- ยิ่งก้าวถึงสุข ยิ่งใกล้ถึงธรรม
- ต้องการสุขแท้ แต่ยังทำไม่ถูกวิธี
- ปรนเปรอประสาททั้งห้า เป็นวิธีหาความสุขพื้นฐาน
- มนุษย์กับสัตว์อื่นหาสุขบำเรอประสาท เสมอเหมือนกัน แต่มนุษย์ก่อทุกข์ได้มหันต์ ยิ่งกว่าสัตว์เหล่าอื่น
- ปรนเปรอเท่าไรไม่รู้จักพอ ความเบื่อรอตัดหน้าความอิ่ม
- เอาสุขไปฝากไว้กับการบำเรอประสาท เลยต้องทุกข์ถนัด เมื่อประสาทนั้นไม่ประสิทธิ์
- จะพึ่งพาวัตถุ หรือพึ่งพาคนอื่น ก็ไม่เป็นสุขโดยอิสระ
- กล่อมประสาท กล่อมจิต เครื่องช่วยสำหรับผู้ไม่สามารถเป็นสุขด้วยตนเอง
- รู้จักกล่อม แทนที่จะทำให้หลง กลับพาไปหาอิสรภาพ
- สุขเพราะกล่อม ก็ใกล้กับสุขในความฝัน
- จะอยู่ด้วยการกล่อม หรือด้วยการปลอบขวัญ ก็ยังไม่พ้นการต้องพึ่งพา
- สุขเต็มอิ่มภายใน ด้วยลำพังจิตใจของตนเอง
- สุขแท้ เมื่ออยู่กับความจริงโดยไม่มีทุกข์
- มีสุขแท้ที่ไร้ทุกข์เป็นฐาน สุขอื่นทุกประการก็เต็มอิ่มจริง
- สุขสามระดับ มากับหลักปฏิบัติสามขั้น
- สุขแท้ อยู่ในวิถีแห่งอิสรภาพ
- อิสรภาพ คือหลักประกันของความสุขที่แท้
- ฝึกเว้นสุขแบบพึ่งพา เพื่อพัฒนาสุขที่เป็นอิสระ
- เว้นสุขบำเรอประสาท คือหัดเป็นสุขอย่างอิสระ ไม่ใช่จะหาทุกข์มาทน
- ศีลพุทธไม่ใช่ข้อห้าม แต่ตามจริงเป็นข้อหัด
- เมื่อสุขแท้ ก็ถึงธรรม
สุขสามระดับ มากับหลักปฏิบัติสามขั้น
เท่าที่อาตมภาพกล่าวมานี้จะเห็นว่า การหาความสุขของมนุษย์ก้าวหน้ามาเป็นขั้นๆ จัดเป็นระดับได้ ๓ ระดับ คือ
ระดับที่ ๑ การบำรุงบำเรอประสาทสัมผัสที่ทางพระท่านเรียกว่า ขั้นกาม หรือกามาวจร เป็นการหาความสุขของคนทั่วไป แม้จนกระทั่งถึงสวรรค์ทั้ง ๖ ก็อยู่กับเรื่องของประสาทสัมผัสทั้งนั้น ล้วนแต่วุ่นวายอยู่กับกาม เป็นพวกกามาวจร
ทีนี้ ในขั้นกามนี้ ความสุขที่มาพร้อมด้วยชีวิตที่ดี ก็คือ การที่มีและการแสวงหาความสุขทางประสาทสัมผัสนั้น โดยให้อยู่ในกรอบของการควบคุมด้วยการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันระหว่างมนุษย์ในสังคม ให้เป็นไปอย่างไม่เบียดเบียนกัน
ภาวะที่อยู่ร่วมกันโดยมีระเบียบวินัย ไม่ละเมิดต่อกัน ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน นี้คือภาวะที่เรียกว่า ศีล เพราะฉะนั้น ความสุขในขั้นกามนี้ จึงอยู่ได้ด้วยศีล
ถ้ามนุษย์แสวงหาความสุขทางประสาทสัมผัส โดยมีกรอบของการไม่เบียดเบียนกันในทางสังคม คือ มีศีลแล้ว ก็ใช้ได้ เพราะฉะนั้น ความสุขระดับที่ ๑ คือ ขั้นกามนี้อยู่ได้ด้วยศีล คือการที่มนุษย์นี้ไม่เพียงแต่ต่างคนต่างจะหาให้ตัวเองว่า ฉันจะบำรุงบำเรอกาย ตา หู จมูก ลิ้น ของฉันเท่านั้น แต่คำนึงถึงคนอื่นด้วย เอื้อเฟื้อเกื้อกูลซึ่งกันและกันด้วย ถ้าอย่างนี้ ก็พออยู่กันได้ สังคมมนุษย์ก็พอมีความสุข แล้วตัวเราก็จะมีความสุขในท่ามกลางสังคมที่มีสันติสุข
เพราะฉะนั้น ขั้นที่ ๑ คือ ความสุขระดับกามนี้อยู่ในระดับของศีล
ระดับที่ ๒ คือ ความสุขที่ประณีตขึ้นมาในระดับจิตใจ ที่เข้าถึงโดยลำพังจิตเองแท้ๆ อย่างที่ว่า ทำสมาธิ ตลอดจนบำเพ็ญฌานสมาบัติ ตอนนี้พ้นจากเรื่องกามไปแล้ว ท่านเรียกว่า ขั้นรูปาวจร และอรูปาวจร ขอเรียกเป็นศัพท์เทคนิคหน่อย เป็นขั้นของความสุขทางจิต
พวกระดับ ๒ นี้ไม่ต้องอาศัยประสาทสัมผัสแล้ว ไม่ต้องมาบำเรอตา หู จมูก ลิ้น และกายแล้ว อยู่ด้วยจิตใจของตัวเองก็มีความสุขได้ ดื่มด่ำ เข้าถึงภาวะประณีตสูงสุดทางจิต บางพวกก็บอกว่า แหม เราได้เข้าถึงองค์เทพเจ้า ได้รวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระพรหม กับอาตมันใหญ่หรือปรมาตมัน อันนี้ก็เป็นเรื่องของรูปาวจร และ อรูปาวจร เป็นขั้นของจิตทั้งนั้น
จะเห็นว่า จากระดับของกาม ที่การหาความสุขอาศัยศีลช่วยควบคุม ก็ต่อไปถึงความสุขในระดับของจิตที่เรียกว่าเป็นรูปาวจร และอรูปาวจร ซึ่งอาศัยสมาธิ คือ การเข้าถึงความสุข ต้องใช้วิธีฝึกหัดปฏิบัติทางจิตใจ นี่คือการที่พระพุทธศาสนาสอนควบไปเป็นคู่ๆ คือ ระดับที่ ๑ กาม คู่กับศีล พอถึงระดับที่ ๒ จิต คู่กับสมาธิ
ระดับที่ ๓ คือ ต่อจากนั้น ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง ก็ถึงระดับสูงสุดที่สุขนั้นปราศจากทุกข์ เป็นขั้นของอิสรภาพ หรือขั้นวิมุตติ ก็คือระดับของปัญญา หมายความว่าเป็นระดับที่ความสุขเกิดจากการที่ปัญญาเห็นแจ้งความจริงของสิ่งทั้งหลาย แล้วถอนตัวออกมาเป็นอิสระลอยตัว ไม่ถูกครอบงำหรือกระทบกระเทือนด้วยความผันผวนปรวนแปรของโลกและชีวิต ความสุขอยู่ที่ปัญญาและความเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อสิ่งใดอื่น ระดับนี้เรียกว่าเป็นโลกุตตระและสำเร็จด้วยปัญญา
เราจะเห็นการจัดหมวดธรรมนี้เป็นสภาพ หรือภูมิชั้น ที่เรียกว่า กามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร และโลกุตตระ สายหนึ่ง
ส่วนทางด้านข้อปฏิบัติก็มี ศีล สมาธิ และปัญญาอีกสายหนึ่งมาบรรจบกัน
No Comments
Comments are closed.