- ยิ่งก้าวถึงสุข ยิ่งใกล้ถึงธรรม
- ต้องการสุขแท้ แต่ยังทำไม่ถูกวิธี
- ปรนเปรอประสาททั้งห้า เป็นวิธีหาความสุขพื้นฐาน
- มนุษย์กับสัตว์อื่นหาสุขบำเรอประสาท เสมอเหมือนกัน แต่มนุษย์ก่อทุกข์ได้มหันต์ ยิ่งกว่าสัตว์เหล่าอื่น
- ปรนเปรอเท่าไรไม่รู้จักพอ ความเบื่อรอตัดหน้าความอิ่ม
- เอาสุขไปฝากไว้กับการบำเรอประสาท เลยต้องทุกข์ถนัด เมื่อประสาทนั้นไม่ประสิทธิ์
- จะพึ่งพาวัตถุ หรือพึ่งพาคนอื่น ก็ไม่เป็นสุขโดยอิสระ
- กล่อมประสาท กล่อมจิต เครื่องช่วยสำหรับผู้ไม่สามารถเป็นสุขด้วยตนเอง
- รู้จักกล่อม แทนที่จะทำให้หลง กลับพาไปหาอิสรภาพ
- สุขเพราะกล่อม ก็ใกล้กับสุขในความฝัน
- จะอยู่ด้วยการกล่อม หรือด้วยการปลอบขวัญ ก็ยังไม่พ้นการต้องพึ่งพา
- สุขเต็มอิ่มภายใน ด้วยลำพังจิตใจของตนเอง
- สุขแท้ เมื่ออยู่กับความจริงโดยไม่มีทุกข์
- มีสุขแท้ที่ไร้ทุกข์เป็นฐาน สุขอื่นทุกประการก็เต็มอิ่มจริง
- สุขสามระดับ มากับหลักปฏิบัติสามขั้น
- สุขแท้ อยู่ในวิถีแห่งอิสรภาพ
- อิสรภาพ คือหลักประกันของความสุขที่แท้
- ฝึกเว้นสุขแบบพึ่งพา เพื่อพัฒนาสุขที่เป็นอิสระ
- เว้นสุขบำเรอประสาท คือหัดเป็นสุขอย่างอิสระ ไม่ใช่จะหาทุกข์มาทน
- ศีลพุทธไม่ใช่ข้อห้าม แต่ตามจริงเป็นข้อหัด
- เมื่อสุขแท้ ก็ถึงธรรม
มนุษย์กับสัตว์อื่นหาสุขบำเรอประสาท เสมอเหมือนกัน
แต่มนุษย์ก่อทุกข์ได้มหันต์ ยิ่งกว่าสัตว์เหล่าอื่น
เมื่อสัตว์ทั้งหลายหาความสุขด้วยวิธีการอย่างนี้ มันก็เป็นเรื่องที่ว่าได้ผลจริงๆ เขาก็ได้รับความสุขสมใจอย่างนั้นในเวลานั้นๆ แต่ทีนี้มันมีผลอะไรที่ตามติดมาบ้าง เมื่อแต่ละคน หรือสัตว์แต่ละตน ต่างก็ต้องการหาความสุขแบบนี้มาปรนเปรอตนเอง
ในเมื่อวัตถุที่จะให้ความสุขนั้น มันอยู่ข้างนอกตัว และมันก็มีปริมาณจำกัด ก็จะแต่มีการกระทำที่เรียกว่า การแย่งชิงกัน ซึ่งในที่สุดก็จะนำมาซึ่งการเบียดเบียนกัน แล้วก็ทำให้เกิดความเดือดร้อน ปัญหาก็เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น ในสังคมมนุษย์ที่ปล่อยชีวิตให้ดำเนินไปตามสัญชาตญาณก็ดี ในหมู่สัตว์อื่นทั้งหลายทั่วๆ ไปก็ดี ก็จะมีปัญหาแบบเดียวกัน คือ การแย่งชิง เบียดเบียน ซึ่งกันและกัน
อย่างไรก็ดี ข้อที่แตกต่างกันก็มีอยู่ กล่าวคือในหมู่สัตว์ทั้งหลายนั้น การเบียดเบียนของมันนั้นว่ากันไปแล้วก็มีขอบเขตจำกัดมาก เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายนั้นมีสติปัญญาน้อย มีความสามารถจำกัด และสัตว์บางชนิดก็ดำเนินชีวิตไปตามสัญชาตญาณ อย่างมีกรอบจำเพาะ เช่นว่าเป็นสัตว์สังคม เมื่อเกิดมาแล้วก็เหมือนกับมีหน้าที่ประจำตัวมา ต้องทำหน้าที่ไปตามระบบชีวิตของมัน อย่างในพวกผึ้ง ตัวที่เป็นผึ้งงานก็ทำงานไป ผึ้งอะไรก็ทำหน้าที่อันนั้นไป มันก็มีขอบเขตการดำเนินชีวิตจำกัด การเบียดเบียนอะไรต่างๆ ของมันก็อยู่ในขอบเขตที่แคบ
ส่วนมนุษย์นี้เป็นสัตว์พิเศษ มนุษย์มีมือและมีสมอง ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีวิสัยพิเศษกว่าสัตว์อื่นทั้งหลาย การที่มีมือและมีสมองนี้ได้ทำให้มนุษย์มีความสามารถในการที่จะแสวงหาสิ่งที่จะมาบำรุงบำเรอตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของตนได้มาก และในการบำรุงบำเรอนั้น ก็มีความสามารถในการที่จะแย่งชิงเบียดเบียนผู้อื่นได้มากด้วย
เพราะฉะนั้น ในสังคมมนุษย์นี้ ถ้าเราจะหาความสุขกัน ด้วยวิธีที่เอาแต่วัตถุมาบำรุงบำเรอประสาททั้ง ๕ แล้ว การแย่งชิงเบียดเบียนกันและความเดือดร้อนในสังคมจะเป็นไปมาก ยิ่งกว่าในหมู่สัตว์อื่นทั้งหลายอย่างเหลือประมาณทีเดียว
สัตว์ทั้งหลายอื่น แม้จะใหญ่โตแข็งแรงเก่งกล้าปานใด ก็มักจะฆ่าหรือทำลายศัตรูของมันได้ครั้งละตัวทีละตัวเท่านั้น แต่มนุษย์คนเดียวอาจใช้เครื่องมือวิเศษทำลายชีวิตคนอื่นๆ ได้ครั้งละเป็นร้อยเป็นพัน หรือแม้แต่มากกว่านั้น
ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างในกรณีเครื่องบินตก เนื่องจากการก่อวินาศกรรม หรือการที่มีลูกระเบิด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถของมนุษย์ ในการที่จะทำลายล้างกัน บางทีเราต้องการทำลายคนๆ เดียว หรือทำลายกิจการอันใดอันหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับคนที่โดยสารไปในนั้นส่วนใหญ่เลย แต่คนส่วนใหญ่เหล่านั้นก็ต้องเดือดร้อนพลอยตายไปด้วย และการทำลายของมนุษย์นี้ก็เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ยาก
ตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นไม่นานนี้ นายราชีพ คานธี ซึ่งถูกสังหารโดยใช้วิธีทำลายด้วยอุปกรณ์อันประเสริฐของมนุษย์ ซึ่งทำลายได้แนบเนียน ไม่สามารถจะป้องกันได้ หรือป้องกันได้ด้วยความยากลำบากมาก และคนอื่นก็ต้องพลอยดับชีวิตไปด้วยอีกหลายคน
เพราะฉะนั้น มนุษย์ที่อยู่กันด้วยสัญชาตญาณแบบสัตว์ และหาความสุขจากแหล่งพื้นฐานคือวัตถุสำหรับบำรุงบำเรอประสาททั้ง ๕ นี้ ในฐานะที่เป็นสัตว์พิเศษ มีมือและสมองพิเศษ ก็จะทำให้การเบียดเบียนกันในสังคมเป็นไปได้อย่างกว้างขวางและรุนแรง แล้วความทุกข์ ความเดือดร้อนก็จะยิ่งมาก
เพราะฉะนั้น ในแง่ของการหาความสุขแบบพื้นฐานนี้ มนุษย์ทั้งหลายจะทำให้สังคมของตนมีสภาพที่เต็มไปด้วยการทำลายล้าง และมีความทุกข์ยิ่งกว่าสังคมของสัตว์ทั้งหลายอื่นเสียอีก
ถ้าทุกคนมุ่งหาสุขบำเรอประสาทของตนให้เต็มที่ ทุกคนก็จะได้ความทุกข์เป็นผลตอบแทน หรือมิฉะนั้นคนส่วนใหญ่ก็จะต้องอยู่เป็นทุกข์ภายใต้อำนาจครอบงำของคนที่ก่อความทุกข์ได้มากที่สุด
รวมความในแง่ที่ ๑ ก็คือ ปัญหาว่า การหาความสุขด้วยวิธีเอาวัตถุมาบำรุงบำเรอประสาททั้ง ๕ นี้ไม่ได้ผลที่จะให้บรรลุความสุข และชีวิตที่ดีงามอย่างแท้จริง ในแง่ที่ว่า มันทำให้เกิดการแย่งชิงเบียดเบียน ทำให้สังคมเดือดร้อน อยู่กันไม่เป็นสุข เมื่อสังคมเดือดร้อนแล้ว ผลคือความทุกข์ ความเดือดร้อนนั้น ก็หันกลับมากระทบตัวเองด้วย อย่างน้อยก็ทำให้มีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดระแวง ไม่มีความสุขจริง
No Comments
Comments are closed.