- การเสริมสร้างคุณลักษณะเด็กไทย
- – ๑ – การสอนให้นักเรียนคิดเป็น และ แสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์
- ๑. กระบวนการของความคิด
- ๒. ปัจจัยที่เกื้อหนุนความคิด
- ๓. วิธีคิด
- ๔. ปฏิบัติการฝึกคนให้รู้จักคิด และการสร้างวัฒนธรรมแห่งปัญญา
- ๕. เดินหน้าไปเป็นพุทธ อย่าหยุดแค่เป็นพรหม
- – ๒ – เก่ง และ ดี อย่างมีความสุข
- สี่ข้อที่ต้องมี
- จัดตั้ง ต้องให้ถึงตัวแท้
- เด็กเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่เพื่อตามใจ แต่เพื่อให้เขาได้ทำ
- พอใช้หลักถูก ก็เห็นความสุขทันที
- ถ้าการศึกษาเข้าทางถูก ความสุขต้องพัฒนาทันที
- สุขกับของก็ดี สุขกับคนก็ต้องมี
- – ๓ – หลายเรื่องรอหน้า ท้าทายการศึกษา / ชอบเสรี แต่ไม่มีอิสรภาพ
- เสมอภาค เพื่อเอาให้เท่า หรือเพื่อให้เข้ากันได้ดี
- เกิดมาว่างเปล่า – ขาวสะอาด หรือขาดความรู้
- จัดตั้ง เพื่อให้เนื้ออยู่ได้
- แก้ขัดแย้งข้างนอก ก็เกิดขัดแย้งข้างใน
- เปลี่ยนแนวคิดใหม่ แก้ปัญหาได้ทั้งหมด
- ความพร้อมบ่มได้ ไม่ต้องรอให้พร้อมเอง
- ฝึกสมาธิ อย่าให้พลาดหลักใหญ่
- ถ้าเข้าถึงธรรมชาติ จะไม่ขาดความสุข
- ถ้าใช้สมาธิเป็น จะไม่ขาดปัญญา
- ถ้าสติดี สมาธิก็มี ปัญญาก็มา
- อนุโมทนา
ความพร้อมบ่มได้ ไม่ต้องรอให้พร้อมเอง
ท่านอาจารย์มีอะไรไหมตอนนี้
อาจารย์ผู้หญิง: ปัญหาที่เกิดขึ้น ที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมไปในทางเสพวัตถุหรือไม่มีปัญญา โยมรู้สึกว่ามันจะอยู่ในตอนที่ ท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องตัณหากับฉันทะ ทีนี้เวลาที่มีตัณหากับความอยากเกิดจากสิ่งเร้า ตรงจุดนี้เอง ถ้าหากว่าเขาไม่ทันกับความรู้สึกนึกคิดทางจิตใจ มันก็จะผลักออกมาเป็นการกระทำ ซึ่งเขาไม่สามารถเลือกได้ว่าอันนี้เป็นกุศลหรือว่าอกุศล คือไม่สามารถทำในสิ่งเป็นฉันทะ ที่จะไปสร้างในสิ่งที่ดี ทีนี้จะมีเทคนิคหรือวิธีการใด เพราะโยมรู้สึกว่ามันเป็นนามธรรมและเป็นเรื่องของใจ ของมโนกรรมนี้มาก มีวิธีการสอนอย่างไรที่จะไปกระตุกให้เขาได้เห็นสิ่งซึ่งเป็นนามธรรมตอนนั้นว่า ตอนนี้ความอยากตามสิ่งเร้าคือ เราเกิดมาเป็นมนุษย์มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้เป็นเครื่องมือ แต่แทนที่จะได้ใช้เครื่องมือนั้นศึกษา กลายเป็นว่า เรารู้สึกแบบที่ท่านบอก คือกลายเป็นเสพจากการที่ได้รับผัสสะทาง ตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยที่มันไม่ทันเจ้าค่ะ แล้วพอมันไม่ทันก็ผลักดันให้เกิดเป็นการกระทำ
โยมเฝ้าคิดหาวิธีว่าจะทำอย่างไรจะสอนเด็กให้รู้ต้นตอตรงนั้นเลยก่อนที่เขาจะกระทำออกมา คือรู้เลยว่าตอนนี้วิธีคิดหรืออย่างเล่นเกมหรืออะไร ให้มันทัน เพื่อที่ว่าเวลาคิดแล้วจะไปกระทำมันจะเป็นการกระทำด้วยปัญญาอย่างนี้เจ้าค่ะ
แต่โดยที่เห็นมานี้คือ สื่อก็ไม่เอื้อ แล้วผู้สอนเองก็ไม่ได้มีความเข้าใจลึกซึ้งถึงตรงนี้ ก็เป็นการศึกษาแบบจัดตั้ง หรือกระทั่งรัฐบาลเองก็ไม่ได้ทำอะไรเพื่อเสริมองค์กรทั้งหมด มันยากมากต่อการที่จะเอื้อให้เด็กซึ่งมีอวิชชาอยู่ได้กระตุกคิดตรงนี้เจ้าค่ะ
ท่านเจ้าคุณฯ: อันนี้อย่าไปหวังกับเด็กมาก คือแกยังอ่อนอยู่ ทั้งด้านปัญญาก็ยังไม่ได้พัฒนามาก จิตใจก็ยังไม่เข้มแข็งพอ แต่แกมีศักยภาพอยู่ ก็เลยต้องมีการฝึก แต่ตอนนี้ก็คือเรากำลังหวังพึ่งปัจจัยภายนอกมาช่วย เราจึงมีการศึกษาจัดตั้งที่เน้นเมื่อสักครู่ บอกว่า
๑. กัลยาณมิตร คือคนด้วยกัน ในข้อนี้ทำอย่างไรจะให้มีพ่อแม่ที่เด็กรักใคร่ เชื่อถือเชื่อฟัง ในครอบครัวมีความใกล้ชิดกัน ใจถึงกันขนาดที่ว่าเด็กรักแม่มากกว่ารักเกม อย่างนี้เป็นต้น ถ้าได้อันนี้ ก็ช่วยได้เยอะเลย แล้วก็รักพี่ รักน้อง มีเพื่อน จนมาถึงครู ที่มีเมตตากรุณากันดี ถ้าได้มีคนที่เขารักมากๆ เขามีศรัทธา ก็จะพูดกันง่าย ได้กัลยาณมิตรอย่างนี้ก็มีทางช่วยได้มาก
๒. วินัย คือ การจัดระเบียบวิถีชีวิตของเขา ในบ้านก็ต้องมีการจัดวางกติกาในการอยู่ร่วมกัน รวมไปถึงการจัดเวลา การทำตารางเวลาที่อิงกับกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว จัดให้เหมาะที่จะหนุนให้เกิดการฝึกตน การรู้จักบังคับควบคุมปกครองตัวเองให้ได้
นอกจากความสัมพันธ์ที่ดี ใกล้ชิดอบอุ่น และด้านจิตใจที่เข้าถึงกัน รักผูกพันอย่างนี้แล้ว ก็ยังมีด้านปัญญา ที่เราคอยพูด คอยถกเถียงคอยสนทนากับเขา มีอะไรใหม่ๆ เข้ามา ก็คุยกันอย่างพ่อแม่กับลูก ว่ากันเองแบบกัลยาณมิตร คือพูดคุยแบบมิตร มาช่วยกันพิจารณาว่า เรื่องนี้มีข้อดีข้อเสียอย่างไร พอเขาเห็นว่ามันไม่ดีเป็นโทษแล้ว ตกลงว่ายอมรับความจริง เด็กรู้แล้วก็ได้ไปขั้นหนึ่งว่า เขามองเห็นแล้วว่ามันมีโทษเกิดผลเสียมากกว่า แต่ถึงอย่างนั้น ก็ให้เด็กรู้ว่าผู้ใหญ่ก็รู้ด้วยว่าเรื่องอย่างนี้มันมีอำนาจล่อเร้ากระตุ้นเยอะ เราก็เลยจะแพ้บ่อยๆ ทำอย่างไรเราจะมีจิตใจเข้มแข็งสู้มันได้ เด็กก็ต้องมีสติรับมัน และเข้มแข็งสู้ พ่อแม่เป็นต้นก็ให้กำลังใจ เหมือนร่วมสู้ด้วย อ้าวคราวนี้ บอกแม่ว่าแพ้เสียแล้ว เราก็บอกว่า หนูอย่าไปกลัว คราวหน้าเอาใหม่ คราวหน้าเด็กมาบอกว่าโอ๊ย คราวนี้ชนะ ก็ดีใจอนุโมทนาด้วย
นี่คือต้องให้อยู่ในบทบาทของชีวิต ให้เขาเห็นเป็นเรื่องที่พ่อแม่ก็เป็นพวกเดียวกับเขา คุณพ่อคุณแม่ก็มาร่วมเผชิญกับโลกที่ร้ายหรือดีนี้ด้วย ให้เขารู้ทันว่า คนบางพวกในโลกปัจจุบันนี้ จะหาผลประโยชน์จากเรา นี่ธุรกิจมันจะเอาจากเราทั้งนั้น มันล่อเร้าเด็กอย่างโน้นอย่างนี้ เด็กก็ต้องมีปัญญา ใครคือครูคนแรก ที่เรียกว่าบูรพาจารย์ ก็คือพ่อแม่นี่แหละ พ่อแม่จึงมาคุยมาบอกให้ลูกรู้เข้าใจรู้เท่าทันเรื่องเหล่านี้ และให้กำลังใจไว้ เด็กไปเผชิญกับเกมของนักธุรกิจ หรือไปเจอกับธุรกิจที่พาเอาเกมมานั้น ตอนแรกๆ ก็แพ้บ้าง ชนะบ้าง ก็ต้องยอมรับความจริง ต่อไปเขาก็เข้มแข็งขึ้น และมีสติทันขึ้น คอยตั้งสติไว้เตือนตัวเองว่า เออ… นี่ไม่ได้แล้ว เราจะแพ้แล้วนะ ก็ยั้งไว้ คราวนี้ยั้งไม่อยู่ ก็แพ้ ยั้งอยู่ ก็ชนะไป พ่อแม่ก็เป็นกัลยาณมิตรคอยฟังคอยชี้ช่องคอยเชียร์เป็นต้น ก็ค่อยเป็นค่อยไปเพราะเป็นเรื่องของการฝึกฝนพัฒนาคน ถ้าเขาพร้อม เขาเข้มแข็งมาก หรือมีฉันทะไปในเรื่องอื่น ก็อาจจะตัดไปได้ทันที ถ้าไม่พร้อม ถูกดึงไปแรง ก็ใช้เวลาบ้าง แต่อย่าทิ้งกัน นี่คือปัจจัยภายนอกมาช่วย
ที่เรามีการศึกษาเป็นกิจการของสังคมนี่ ก็คือการมาจัดตั้งเพื่อจะมาช่วยเด็กให้พัฒนาชีวิตของเขา เป็นการเอาปัจจัยภายนอกที่ดีมาช่วยเสริมปัจจัยภายในนี้ เพราะตอนนี้ปัจจัยภายนอกข้างร้ายข้างอกุศลมีเยอะ อย่างพวกสื่อทั้งหลาย แล้วก็การใช้เทคโนโลยีในทางที่ไม่ดี ซึ่งเขามีเจตนาเห็นแก่ผลประโยชน์ของเขา ก็มุ่งกระตุ้นเร้าให้ติดให้เมากับการเสพบริโภค เมื่อปัจจัยภายนอกที่ร้ายหนักหน่วงเข้ามา ปัจจัยภายนอกฝ่ายดีก็ต้องเข้มให้ทันกัน
แต่ทีนี้ ได้ยินทางผู้บริหารโรงเรียนบางแห่งมาบ่นว่า พ่อแม่บอกว่าด้านการศึกษานี่จะปล่อยก่อน จะรอให้เด็กพร้อม เอ๊ะ! คำว่ารอให้เด็กพร้อมนี่หมายความว่าอย่างไร รอให้เด็กพร้อมเองนี่อย่างไรกัน ข้างนอกโน่น ปัจจัยฝ่ายร้ายเขาไม่ได้รอให้เด็กพร้อมเลยนะ ทำไมเขาไม่ต้องรอความพร้อม แล้วทางปัจจัยฝ่ายดีเรากลับมัวรอ นี่อะไรกัน
เด็กสมัยนี้มีความพร้อมในหลายเรื่องหลายอย่างไวกว่าเด็กสมัยก่อน นั่นเพราะอะไร ก็เพราะสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยภายนอกมาสร้างความพร้อมให้ แล้วการศึกษาคืออะไรล่ะ ก็คือการเอาปัจจัยภายนอกที่ดีมาช่วย และงานช่วยอย่างหนึ่งก็คือสร้างความพร้อมให้แก่เด็ก ในยุคสมัยนี้ เด็กมีความพร้อมทางอกุศลไวเกินปกติใช่ไหม นี่ก็เพราะปัจจัยภายนอกมากระตุ้นเร้า โดยเฉพาะสื่อต่างๆ มากระตุ้นเร้าให้เด็กมีความพร้อมในทางตัณหาไวขึ้น จริงไหม ไวกว่าปกติมากมาย แล้วทำไมเราไม่ใช้ปัจจัยภายนอกไปช่วยกระตุ้นเร้าเสริมปัจจัยภายในฝ่ายดี ฝ่ายกุศลให้มันไวขึ้นบ้างล่ะ แล้วถ้าเราปล่อย รอไปเมื่อไรมันจะพร้อม ทีปัจจัยภายนอกฝ่ายอกุศลมาเร้า ทำไมไม่บอกให้มันรอ
พระพุทธเจ้าจะให้คนเจริญในกุศลบางอย่าง ก็ทรงดูก่อนว่าเขาพร้อมหรือยัง ถ้าเขายังไม่พร้อม แต่เขาควรจะทำอันนี้แล้ว พระองค์ก็มีกระบวนการทำให้เขาพร้อม เรียกว่าบ่มอินทรีย์
อินทรีย์ยังอ่อน ก็คือยังไม่พร้อม ท่านใช้คำว่าอินทรีย์ยังไม่สุกงอม เมื่ออินทรีย์ยังไม่สุกงอม คือไม่พร้อม พระพุทธเจ้าก็ยังไม่สอนเรื่องนี้ อันนี้ก็ถูกในแง่หนึ่ง เขายังไม่พร้อม ก็ยังให้เขาไม่ได้ ยังสอนเขาไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่จะปล่อยเรื่อยเปื่อยไป ไม่ใช่ปล่อยไปโดยที่เราอยู่เฉย ไม่เอาเรื่องเอาราว เราก็มีความสามารถนี่นะ จะทำอย่างไร เราก็ไปบ่มอินทรีย์ คือจัดสรรปัจจัยภายนอกที่จะเอื้อให้อินทรีย์ของเขาพัฒนาให้พร้อม แล้วอินทรีย์ก็จะพร้อมไวขึ้น
เวลานี้เหมือนกับว่า มันต้องชิงไหวชิงพริบหรือแข่งกันแล้วระหว่างปัจจัยภายนอกฝ่ายดี กับปัจจัยภายนอกฝ่ายร้าย หรือปัจจัยภายนอกฝายกุศล กับปัจจัยภายนอกฝ่ายอกุศล เวลานี้ ต้องยอมรับว่าปัจจัยภายนอกฝ่ายอกุศลเต็มสังคมนี้ไปหมด ใช่ไหม อ้าว! แล้วปัจจัยภายนอกฝ่ายกุศลกลับไม่ช่วย ไม่มาหนุน ไม่มาดุล เด็กก็แย่สิ เวลานี้แหละที่ต้องเน้นว่า เรามีภาระที่จะต้องเสริมปัจจัยภายนอกฝ่ายกุศลให้มาก มาช่วยบ่มอินทรีย์ให้เด็ก ความพร้อมนั้นต้องมี เป็นของแน่ แต่ไม่ใช่เพียงแค่รอเฉยๆ ต้องมีความสามารถที่จะจัดการทำให้พร้อมด้วย
No Comments
Comments are closed.