- สถาปนาธรรมศาสตร์ (สถาปนาธรรมให้เกิดมีและยืนยงในสังคม)
- มงคลมาจากกรรมดี
- ความหมายของธรรมศาสตร์
- หน้าที่ของครูอาจารย์และนักศึกษา ต่อธรรมศาสตร์
- ปัญญากับความเป็นนักศึกษาวิชาธรรมศาสตร์ และการสถาปนาธรรมศาสตร์
- วิธีการสถาปนาธรรม
- สถาปนาธรรมในตนและในสังคม
หน้าที่ของครูอาจารย์และนักศึกษา
ต่อธรรมศาสตร์
ปัญหาเริ่มต้นว่าธรรมคืออะไร และวิธีการที่จะสร้างเสริมดำรงรักษาธรรมนั้นคือทำอย่างไร สิ่งที่ต้องการหรือจำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะรู้จักธรรม และรู้วิธีการที่จะรักษาสร้างเสริมธรรมนั้น ที่สำคัญก็คือ “ปัญญา” ปัญญา คือตัวความรู้ ตัวความเข้าใจในเหตุผล เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในการที่จะสร้างธรรมศาสตร์ให้เกิดมีขึ้น และในการที่จะดำรงรักษาธรรมศาสตร์นั้นไว้ เพราะฉะนั้น ในการที่จะสร้างและดำรงรักษาธรรมศาสตร์นั้น ก็จำเป็นที่จะต้องสร้างปัญญาให้เกิดขึ้นด้วย
กล่าวคือ การให้การศึกษาเล่าเรียนทั้งปวงนั้นก็เพื่อสร้างปัญญา ให้รู้จักว่าธรรมคืออะไร และรู้ว่าเราจะมีวิธีการอะไรที่จะเข้าถึงธรรม และดำรงรักษาธรรมนั้นไว้ ความจำเป็นของปัญญานั้นยิ่งมีมากขึ้นอีกเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในเมื่อมาเกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษาแห่งนี้ ที่เรียกชื่อว่า “ธรรมศาสตร์” ด้วย และเป็นสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาด้วย ซึ่งแปลได้ว่าเป็นการศึกษาระดับสูงสุดเท่าที่มี แม้ผู้ที่เข้ามาศึกษาอยู่ในสถาบันแห่งนี้ ก็มีชื่อเรียกเป็นพิเศษออกไป ต่างจากระดับการศึกษาชั้นต้นๆ ที่เคยเรียกกันว่านักเรียน เมื่อถึงขั้นนี้ก็เรียกใหม่ว่าเป็นนักศึกษา
คำว่า “นักศึกษา” นั้น แสดงความหมายอยู่ในตัวว่า เป็นผู้ใฝ่ศึกษาค้นคว้าแสวงปัญญา และฝึกหัดการใช้ปัญญาอย่างเอาจริงเอาจัง เพราะฉะนั้น ชีวิตของนักศึกษานั้น จึงเป็นชีวิตของการฝึกตนหรือพัฒนาตนด้วยการสร้างสรรค์แสวงปัญญา เป็นการเตรียมตัวเพื่อให้พร้อมที่จะไปรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่น พูดรวมๆ ว่า รับผิดชอบต่อสังคม
ฉะนั้น ภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่งของนักศึกษาในปัจจุบันก็คือ การที่จะแสวงปัญญา และฝึกหัดการใช้ปัญญา การใช้ปัญญานั้นหมายรวมไปถึงการที่ว่าจะพยายามเอาใจใส่อย่างแท้จริงต่อการแสวงหาความรู้ที่แท้จริง พยายามศึกษาค้นคว้าให้เข้าถึงความจริงของสิ่งต่างๆ อย่างถ่องแท้ และมีการแสดงออกอย่างมีเหตุผล ซึ่งเป็นเรื่องของปัญญาด้วยเช่นเดียวกัน และเหตุผลนี้ก็เป็นเรื่องของการรับผิดชอบ เพราะฉะนั้น ภารกิจที่สำคัญของนักศึกษา นอกจากภารกิจที่จะต้องศึกษาเล่าเรียนแล้ว ก็คือการที่จะพยายามแสดงออกอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อเตรียมตัวให้เป็นผู้พร้อมในการที่จะรักษาธรรมและรับผิดชอบในสังคมต่อไป
มีปัญหาต่อไปว่า ปัญญาตัวนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าพูดกันง่ายๆ ก็ว่า เกิดจากการศึกษาเล่าเรียน การที่ครูอาจารย์นำวิชาการมาบรรยายถ่ายทอดแก่ศิษย์ เราเรียกว่าทำให้เกิดปัญญาขึ้น แต่ความหมายอย่างนี้เป็นความหมายเล็กน้อยเท่านั้น มิใช่เป็นการแสดงถึงหน้าที่ของครูอาจารย์ หรือการทำให้เกิดปัญญาอย่างสมบูรณ์
ครูอาจารย์ทำหน้าที่หลายอย่าง ถ้าเรียกเป็นภาษาบาลี หน้าที่อย่างหนึ่ง เราเรียกว่าเป็นสิปปทายก หรือ ศิลปทายก สิปปทายก แปลว่า ผู้ถ่ายทอดหรือให้ศิลปวิทยา หมายความว่า ครูอาจารย์ทั้งหลายนี้ ได้ช่วยทำหน้าที่สืบต่อวิชาการ สั่งสมความรู้ไว้ ศึกษาค้นคว้าให้ลึกซึ้งกว้างขวางออกไป แล้วนำมาถ่ายทอดแก่คนที่เรียกว่า ศิษย์ หรือนักศึกษา นักเรียนทั้งหลาย เพื่อให้มีความรู้ตามไปด้วย และนักศึกษาหรือนักเรียนเหล่านั้นก็จะได้ช่วยกันค้นคว้าวิชาการนั้นให้กว้างขวางยิ่งๆ ขึ้นไปอีก เป็นการสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางวิชาการ
พร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่ง การที่ครูอาจารย์นำวิชาการนั้นมาถ่ายทอดแก่ศิษย์ ก็เพื่อช่วยให้ศิษย์ได้มีวิชาความรู้ในการที่จะไปประกอบสัมมาชีพ การประกอบสัมมาชีพนั้นก็เป็นวิธีการหนึ่งในการที่จะช่วยเหลือทั้งตนเองและผู้อื่น คือเมื่อพึ่งตนเองได้แล้ว ทำหน้าที่ของตนเองได้พร้อมดี เมื่อตนเองไม่มีปัญหาแล้ว ก็จะสามารถช่วยเหลือผู้อื่น นำวิชาการไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้ด้วย หน้าที่ของครูอาจารย์ในการถ่ายทอดศิลปวิทยาอย่างนี้เรียกว่า เป็นหน้าที่ในฐานะศิลปทายก
แต่ครูอาจารย์มิได้มีหน้าที่เพียงอย่างเดียวเท่านี้ ครูอาจารย์ยังมีหน้าที่อีกอย่างหนึ่งคือความเป็นกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นหน้าที่ที่สัมพันธ์โดยตรง หรือเป็นคู่กันกับหน้าที่ของศิษย์หรือนักศึกษาในฐานะที่เป็นผู้แสวงปัญญา คำว่า “กัลยาณมิตร” นี้อาจจะเป็นศัพท์ที่แปลก ถ้าแปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ก็แปลว่า เพื่อนที่ดี หรือเพื่อนแท้ เพื่อนแท้นี้คืออย่างไร ทำหน้าที่อะไร หน้าที่ของครูที่เป็นกัลยาณมิตร คือการแนะนำชี้ช่องทางในการแสวงปัญญาให้ศิษย์รู้จักใช้ปัญญา และฝึกอบรมในการใช้ปัญญานั่นเอง ครูอาจารย์ที่สอนให้ศิษย์รู้จักใช้ความคิด เป็นคนมีเหตุผลและรู้จักแสดงออกอย่างมีความรับผิดชอบคือผู้ทำหน้าที่ของกัลยาณมิตร
ในการศึกษาเล่าเรียนนั้น ย่อมมีภารกิจที่เป็นส่วนของการให้การศึกษาที่กล่าวมานี้ทั้ง ๒ ประการ ส่วนท่านทั้งหลายที่เป็นนักศึกษา ก็ย่อมมีภารกิจที่ตอบสนองต่อฝ่ายคณาจารย์ ๒ ประการเช่นเดียวกัน คือในแง่ของการรับถ่ายทอดศิลปวิทยาการที่จะนำไปประกอบอาชีพ และการที่จะทำให้วิชาการนั้นบังเกิดประโยชน์เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป อย่างหนึ่ง และในแง่ของการเตรียมตัวสร้างสมอบรมตนในทางคุณธรรม ในทางความรับผิดชอบต่างๆ ในการเสริมสร้างปัญญา ความรู้จักคิดเหตุผล เพื่อให้เป็นผู้พร้อมที่จะดำรงชีวิตที่ดี อันเกื้อกูลต่อสังคมที่ตนรับผิดชอบอย่างหนึ่ง อันนี้นับว่าเป็นภารกิจ และเป็นความรับผิดชอบของนักศึกษา
No Comments
Comments are closed.