ไม่มีอะไรให้ประโยชน์มากกว่าความจริง

8 พฤษภาคม 2536
เป็นตอนที่ 5 จาก 14 ตอนของ

ไม่มีอะไรให้ประโยชน์มากกว่าความจริง

ไม่เฉพาะแต่ความตายเท่านั้น พระพุทธเจ้ายังสอนให้เราระลึกถึงความจริงของชีวิตในแง่อื่นๆ อีก ความจริงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ไม่มีอะไรที่จะเกินความจริงไปได้ และชีวิตของเราก็ต้องอยู่กับความจริง หนีความจริงไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในการดำเนินชีวิต เราจึงควรระลึกตระหนักในความจริงอยู่เสมอ และวางใจต่อความจริงนั้นอย่างถูกต้อง แล้วความจริงนั้นก็จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเรา เราจะหนีหรือจะสู้ ความจริงก็อยู่นั่น ถ้าเรากลัวความจริง ความจริงก็เป็นโทษแก่เรา แต่ถ้าเรารู้ความจริง ความจริงก็เป็นประโยชน์แก่เรา

ความจริงนั้นไม่มีรสชาติเปรี้ยวหวานมันเค็มเอร็ดอร่อย เหมือนอย่างเรื่องสนุกสนานทั้งหลาย ความจริงนั้นเหมือนกับน้ำบริสุทธิ์ที่มีรสจืด แต่รสจืดของน้ำที่บริสุทธิ์นั่นแหละเป็นสิ่งที่ชีวิตต้องการที่สุด เราอาจจะต้องการรสอะไรหลากหลาย ทั้งรสหวาน รสมัน รสเค็ม และรสอะไรสารพัดให้สนุกสนานตื่นเต้นไป แต่ในที่สุดเราก็หนีไม่พ้นที่จะต้องการรสจืดของน้ำที่บริสุทธิ์ซึ่งเป็นสิ่งที่ชีวิตต้องการแท้ๆ ในทางนามธรรมก็เช่นเดียวกัน ชีวิตของเรานี้ต้องการรสจืดของความจริง ความจริงเป็นรสจืดอย่างสนิท ถึงแม้ใครไม่ชอบ ก็ไม่มีใครหนีความจริงไปพ้น แต่ถ้าเรารู้เท่าทันมัน ความจริงก็จะให้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของเราอย่างที่สุดเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เราระลึกถึงความจริงของชีวิตเป็นธรรมดา และที่พระองค์ตรัสสอนไว้นั้นไม่ใช่เพียงให้ระลึกเท่านั้น แต่ยังให้พิจารณาด้วย ความจริงที่ว่านี้มี ๕ ประการด้วยกัน

ความจริงที่เราทุกคนควรพิจารณาอยู่เสมอ ทางพระท่านเรียกเป็นภาษาบาลีว่า อภิณหปัจจเวกขณะ มี ๕ ประการ อย่างที่อาตมภาพได้ยกขึ้นตั้งเป็นคำเริ่มต้นในพระธรรมเทศนานี้ว่า ชราธมฺโมมฺหิ ชรํ อนตีโตติ อภิณฺหํ ปจฺจเวกฺขิตพฺพํ มีใจความว่า ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า

  1. เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
  2. เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้
  3. เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
  4. เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
  5. เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทของกรรม มีกรรมเป็นแดนเกิด เป็นพวกพ้องของกรรม ทำกรรมไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักได้รับผลของกรรมนั้น จักเป็นทายาทของกรรมนั้น

ความจริงเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคน ไม่ว่าสตรีหรือบุรุษ ไม่ว่าคฤหัสถ์คือชาวบ้านหรือบรรพชิตคือพระภิกษุสามเณร ควรจะต้องพิจารณาอยู่เสมอ รวมความง่ายๆ ว่า ทุกคนควรพิจารณาอยู่เสมอว่า เราเกิดมาแล้วย่อมต้องพบกับความแก่ ความเจ็บไข้ และความตาย เป็นความจริงแน่แท้ และเราก็จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจไปทั้งหมดทั้งสิ้น มองอีกที หมดทั้งชีวิตของเรานี่ เป็นไปตามกฎแห่งกรรม เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทของกรรม

๕ ประการนี้ เป็นความจริงที่แน่นอน ถึงเราจะไม่พิจารณาหรือไม่นึกถึงมัน ชีวิตของเราก็ต้องเป็นไปตามมัน เพราะฉะนั้นในเมื่อเราจะต้องพบต้องเจอต้องเป็นอย่างนั้นแล้ว เราก็เผชิญหน้ากับมัน เอามันมาพิจารณา และเอามาใช้ประโยชน์เสียเลย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จะนึกถึงคนตาย หรือนึกถึงความตาย ก็ต้องทำใจให้ถูกความจริงถึงจะร้าย ก็ต้องทำประโยชน์ให้ได้ >>

No Comments

Comments are closed.