- ยิ่งก้าวถึงสุข ยิ่งใกล้ถึงธรรม
- ต้องการสุขแท้ แต่ยังทำไม่ถูกวิธี
- ปรนเปรอประสาททั้งห้า เป็นวิธีหาความสุขพื้นฐาน
- มนุษย์กับสัตว์อื่นหาสุขบำเรอประสาท เสมอเหมือนกัน แต่มนุษย์ก่อทุกข์ได้มหันต์ ยิ่งกว่าสัตว์เหล่าอื่น
- ปรนเปรอเท่าไรไม่รู้จักพอ ความเบื่อรอตัดหน้าความอิ่ม
- เอาสุขไปฝากไว้กับการบำเรอประสาท เลยต้องทุกข์ถนัด เมื่อประสาทนั้นไม่ประสิทธิ์
- จะพึ่งพาวัตถุ หรือพึ่งพาคนอื่น ก็ไม่เป็นสุขโดยอิสระ
- กล่อมประสาท กล่อมจิต เครื่องช่วยสำหรับผู้ไม่สามารถเป็นสุขด้วยตนเอง
- รู้จักกล่อม แทนที่จะทำให้หลง กลับพาไปหาอิสรภาพ
- สุขเพราะกล่อม ก็ใกล้กับสุขในความฝัน
- จะอยู่ด้วยการกล่อม หรือด้วยการปลอบขวัญ ก็ยังไม่พ้นการต้องพึ่งพา
- สุขเต็มอิ่มภายใน ด้วยลำพังจิตใจของตนเอง
- สุขแท้ เมื่ออยู่กับความจริงโดยไม่มีทุกข์
- มีสุขแท้ที่ไร้ทุกข์เป็นฐาน สุขอื่นทุกประการก็เต็มอิ่มจริง
- สุขสามระดับ มากับหลักปฏิบัติสามขั้น
- สุขแท้ อยู่ในวิถีแห่งอิสรภาพ
- อิสรภาพ คือหลักประกันของความสุขที่แท้
- ฝึกเว้นสุขแบบพึ่งพา เพื่อพัฒนาสุขที่เป็นอิสระ
- เว้นสุขบำเรอประสาท คือหัดเป็นสุขอย่างอิสระ ไม่ใช่จะหาทุกข์มาทน
- ศีลพุทธไม่ใช่ข้อห้าม แต่ตามจริงเป็นข้อหัด
- เมื่อสุขแท้ ก็ถึงธรรม
ศีลพุทธไม่ใช่ข้อห้าม แต่ตามจริงเป็นข้อหัด
ศีลนั้นให้สังเกตดู ทุกข้อ เวลาเรารับจะลงว่า สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ เป็นหลักฐานที่แสดงอย่างชัดเจนว่าศีลในความหมายของพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่เป็นข้อห้าม ถ้าพูดกันให้ถูกต้องตามหลัก ศีลไม่ใช่ข้อห้าม ที่เราแปลกันว่าข้อห้ามนั้น ถ้าว่าให้ถูกหลักแล้วผิด
ในพระพุทธศาสนาท่านพูดแต่ความจริง พระพุทธเจ้าทรงค้นพบความจริงที่มีอยู่แล้วตามธรรมดาของมัน แล้วทรงนำมาบอกเราให้รู้ว่า สิ่งนั้นไม่ดี ทำไปแล้วก่อทุกข์ มีผลร้าย สิ่งนั้นทำไปแล้วดี มีผลดี ทำให้เกิดความสุข ทั้งหมดนั้นก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมันตามธรรมชาติ ตามกฎเกณฑ์แห่งเหตุและผล พระพุทธเจ้ามาแสดงความจริงให้เราฟัง ถ้าเราเชื่อ เราตกลง เราก็บอกว่า สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ เราก็เอาด้วย คือเราตกลงจะปฏิบัติอย่างที่พระพุทธเจ้าสอน เราเห็นชอบด้วย เราจึงบอกว่า สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ แปลว่า ข้าพเจ้าขอรับเอาข้อปฏิบัติในการฝึกตนที่จะทำอย่างนั้นๆ
สิกฺขาปทํ หรือ สิกขาบท สิกขา ก็คือ ศึกษา หรือฝึกหัด บท ก็คือ บท หรือ ข้อ จึงแปลว่า บทสำหรับศึกษา หรือบทสำหรับฝึกหัด แปลสั้นๆ ว่า บทศึกษา หรือบทฝึกหัด จะยักเยื้องว่า บทเรียน แบบฝึกหัด ข้อสำเหนียก ข้อฝึกตน ก็ได้ทั้งนั้น หมายความว่าเป็นข้อปฏิบัติในการฝึกฝนหรือพัฒนาตนนั่นเอง
ศีลทุกข้อลงท้ายว่า สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ แปลว่า ข้าพเจ้าขอรับเอาข้อปฏิบัติในการฝึกตน หมายความว่าเราเห็นด้วยว่าทำอย่างนี้ดี เราจึงตกลงว่าจะฝึกตนอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ศีลทุกข้อเป็นเรื่องของการศึกษา เป็นการฝึกตนเอง โดยแสดงการยอมรับว่าเราเห็นด้วยกับการกระทำอย่างนั้น จึงตกลงที่จะถือข้อปฏิบัติในการที่จะฝึกหัดตัวเราเอง ให้เว้นจากการกระทำอันนั้นอันนี้ หรือให้อยู่ดี อยู่สบายได้โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งของเครื่องปรนเปรออันนั้นอันนี้
เช่นอย่าง อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ก็แปลว่า ข้าพเจ้าขอรับเอาข้อปฏิบัติในการฝึกตนให้(อยู่ดีมีสุขได้)โดยไม่ต้องอาศัยที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ หรูหรา ฟุ่มเฟือย ถ้าแปลเอาความมุ่งหมายก็จะได้ความหมายอย่างนี้ เราไม่จำเป็นต้องอาศัยมัน ก็คือละเว้นหรือปราศจากสิ่งเหล่านั้น ท่านไม่ได้ห้าม
พระพุทธเจ้าท่านเคยห้ามใครที่ไหน พระองค์ไม่เคยถือสิทธิเป็นผู้มีอำนาจที่จะมาบังคับใคร คุณทำอย่างไร คุณก็ได้ผลอย่างนั้นตามเหตุปัจจัย ถ้าคุณทำ คุณก็ได้ผล พระพุทธเจ้าไม่ได้ส่งเราไปนรกหรือสวรรค์นี่จะได้มาห้ามเรา พระองค์จะห้ามก็ต่อเมื่อทรงตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมา และกำหนดวางเป็นกฎระเบียบของสังคมอย่างนั้น เมื่อใครตกลงสมัครใจจะเข้าร่วมอยู่ในคณะสงฆ์หรือชุมชนนั้น ก็เป็นการแสดงว่าสมัครใจยอมรับกฎเกณฑ์ระเบียบนั้นเอง เราเรียกว่า ตั้งกฎเกณฑ์ที่เป็นการห้าม และการสั่ง แต่ในแง่ของการปฏิบัติธรรมที่แท้แล้วไม่มี มีแต่การฝึกตนในการที่จะทำหรือไม่ทำ
เพราะฉะนั้น ถ้าจะเอาอย่างเคร่งครัดแล้วหลักพระพุทธศาสนาไม่ใช่ข้อห้าม และไม่มีคำว่าห้ามเลย การถือข้อปฏิบัติจะเป็นอย่างที่ว่าเมื่อกี้ที่ว่า สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
เป็นอันว่า เราฝึกฝนตนเองในการที่จะอยู่ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยขึ้นต่อสิ่งเหล่านั้นในการที่จะมีความสุข ศีล ๘ นี้ก็เป็นข้อปฏิบัติในการฝึกตน ที่จะก้าวหน้าไปในวิถีทางของความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้น ซึ่งจะไม่ต้องขึ้นต่อวัตถุปรนเปรอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เพื่อจะเข้าไปถึงขั้นของการหาความสุขทางจิตต่อไป ดังที่ว่าไว้ข้างต้นแล้ว
เรื่องของศีล เท่าที่พูดมาในตอนนี้ เป็นเพียงข้อปฏิบัติอย่างหนึ่งที่ยกมาให้ดูเป็นตัวอย่าง เพื่อให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่เราจะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง คือจะต้องรู้ว่าที่แท้นั้น ท่านมุ่งเพื่อจะให้เราพัฒนาตนเองสูงขึ้นไปในการหาความสุขนั่นเอง ไปสู่ความสุขในทางจิต และต่อไปจนถึงความสุขด้วยปัญญาที่ไร้ทุกข์ ให้สามารถที่จะใช้ปัญญา พิจารณาเข้าใจเหตุและผลในการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องฝากชีวิตและความสุขไว้กับวัตถุภายนอก และแม้แต่ความดื่มด่ำในทางจิตใจ
No Comments
Comments are closed.