- ยิ่งก้าวถึงสุข ยิ่งใกล้ถึงธรรม
- ต้องการสุขแท้ แต่ยังทำไม่ถูกวิธี
- ปรนเปรอประสาททั้งห้า เป็นวิธีหาความสุขพื้นฐาน
- มนุษย์กับสัตว์อื่นหาสุขบำเรอประสาท เสมอเหมือนกัน แต่มนุษย์ก่อทุกข์ได้มหันต์ ยิ่งกว่าสัตว์เหล่าอื่น
- ปรนเปรอเท่าไรไม่รู้จักพอ ความเบื่อรอตัดหน้าความอิ่ม
- เอาสุขไปฝากไว้กับการบำเรอประสาท เลยต้องทุกข์ถนัด เมื่อประสาทนั้นไม่ประสิทธิ์
- จะพึ่งพาวัตถุ หรือพึ่งพาคนอื่น ก็ไม่เป็นสุขโดยอิสระ
- กล่อมประสาท กล่อมจิต เครื่องช่วยสำหรับผู้ไม่สามารถเป็นสุขด้วยตนเอง
- รู้จักกล่อม แทนที่จะทำให้หลง กลับพาไปหาอิสรภาพ
- สุขเพราะกล่อม ก็ใกล้กับสุขในความฝัน
- จะอยู่ด้วยการกล่อม หรือด้วยการปลอบขวัญ ก็ยังไม่พ้นการต้องพึ่งพา
- สุขเต็มอิ่มภายใน ด้วยลำพังจิตใจของตนเอง
- สุขแท้ เมื่ออยู่กับความจริงโดยไม่มีทุกข์
- มีสุขแท้ที่ไร้ทุกข์เป็นฐาน สุขอื่นทุกประการก็เต็มอิ่มจริง
- สุขสามระดับ มากับหลักปฏิบัติสามขั้น
- สุขแท้ อยู่ในวิถีแห่งอิสรภาพ
- อิสรภาพ คือหลักประกันของความสุขที่แท้
- ฝึกเว้นสุขแบบพึ่งพา เพื่อพัฒนาสุขที่เป็นอิสระ
- เว้นสุขบำเรอประสาท คือหัดเป็นสุขอย่างอิสระ ไม่ใช่จะหาทุกข์มาทน
- ศีลพุทธไม่ใช่ข้อห้าม แต่ตามจริงเป็นข้อหัด
- เมื่อสุขแท้ ก็ถึงธรรม
ปรนเปรอเท่าไรไม่รู้จักพอ ความเบื่อรอตัดหน้าความอิ่ม
ทีนี้ ถ้ามองแคบเข้ามาที่ชีวิตของแต่ละคน การหาความสุขแบบนั้นก็มีขอบเขตแคบ ยังมีข้อบกพร่องมาก
ประการที่ ๑ ก็คือ มันเป็นความสุขที่ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ หรือไม่รู้จักเต็ม หมายความว่า ให้หาไปเถอะ จะเอามาบำรุงบำเรอเท่าไรมันก็ไม่อิ่ม ไม่พอ ไม่ให้ความสุขเต็มที่สักที เพราะฉะนั้นจึงต้องหากันไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทรัพย์สิน ตำแหน่ง ยศ อำนาจ มีเท่าไร เอามาให้เท่าไรก็ไม่พอ จนกระทั่งท่านต้องเล่าเป็นนิทานไว้ อย่างเรื่องที่ว่า
มีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่ง พระนามว่า ท้าวมันธาตุราช เป็นพระเจ้าจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ ครอบครองแผ่นดินในโลกนี้จดมหาสมุทรทั้ง ๔ หมายความว่าทั่วทั้งหมดแล้ว แผ่นดินที่จะไปรุกรานไม่มีอีกแล้ว
ทีนี้ ท้าวมันธาตุราชพระองค์นี้ มีสิ่งที่เรียกว่า จักรของพระเจ้าจักรพรรดิ ซึ่งสามารถจะพาไปแผ่อำนาจที่ไหนก็ได้ วันหนึ่ง พระเจ้ามันธาตุราช ถามที่ปรึกษาของพระองค์ว่า เอ ! ที่นี่เราก็ครอบครองโลกทั้งหมดแล้วไม่เห็นมีอะไร ตอนแรกก็ดีหรอก รู้สึกว่ายิ่งใหญ่มาก แต่นานๆ เข้าก็อย่างนั้นๆ ตอนนี้ มันไม่มีความสุขเต็มที่ เออ จะหาที่ไหนมีความสุขกว่านี้ ยิ่งใหญ่กว่านี้ได้อีกไหม ข้าราชบริพารก็กราบทูลว่า โน่น สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชสิพระเจ้าข้า มีความสุขกว่านี้ ยิ่งใหญ่กว่านี้ พระองค์มีจักรของพระเจ้าจักรพรรดิ ก็หมุนจักรไป
จักรเป็นเครื่องหมายของอำนาจ สมัยปัจจุบันก็เหมือนกับล้อรถ ซึ่งทำให้คนสามารถเดินทางไปได้ไกล จักรก็พาไปจนกระทั่งถึงสวรรค์ชั้นจาตุม เทวดาชั้นจาตุม เรียกว่าท้าวโลกบาลทั้ง ๔ ก็ใจดีเสียด้วย มาต้อนรับแล้วก็เชิญให้ครอบครองสวรรค์ชั้นจาตุม
ตอนแรก ท้าวมันธาตุราชก็เพลิดเพลินดีหรอกในความสุขของสวรรค์ชั้นจาตุม แต่ครองไปครองมาสักระยะหนึ่ง นานเข้าก็ชักชินชา รู้สึกว่าไม่พอ ยังเล็กน้อยเกินไป ก็เอาอีกแหละ พระเจ้ามันธาตุก็ตรัสถามว่า มีที่ไหนที่มันจะยิ่งใหญ่ มีความสุขกว่านี้บ้าง ข้าราชบริพารก็กราบทูลว่า โน่น ต้องสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่พระอินทร์อยู่ จะใหญ่โตมีความสุขมากกว่านี้
พระเจ้ามันธาตุตรัสว่า อ้าว ถ้าอย่างนั้นเราไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์กันเถอะ ก็เลยหมุนจักรพระเจ้าจักรพรรดิไปอีก ไปถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
เมื่อไปถึงแล้ว พระเจ้าแผ่นดินของเทวดาคือพระอินทร์ ก็เลยแบ่งสวรรค์ให้ครองครึ่งหนึ่ง ตอนแรกก็ดี แหม ตอนนี้เราได้ครองสวรรค์ชั้นองค์อินทร์ ไม่ใช่ย่อยนะ แต่ทีนี้ครองไปๆ นานเข้าๆ เอ ไม่พอ บอกว่า สวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี่ มันครึ่งเดียวไม่พอหรอก เราควรจะได้ครองทั้งหมด เอาละซิ คิดจะครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ทั้งหมด เรียกว่าไม่อิ่ม จะทำอย่างไร ก็ต้องวางแผนฆ่าพระอินทร์
แต่ตอนนี้ท่านบอกว่า ขอบเขตหรือวิสัยแห่งศักยภาพของมนุษย์มันจำกัดไม่เท่ากับเทวดา มนุษย์จะฆ่าพระอินทร์ไม่ได้ ในที่สุดพอริษยาพระอินทร์แต่ฆ่าพระอินทร์ไม่ได้ก็เลยห่อเหี่ยว ใจห่อเหี่ยวแล้ว ก็ซูบซีด เลยหมดอายุ แล้วก็หล่นจากสวรรค์ ตกลงมาในสวน หมายถึงสวนหลวง หรือพระราชอุทยานที่อยู่ในเมืองมนุษย์
เมื่อตกจากสวรรค์ลงมาในสวน หมดอายุแล้วก็เลยสิ้นชีวิต ทั้งที่เป็นเพียงมนุษย์ได้ครองสวรรค์ตั้งมากแล้ว ตายไป ก็ยังไม่อิ่ม ยังไม่พอ
อันนี้ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ความปรารถนาของมนุษย์ไม่รู้จักจบสิ้น พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้เป็นคาถาว่า แม้จะเนรมิตภูเขาทั้งลูกให้เป็นทอง ก็ไม่สามารถยังความปรารถนาของคนให้เต็มได้ อันนี้เป็นความจริง สมมติว่าเราทำภูเขาสักลูกหนึ่ง ที่ดอยอินทนนท์ หรือที่ภูกระดึง หรือที่ไหนก็ตาม ให้เป็นทองขึ้นมา เราก็คงพอใจสักพักหนึ่ง แต่ต่อไปไม่นานเราก็รู้สึกไม่พออีก ฉะนั้นประการที่หนึ่ง ก็คือ มันไม่สามารถทำให้เต็มอิ่มหรือให้พอได้ เมื่อไม่พอ ความสุขมันก็ไม่เต็มที่
ประการที่สอง ความสุขจากวัตถุปรนเปรอนี้มันมีมาพร้อมกับความเบื่อหน่ายในที่สุด คือ ความสุขแบบนี้ ไปๆ มาๆ ผลที่สุดก็จบลงด้วยความเบื่อหน่าย เป็นความสุขที่เอียน หรือเฟ้อได้ อันนี้ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งของมนุษย์ ไม่ว่าจะได้ความสุขอะไร ต่อไปเราก็จะเบื่อ เราก็จะเอียน แล้วก็อยากจะเปลี่ยนไปหาความสุขอย่างอื่นใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นลักษณะหนึ่งของความไม่รู้จักพอ
No Comments
Comments are closed.