มองไปข้างหน้า สู่จุดหมายสูงกว่า ที่รออยู่

12 ตุลาคม 2538
เป็นตอนที่ 3 จาก 9 ตอนของ

มองไปข้างหน้า สู่จุดหมายสูงกว่า ที่รออยู่

ชีวิตของเรานี้มีอะไรหลายอย่าง ที่มันสามารถประสบ และก็ควรจะได้ประสบ หรือได้เข้าถึง ได้บรรลุถึง การมีชีวิตยุ่งอยู่กับงานการประจำวันที่เป็นหน้าที่ของเรา ในการช่วยเหลือสังคมประเทศชาติ ก็เป็นการพัฒนาไปด้านหนึ่ง ทำให้ความสามารถหรือศักยภาพของเราปรากฏผลเป็นประโยชน์ แต่พร้อมกันนั้น มันก็เหมือนกับเป็นสิ่งที่ขัดขวางเราเหมือนกัน ทำให้เราไม่มีโอกาสพัฒนาชีวิตอีกด้านหนึ่ง ที่เราควรจะได้เจริญหรือเข้าถึง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นสิ่งที่ประเสริฐของชีวิต

ชีวิตของเรา แต่ละชีวิตนั้น ยังมีอะไรที่จะก้าวไปให้ถึงได้อีกไกล

พระพุทธเจ้าตรัสว่า จุดหมาย หรือประโยชน์ที่ชีวิตควรจะได้นั้น มีหลายชั้น อย่างง่ายๆ เอา ๓ ชั้นก็แล้วกัน ได้แก่

๑. ประโยชน์ที่ตามองเห็น เช่น

๑.๑ ทรัพย์สินเงินทอง การพึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจ

๑.๒ การยอมรับของสังคม ตำแหน่ง ฐานะ เกียรติยศ ต่างๆ

๑.๓ ความมีร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี เป็นคุณสมบัติสำคัญที่อยู่กับตัวเอง ซึ่งถือกันว่า เป็นลาภอันประเสริฐ ที่ท่านสอนว่า “อาโรคฺยปรมา ลาภา” แปลว่า ความไม่มีโรคหรือสุขภาพดีนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ หรือเป็นสุดยอดแห่งลาภ เพราะถ้าร่างกายไม่ดีเสียแล้ว งานการอะไรต่างๆ ก็เสียหมด แม้แต่ความสุขที่ควรจะมี ก็เสวยไม่ได้

๑.๔ ครอบครัวที่ดีมีความสุข ก็เป็นประโยชน์เบื้องต้นของชีวิต ที่ควรจะได้

วัยที่ผ่านมา เป็นระยะเวลาที่เรามัวไปวุ่นกับการแสวงหาประโยชน์ขั้นต้นที่ตามองเห็น บัดนี้ เราทำเราหามันมาแล้วพอสมควร ยังมีประโยชน์ที่เป็นจุดหมายสูงขึ้นไป ที่เรายังไม่ค่อยได้ทำ

เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่า แค่นี้ยังไม่พอ เมื่อประโยชน์ขั้นต้นมีพอสมควรแล้ว อยู่กับมันมามากแล้ว ก็ควรเข้าถึงประโยชน์ที่สูงขึ้นไป คือประโยชน์ที่เลยจากตามองเห็น

๒. ประโยชน์ที่เลยตามองเห็น ท่านเรียกว่าประโยชน์เบื้องหน้า คือการทำชีวิตให้มีคุณค่า ทำชีวิตให้ประเสริฐ ให้ดีงาม ให้มีความสุขทางจิตใจ ตลอดไปจนถึงโลกหน้า ไม่ใช่มีความสุขแต่เพียงร่างกายหรือภายนอกที่ผิวเผินหรือมองเห็นต่อหน้า

เราเคยมีความสุขจากวัตถุที่มุ่งหามาบำรุงบำเรอ มีปัจจัยสี่พรั่งพร้อม มีสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย เมื่อแสวงหามาได้ เราก็มีความสุขไปแบบหนึ่ง ความสุขด้านร่างกาย ท่านก็ยอมรับว่าสำคัญในระดับหนึ่ง

ต่อมาอีกด้านหนึ่งที่ลึกเข้าไป ก็คือ ความสุขด้านจิตใจ อย่างน้อยความรู้สึกว่าชีวิตของเรามีคุณค่า ได้ทำสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์แล้ว พอรู้สึกขึ้นมาอย่างนี้ เราก็เกิดปีติ มีความอิ่มใจ

ความจริง ประโยชน์สองอย่างนี้ อาจจะไปด้วยกัน คือในช่วงระยะเวลาของการแสวงหาประโยชน์ที่ตามองเห็น เช่นเมื่อหาทรัพย์สินเงินทองไปนั้น ที่จริงเราก็มักไม่ได้ทำเพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่เราทำประโยชน์แก่ผู้อื่นพร้อมไปด้วย โดยมีความเสียสละ บำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม สงเคราะห์ผู้อื่น แม้แต่การดูแลครอบครัวให้ลูกหลานได้เจริญเติบโตมาอย่างดี ก็เป็นการทำหน้าที่ต่อสังคมอยู่แล้ว

เมื่อเราได้ทำชีวิตของเราให้เป็นประโยชน์ ได้ทำหน้าที่ที่เป็นการสร้างสรรค์ความดีงามแล้ว เราก็มีความสุขจากความดีความงามที่ได้บำเพ็ญนั้น

ทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์สุขที่เลยตามองเห็น ซึ่งเป็นนามธรรมเป็นส่วนใหญ่ แต่ประโยชน์ขั้นนี้แหละ ที่ทำให้เรามีความภูมิใจในชีวิตของเราว่า ชีวิตของเราดำเนินผ่านมาด้วยดี มีความสุจริต และได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ มีความดีที่เกื้อกูลแก่ผู้อื่น แก่สังคม เรียกว่าเป็นชีวิตในระดับแห่งคุณค่าและความดีงาม

ขั้นแรก เป็นชีวิตแห่งความพรั่งพร้อมทางวัตถุ จัดเป็นประโยชน์ขั้นที่หนึ่ง ประโยชน์ต่อมา ขั้นที่สอง เป็นชีวิตแห่งคุณค่าความดีงาม ความสุขทางจิตใจ ท่านบอกว่า แค่นี้ยังไม่พอ ต้องมีอีกขั้นหนึ่ง คือ

๓. ชีวิตแห่งความเป็นอิสระ ไม่ผูกพัน ไม่ยึดติดถือมั่น ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจกระแสความเปลี่ยนแปลงปรวนแปรของโลกและชีวิต ที่เรียกว่าโลกธรรม

แม้แต่คนที่ถึงประโยชน์ขั้นที่สอง ที่เรียกว่าชีวิตแห่งคุณค่าและความดีงามนั้น ก็ยังมีความทุกข์จากความดีได้ ถ้ายังยึดถือในความดี เราก็ทุกข์เพราะความดีนั่นแหละ

อันที่จริง ท่านให้ทำความดี ไม่ใช่ให้ยึดถือในความดี คือให้ทำความดีเพราะเป็นสิ่งที่ควรจะทำ เมื่อทำไปแล้ว ก็ให้ปลอดโปร่งโล่งใจว่า สิ่งที่ควรทำ เราได้ทำแล้ว ถ้าทำด้วยความรู้อย่างนี้ จิตใจของเราจะเป็นอิสระ

แต่คนเรามักจะยึดติดในความดี เสร็จแล้วเราก็อาจจะต้องมาคร่ำครวญรันทดใจว่า เราทำดีแล้ว ทำไมคนไม่เห็นความดี ทำไมเขาไม่ยกย่อง ไม่สรรเสริญ ทำไมเราไม่ได้รับผลอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วเราก็เสียอกเสียใจเพราะความดีอีก

เพราะฉะนั้น ความยึดติดถือมั่นในความดี จึงยังทำให้เกิดทุกข์ได้ และคนเราจึงยังมีความทุกข์ได้จากความดี คนชั่วก็มีความทุกข์จากความชั่ว คนดีก็ยังมีโอกาสทุกข์จากความดี แม้ว่าจะเป็นความทุกข์ที่ประณีตขึ้นมาหน่อย

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องไปถึงขั้นที่สาม คือ จิตใจเป็นอิสระ ด้วยความรู้เท่าทัน เห็นความจริงด้วยปัญญา พอปัญญารู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต เห็นแจ้งในกระแสของกฎธรรมชาติ ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง มันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยของมัน จะให้เป็นไปตามใจของเราไม่ได้ เราจะไปปรารถนาให้เป็นไปตามใจหวังไม่ได้ จะให้มันเป็นไปอย่างไร ก็ต้องทำให้ตรงตามเหตุปัจจัย จะได้แค่ไหน ก็เท่ากับเหตุปัจจัยที่เราทำได้ จะไปยึดติดถือมั่นเอาตามที่ใจเราอยากให้เป็นไม่ได้ เราต้องอยู่กับความเป็นจริง

เมื่อรู้เข้าใจเข้าถึงความจริง อยู่ด้วยปัญญา ก็ทำจิตให้เป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของกฎธรรมชาติที่ผันผวนปรวนแปร โลกธรรมที่เรียกว่า สิ่งที่น่าปรารถนา น่าชอบใจบ้าง ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจบ้าง ก็เป็นไปตามปกติของมัน ตามเหตุปัจจัยของมัน

พอวางใจได้ เราก็โล่ง เราก็โปร่งสบาย นี่คือการทำจิตใจให้เป็นอิสระด้วยปัญญารู้เท่าทัน เรียกว่าอยู่อย่างมีปัญญา เห็นแจ้งในความจริง ตอนนี้เป็นประโยชน์ขั้นสูงสุด เป็นขั้นที่สาม คือจุดหมายแห่งความมีจิตใจที่เป็นอิสระ

ในบรรดาประโยชน์ต่างๆ ที่จะพึงเข้าถึงทั้งสามขั้นเหล่านี้ บางทีเราทำงานทำการยุ่งอยู่ จนไม่มีโอกาสจะพัฒนาชีวิตให้เข้าถึงจุดหมายทุกอย่างให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนั้น ถ้าจะมีเวลาที่เป็นส่วนช่วงว่างของชีวิตของเราบ้าง เราก็จะได้เอาเวลานั้นมาใช้ในการพัฒนาชีวิต เพื่อเข้าถึงสิ่งดีงามเป็นประโยชน์ที่เราควรจะได้ยิ่งขึ้นไป เช่น อยากจะพัฒนาสติปัญญา เพื่อรู้ความจริงของโลกและชีวิต บางท่านทำงานจนกระทั่งแม้แต่จะอ่านหนังสือ ก็ไม่มีเวลา พอมาถึงตอนนี้ เราก็มีเวลาขึ้นมาบ้างแล้ว

เพราะฉะนั้น จึงกลายเป็นว่า ตอนนี้เป็นโอกาส และเป็นโอกาสที่ดีมากๆ ด้วย

ที่ว่านี้ ไม่ใช่ว่าส่วนที่ผ่านมาไม่ดี มันดี แต่เราได้ใช้มันคุ้มค่าแล้ว เราได้ทำไปเต็มที่แล้ว พอแล้วละ เราอย่าติดอยู่เลย ถ้าเราไม่เกษียณอายุ เราจะต้องทำมันต่อไป สิ่งอื่นที่เราควรจะได้ทำ ก็เลยไม่มีโอกาสทำ เราทำพอแล้ว ทำให้เขาเต็มที่แล้ว ตอนนี้เราจะหาโอกาสทำอย่างอื่นบ้าง

ขอให้ลองคิดดูเถิด ตอนนี้เราจะต้องวางแผนแล้วว่า มีอะไรดีในชีวิตที่เราควรจะทำ ที่ยังไม่ได้ทำ จะได้พัฒนาชีวิตของเราให้ถึงในตอนนี้ แล้วก็ต้องดีใจเลยว่า ทีนี้ถึงโอกาสนั้นแล้ว เตรียมตัวดีใจเถิด อย่าไปมองเรื่องความหมดสิ้น อย่าไปนึกถึงความสิ้นสุด ว่านี่หมดแล้ว ยศ ตำแหน่ง ฐานะ เกียรติ อย่าไปมองอย่างนั้นเลย

ที่จริงนั้น สารประโยชน์ที่แท้อยู่ในชีวิตจิตใจของเรา มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับอาการของคนที่แสดงออกภายนอก ที่เราเห็นผิวเผิน ถ้าไปติดอยู่กับสิ่งเหล่านั้น เราจะเสียเวลาคิด เสียสมองเปล่าๆ

เพราะฉะนั้น ตอนนี้แหละต้องเตรียมมองไว้เลยว่า สิ่งอะไรที่ดี ที่ควรจะทำต่อไป ที่จะทำให้ชีวิตมีค่า เป็นความดีงามที่เราควรจะถึงแต่ยังไม่ถึง ถ้ามองหา ท่านอาจจะเห็นสิ่งนั้น พอนึกขึ้นมาได้ ท่านจะกลายเป็นดีใจขึ้นมาทันทีว่า โอ้โฮ.. นี่เราได้โอกาสแล้ว จะได้ทำอันนี้เสียที

อย่างไรก็ตาม การที่จะทำสิ่งมีคุณค่าที่ว่านั้น หรือจะบรรลุถึงสิ่งดีงามที่ว่าไว้ข้างต้น ต้องมีเวลา หมายความว่าจะต้องมีอายุยืนอยู่ต่อไป

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เสร็จงานเก่า ก้าวไปบนทางที่กว้างไกล– ๒ – อายุงานเกษียณแล้ว อายุเรายืนยาวต่อไป ต่ออายุให้ยืน พร้อมด้วยใจกายที่แข็งแรง >>

No Comments

Comments are closed.