— หน้าที่ของครูหรือผู้ให้การศึกษา

14 กันยายน 2525

หน้าที่ของครูหรือผู้ให้การศึกษา

ต่อไปนี้ยังมีเรื่องที่ต้องพูดอีกนิดหน่อย เอาละในแง่เนื้อหาสาระของการศึกษา ถือว่าได้พูดพอสมควรแล้ว ทีนี้จะพูดถึงว่า การศึกษาจะต้องมีองค์ประกอบด้านบุคคล ใครเล่าคือองค์ประกอบที่สำคัญในการศึกษา

ในขบวนการให้การศึกษาโดยเฉพาะที่จัดขึ้นเป็นรูปแบบ เป็นระเบียบแบบแผน เช่น เป็นระบบโรงเรียน เป็นสถาบันต่างๆ เหล่านี้ จะมีบุคคลผู้เป็นองค์ประกอบในการศึกษาที่สำคัญ ๒ ฝ่ายคือ ครูฝ่ายหนึ่ง กับศิษย์อีกฝ่ายหนึ่ง ผู้ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการศึกษานี้ เป็นตัวการที่จะยังกิจกรรมการศึกษาให้ดำเนินไป ครูเป็นสื่อชักนำหรือเหนี่ยวนำการศึกษาให้เกิดแก่ศิษย์ ศิษย์เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากสื่อนั้นในการยังการศึกษาให้เกิดขึ้นแก่ตน ผู้ทำหน้าที่เป็นครู ซึ่งพยายามชักนำการศึกษาให้เกิดขึ้นแก่ศิษย์ จะต้องคอยสำรวจตนเองว่า ได้ทำหน้าที่เพื่อจะทำปัญญาหรือการศึกษาที่แท้จริงให้เกิดขึ้นแล้วหรือยัง หน้าที่ของครูในขบวนการการศึกษา สรุปได้มี ๒ อย่าง

อย่างที่หนึ่ง จะใช้คำศัพท์เป็นภาษาบาลีเสียเลย คงจะไม่เป็นที่น่าเบื่อจนเกินไป อย่างที่หนึ่งเราเรียกหน้าที่ของครูว่า เป็น สิปปทายก หรือศิลปทายก สิปปทายกคืออะไร สิปปทายก คือผู้ให้ศิลปวิทยาหรือผู้ถ่ายทอดศิลปวิทยา หมายความว่า ครูอาจารย์นั้น ทำหน้าที่ถ่ายทอดศิลปวิทยาการแก่ศิษย์ เป็นผู้สืบต่อมรดกทางวัฒนธรรมและทางปัญญาของมนุษยชาติ มนุษย์เราค้นคว้าแสวงหาความรู้วิชาการต่างๆ ขึ้นมาแล้ว ก็มีบุคคลกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่ช่วยกันรักษาสืบต่อไว้ และแสวงหาค้นคว้าวิชาการนั้นๆ ให้กว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้น ครูเป็นผู้ทำหน้าที่อันนี้ และการนำเอาวิชาการเหล่านี้ที่สั่งสมสืบต่อมา มาถ่ายทอดให้แก่ศิษย์เรียกว่า ทำหน้าที่สิปปทายก ศิษย์ได้วิชาเหล่านี้ไป ก็จะได้พยายามสร้างสมและแสวงหาสืบต่อทำวิชาการเหล่านั้นให้ลึกซึ้งกว้างยิ่งขึ้นไป นอกจากนั้นก็จะเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์ในการที่จะไปประกอบสัมมาอาชีวะ ทำมาหาเลี้ยงชีพดำรงชีวิตพึ่งตนในสังคมนี้ได้ และสามารถนำศิลปวิทยานั้นไปใช้ทำกิจการให้เป็น ประโยชน์แก่สังคมต่อไป

หน้าที่ประการที่สอง เรียกว่าเป็นหน้าที่ของกัลยาณมิตร หน้าที่ของกัลยาณมิตรก็คือ การที่จะเป็นผู้ชี้แนะ เป็นผู้กระตุ้นเตือนให้ศิษย์รู้จักคิดรู้จักใช้ปัญญา ฝึกการใช้ปัญญา และรู้จักรับผิดชอบสร้างสมคุณธรรมให้เกิดมีขึ้นในตน ให้เป็นคนไม่มีทุกข์ไม่มีปัญหา อันนี้เป็นสิ่งสำคัญเป็นหน้าที่ในทางการศึกษาโดยตรง เป็นหน้าที่หลักของครู หรือหน้าที่ที่ทำให้ได้ชื่อว่าเป็นครู ครูได้ทำหน้าที่นี้หรือไม่ ในช่วงเวลาแห่งการศึกษาสมัยปัจจุบันที่ดำเนินมาแล้ว ในแง่ของการดำเนินการ กล่าวได้ว่าเราได้มีความผิดพลาดบกพร่องในแง่นี้ไปมากคือ ครูอาจารย์ได้ทำหน้าที่ในแง่สิปปทายกมากเกินไป หรือไปเน้นเฉพาะในแง่นั้น ให้ศิลปวิชาชีพแก่ศิษย์เสร็จแล้วไม่ทำหน้าที่กัลยาณมิตรเลย เพราะฉะนั้น ผลพลาดแห่งการศึกษาจึงได้เกิดขึ้น

พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์เป็นกัลยาณมิตรของสรรพสัตว์ และพระองค์อุบัติขึ้นมาแล้ว ก็ได้ทรงชี้ทางให้แก่สัตว์ทั้งหลาย สั่งสอนบอกสิ่งที่เป็นความจริงทำให้สัตว์ทั้งหลายผู้ตกอยู่ในอำนาจแห่งชาติ ชรา มรณะ สามารถทำตนให้หลุดพ้นจาก ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส ได้ ส่วนครูนั้นก็ดำเนินตามปฏิปทาของพระบรมครู คือพระศาสดาหรือพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นครูก็จะต้องทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรด้วย จะต้องสำรวจตนเองว่าเราได้ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรหรือไม่

กัลยาณมิตรจะชี้แนะให้ศิษย์รู้จักมองความหมายและแสวงหาคุณค่าของสิ่งต่างๆ ที่เข้าไปเกี่ยวข้องตามแนวทางของปัญญา กระตุ้นให้เกิดความคิดที่ถูกต้อง เช่นอย่างเด็กเล็กๆ จะสัมผัสและมีความต้องการเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่แวดล้อมตัวเขา แต่การเข้าไปเกี่ยวข้องสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมนั้นบางทีก็เป็นการเกี่ยวข้องอย่างผิดวิธี เช่นเด็กไปมองเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดความสนใจหรือมีความต้องการขึ้น แล้วครูหรือใครก็ตามที่อยู่ใกล้เคียงเป็นผู้ใหญ่ก็จะพูดบอกหรือแนะนำเขา เขาอาจจะถามว่า เครื่องเล่น รถยนต์เล่นเล็กๆ นี้คืออะไร ครูในขณะนั้น จะเป็นพ่อแม่หรือครูที่แท้จริงก็ตาม จะทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้ความคิดแก่เขาตอนนี้แหละ คือการศึกษาที่ถูกต้องและผิดพลาดจะเกิดขึ้น

ถ้าเป็นการให้การศึกษาที่ผิด ก็จะเป็นการให้การศึกษาเพื่อสนองตัณหา กระตุ้นอัตตาให้โผล่ออกมาเพื่อขยายตัวหรือเพื่อเป็นเป้าสำหรับถูกกดถูกบีบ การบอกกล่าวจะเป็นไปในรูปที่ว่า เออ ของนี้มันดีนะ มันสวยนะ อันนี้สีสวย อันนั้นไม่สวย เอาอันนี้ดีกว่า อย่างนี้เป็นต้น นี้คือการเริ่มต้นมิจฉาศึกษา หรือไม่ได้ให้การศึกษาเลย

แต่ถ้ารู้จักการศึกษาที่ถูกต้องก็จะแนะให้เด็กเข้าใจ ถึงคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งนั้นๆ มีไว้เพื่อใช้ประโยชน์นั้นๆ เราควรจะใช้มันหรือไม่ เพื่ออะไร จะใช้อย่างไร อย่างนี้เป็นต้น นี้คือการชี้แนะช่องทางให้เกิดความคิดหรือปัญญาที่ถูกต้อง นี้คือหน้าที่ของกัลยาณมิตรในขบวนการศึกษา

แม้ในการเป็นอยู่ประจำวัน การใช้เครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ก็มีทางชี้แนะให้การศึกษาได้เสมอ เช่น การรับประทานอาหาร ให้รู้จักมองในแง่คุณค่าต่อชีวิต หรือประโยชน์ต่อสุขภาพยิ่งกว่าจะคำนึงถึงความเอร็ดอร่อยสนุกสนาน หรือความโก้หรูฟุ่มเฟือย จะซื้อเครื่องใช้ให้คำนึงถึงประโยชน์ในการใช้และความทนทานเป็นต้น ยิ่งกว่าความสวยงาม จะดูภาพยนตร์ให้พิจารณาเนื้อหาสาระคติด้วย มิใช่เพียงสนุกเพลิดเพลินอย่างเดียว จะคบเพื่อนให้คำนึงถึงคุณธรรมยิ่งกว่าจะนึกถึงการไปสนุกด้วยกัน ดังนี้เป็นต้น

ถึงแม้ในระดับมหาวิทยาลัยนี้ก็เช่นเดียวกัน การชี้ช่องทางให้ถูกต้องยังมีอยู่ ศิษย์หรือนิสิตนักศึกษาก็ยังต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ อยู่แล้ว ครูอาจารย์นั้นแหละอาจจะให้ความคิดได้ว่า ท่านควรจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นสิ่งนี้อย่างไร ควรแสวงหาคุณค่าอะไร หรือสิ่งนั้นมีคุณค่าต่อท่านเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างไร ท่านควรจะใช้ประโยชน์อะไรจากมัน ดังนี้เป็นต้น อันนี้ก็คือหน้าที่ของครูในฐานะกัลยาณมิตร แล้วขบวนการศึกษาให้เกิดปัญญาที่แท้ ให้เกิดการศึกษาที่แท้ก็ตามมา อันนี้เป็นหน้าที่ในฝ่ายของครูอาจารย์

No Comments

Comments are closed.