัจธรรมที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ทำให้สัมมาทิฏฐินั้นพัฒนาต่อไปๆ จนกลายเป็นปัญญาที่เข้าถึงสัจธรรม
ปัจจัยอุดหนุนนั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ๕ อย่าง ซึ่งเป็นเรื่องขององค์ประกอบด้านต่างๆ ของชีวิตของคนนั่นเองที่จะต้องมาสัมพันธ์ในลักษณะที่ส่งผลเกื้อหนุนต่อกันอย่างสอดคล้อง เมื่อการสื่อภาษาดำเนินไปโดยวิธีที่ถูกต้อง และประสานเข้ากับระบบสัมพันธ์แห่งการพัฒนาชีวิตของคน ก็สามารถนำสู่ผลคือ การเข้าถึงสัจธรรม ปัจจัยอุดหนุน ๕ ประการนั้น คือ
๑. พฤติกรรมที่เกื้อหนุน (ศีล)
๒. ข้อมูลความรู้ที่ถ่ายทอดบอกกล่าวเล่าเรียนสดับฟัง (สุตะ)
๓. การสนทนา ถกเถียง อภิปราย (สากัจฉา)
๔. การพัฒนาคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพของจิตใจ (สมถะ)
๕. การพัฒนาปัญญาให้มองเห็นโลกและชีวิตตามเป็นจริง (วิปัสสนา)
เมื่อการสื่อภาษาด้วยสุตะและสากัจฉา ประสานเข้ากับกระบวนการพัฒนาชีวิตที่สัมพันธ์กันครบถ้วนทั้งระบบคือทั้งพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ก็จะอุดหนุนปัญญาที่เห็นสอดคล้องกับสัจธรรม คือ สัมมาทิฏฐิให้พัฒนาขึ้นไปจนเป็นปัญญาที่เข้าถึงสัจธรรม อันจะส่งผลต่อชีวิต ทำให้เข้าถึงสันติสุขและอิสรภาพที่แท้จริง ซึ่งจะเป็นเกณฑ์ตรวจสอบและวัดผลไปด้วยในตัวว่า เป็นการเข้าถึงสัจธรรมที่จริงแท้
เมื่อการสื่อภาษาช่วยให้ชีวิตพัฒนาเข้าถึงสันติสุขและอิสรภาพที่แท้จริงแล้ว การสื่อภาษาเพื่อเข้าถึงสัจธรรมก็บรรลุจุดหมาย
การปาฐกถาครั้งนี้จึงจบลงได้ ด้วยประการฉะนี้.
No Comments
Comments are closed.