- (กล่าวนำ)
- พัฒนาคน หรือพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
- พัฒนาคนให้เป็นบัณฑิต หรือให้เพิ่มผลผลิต
- เอาปราชญ์มาสอนให้นำสังคมได้ เอาผู้เชี่ยวชาญมาสอนให้ตามสนองสังคมทัน
- อาการฟูยุบในวงวิชาการ
- ตัววิชาก็มีปัญหา ต้องรู้เท่าทัน
- การปรับตัวปรับความคิดใหม่ในวงวิชาการ
- จะพัฒนาคน แต่ความคิดก็ยังพร่าสับสน
- พัฒนาอย่างไร จะได้คนเต็มคน
- รู้อย่างไรว่า พัฒนาแล้ว เป็นคนเต็มคน
- กระแสโลกาภิวัตน์ ที่ไทยต้องปรับตัวให้ทัน
- จะปรับตัวอย่างไร ไทยจึงจะฟื้นตัวได้ทัน
- พัฒนาทั้งให้เป็นคนไทย และให้เป็นคนที่สร้างสรรค์อารยธรรม
พัฒนาคนให้เป็นบัณฑิต หรือให้เพิ่มผลผลิต
ไหนๆ พูดถึงทรัพยากรมนุษย์กันแล้ว ก็มาดูคำนี้กันให้ชัดสักหน่อย
เป็นที่ทราบกันดีว่า คำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” นี้ เราแปลมาจากคำภาษาอังกฤษว่า human resources
ได้กล่าวแล้วว่าคำนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๔ ในยุคที่กระแสการพัฒนาที่มุ่งเน้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีกำลังแรง และคำนี้ก็เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้นำของประเทศที่พัฒนาแล้ว (ประเทศอุตสาหกรรม)
พจนานุกรมภาษาอังกฤษของออกซฟอร์ด คือ The Oxford English Dictionary ฉบับตรวจชำระครั้งที่ ๒ พิมพ์ครั้งที่ ๒ ค.ศ. ๑๙๙๑ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ซึ่งเป็นพจนานุกรมภาษาอังกฤษที่ใหญ่ที่สุดในโลก (๑ ชุด มี ๒๐ เล่ม รวม ๒๑,๔๗๕ หน้า) แสดงประวัติของคำ “human resources” ไว้ในเล่ม ๗ หน้า ๔๗๔ โดยยกหลักฐานมาให้ดูว่า มีคำนี้อยู่ในเอกสารตีพิมพ์ เลขที่ ๗๒๐๕ ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๑ (พ.ศ. ๒๕๐๔)
พจนานุกรมใหญ่ฉบับหนึ่งของอเมริกา ชื่อ Random House Webster’s Unabridged Dictionary ว่า คำนี้เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๕-๑๙๗๐ (พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๓)
อีกฉบับหนึ่งไม่ใหญ่นัก แต่นิยมใช้กันมากในหมู่นักศึกษาและนักวิชาการ คือ Merriam-Webster’s Collegiate Dictionary (ฉบับตรวจชำระครั้งที่ ๑๐) ว่าคำนี้เริ่มใช้กัน ใน ค.ศ. ๑๙๗๕ (พ.ศ. ๒๕๑๘)
พจนานุกรมของออกซฟอร์ดที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น ให้ความหมายของ human resources (ทรัพยากรมนุษย์) ว่า ได้แก่ “คน (โดยเฉพาะบุคลากร หรือคนงาน) ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินที่สำคัญอย่างหนึ่งของธุรกิจ หรือองค์กรอย่างอื่น ตรงข้ามกับทรัพยากรวัตถุ (material resources) เป็นต้น; กำลังคน (manpower)…” (เล่ม ๗ หน้า ๔๗๓)
คำที่พจนานุกรมต่างๆ มักใช้อธิบายความหมาย หรือบางที่ใช้เป็นไวพจน์ของ human resources ได้แก่ personnel (บุคลากร) manpower (กำลังคน) และ labour force (กำลังแรงงาน)
พจนานุกรมของ Random House ฉบับใหญ่ที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นให้ความหมายว่า “ทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่ ๑. คน โดยเฉพาะบุคลากรที่จ้างงาน โดยบริษัท สถาบัน หรือกิจการทำนองเดียวกันนั้น ๒. ดู “human resources department” และ “human resources department” ดู “personnel department” และ “personnel department” ได้แก่ ส่วนงานในองค์กร ซึ่งทำงานในเรื่องราวที่เกี่ยวกับลูกจ้าง เช่น การจ้าง การฝึกอบรม แรงงานสัมพันธ์ และผลประโยชน์ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “human resources department”
เพียงเท่านี้ก็เพียงพอและชัดเจนแล้วว่า คำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” เป็นเรื่องของการมองคนเป็นทุน เป็นองค์ประกอบ หรือเป็นปัจจัยที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และทางสังคม เฉพาะอย่างยิ่งที่เด่นชัดมาก คือในทางเศรษฐกิจ โดยอาจจะถือเป็นเพียงปัจจัยในการผลิตอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องพัฒนาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ เพื่อจุดมุ่งหมายในการสร้างความเจริญเติบโตหรือขยายตัวทางเศรษฐกิจ เริ่มตั้งแต่การเพิ่มผลผลิต
เมื่อได้ความหมายอย่างนี้แล้ว ก็จะมองเห็นว่า วิชาศึกษาทั่วไป กับวิชาเฉพาะและวิชาชีพ มีบทบาทและหน้าที่แตกต่างกัน (อย่างน้อยในแง่จุดเน้น) คือ วิชาศึกษาทั่วไป ทำหน้าที่ทำคนให้เป็นบัณฑิต หรือสร้างบัณฑิต มีบทบาทโดยตรงในการพัฒนาคน เพื่อให้บุคคลแต่ละคนเป็นคนที่สมบูรณ์ มีชีวิตที่ดีงาม ประณีต ประเสริฐ สมกับความเป็นมนุษย์ หรืออาจจะเรียกว่าเป็นคนเต็มคน เป็นชีวิตที่มีอิสรภาพ และมีความสุข
ส่วนวิชาเฉพาะและวิชาชีพ มีหน้าที่สร้างเครื่องมือและความสามารถที่จะใช้เครื่องมือนั้นให้แก่คน (ที่จะเป็นบัณฑิต) โดยพัฒนาคนนั้นในฐานะที่เป็นทรัพยากรของสังคม เพื่อให้เขาเป็นทุน เป็นองค์ประกอบ หรือเป็นปัจจัยที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ในการร่วมสร้าง (หรือที่จะถูกนำไปใช้สร้าง) ความเจริญทางเศรษฐกิจ และความเจริญด้านอื่นๆ ของสังคม
สรุปว่า เราสามารถนำเอาบทบาทและหน้าที่ของวิชาศึกษาทั่วไป กับวิชาเฉพาะและวิชาชีพ มาเทียบกันได้ดังนี้
วิชาศึกษาทั่วไป → พัฒนาคน = สร้างบัณฑิต → ชีวิตที่ดีงามประเสริฐ
วิชาเฉพาะวิชาชีพ → พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ = สร้างเครื่องมือให้บัณฑิต → เพิ่มผลผลิต
(คำว่า “เพิ่มผลผลิต” ในที่นี้ มิใช่มีความหมายจำกัดตามตัวอักษร แต่ใช้เชิงตัวอย่าง ให้เป็นคำแทนเป้าหมายของการพัฒนาที่มุ่งเน้นเศรษฐกิจเป็นใหญ่)
ที่เทียบกันอย่างนี้ มิใช่หมายความว่าจะแยกจากกัน หรือจะเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่จะต้องประสานให้เกื้อหนุนกัน โดยที่ว่าการสร้างบัณฑิตจะต้องเป็นแกน คือ สร้างบัณฑิตผู้มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ และสามารถใช้เครื่องมือนั้นในทางที่เป็นการสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สุขที่แท้จริงแก่ชีวิตและสังคม ที่จะดำรงอยู่ด้วยดี ท่ามกลางธรรมชาติแวดล้อมที่รื่นรมย์เกื้อกูล
No Comments
Comments are closed.