- ยิ่งก้าวถึงสุข ยิ่งใกล้ถึงธรรม
- ต้องการสุขแท้ แต่ยังทำไม่ถูกวิธี
- ปรนเปรอประสาททั้งห้า เป็นวิธีหาความสุขพื้นฐาน
- มนุษย์กับสัตว์อื่นหาสุขบำเรอประสาท เสมอเหมือนกัน แต่มนุษย์ก่อทุกข์ได้มหันต์ ยิ่งกว่าสัตว์เหล่าอื่น
- ปรนเปรอเท่าไรไม่รู้จักพอ ความเบื่อรอตัดหน้าความอิ่ม
- เอาสุขไปฝากไว้กับการบำเรอประสาท เลยต้องทุกข์ถนัด เมื่อประสาทนั้นไม่ประสิทธิ์
- จะพึ่งพาวัตถุ หรือพึ่งพาคนอื่น ก็ไม่เป็นสุขโดยอิสระ
- กล่อมประสาท กล่อมจิต เครื่องช่วยสำหรับผู้ไม่สามารถเป็นสุขด้วยตนเอง
- รู้จักกล่อม แทนที่จะทำให้หลง กลับพาไปหาอิสรภาพ
- สุขเพราะกล่อม ก็ใกล้กับสุขในความฝัน
- จะอยู่ด้วยการกล่อม หรือด้วยการปลอบขวัญ ก็ยังไม่พ้นการต้องพึ่งพา
- สุขเต็มอิ่มภายใน ด้วยลำพังจิตใจของตนเอง
- สุขแท้ เมื่ออยู่กับความจริงโดยไม่มีทุกข์
- มีสุขแท้ที่ไร้ทุกข์เป็นฐาน สุขอื่นทุกประการก็เต็มอิ่มจริง
- สุขสามระดับ มากับหลักปฏิบัติสามขั้น
- สุขแท้ อยู่ในวิถีแห่งอิสรภาพ
- อิสรภาพ คือหลักประกันของความสุขที่แท้
- ฝึกเว้นสุขแบบพึ่งพา เพื่อพัฒนาสุขที่เป็นอิสระ
- เว้นสุขบำเรอประสาท คือหัดเป็นสุขอย่างอิสระ ไม่ใช่จะหาทุกข์มาทน
- ศีลพุทธไม่ใช่ข้อห้าม แต่ตามจริงเป็นข้อหัด
- เมื่อสุขแท้ ก็ถึงธรรม
สุขแท้ เมื่ออยู่กับความจริงโดยไม่มีทุกข์
แต่ข้อที่ดีพิเศษขึ้นไปก็มีอยู่บ้าง คือการที่ว่าจิตของเขามีความสามารถ มีความทนทาน มีคุณสมบัติที่ดีเพิ่มขึ้นมา ซึ่งจะทำให้เขาพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น ตลอดจนอาจจะมีผลในการที่สามารถใช้วิจารณญาณไตร่ตรองได้ดีขึ้น เพราะว่าจิตไม่วุ่นวาย
อันนี้แหละ คือสิ่งที่เราต้องการ และนี่แหละเป็นตัวชี้แนะ เป็นตัวบอกใบ้ว่าอะไรที่เราต้องการต่อไป คือเราไม่ต้องการแค่ให้จิตดื่มด่ำ มีความสุขกับภาวะในทางฌานสมาบัติเท่านั้น อันนั้นไม่ถือว่าจบสิ้น เราจะต้องมีชีวิตชนิดที่เผชิญหน้ากับความเป็นจริง และมีความสุขอยู่ได้ตลอดเวลา ต่อหน้าความจริงที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทันทีทุกรูปแบบ มิฉะนั้นแล้วมันจะมีความสุขชนิดที่ยังไม่พ้นทุกข์สักที อันนี้แหละเป็นจุดหัวใจที่สำคัญมาก จะพ้นทุกข์ได้จริงก็ตอนนี้ คือให้เราอยู่เป็นสุขแท้ในโลกแห่งความเป็นจริงได้
แต่การบำเพ็ญเพียรทางจิตที่จิตมันดื่มด่ำนี้ ได้ให้นัยมาอย่างหนึ่งว่า ในสภาพที่จิตสงบระงับดีแล้วนี่ จิตไม่วุ่นวาย เราจะใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองอะไรก็เห็นได้ชัดเจนขึ้น ปัญญาของเราจะเฉียบหรือแหลมคมขึ้น พร้อมทั้งพิจารณาสิ่งต่างๆ ด้วยความเป็นธรรม อย่างถูกต้องเที่ยงแท้ยิ่งขึ้น
ฉะนั้น สิ่งที่พระพุทธเจ้าต้องการก็คือ การพัฒนาต่อไปอีกขั้นหนึ่ง เมื่อกี้นี้เป็นขั้นของจิต เป็นความสุขขั้นจิต ขั้นต่อไปก็คือ ขั้นปัญญา คือการมาเผชิญหน้า และรู้เท่าทันความจริงด้วยปัญญา สาระของขั้นนี้ก็คือ การรู้จักโลกและชีวิตตามความเป็นจริง และเมื่อรู้เท่าทันตามความเป็นจริงแล้ว ก็ทำจิตใจของเราให้เป็นอิสระได้ พระพุทธศาสนาถือว่าจะต้องมาถึงขั้นนี้ ต่อเมื่อถึงขั้นนี้เท่านั้น จึงจะเป็นการมีชีวิตที่ดี และมีความสุขที่แท้จริง
เป็นอันว่า ชีวิตที่ดีมีความสุขที่แท้จริงจะเข้าถึงได้ด้วยปัญญา เมื่อกี้นี้เป็นขั้นจิต มาถึงตอนนี้เป็นขั้นปัญญา คือการที่เราจะมีความสุขมาถึงขั้นพ้นทุกข์ได้เด็ดขาด เป็นความสุขที่สมบูรณ์ เพราะไม่มีทุกข์เหลืออยู่เลย แม้จะเผชิญหน้าอยู่กับสิ่งที่เป็นปัญหาก็แก้ไขปัญหาได้ หรือว่าไม่ทำให้สิ่งนั้นเกิดเป็นปัญหาขึ้นแก่ตนเอง แล้วก็อยู่กับความเป็นจริง ลักษณะที่สำคัญก็คือ การที่อยู่กับความเป็นจริง อยู่กับสิ่งที่เป็นปัจจุบันอย่างดีที่สุด โดยไม่มีทุกข์แอบซ่อนอยู่ที่ไหนเลย
No Comments
Comments are closed.