- ยิ่งก้าวถึงสุข ยิ่งใกล้ถึงธรรม
- ต้องการสุขแท้ แต่ยังทำไม่ถูกวิธี
- ปรนเปรอประสาททั้งห้า เป็นวิธีหาความสุขพื้นฐาน
- มนุษย์กับสัตว์อื่นหาสุขบำเรอประสาท เสมอเหมือนกัน แต่มนุษย์ก่อทุกข์ได้มหันต์ ยิ่งกว่าสัตว์เหล่าอื่น
- ปรนเปรอเท่าไรไม่รู้จักพอ ความเบื่อรอตัดหน้าความอิ่ม
- เอาสุขไปฝากไว้กับการบำเรอประสาท เลยต้องทุกข์ถนัด เมื่อประสาทนั้นไม่ประสิทธิ์
- จะพึ่งพาวัตถุ หรือพึ่งพาคนอื่น ก็ไม่เป็นสุขโดยอิสระ
- กล่อมประสาท กล่อมจิต เครื่องช่วยสำหรับผู้ไม่สามารถเป็นสุขด้วยตนเอง
- รู้จักกล่อม แทนที่จะทำให้หลง กลับพาไปหาอิสรภาพ
- สุขเพราะกล่อม ก็ใกล้กับสุขในความฝัน
- จะอยู่ด้วยการกล่อม หรือด้วยการปลอบขวัญ ก็ยังไม่พ้นการต้องพึ่งพา
- สุขเต็มอิ่มภายใน ด้วยลำพังจิตใจของตนเอง
- สุขแท้ เมื่ออยู่กับความจริงโดยไม่มีทุกข์
- มีสุขแท้ที่ไร้ทุกข์เป็นฐาน สุขอื่นทุกประการก็เต็มอิ่มจริง
- สุขสามระดับ มากับหลักปฏิบัติสามขั้น
- สุขแท้ อยู่ในวิถีแห่งอิสรภาพ
- อิสรภาพ คือหลักประกันของความสุขที่แท้
- ฝึกเว้นสุขแบบพึ่งพา เพื่อพัฒนาสุขที่เป็นอิสระ
- เว้นสุขบำเรอประสาท คือหัดเป็นสุขอย่างอิสระ ไม่ใช่จะหาทุกข์มาทน
- ศีลพุทธไม่ใช่ข้อห้าม แต่ตามจริงเป็นข้อหัด
- เมื่อสุขแท้ ก็ถึงธรรม
ฝึกเว้นสุขแบบพึ่งพา เพื่อพัฒนาสุขที่เป็นอิสระ
เมื่อพูดถึงระดับขั้นของการเข้าถึงชีวิตที่ดีมีความสุข คือการเข้าถึงธรรมนั้นแล้ว ก็ควรจะพูดกันถึงกระบวนการฝึกฝนเพื่อเข้าถึงชีวิตที่ดีมีความสุขต่อไป กระบวนการฝึกฝนนั้น ที่จริงก็อยู่ในหลักที่ว่ามาแล้วคือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง แต่ในที่นี้ ยังมิใช้โอกาสที่จะบรรยายในกระบวนการฝึกฝนนั้น ซึ่งจะต้องแยกไปพูดเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก คราวนี้จึงต้องขอผ่านข้ามไปก่อน
เป็นอันว่า ถ้าจะพูดในรายละเอียดของกระบวนการฝึกฝนพัฒนาทั้งหมดก็จะยืดยาวมาก แต่เมื่อพูดอย่างรวบรัดก็อยู่ในหลักการที่พูดไปแล้วนั่นเอง คือใช้ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นแหละเป็นทางปฏิบัติ ก็จะเข้าถึงความสุข หรือเข้าถึงชีวิตที่ดีในแต่ละขั้นตอน
อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการฝึกฝนนั้น บางตอนมีเรื่องบางอย่างที่จะขอเน้นหรืออยากจะยกมาพูดไว้ให้เข้าใจชัดเจนสักนิดหน่อย คือ เรื่องศีล เฉพาะในบางจุดบางแง่
ศีล ในระดับของคนทั่วไป ได้พูดแล้วว่า ได้แก่ศีล ๕ ในศีล ๕ นี้จะเห็นว่าท่านไม่ได้ห้ามเรื่องดนตรี และเรื่องศิลปะต่างๆ แล้วบางแห่งยังสนับสนุนด้วยซ้ำว่า ดนตรีและศิลปะที่ดีๆ ก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ได้
แต่ทีนี้ ถ้าเราต้องการที่จะเข้าถึงความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไปอีก เราจะเลยขั้นกามหรือขั้นประสาทสัมผัสไปสู่ขั้นจิต ตอนนี้แหละ จะมีการแนะนำให้ถือศีลที่สูงขึ้นไป โดยมีความมุ่งหมายเพื่อจะฝึกให้เราอยู่ได้โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งเหล่านั้น คือทำอย่างไรความสุขของเราจะไม่ต้องไปฝากไว้กับสิ่งบำเรอความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย พอตอนนี้ท่านก็เลยให้ศีลแปดมา
ศีลแปดนั้น จะเห็นว่าเป็นข้อปฏิบัติเสริมจากศีลห้า ในระดับของการฝึกให้เรารู้จักที่จะอยู่ได้เป็นอิสระ โดยไม่ต้องขึ้นกับปัจจัยหรือวัตถุบำรุงกายจากภายนอก เริ่มตั้งแต่ข้อ วิกาลโภชนา เว้นจากการกินอาหารในเวลาวิกาล ก็หมายความว่าไม่เห็นแก่การหาความสุขในการบำเรอลิ้น ไม่ต้องฝากความสุขไว้กับอาหาร ตลอดจนถึงข้อ อุจฺจาสยนมหาสยนา เว้นจากที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ ที่จะบำรุงบำเรอตนให้มีความสุขจากประสาทสัมผัสในการนอน
ศีลแปดนี้เป็นการฝึกให้เราเริ่มอยู่ได้ด้วยลำพังจิตใจว่า ทำอย่างไรเราจะไม่ต้องฝากความสุขของเราไว้กับสิ่งบำเรอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่ว่ามานั้น เริ่มตั้งแต่หัดเว้นจาก วิกาลโภชนา จนถึง อุจฺจาสยนมหาสยนา รวมทั้ง นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา ในข้อนี้เราเว้นดนตรีด้วยแล้ว หมายความว่าในศีลแปดนี้มีข้อปฏิบัติให้ฝึกตนในการงดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี
สาระของตอนนี้ก็คือ การที่จะฝึกตัวเราให้พัฒนาต่อไปอีกขั้นหนึ่ง จากการที่เคยต้องฝากความสุขของเราไว้กับสิ่งภายนอก กล่าวคือสิ่งบำรุงบำเรอประสาทสัมผัส ตอนนี้เราจะพยายามอยู่ด้วยลำพังตนเอง เราจะก้าวไปหาความสุขที่สำเร็จด้วยจิตและปัญญาของตนเอง
No Comments
Comments are closed.