- ยิ่งก้าวถึงสุข ยิ่งใกล้ถึงธรรม
- ต้องการสุขแท้ แต่ยังทำไม่ถูกวิธี
- ปรนเปรอประสาททั้งห้า เป็นวิธีหาความสุขพื้นฐาน
- มนุษย์กับสัตว์อื่นหาสุขบำเรอประสาท เสมอเหมือนกัน แต่มนุษย์ก่อทุกข์ได้มหันต์ ยิ่งกว่าสัตว์เหล่าอื่น
- ปรนเปรอเท่าไรไม่รู้จักพอ ความเบื่อรอตัดหน้าความอิ่ม
- เอาสุขไปฝากไว้กับการบำเรอประสาท เลยต้องทุกข์ถนัด เมื่อประสาทนั้นไม่ประสิทธิ์
- จะพึ่งพาวัตถุ หรือพึ่งพาคนอื่น ก็ไม่เป็นสุขโดยอิสระ
- กล่อมประสาท กล่อมจิต เครื่องช่วยสำหรับผู้ไม่สามารถเป็นสุขด้วยตนเอง
- รู้จักกล่อม แทนที่จะทำให้หลง กลับพาไปหาอิสรภาพ
- สุขเพราะกล่อม ก็ใกล้กับสุขในความฝัน
- จะอยู่ด้วยการกล่อม หรือด้วยการปลอบขวัญ ก็ยังไม่พ้นการต้องพึ่งพา
- สุขเต็มอิ่มภายใน ด้วยลำพังจิตใจของตนเอง
- สุขแท้ เมื่ออยู่กับความจริงโดยไม่มีทุกข์
- มีสุขแท้ที่ไร้ทุกข์เป็นฐาน สุขอื่นทุกประการก็เต็มอิ่มจริง
- สุขสามระดับ มากับหลักปฏิบัติสามขั้น
- สุขแท้ อยู่ในวิถีแห่งอิสรภาพ
- อิสรภาพ คือหลักประกันของความสุขที่แท้
- ฝึกเว้นสุขแบบพึ่งพา เพื่อพัฒนาสุขที่เป็นอิสระ
- เว้นสุขบำเรอประสาท คือหัดเป็นสุขอย่างอิสระ ไม่ใช่จะหาทุกข์มาทน
- ศีลพุทธไม่ใช่ข้อห้าม แต่ตามจริงเป็นข้อหัด
- เมื่อสุขแท้ ก็ถึงธรรม
รู้จักกล่อม แทนที่จะทำให้หลง กลับพาไปหาอิสรภาพ
ส่วนตัวกล่อมในทางบวก ที่ว่าดีนั้น หมายความว่ามันมีส่วนที่ดีอยู่ คือ มีโทษแก่ผู้อื่นน้อยเหลือเกิน จะเรียกว่าไม่มีโทษแก่คนอื่นก็ได้ เมื่อเราเพลิดเพลินกับเพลง ดนตรี ศิลปะ วรรณคดีอะไรต่างๆ เราก็สบาย ไม่ต้องพึ่งสุรายาเมา
แต่ก็ไม่แน่ บางคนเอาทั้งสองเลย มีเพลง มีดนตรี สนุกสนานแล้ว สุรายาเมาก็ว่าไปด้วย เพลง ดนตรี ศิลปะ ที่ไม่ดีก็ก่อโทษ มีผลทางลบได้มาก บางทีคนก็ใช้วิธีที่ว่ามาหมดทั้งสามอย่างหาความสุขที่มีผลในทางลบ เอาทั้งวิธีบำเรอประสาท สังสรรค์ และเสพสิ่งกล่อม เช่น ทั้งเลี้ยงกัน สังสรรค์สนุกสนาน เพลง ดนตรี สุรายาเมาพร้อม และอาจแถมการพนันเข้าไปอีก พากันดิ่งลึกลงไปในโมหะ ลุ่มหลงเบียดเบียนชีวิตและสังคมมากขึ้น เพราะฉะนั้นจะต้องรู้จักแยกให้ดี
ถ้ารู้จักแยกและเลือกหาส่วนที่ดี เช่น ดนตรีที่ประณีต ที่มีคุณค่าในทางส่งเสริมอารยธรรม วัฒนธรรม มันก็เป็นตัวที่ช่วยให้เราพ้นไปได้จากเครื่องกล่อมในทางลบ ทำให้เราไม่ต้องไปพึ่งพาอาศัยสิ่งเสพติด สุรายาเมา เป็นต้น
ยิ่งกว่านั้น ถ้าใช้ให้ดี ตัวกล่อมในทางบวกจะเป็นตัวชักนำเราไปสู่คุณค่าที่สูงยิ่งขึ้นไป แม้แต่ชักนำให้เข้ามาสู่การปฏิบัติธรรมก็ยังได้ เพลงดีๆ ดนตรีไพเราะ จิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม เป็นอุบายของคนในยุคที่ผ่านมา ที่ว่าถ้ารู้จักใช้สิ่งเหล่านี้ในทางที่เป็นประโยชน์ ก็เอามาชักจูงจิตใจที่เพลิดเพลินเป็นสุขด้วยความงามของสิ่งเหล่านี้ ให้มาสัมพันธ์ ให้มาโยงกับเรื่องของธรรม แล้วทำให้เห็นคุณค่า ให้สนใจในเรื่องของธรรม ให้คิดคำนึงถึงธรรม แล้วก็พาเข้ามาหาธรรมต่อไป เพราะฉะนั้น มันจึงสามารถเป็นตัวโยงที่ดี มีคุณค่า เป็นสิ่งที่ประณีตสูงส่งก็ได้
เพราะฉะนั้นในทางพระพุทธศาสนา เราจะเห็นว่า ในศีล ๕ ซึ่งเป็นศีลขั้นพื้นฐาน จะไม่มีข้อห้าม หรือข้อกำหนดให้งดเว้นในเรื่องเหล่านี้ ท่านไม่ห้ามเรื่องดนตรี ไม่ห้ามเรื่องศิลปะ เช่นจิตรกรรม อะไรต่างๆ บางทีก็เหมือนกับเป็นการส่งเสริมไปด้วย ดังมีเรื่องในคัมภีร์พุทธศาสนา พระพุทธเจ้าบางทีทรงแต่งเพลงให้คนที่เป็นคู่รักกันด้วยซ้ำ แต่แต่งเพลงชนิดที่มีเนื้อหาทางธรรม เรียกได้ว่า เป็นดนตรีในพระธรรมวินัย
มีพระสูตรหนึ่งในพระไตรปิฎกด้วยซ้ำ มีเพลงที่คู่รักเขาเอาไปเกี้ยวกัน แต่ในนั้นมีสาระสำคัญที่เกี่ยวกับธรรมด้วย และก็มีเรื่องในอรรถกถาธรรมบทที่พระพุทธเจ้าเคยทรงแต่งเพลงให้แก่มาณพ อย่างนี้เป็นต้น
เพราะฉะนั้น ตัวกล่อมในทางบวกจึงนับว่ามีประโยชน์มาก แต่เราจะต้องส่งเสริมในส่วนที่ดีงาม เริ่มแต่ต้องแยกว่าดนตรีอะไรที่จะทำให้คนหมกมุ่นมัวเมา แล้วก็นำไปสู่ความลุ่มหลงยิ่งขึ้นจนทำให้เกิดความเสียหาย อันนั้นเราไม่เอา ส่วนดนตรีอะไร เพลงอะไร วรรณคดีอะไร จิตรกรรมอะไรที่จะนำจิตใจให้ประณีตสูงขึ้น เราก็ส่งเสริมอันนั้น เพราะในระดับศีล ๕ ท่านไม่ได้ห้าม ไม่ได้กำหนดให้งดเว้นสิ่งเหล่านี้เลย เราสามารถสนับสนุนได้ด้วยซ้ำ
No Comments
Comments are closed.