สถาปนาธรรมในตนและในสังคม

27 มิถุนายน 2518
เป็นตอนที่ 7 จาก 7 ตอนของ

สถาปนาธรรมในตนและในสังคม

หันกลับไปสู่จุดแรก เป็นอันว่าขอตกลงกัน ซึ่งท่านทั้งหลายจะตกลงหรือไม่ก็ตาม ว่าเราจะต้องรู้และเข้าใจธรรม ว่าธรรมนั้นคืออะไรเสียก่อน มิฉะนั้น จะเกิดความสับสน สับสนตั้งแต่ตัวธรรม ตัวจุดหมาย ตลอดจนวิธีการต่างๆ และเราก็อาจจะทำสิ่งที่ดีงามให้ไขว้เขวไปก็ได้

ขอยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่งคือเรื่องเสรีภาพ เสรีภาพเป็นสิ่งที่ดีงาม เพราะเป็นภาวะตรงข้ามกับความเป็นทาส แต่ถ้าเราไม่เข้าใจตัวธรรมเสียแล้ว อาจจะเกิดภาวะมุมกลับขึ้นก็ได้ คือ มันอาจจะเกิดภาวะที่เรียกว่า เสรีภาพในการที่จะเป็นทาสขึ้นมา อันนี้เป็นสิ่งที่มีขึ้นได้จริงๆ ควรจะหยิบยกขึ้นมาอภิปรายกัน เช่นในกรณีที่ไม่ได้ทบทวน ไม่ได้ศึกษาให้ถ่องแท้ว่าความหมายของเสรีภาพนั้นคืออะไร ก็จะเกิดความไขว้เขวขึ้นมาว่า เสรีภาพเป็นสิ่งจบสิ้นในตัว เป็นจุดหมาย หรือเป็นเพียงมรรคาเพื่อดำเนินไปให้ถึงจุดหมาย ดังนี้เป็นต้น ครั้นแล้วความเข้าใจไขว้เขวในเรื่องเสรีภาพ ก็อาจจะทำให้เกิดภาวะแห่งความผิดพลาด คือการที่เราอาจจะมีเสรีภาพเพื่อความเป็นทาส หรือในการที่จะเป็นทาสขึ้นก็ได้

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราใช้เสรีภาพนั้นในการแสดงออก แต่ตัวเราเองอยู่ใต้อำนาจของตัณหา มานะ ทิฏฐิ ดังที่กล่าวข้างต้น นั่นก็คือเสรีภาพในการที่จะเป็นทาส หรือการเป็นทาสและแสดงออก ซึ่งความเป็นทาสอย่างเสรีนั้นเอง

เพราะฉะนั้น ในเมื่อเราได้มีการตื่นตัว และออกโรงกันมานานๆ แล้ว ก็ควรจะหันกลับมาสำรวจตัวเองกันบ้างเป็นครั้งคราวว่า ที่ได้ทำการต่างๆ ไปนั้น ทำด้วยความรู้จริงถ่องแท้หรือไม่ และที่พูดที่ทำโดยบอกว่าเป็นเสรีภาพนั้น ตนเองเข้าใจความหมายของคำว่าเสรีภาพถ่องแท้หรือไม่ ตัวเราเองมีเสรีภาพที่แท้จริงหรือไม่ นี้เป็นสิ่งที่เราควรจะเตือนตนเองให้คำนึงอยู่เสมอ ผู้ที่ทำการต่างๆ นั้น ต้องไม่ประมาทเสมอ ผู้ที่ประมาทนั้นอาจจะหลง โดยเฉพาะอาจจะหลงในตนเอง เพราะฉะนั้น การมีสติพิจารณาทบทวนสำรวจตนเองอยู่เสมอ ย่อมเป็นสิ่งที่ดีเป็นความไม่ประมาท เป็นทางป้องกันความผิดพลาดได้

เป็นอันว่า เราจะสถาปนาธรรมในสังคม เมื่อจะสถาปนาธรรมในสังคม ก็ต้องสถาปนาธรรมนั้นขึ้นในตนก่อนด้วย อย่างน้อยก็ต้องรู้ว่า ธรรมนั้นคืออะไร คือสร้างปัญญาที่รู้เข้าใจธรรมนั้นให้เกิดมีขึ้นในตน เมื่อสร้างเสริมปัญญาที่เข้าใจธรรมขึ้นในตนแล้ว การกระทำต่างๆ ที่แสดงถึงความรับผิดชอบในการที่จะไปสถาปนาธรรมนั้น จึงจะเป็นไปโดยถูกต้องและบรรลุเป้าหมายอย่างแท้จริง

เพราะฉะนั้น เมื่อจะสถาปนาธรรมขึ้นในสังคม ก็อย่าลืมสถาปนาธรรมขึ้นในตนเองด้วย เมื่อทำได้อย่างนี้ นี่ก็คือการสถาปนาธรรมในระยะยาว และเป็นการสถาปนาที่จะต้องทำเรื่อยไป ตั้งแต่ขณะนี้คือ สถาปนาธรรมศาสตร์ขึ้นแก่นักศึกษาทั้งหลายด้วยการศึกษา ให้รู้ให้เข้าใจวิชาการ ให้รู้ว่าธรรม ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม คืออะไร วิธีการที่จะยังธรรมให้เกิดมี และที่จะดำรงรักษาธรรมไว้ได้คืออะไร เมื่อทำได้อย่างนี้ ก็จะทำให้การสถาปนาครั้งแรก คือ การสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ ๔๑ ปีที่ล่วงแล้ว เป็นการสถาปนาที่มีความหมายที่แท้จริง และทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นี้จะต้องมีชีวิตยืนยาวอยู่เพื่อทำหน้าที่นี้ต่อไป อันจะเป็นการมีชีวิตที่มีความหมายและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง และการมีชีวิตเช่นนี้ ก็คือชีวิตของการสถาปนาธรรม ทั้งในนามของคนที่ได้รับการศึกษาไปจากสถาบันแห่งนี้ และในนามของสถาบันการศึกษาเองทั้งหมดเป็นส่วนรวม ซึ่งจะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษย์ (หรือจะว่ามวลชนก็ได้) อย่างแท้จริงตลอดกาลนาน

บัดนี้ท่านทั้งหลายมารำลึกถึงงานวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เท่ากับมีโอกาสได้ทบทวนถึงความหลัง ความเป็นมาเป็นไป ในการที่ได้พยายามช่วยกันสถาปนาธรรมศาสตร์ให้เกิดมีขึ้นแก่นักศึกษาทั้งหลาย

อย่างไรก็ตาม เราทั้งหลายยังมีภารกิจอีกมากมายที่จะต้องทำต่อเนื่องไปตลอดกาลนาน คือ การสถาปนาธรรมศาสตร์ให้เกิดมีขึ้นแก่นักศึกษารุ่นต่อๆ ไป พร้อมทั้งการพยายามสถาปนาธรรมและดำรงรักษาธรรมให้ยั่งยืนอยู่ตลอดไปในสังคม ภารกิจนี้จะสำเร็จลุล่วงได้ ก็ด้วยอาศัยปัญญาที่ดำเนินไปโดยถูกวิธี ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ในเมื่อท่านทั้งหลายมีความปรารถนาดีได้มาร่วมพิธีอันเป็นมงคลเช่นนี้ อาตมภาพก็ขอร่วมจิตอนุโมทนา และขออำนวยพรแด่ท่านทั้งหลาย ด้วยอำนาจการกระทำความดี คือกรรมดีของท่านทั้งหลาย ทางกายก็ตาม ทางวาจาก็ตาม ทางใจก็ตามนั้นเอง จะเป็นมงคลที่นำความสุขความเจริญมาให้แก่ท่านทั้งหลาย อาศัยกรรมดีงามและความเชื่อถือที่ดีงามของท่านทั้งหลายนี้ ขอตั้งจิตอธิษฐานอำนวยพรแด่ท่านทั้งหลาย

ขอให้ทุกท่านประสบแต่จตุรพิธพร คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ พร้อมทั้งปฏิภาณ คุณสารสมบัติทุกประการ จงเป็นผู้ประกอบด้วยสุขภาพพลานามัย มีความแข็งแรงทั้งทางกายและทางสติปัญญา มีความคิดปลอดโปร่งผ่องใส เพื่อดำเนินการศึกษาให้เกิดปัญญาที่ถูกต้อง จะได้สถาปนาธรรมศาสตร์ให้มีขึ้นในตน และช่วยกันสถาปนาธรรมให้เกิดมีและยืนยงอยู่ในสังคม เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษย์ชั่วกาลนาน ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในภารกิจอันสำคัญนี้โดยทั่วกัน เทอญ.

หมายเหตุ : ปาฐกถาธรรมเนื่องในวันธรรมศาสตร์ แสดงที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๑๘ พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ “ลักษณะสังคมพุทธ” สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง จัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๗

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< วิธีการสถาปนาธรรม

No Comments

Comments are closed.