– สรุป – พิธีกรรมสื่อวินัยสู่ธรรม

24 มิถุนายน 2537
เป็นตอนที่ 3 จาก 3 ตอนของ

– สรุป –
พิธีกรรมสื่อวินัยสู่ธรรม

เมื่อพิธีกรรมนำสู่วินัย แล้ววินัยนำสู่ธรรม และธรรมแสดงตัวในวินัยจนออกมาในพิธีกรรม
นั่นคือความสมบูรณ์แห่งความหมายและความสำเร็จแห่งความมุ่งหมายของพิธีกรรม

รวมความว่า พระพุทธศาสนาประกอบด้วยธรรมกับวินัย ธรรม คือด้านเนื้อหาที่สัมพันธ์กับตัวสัจธรรมของธรรมชาติ วินัย คือด้านปฏิบัติการที่ออกมาสู่โลกของมนุษย์ โลกของสมมติซึ่งเป็นชีวิตที่เป็นอยู่จริงในสภาพแวดล้อมของสังคมเป็นอย่างไรให้ดูที่วินัย ชีวิตของท่านผู้บรรลุธรรมแล้วก็ออกมาปรากฏที่วินัย ส่วนพิธีกรรมก็เป็นรูปแบบภายนอกที่มาช่วยสื่อวินัย และเสริมโอกาสแห่งการปรากฏตัวกระทำกิจหน้าที่ของผู้ที่มาสื่อธรรมแก่มหาชน

เปรียบเหมือนในการจราจรที่ดี ธรรมคือความจริงที่ว่ารถทั้งหลายจะวิ่งไปได้คล่องสะดวก จะต้องมีช่องทางและแล่นกันไปเป็นแถวเป็นแนวตามลำดับ ไม่ลักลั่น เกะกะกีดกั้นขัดขวางกัน วินัยคือกฎระเบียบกติกาและการปฏิบัติจัดการให้เป็นไปตามความจริงของธรรมนั้น ส่วนพิธีกรรมก็เหมือนกับสัญญาณและเครื่องหมายจราจร ตลอดจนการโบกมือเป่านกหวีดเป็นต้น ของตำรวจจราจร

จะดูธรรมก็ดูได้จากตัวบุคคลที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ ซึ่งเป็นชีวิตส่วนตัวที่มีจิตใจเข้าถึงธรรมชาติด้วยปัญญาที่รู้ความจริงของสัจธรรม ไม่ยึดติดถือมั่นต่อสิ่งทั้งหลาย มีใจเป็นอิสระ ส่วนด้านวินัยก็ดูที่การปฏิบัติตัวของท่าน ผู้เข้าถึงธรรม โดยเฉพาะพระอรหันต์ ที่ออกมาสู่ชีวิตจริงในโลก เมื่อมาอยู่ในสังคมก็รู้ความเป็นจริงตามสมมติ เขาบัญญัติกันอย่างไรก็ทำให้ถูกต้องตามนั้น และถ้าเป็นเรื่องที่ตกลงกำหนดไว้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมระยะยาว ก็ปฏิบัติเอาจริงเอาจังให้เป็นแบบอย่าง จนกระทั่งเป็นผู้นำในเรื่องของส่วนรวม เพราะตนเองไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตัวอีกแล้ว ธรรมกับวินัยก็ประสานรับกันหมด

พระอรหันต์ทำตามเหตุผลด้วยปัญญา ถ้าท่านทำอะไรแบบปล่อยตัวอย่างไม่รับผิดชอบ ก็จะเป็นเหตุให้คนเข้าใจผิดในเรื่องความดีความชั่ว และคนที่มีเจตนาไม่ดี อยากจะทำอะไรตามใจชอบ ก็จะเอาไปยกเป็นข้ออ้างได้ เมื่อคนทำตามก็จะเกิดผลเสียหายต่อส่วนรวม และต่อพระศาสนา พระธรรมวินัยก็จะอยู่ไม่ได้ เมื่อไม่ได้ทำเพื่อตัวเองก็ต้องทำตามเหตุผลและความสมควรซิ เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จึงเป็นแบบอย่างในการรักษาพระวินัย และการทำเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

ขอยกตัวอย่าง เช่น พระมหากัสสปะท่านปฏิบัติเคร่งครัดถือธุดงค์หลายข้อตลอดชีวิต เมื่อท่านชรามาก การปฏิบัติเคร่งครัดเหล่านั้นก็เป็นความยากลำบากและไม่สะดวกไม่สบายอย่างมาก ก็อาจจะมีผู้สงสัยว่า ในเมื่อท่านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านจะถือธุดงค์ไปทำไม คำว่าธุดงค์นั้นแปลว่า องค์ธรรมของผู้ขัดเกลากิเลส เป็นข้อปฏิบัติเคร่งครัดในการฝึกตน ก็ท่านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ไม่มีกิเลสที่จะต้องขัดเกลาแล้ว จะต้องไปถือธุดงค์ทำไม

แม้แต่พระพุทธเจ้าก็เคยทรงชวนท่านว่า ท่านแก่เฒ่าแล้ว ผ้าบังสุกุลที่ท่านห่มเนื้อไม่ดีและหนัก ให้เปลี่ยนมาใช้ผ้าเนื้อดีเบาๆ ที่ญาติโยมศรัทธาถวาย ฉันอาหารตามนิมนต์ และอยู่ใกล้ๆ พระองค์ แต่ท่านพระมหากัสสปะก็ยังยืนยันขอถือธุดงค์ที่ท่านถือมาเป็นประจำต่อไป

พระมหากัสสปะทูลตอบโดยยกเหตุผลว่า นอกจากเป็นความสบายของท่านแล้วก็ ปัจฉิมาชนตานุกัมปา เพื่อเห็นแก่ชุมชนผู้เกิดมาภายหลัง ทิฏฐานุคติ จะได้ถือเป็นแบบอย่างไว้ เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับคนรุ่นหลังต่อไป กิจกรรมทุกอย่างของพระอรหันต์ถือหลัก พหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ โลกานุกัมปายะ คือเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก

เพราะฉะนั้น จะต้องมองและศึกษาพระพุทธศาสนาให้ครบทุกด้านจึงจะสมบูรณ์ มิฉะนั้นจะเขวหรือดิ่งไปในแง่มุมด้านหนึ่งด้านเดียว แล้วก็จับผิดจับถูกกันวุ่นวายไปหมด

ถ้าพระพุทธศาสนาเหลือแต่พิธีกรรมจริง แต่พิธีกรรมนั้นยังมีความหมายและเนื้อหาสาระถูกต้อง ปัญหาก็ยังไม่ร้ายแรงนัก แต่สภาพในทางเสื่อมที่หนักในปัจจุบัน ก็คือ นอกจากพิธีกรรมจะมีความหมายเลือนลางหรือคลาดเคลื่อนออกไป จนกลายเป็นรูปแบบที่ไม่มีเนื้อหาสาระ หรือเป็นเปลือกที่มีเนื้ออย่างอื่นเข้ามาแทนเนื้อแท้แล้ว แม้แต่สังฆกรรมหลายอย่างที่เป็นส่วนแก่นสารสำคัญของพระวินัย ก็ยังได้เลือนลางลงไปกลายเป็นพิธีกรรมในความหมายที่คลาดเคลื่อนไปแล้วด้วย

เพราะฉะนั้น งานแก้ไขปรับปรุงที่จะต้องทำเกี่ยวกับพิธีกรรม เพื่อฟื้นความหมายและใส่เนื้อหาสาระกลับเข้าไปในรูปแบบของมัน จึงไม่ใช่เป็นเพียงงานในการเชื่อมโยงพิธีกรรมเข้าสู่พระวินัยเท่านั้น แต่เป็นงานในขั้นของพระวินัยโดยตรงทีเดียว ด้วยเหตุนี้ เรื่องของพิธีกรรมในบัดนี้จึงมีความสำคัญถึงขั้นเป็นเนื้อเป็นตัวของพระพุทธศาสนาด้วย

พิธีกรรมเป็นส่วนเบื้องต้นของวินัย โดยเป็นส่วนที่สื่อกับหมู่ชนส่วนใหญ่ให้เขาเข้ามามีส่วนร่วม และเป็นเครื่องนำเขาเข้าสู่วินัยที่จะนำต่อให้เข้าถึงเนื้อหาสาระที่เป็นธรรมะสูงขึ้นต่อไป และอีกด้านหนึ่งในทางกลับกัน วินัยก็เป็นที่ปรากฏตัวของธรรมในโลกแห่งสมมติของมนุษย์ด้วย ดังนั้นถ้าจะให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ด้วยดี จะต้องทำให้พิธีกรรมเป็นเครื่องนำคนเข้าสู่วินัยที่สูงขึ้นไป เพื่อเข้าถึงธรรมในที่สุด และถ้าเมื่อใดพิธีกรรมเป็นที่ปรากฏแสดงตัวของบุคคลผู้เข้าถึงธรรมแล้ว ที่จะมาสื่อสารกับมหาชนได้สะดวก เมื่อนั้นก็เป็นความสมบูรณ์แห่งความหมาย และเป็นความสำเร็จแห่งความมุ่งหมายของพิธีกรรม

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๒ – วินัยสื่อธรรม

No Comments

Comments are closed.