- ยิ่งก้าวถึงสุข ยิ่งใกล้ถึงธรรม
- ต้องการสุขแท้ แต่ยังทำไม่ถูกวิธี
- ปรนเปรอประสาททั้งห้า เป็นวิธีหาความสุขพื้นฐาน
- มนุษย์กับสัตว์อื่นหาสุขบำเรอประสาท เสมอเหมือนกัน แต่มนุษย์ก่อทุกข์ได้มหันต์ ยิ่งกว่าสัตว์เหล่าอื่น
- ปรนเปรอเท่าไรไม่รู้จักพอ ความเบื่อรอตัดหน้าความอิ่ม
- เอาสุขไปฝากไว้กับการบำเรอประสาท เลยต้องทุกข์ถนัด เมื่อประสาทนั้นไม่ประสิทธิ์
- จะพึ่งพาวัตถุ หรือพึ่งพาคนอื่น ก็ไม่เป็นสุขโดยอิสระ
- กล่อมประสาท กล่อมจิต เครื่องช่วยสำหรับผู้ไม่สามารถเป็นสุขด้วยตนเอง
- รู้จักกล่อม แทนที่จะทำให้หลง กลับพาไปหาอิสรภาพ
- สุขเพราะกล่อม ก็ใกล้กับสุขในความฝัน
- จะอยู่ด้วยการกล่อม หรือด้วยการปลอบขวัญ ก็ยังไม่พ้นการต้องพึ่งพา
- สุขเต็มอิ่มภายใน ด้วยลำพังจิตใจของตนเอง
- สุขแท้ เมื่ออยู่กับความจริงโดยไม่มีทุกข์
- มีสุขแท้ที่ไร้ทุกข์เป็นฐาน สุขอื่นทุกประการก็เต็มอิ่มจริง
- สุขสามระดับ มากับหลักปฏิบัติสามขั้น
- สุขแท้ อยู่ในวิถีแห่งอิสรภาพ
- อิสรภาพ คือหลักประกันของความสุขที่แท้
- ฝึกเว้นสุขแบบพึ่งพา เพื่อพัฒนาสุขที่เป็นอิสระ
- เว้นสุขบำเรอประสาท คือหัดเป็นสุขอย่างอิสระ ไม่ใช่จะหาทุกข์มาทน
- ศีลพุทธไม่ใช่ข้อห้าม แต่ตามจริงเป็นข้อหัด
- เมื่อสุขแท้ ก็ถึงธรรม
สุขเต็มอิ่มภายใน ด้วยลำพังจิตใจของตนเอง
ทีนี้มนุษย์จะก้าวต่อไปอย่างไร ก้าวต่อไปของมนุษย์ ในการแสวงหาชีวิตที่ดีและมีความสุขที่แท้ ก็คือการหาความสุขทางจิตใจแท้ๆ คราวนี้ก็มาถึงข้างในจิตใจของตัวเองเลย
ในสมัยโบราณก่อนพุทธกาลมาแล้ว คนจำนวนมากหาวิธีที่จะสร้างชีวิตที่ดีและมีความสุขกันต่างๆ นานา วิธีที่กล่าวมาข้างต้นเขาหากันทั้งหมดแล้วตั้งแต่ก่อนพุทธกาล จนกระทั่งในที่สุดเขาเห็นว่า ไม่ว่าจะหาออกไปถึงไหน ก็ยังไม่ถึงที่สุด ไม่สุขสม ก็หันเข้ามาแสวงหาภายในตนเอง
คนพวกหนึ่งก็ออกบวชเป็นฤาษีชีไพร ไปบำเพ็ญเพียรทางจิต ทำสมาธิ จนกระทั่งได้ฌาน ได้สมาบัติ พวกนี้ก็ดื่มด่ำกับภาวะทางจิตใจ จิตลงสู่ภาวะที่ลึกซึ้ง เขาเรียกว่าจิตหลุดพ้นจากสิ่งที่รบกวน หลุดพ้นจากสิ่งที่ทำให้ระคายเคือง พวกนี้ไม่มีความทุกข์เลย สามารถนั่งบำเพ็ญสมาธิอยู่ ๗ วัน ๑๕ วัน ไม่ต้องกินข้าวเลยก็ได้ มีความสุขมาก มีสมาธิดื่มด่ำ จิตใจแน่วแน่จริงๆ เพราะถึงฌาน ถึงสมาบัติ นี่ก็มาอีกแบบหนึ่ง พวกนี้ก็ปรากฏว่ามีความสุขมาก สุขจริงๆ
เอ ถ้าเราใช้หลักที่ว่ามาข้างต้นตรวจสอบดู ก็ดูจะไปกันได้ดี คือเป็นความสุขที่อยู่ได้โดยลำพังตนเอง ไม่ต้องอาศัยสิ่งภายนอก สามารถอยู่ด้วยใจตนเองคนเดียวเลย ตอนนี้ไม่ต้องมีวัตถุ ไม่ต้องมีอะไรเลย ก็มีความสุขได้ อยู่ด้วยตัวเอง อยู่ลำพังกับจิตใจของตัวเอง
เมื่อได้ความสุขแบบนี้แล้ว แม้แต่ป่วยไข้ก็สบาย เพราะว่าเราได้ความสุขถึงขั้นนี้ ทำสมาธิได้ ทำฌานได้ เวลาเจ็บป่วย ถึงแม้ว่าร่างกายของเราจะทุกข์จะเดือดร้อนก็ไม่เป็นไร เราก็ทำสมาธิ จิตใจของเราก็ดื่มด่ำ เราก็มีความสุข เราก็มีความสงบสบายได้ ชื่นฉ่ำสดใส ฤาษีโยคีหลายท่านก็มีความสุขแบบนี้ เหมือนอย่างที่บอกว่า อดอาหารกี่วันๆ แม้แต่ครึ่งเดือนก็อยู่ได้ สบาย มีความสุข อันนี้ก็เป็นวิธีแสวงหาความสุขอย่างหนึ่ง นับว่าประณีตยิ่งขึ้นแล้ว ดูคล้ายๆ ว่าเข้าหลักดี
แต่พระพุทธเจ้าตรัสเตือนว่ายัง ความสุขแบบนี้ เป็นความสุขภายในของจิต สุขในตัวของจิตเอง เป็นขั้นสูงแล้ว แต่มนุษย์ก็ไม่สามารถอยู่ในภาวะแห่งความสุขหรืออยู่ในอาการดื่มด่ำทางจิตนั้นได้ตลอดไป เขาจะต้องออกมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง เมื่อเขาออกมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง ก็ต้องเผชิญชีวิต เผชิญสภาพแวดล้อม อยู่ท่ามกลางสังคมอีก ถ้าเขาไม่ได้แก้ปัญหาเหล่านั้นให้จบสิ้นไป เขาก็ต้องกลับมาเผชิญต่อ
เพราะฉะนั้น คนที่หลบเข้าไปอยู่ในภาวะที่เรียกว่าฌานสมาบัตินั้น ตลอดเวลาที่อยู่ในภาวะนั้น เขาก็มีความสุข แต่เมื่อเขาออกมาจากฌานสมาบัติ มาพบปัญหา มันก็มีปัญหาต่อไป เขาก็วุ่นวาย ถ้าเขาแก้ปัญหาไม่เป็น มันก็จะแก้ปัญหาไม่เป็นอยู่นั่นแหละ
No Comments
Comments are closed.