พัฒนาอย่างไร จะได้คนเต็มคน

14 กันยายน 2538
เป็นตอนที่ 9 จาก 13 ตอนของ

อีกอย่างหนึ่ง เราพูดกันว่าจะพัฒนาคนทั้งคน เพราะตอนนี้ความคิดองค์รวมกำลังเด่น แต่การพัฒนาที่ผ่านมาเป็นการพัฒนาแยกส่วน เช่นอย่างจริยธรรม ก็เป็นจริยธรรมแยกส่วนอย่างชัดเจน เพราะไปมุ่งพฤติกรรมการแสดงออกภายนอก การอยู่ร่วมสังคม และการปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อม แต่คนนี้เป็นระบบขององค์ประกอบที่มาประชุมกันเข้า คือเป็นระบบองค์รวมนั่นเอง ก็จึงยังมีความลักลั่นขัดแย้งกันเองอยู่ในตัว

จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ชัดลงไป มิฉะนั้นคำว่า “พัฒนาคนทั้งคน” ก็จะเป็นเพียงคำพูดลอยๆ ไปตามนิยมเท่านั้นเอง

ในระบบองค์รวมนั้น ก็มี องค์ร่วม องค์ร่วมต่างๆ หรือองค์ประกอบต่างๆ นั้น จะต้องมีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างได้สัดส่วน มีดุลยภาพ อย่างที่เรียกว่า บูรณาการ

เมื่อมีความสัมพันธ์กันอย่างถูกต้อง เกิดความพอดีขึ้น ก็ทำให้องค์รวมดำรงอยู่ และดำเนินไปด้วยดี

การพัฒนาแบบองค์รวมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ได้บอกเมื่อสักครู่นี้ว่า ต้องพัฒนาคนทั้งคน

ที่ว่าคนทั้งคนนั้น ก็ดูว่าคนเรานี้ดำเนินชีวิตอย่างไร การดำเนินชีวิตของเรานั้น เป็นระบบอย่างหนึ่ง

ระบบการดำเนินชีวิตนั้นประกอบด้วยด้านต่างๆ ของการดำเนินชีวิต ซึ่งมี ๓ ด้าน และทั้ง ๓ ด้านนั้นจะต้องสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โดยมีการพัฒนาที่ประสานเสริมซึ่งกันและกันเป็นบูรณาการ จะแยกส่วนไปพัฒนาอย่างเดียวไม่ได้

คนเรานี้ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยระบบการดำเนินชีวิตที่แยกได้เป็น ๓ ด้าน

ด้านที่ ๑ ด้านพฤติกรรม คือ ด้านความสัมพันธ์ที่แสดงออกต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่สิ่งแวดล้อมทางสังคมคือเพื่อนมนุษย์อย่างหนึ่ง และสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ เช่น ปัจจัย ๔ สิ่งบริโภค เครื่องใช้ อุปกรณ์เทคโนโลยี และธรรมชาติแวดล้อมทั้งหลาย ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมที่เราเข้าไปสัมพันธ์ด้วยพฤติกรรมทางกายและวาจา พร้อมทั้งอินทรีย์ คือตา หู จมูก ลิ้น และกาย นี้เป็นด้านหนึ่งของชีวิตมนุษย์

มองเผินๆ ในชั้นนอก ชีวิตมนุษย์เราก็เป็นอยู่โดยมีพฤติกรรมในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อมองลึกลงไปอีกด้านหนึ่ง การที่เราจะมีพฤติกรรมอย่างนี้ ก็มีสภาพและอาการของจิตใจเป็นอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง ฉะนั้น

ด้านที่ ๒ ด้านจิตใจ คือ ในการมีพฤติกรรมนั้น ถ้าใจเรามีความสุข จิตใจของเราสบาย เราก็มีพฤติกรรมอย่างหนึ่ง ถ้าใจเราชอบ พฤติกรรมก็เป็นอย่างหนึ่ง ถ้าใจเราไม่ชอบ พฤติกรรมก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

ในการทำพฤติกรรมทุกครั้ง เรามีเจตจำนง มีความจงใจ ตั้งใจ พฤติกรรมนั้นเป็นไปตามความตั้งใจ และแรงจูงใจ โดยโยงไปถึงสภาพจิตใจที่มีคุณธรรม หรือมีสิ่งที่ตรงข้ามกับคุณธรรม คือมีกิเลส มีความชั่วร้าย ซึ่งพฤติกรรมจะเป็นไปโดยสอดคล้องกัน

ขอยกตัวอย่าง เช่น เราต้องการให้คนมีพฤติกรรมทางสังคมดีงาม ที่เรียกว่าจริยธรรมว่า คนไม่ควรเบียดเบียนกัน ควรช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ถ้าสภาพจิตใจมีคุณธรรม มีเมตตากรุณา มีความรักเพื่อนมนุษย์ การไม่เบียดเบียนหรือการช่วยเหลือนั้น ก็ทำได้ง่ายอย่างเป็นไปเอง และทำให้เกิดความสุข เพราะจิตใจพอใจ อีกทั้งพฤติกรรมนั้นก็จะมั่นคงด้วย

แต่ในกรณีที่จิตใจโกรธ อยากทำร้าย งุ่นง่าน ถ้าจำเป็นจะต้องมีพฤติกรรมที่ไม่เบียดเบียน ต้องเกื้อกูล ใจก็ไม่เอาด้วย ต้องฝืนใจ ใจมันก็ทุกข์ เมื่อใจทุกข์ พฤติกรรมก็ไม่มั่นคง อาจจะละเมิดเมื่อไรก็ได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องพัฒนาจิตใจมาเป็นฐานให้สอดคล้องกัน

ด้านที่ ๓ ด้านปัญญา ถ้ามีปัญญา มีความรู้ความเข้าใจ รู้ว่าทำไมเราต้องไม่เบียดเบียนกัน ทำไมเราต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เมื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันไม่เบียดเบียนกัน จะเป็นผลดีต่อชีวิตของเราอย่างไร เป็นผลดีต่อสังคมอย่างไร พอเราเห็นคุณค่าเห็นประโยชน์และเห็นเหตุผลแล้ว เราก็เกิดความพอใจมากขึ้นในการที่จะแสดงพฤติกรรมที่ไม่เบียดเบียน และเมื่อมีพฤติกรรมที่ไม่เบียดเบียน เราก็เกิดความพอใจ ก็มีความสุขในการมีพฤติกรรมอย่างนั้น

ฉะนั้น ความรู้ความเข้าใจเหตุผล คือปัญญา จึงทำให้จิตใจมีความพร้อม และมีความสุข ในการที่จะมีพฤติกรรมนั้น

อย่างนี้เรียกว่า เป็นระบบประสานกลมกลืนสามด้านของชีวิต คือ พฤติกรรม สภาพจิตใจ และปัญญา ทั้ง ๓ ส่วนนี้สัมพันธ์เป็นปัจจัยต่อกัน และดำเนินไปด้วยกัน ในระบบการดำเนินชีวิต ฉะนั้น ในการพัฒนาคน ทั้ง ๓ ส่วนจึงต้องพัฒนาไปด้วยกัน

เมื่อเรามองดูพฤติกรรมของคนที่แสดงออกมาคล้ายๆ กัน แต่สภาพจิตใจเหมือนกันไหม คนหนึ่งอาจแสดงพฤติกรรมนั้นด้วยจิตใจที่ฝืนทนด้วยความทุกข์ แต่อีกคนหนึ่งทำด้วยความเต็มใจมีความสุข คนหนึ่งไม่มีความรู้ความเข้าใจ ก็ทำฝืนๆ ไปอย่างนั้นเอง แต่อีกคนหนึ่งทำด้วยความรู้เข้าใจเหตุผล ก็เอาจริงเอาจังทำตรงจุด

ฉะนั้น พฤติกรรมเดียวกัน แม้จะเป็นพฤติกรรมทางจริยธรรม แต่มีความหมายในระบบชีวิตไม่เหมือนกัน มีผลและคุณค่าต่างกันไปหมด เราจึงบอกว่าต้องพัฒนาคนทั้งคน

การพัฒนาคนในแดนพฤติกรรม แยกย่อยออกไปเป็นหลายส่วน แต่พฤติกรรมส่วนใหญ่ออกมาในการประกอบอาชีพหรือในการทำมาหากิน เพราะฉะนั้น การทำมาหาเลี้ยงชีพของมนุษย์จึงเป็นแดนสำคัญที่ระบบชีวิตของมนุษย์จะดำเนินไป

ระบบชีวิตทั้งด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจ และด้านปัญญา สามารถใช้การประกอบอาชีพทำมาหากินนี้ เป็นที่ฝึกฝนพัฒนาได้ทั้งหมด

– เริ่มตั้งแต่อาชีวะ คือการประกอบอาชีพของคน ไม่ก่อความเบียดเบียน ไม่ก่อความเดือดร้อนทำลายสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่เป็นไปในทางสร้างสรรค์เกื้อกูล

– พร้อมกันนั้น การประกอบอาชีพก็เป็นโอกาสให้เขาพัฒนาตัวเองของเขาด้วย ทั้งพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา เพราะอาชีพที่ดีจะทำให้คนได้พัฒนาพฤติกรรม เช่นในการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ว่า เราจะอยู่ร่วมและทำงานร่วมกับคนอื่นอย่างไร จึงจะอยู่กันได้ดี ทั้งงานก็ได้ผล ตัวเองก็เป็นสุข ชีวิตก็เจริญก้าวหน้า และสังคมก็มีสันติสุขด้วย

– ในด้านจิตใจ เขาก็จะพัฒนาความรู้สึกรับผิดชอบ พัฒนาความขยันหมั่นเพียร ความอดทน ความมีสติยั้งคิดควบคุมตนเองได้ และความมีสมาธิจิตใจแน่วแน่ในการงาน เป็นต้น

– พร้อมกันนี้ เขาก็จะพัฒนาความรู้ความเข้าใจ ความถนัดจัดเจน จากการที่ประสบปัญหาแล้วพยายามหาทางแก้ไข ตลอดจนการที่จะหาทางบริหารจัดการและสร้างสรรค์ให้สำเร็จ ทำให้พัฒนาปัญญาความรู้ความเข้าใจ ความรู้คิด และความหยั่งรู้ใหม่ๆ ขึ้นมา

เราจะต้องหาทางใช้วิชาชีพเป็นแดนพัฒนามนุษย์ให้ได้ เวลานี้เราสอนวิชาชีพโดยมุ่งเพียงว่า ให้เขารู้ และมีความเชี่ยวชาญในวิชานั้น เพื่อเอาไปทำมาหากิน แต่เราไม่ตระหนักในเรื่องที่ว่าเราจะอาศัยวิชาชีพเป็นแดนพัฒนาคนได้อย่างไรบ้าง

เพราะฉะนั้นจึงเกิดเป็นปัญหาขึ้นมาจากการพัฒนาคนแบบแยกส่วน เช่น เอาวิชาชีพไปเป็นเรื่องหนึ่ง เอาวิชาจริยธรรมไปเป็นเรื่องหนึ่ง เอาเนื้อหาวิชาอะไรต่างๆ ที่เรียนไปเป็นเรื่องหนึ่ง โดยไม่สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

ฉะนั้น ในการพัฒนามนุษย์ ที่บอกว่าจะพัฒนาคนทั้งคนนี้ เราจะต้องนำความคิดแบบองค์รวมที่แท้จริง มาใช้บูรณาการ

แนวคิดของตะวันตกที่ผ่านมานี้ ตะวันตกเองก็ยอมรับว่าเป็นแนวความคิดแบบแยกส่วน ดังที่เขาเรียกยุคที่แล้วมาว่าเป็นยุค reductionism คือเป็นยุคแนวความคิดแบบแยกส่วน ไม่เป็นบูรณาการ เวลานี้แนวความคิดแบบองค์รวมกำลังเป็นที่นิยมกันขึ้นมา แต่ข้อสำคัญก็คือ เราจะใช้ได้จริงหรือไม่

ตกลงว่า ขณะนี้เราพูดกันในแง่ของหลักการว่าจะต้องพัฒนาคนทั้งคน

การ “พัฒนาคนทั้งคน” ก็คือ การพัฒนาระบบองค์รวมแห่งการดำเนินชีวิตของคน ให้ทั้ง ๓ ด้าน คือ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา เจริญงอกงามขึ้นอย่างประสานสัมพันธ์สอดคล้องส่งผลเกื้อกูลต่อกันไปด้วยดีทั้งระบบ

นี่แหละคือบูรณาการที่แท้จริงของการพัฒนาคนทั้งคนให้เป็นคนเต็มคน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จะพัฒนาคน แต่ความคิดก็ยังพร่าสับสนรู้อย่างไรว่า พัฒนาแล้ว เป็นคนเต็มคน >>

No Comments

Comments are closed.