สันติอโศกเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อกฎหมายคณะสงฆ์ จริงหรือไม่?

24 กรกฎาคม 2531
เป็นตอนที่ 3 จาก 12 ตอนของ

สันติอโศกเป็นอิสระ
ไม่ขึ้นต่อกฎหมายคณะสงฆ์ จริงหรือไม่?

กฎหมายเป็นบทบัญญัติที่รัฐตราขึ้นไว้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และสันติสุขของสังคม พระอริยะทั้งหลายและแม้แต่คนดีโดยทั่วไป ย่อมเอื้อเฟื้อต่อกฎหมายของบ้านเมือง และตามความเป็นจริง กฎหมายของบ้านเมือง ย่อมมีผลบังคับต่อบุคคลทุกคนเสมอเหมือนกัน ไม่มีการยกเว้น หรือถ้าจะมีการยกเว้น ก็ย่อมยกเว้นด้วยบทบัญญัติในกฎหมายนั่นเอง

กฎหมายที่รัฐตราขึ้นไว้เพื่อการปกครองคณะสงฆ์ เรียกว่า กฎหมายคณะสงฆ์ พระโพธิรักษ์แห่งสันติอโศก ได้บวชเป็นพระภิกษุในคณะสงฆ์ไทย ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายคณะสงฆ์ฉบับปัจจุบัน ที่มีชื่อเฉพาะว่า พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยอุปสมบทครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๓ และอุปสมบทครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๑๖ และยืนยันว่าไม่เคยสึก (หนังสือ“สัจจะแห่งชีวิต” พิมพ์ครั้งที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๓๑, หน้า ๒๐๓, ๒๑๖-๒๑๗, ๒๒๒) แต่ปัจจุบันนี้ พระโพธิรักษ์กล่าวว่า ท่านไม่อยู่ในคณะสงฆ์ไทย แต่เป็นคณะสงฆ์สันติอโศกที่เป็นอิสระต่างหากออกไป ท่านจึงไม่ขึ้นต่อกฎหมายคณะสงฆ์ฉบับที่กล่าวถึงนั้น และเมื่อท่านไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคณะสงฆ์ ท่านจึงไม่ผิดกฎหมาย

การที่พระโพธิรักษ์กล่าวว่า ท่านไม่อยู่ในคณะสงฆ์ไทยนั้น ท่านอ้างเหตุผลว่า ท่านได้ลาออกแล้วจากคณะสงฆ์ไทย โดยได้ลาออกจากมหาเถรสมาคม ท่านจึงไม่อยู่ใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม และจึงไม่ต้องขึ้นต่อกฎหมายคณะสงฆ์อีกต่อไป

ประเด็นปัญหาอยู่ที่ว่า พระโพธิรักษ์ได้ออกไปแล้ว จากคณะสงฆ์ไทยจริงหรือไม่ ถ้าออกไปแล้วจริง ท่านก็ไม่ต้องขึ้นต่อกฎหมายคณะสงฆ์ ไม่ต้องอยู่ในปกครองของมหาเถรสมาคม

การเข้าอยู่ในคณะสงฆ์ไทย และการออกจากคณะสงฆ์ไทย กำหนดด้วยอะไร? การอยู่ในคณะสงฆ์ไทย หมายถึง การเป็นพระภิกษุสามเณรในคณะสงฆ์ไทย ความเป็นพระภิกษุสามเณรเกิดขึ้นจากการบวช ความเป็นพระภิกษุสามเณรในคณะสงฆ์ไทย ก็เกิดขึ้นจากการบวชในคณะสงฆ์ไทย ดังนั้น การเข้าอยู่ในคณะสงฆ์ไทย จึงกำหนดด้วยการบวช คือการบรรพชา(บวชเป็นสามเณร) และการอุปสมบท(บวชเป็นพระภิกษุ) ตามกฎเกณฑ์ของพระธรรมวินัยที่สืบต่อกันมาในคณะสงฆ์ไทย ส่วนการออกจากคณะสงฆ์ไทยก็กำหนดด้วยการลาสิกขา คือสึกออกไป เมื่อบวชตามนัยนี้ ก็เข้าอยู่ในคณะสงฆ์ไทย และขึ้นต่อกฎหมายคณะสงฆ์ทันทีโดยอัตโนมัติ การสมัครเข้าในคณะสงฆ์ไทยคือการบวช การลาออก คือการสึก กฎหมายคณะสงฆ์นั้น รัฐตราขึ้นบนฐานแห่งการยอมรับหลักการอันเนื่องด้วยพระธรรมวินัยนี้ กฎหมายนั้นจึงไม่อาจบัญญัติความหมายของการเข้าอยู่ในคณะสงฆ์ไทย และการออกจากคณะสงฆ์ไทยขึ้นมาใหม่ต่างหากจากหลักการนั้นได้ และถ้ากฎหมายคณะสงฆ์ไม่ยอมรับหลักการนี้ ก็ย่อมกลายเป็นกฎหมายที่เลื่อนลอยไร้ผลโดยสิ้นเชิง ด้วยไม่มีเครื่องกำหนดว่าจะให้ใช้อำนาจบังคับแก่ผู้ใด

ทุกคนที่มีคุณสมบัติมีสิทธิและเสรีภาพที่จะสมัครเข้าคณะสงฆ์ไทยด้วยการบวช(ถ้าสงฆ์ยอมรับ) และถ้าไม่ต้องการอยู่ในคณะสงฆ์ไทยต่อไป ก็ลาออกได้ด้วยการสึก ไม่มีใคร ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือแม้แต่รัฐจะมารอนสิทธิเสรีภาพนี้ได้ แต่เมื่อบวชเข้ามาแล้ว ตราบใดที่ยังไม่สึก (และยังไม่สิ้นชีวิต) ก็ยังอยู่ในคณะสงฆ์ไทย และขึ้นต่อกฎหมายคณะสงฆ์

พระโพธิรักษ์อ้างว่าตนออกจากคณะสงฆ์ไทย ด้วยการลาออกจากมหาเถรสมาคม คำพูดนี้ มีข้อพิจารณาว่า มหาเถรสมาคมเป็นองค์กรปกครองสงฆ์ ถ้าจะเทียบกับฝ่ายบ้านเมืองอย่างหลวมๆ ก็คล้ายกับคณะรัฐมนตรี

  1. ถ้าพระโพธิรักษ์ หมายความว่า ท่านลาออกจากมหาเถรสมาคมโดยตรง คำพูดของท่านก็ไม่มีความหมายใดๆ เลย เพราะท่านไม่ได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ไม่อยู่ในมหาเถรสมาคมอยู่แล้ว ท่านก็ไม่มีสิทธิ และไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องลาออกจากมหาเถรสมาคม เหมือนกับคนที่ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ก็ไม่มีสิทธิและไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องขอลาออกจากคณะรัฐมนตรี
  2. ถ้าพระโพธิรักษ์หมายความว่า ท่านลาออกจาก(การอยู่ใต้)การปกครองของมหาเถรสมาคม ท่านก็ต้องลาสิกขา เพราะเมื่อยังอยู่ในคณะสงฆ์ไทย ก็ย่อมอยู่ใต้อำนาจปกครองของมหาเถรสมาคมโดยอัตโนมัติ เมื่อลาสิกขา ออกจากคณะสงฆ์ไทย ก็พ้นจากการปกครองของมหาเถรสมาคมโดยอัตโนมัติเช่นกัน

โดยนัยนี้ การลาออกจากมหาเถรสมาคมของพระโพธิรักษ์ จึงไม่มีความจำเป็น ไม่มีผล และไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้น เพราะการปกครองของมหาเถรสมาคมเป็นสภาพติดเนื่องมากับการอยู่ในคณะสงฆ์ไทย ที่เกิดขึ้นจากการบวช และจะสิ้นสุดลงได้ด้วยการสึก (หรือรัฐออกกฎหมายเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์เสียใหม่)

อันที่จริง พระภิกษุสามเณรทั้งหลายที่บวชเข้ามา ก็ไม่เคยได้ยินว่ามีท่านผู้ใดบอกแจ้งประกาศตัว ขอสมัครเข้าอยู่ใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม ถ้าการอยู่ในปกครองของมหาเถรสมาคมต้องมีการสมัครต่อมหาเถรสมาคม หรือประกาศแจ้งความสมัครใจให้ปกครอง ก็คงไม่มีภิกษุสามเณร อยู่ใต้อำนาจการปกครองของมหาเถรสมาคมเลย ในทำนองเดียวกัน ถ้าการพ้นจากอำนาจปกครองของมหาเถรสมาคม จะสำเร็จได้ด้วยการแจ้งความจำนง พูดหรือประกาศว่า ขอลาออกจาก(การปกครองของ)มหาเถรสมาคม ก็หวังได้แน่นอนว่า จะมิใช่มีเพียงพระโพธิรักษ์และคณะของท่านเท่านั้นที่จะขอลาออก พระภิกษุสามเณรอีกจำนวนมากมายก็คงขอลาออกด้วยเช่นเดียวกัน และย่อมมิใช่เพียงพระโพธิรักษ์กับคณะเท่านั้นที่จะลาได้ พระภิกษุสามเณรอื่นๆ ก็ย่อมต้องลาได้เช่นกัน โดยเฉพาะภิกษุรูปใดจะทำความผิดหรือถูกดำเนินคดี ก็คงจะขอลาออกจากการปกครองของมหาเถรสมาคมเสียก่อนอย่างแน่นอน(โดยไม่ต้องสึก) ถ้าพระโพธิรักษ์กับคณะลาออกได้ พระภิกษุสามเณรอื่นก็ต้องลาออกได้เช่นกัน

ในเมื่อการสมัครเข้าคือการบวช และการลาออกคือการลาสิกขา จึงเป็นการชัดเจนอยู่แล้วว่า เมื่อผู้ใดบวชเข้ามาในคณะสงฆ์ไทยแล้ว ตราบใดที่ผู้นั้นยังไม่สึก เขาก็ย่อมยังอยู่ในคณะสงฆ์ไทย ยังขึ้นต่อกฎหมายคณะสงฆ์ และอยู่ใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม การพูด การเขียนแจ้ง หรือ การป่าวประกาศด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม ว่าตนลาออกจาก(การปกครองของ)มหาเถรสมาคม หรือลาออกจากคณะสงฆ์ไทย(โดยไม่ทำการลาสิกขา)ย่อมไม่มีผลและไม่มีความหมายใดๆ เลย

อนึ่ง นอกเหนือจากการสมัครด้วยการบวชเข้ามา และการลาสิกขาด้วยการสึกออกไป ตราบใดที่ยังอยู่ในคณะสงฆ์ คำว่า สมัคร และลาออก ย่อมไม่มีอีกเลย มีแต่การปฏิบัติตามหรือการละเมิดฝ่าฝืนเท่านั้น

พระโพธิรักษ์ได้บวชเข้ามาในคณะสงฆ์ไทยแล้ว และยังไม่ได้ลาสิกขา(สำหรับการบวชครั้งหลัง) ดังนั้น พระโพธิรักษ์จึงยังอยู่ในคณะสงฆ์ไทย (นอกจาก ถ้าพระโพธิรักษ์ขาดจากความเป็นพระภิกษุด้วยเหตุผลทางพระวินัย) และขึ้นต่อกฎหมายคณะสงฆ์โดยสมบูรณ์ ถ้าพระโพธิรักษ์ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคณะสงฆ์ ตั้งตนเป็นอุปัชฌาย์บวชพระเณรเองโดยไม่ได้รับตราตั้ง หรือตั้งสำนักสงฆ์โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ก็ดี การเป็นภิกษุโดยไม่สังกัดวัด ก็ดี หรือกรณีอื่นใดที่ขัดขืนหรือไม่เป็นไปตามกฎหมายคณะสงฆ์ ก็ดี พระโพธิรักษ์ย่อมชื่อว่าทำผิดกฎหมาย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จับปัญหาให้ตรงประเด็นพระโพธิรักษ์มีเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่จะลาออกจากคณะสงฆ์ไทย จริงหรือ? >>

No Comments

Comments are closed.