อายุวัฒนกถา

27 มีนาคม 2526
เป็นตอนที่ 1 จาก 13 ตอนของ

ภาค ๑ ชีวิตกับสังคม

อายุวัฒนกถา1

มีพุทธพจน์แห่งหนึ่งในอังคุตตรนิกาย ตรัสไว้ว่า

“ธรรม ๕ ประการนี้ เป็นสิ่งที่คนปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นของหาได้ยากในโลก กล่าวคือ อายุ วรรณะ สุข ยศ สวรรค์

“ธรรม ๕ ประการนี้ เราไม่กล่าวว่าจะพึงได้มาด้วยการอ้อนวอน หรือด้วยความปรารถนา ถ้าการได้ธรรม ๕ ประการนี้ จะมีได้ด้วยการอ้อนวอน หรือเพียงด้วยปรารถนาเอาแล้วไซร้ ใครๆ ในโลกนี้จะพึงพลาดขาดอะไร

“อริยสาวกผู้ปรารถนาอายุ ไม่ควรอ้อนวอนหรือมัวเพลิดเพลินกับอายุ เพราะเห็นแก่อายุนั้นเลย แต่อริยสาวกผู้ปรารถนาอายุ พึงดำเนินตามข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่ออายุ เพราะข้อปฏิบัติอันเป็นไปเพื่ออายุ ที่ดำเนินตามแล้วนั่นแหละ จึงจะเป็นไปเพื่อการได้อายุ อริยสาวกนั้นก็จะเป็นผู้ได้อายุ ไม่ว่าจะเป็นของทิพย์หรือของมนุษย์

“อริยสาวกผู้ปรารถนา วรรณะ สุข ยศ สวรรค์ ก็ไม่ควรอ้อนวอนหรือมัวเพลิดเพลินกับ วรรณะ สุข ยศ สวรรค์ เพราะเห็นแก่ วรรณะ สุข ยศ สวรรค์นั้นเลย แต่อริยสาวกผู้ปรารถนา วรรณะ สุข ยศ สวรรค์ พึงดำเนินข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อ วรรณะ สุข ยศ สวรรค์….”

องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๔๓/๕๑-๕๓

คำสำคัญที่พึงเน้นในโอกาสนี้ คือ “อายุ” อายุนั้น ตามความหมายทั่วไป เช่นในพจนานุกรมไทย แปลว่า เวลาที่ดำรงชีวิตอยู่ เวลาชั่วชีวิต ช่วงเวลานับตั้งแต่เกิดหรือมีมาจนถึงเวลาที่กล่าวถึง พูดสั้นๆ ว่า ช่วงเวลาแห่งชีวิต หรือช่วงชีวิตนับตั้งแต่เกิดมา แต่อายุที่เป็นคำเดิมในภาษาบาลีมีความหมายลึกลงไปอีก หมายถึง เนื้อตัวของชีวิต หรือพลังที่เป็นแกนของชีวิต ก็ได้ คือหมายถึง พลังที่ทำให้ชีวิตสืบต่อดำเนินไป หรือพลังที่ช่วยให้องค์ประกอบต่างๆ ของชีวิตเจริญงอกงามขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ ในบาลีมากมายหลายแห่ง อายุจึงหมายถึง ความมีชีวิตยืนยาว หรือการเป็นอยู่สืบต่อไปได้ยาวนาน อย่างที่เรียกกันทั่วไปว่า อายุยืน แม้คำว่าอายุในพุทธพจน์ที่ยกมากล่าวข้างต้น ก็มีความหมายตามนัยอย่างหลังที่ได้แสดงมานี้

อายุเป็นตัวนำ เป็นแกน เป็นพื้นฐานรองรับคุณสมบัติอย่างอื่นๆ ทั้งหมด เพราะเหตุว่า ต่อเมื่อยังทรงอายุ คือมีชีวิตเป็นไปอยู่ คุณสมบัติอย่างอื่นๆ เช่น วรรณะ สุข ยศ และความไร้โรค เป็นต้น จึงจะมีได้และจึงจะบังเกิดประโยชน์แก่ผู้นั้นได้ ฉะนั้น อายุคือพลังขับเคลื่อนชีวิต และความมีชีวิตยืนยาว จึงเป็นธรรมสำคัญที่คนทั่วไปปรารถนา

ข้อปฏิบัติที่จะทำให้มีอายุยืน หรือเรียกอย่างสำนวนบาลีว่า ปฏิปทา อันเป็นไปเพื่อการได้อายุนั้น แยกได้เป็น ๒ ด้าน คือด้านร่างกายหรือฝ่ายรูปธรรม กับด้านจิตใจหรือฝ่ายนามธรรม

ทางด้านรูปธรรม อายุย่อมอาศัยความมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง มีสุขภาพดี ไม่มีโรคร้ายเบียดเบียน หรือมีโรคเบาบาง การรู้จักบำรุงร่างกายอย่างมิใช่ปรนเปรอ การระวังรักษาสุขภาพ การป้องกันและบำบัดโรค การรู้จักบริโภคปัจจัยสี่และปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมด้วยใช้ปัญญาอย่างที่เรียกว่ามีโยนิโสมนสิการ

ในทางพระศาสนา ท่านมองเห็นความสำคัญของการรักษาสุขภาพทางกายเพื่อดำรงอายุไว้ โดยถือว่าเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งของชีวิตที่ดีในระดับทิฏฐธัมมิกัตถะ คือ ประโยชน์ปัจจุบัน ดังตัวอย่างพุทธโอวาทประทานแก่พระเจ้าแผ่นดินแคว้นโกศล

เรื่องมีว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลมักเสวยพระกระยาหารมาก เมื่อไปเฝ้าพระพุทธเจ้า จึงประทับนั่งอึดอัด ทั้งพระวรกายก็อุ้ยอ้าย พระพุทธเจ้าทรงประสงค์จะอนุเคราะห์ จึงตรัสแนะนำด้วยพุทธโอวาทคาถาหนึ่ง ซึ่งแปลเป็นไทยได้ใจความว่า

“คนที่มีสติอยู่ตลอดเวลา รู้จักประมาณในการบริโภค
ย่อมมีเวทนาเบาบาง แก่ช้า ครองอายุอยู่ได้นาน”

สํ.ส. ๑๕/๓๖๕/๑๑๙; ธ.อ. ๖/๑๑๙

พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงให้เด็กหนุ่มคนหนึ่งจำคาถานั้นไว้ และคอยกล่าวในเวลาเสวยทุกครั้ง เป็นเครื่องเตือนพระสติให้ทรงยับยั้งไม่เสวยเกินประมาณ ต่อมาไม่นานนักก็ทรงมีพระวรกายกระปรี้กระเปร่า ทรงสามารถวิ่งขับจับม้าจับกวางได้ มีพระราชดำรัสชื่นชมพระมหากรุณาของพระพุทธเจ้าว่า ได้ทรงอนุเคราะห์พระองค์ ทั้งด้วยประโยชน์ที่มองเห็น และด้วยประโยชน์ที่เลยสายตา

พุทธดำรัสที่ตรัสย้ำอยู่เสมอ ก็คือ คำแนะนำให้บริโภคสิ่งต่างๆ ด้วยโยนิโสมนสิการ คือ รู้จักพิจารณากินใช้ด้วยคำนึงถึงคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งนั้นๆ เพื่อให้พอดีที่จะไม่เกิดโทษ แต่ให้เป็นคุณประโยชน์ เป็นเครื่องส่งเสริมชีวิตที่ดีงาม เช่น กินอาหารไม่ใช่เพื่อเห็นแก่สนุกสนาน มัวเมา แต่เพื่อหล่อเลี้ยงร่างกายให้เป็นอยู่ผาสุก สามารถดำเนินชีวิตที่ดีงามประเสริฐได้ ใช้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันและบรรเทาหนาวร้อนลมแดด คุ้มภัย พักผ่อน ใช้ชีวิตส่วนตัว เป็นต้น มิใช่เพื่อฟุ้งเฟ้อแข่งขัน หรือเมาเกียรติเมายศอวดข่มใครๆ ผู้ใดคุมตนให้ปฏิบัติได้ตามที่ปัญญาบอกอย่างนี้ ท่านเรียกว่ามีนิสสรณปัญญา คือ มีปัญญาที่ทำชีวิตให้เป็นอิสระ หรือมีปัญญาพาไปสู่ความรอด หรือมีปัญญาสำหรับปลดปล่อยตัวให้เป็นอิสระ ถ้าสามารถปลดปล่อยตัวให้เป็นอิสระได้แล้ว ก็นับว่ามีความพร้อม หรือมีคุณสมบัติพื้นฐานที่จะไปช่วยปลดปล่อยผู้อื่นต่อไปได้อย่างดี เมื่อชีวิตเป็นอิสระปลอดโปร่ง ปราศจากสิ่งบีบคั้น ก็ย่อมเกื้อกูลแก่การที่อายุจะดำรงอยู่ได้ยืนนาน

พุทธพจน์อีกแห่งหนึ่ง แสดงข้อปฏิบัติที่เกื้อกูลแก่อายุเรียกว่า อายุสสะ หรืออายุวัฒนธรรม คือ ธรรมที่ช่วยให้อายุยืน มี ๕ ประการ คือ2

  1. สัปปายการี สร้างสัปปายะ คือ ทำอะไรๆ ให้เป็นที่สบายเกื้อกูลแก่สุขภาพ
  2. สัปปาเย มัตตัญญู แม้ในสิ่งที่สบายนั้น ก็รู้จักประมาณทำแต่พอดี
  3. ปรณตโภชี บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย (เช่น เคี้ยวให้ละเอียด)
  4. กาลจารี ปฏิบัติตนให้เหมาะในเรื่องเวลา เช่น รู้จักจัดเวลา ทำพอดีเวลา
  5. พรหมจารี รู้จักถือพรหมจรรย์ตามควร

แม้ว่าการบริหารคือปฏิบัติตนในด้านกายจะเป็นสิ่งสำคัญแต่กายก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิต ชีวิตนั้นประกอบด้วยรูปและนาม ต้องมีทั้งกายและจิต จึงจะมีชีวิตอยู่ได้ และกายกับจิตนั้นย่อมสัมพันธ์ต้องอาศัยกันส่งผลถึงกัน ในการที่จะมีอายุยืน นอกจากระวังรักษาและบำรุงกายแล้ว ก็จะต้องมีข้อปฏิบัติทางจิตใจด้วย คือจะต้องรู้จักระวังรักษาบำรุงจิตใจของตน เครื่องระวังรักษาบำรุงจิตใจก็คือคุณธรรม การฝึกอบรมจิตใจและเจริญปัญญา

ในบรรดากุศลธรรมที่เกื้อกูลแก่อายุนั้น ข้อที่มีผลมากโดยตรง ได้แก่ เมตตาและกรุณา คือ ความรัก ความปรารถนาดี มีไมตรี คิดช่วยเหลือเกื้อกูล ปราศจากพยาบาทความคิดร้ายผูกใจเจ็บแค้น ดำรงในอหิงสา คือ ปราศจากวิหิงสา ไม่ข่มเหงเบียดเบียนผู้อื่น ไม่คิดร้ายมุ่งทำลาย ดังพุทธพจน์ว่า

“การที่บุคคลละปาณาติบาต เว้นขาดจากการทำลายชีวิต วางทัณฑะ วางศัสตรา มีความละอายต่อบาป ประกอบด้วยเมตตา ใฝ่ใจช่วยเหลือ เกื้อกูลแก่ปวงสัตว์ นี้คือข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อความมีอายุยืน”

ม.อุ. ๑๔/๕๘๓/๓๗๗-๘ (คล้าย ที.ปา. ๑๑/๑๓๖/๑๖๔)

ความรัก เมตตา ความมีไมตรี ย่อมส่งเสริมความมีอายุยืนทั้งแก่ตนเอง และแก่ผู้อื่น สำหรับตนเอง เมื่อมีเมตตา จิตใจก็ผ่องใส สดชื่นเบิกบาน ระบบต่างๆ ในร่างกายก็ไม่ตึงเครียดทำงานคล่องแคล่วเบาสบาย ช่วยให้มีสุขภาพดี เมื่อต่างคนต่างก็รักใคร่ ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้ายกัน ต่างก็มีชีวิตอยู่ได้ยาวนานเท่ากับช่วยเหลือกันให้มีอายุยืนไปด้วยกัน ยิ่งกว่านั้น เมื่อมีเมตตากรุณา หันมาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อุดหนุนส่งเสริมกัน คนที่สมควรได้รับความช่วยเหลือ ก็มีคนช่วยเหลือ เช่น คนที่ขาดแคลนก็ได้รับการแบ่งปันด้วยการให้อาหารและปัจจัยยังชีพอย่างอื่นๆ เมื่อคนขัดสนยากไร้อ่อนแอ ได้รับอาหารและปัจจัยยังชีพทำให้เป็นอยู่ได้หรือกลายเป็นคนแข็งแรง ก็เท่ากับได้รับการต่ออายุให้ยืนยาวหรือทำอายุให้มั่นคง เมื่อพระภิกษุผู้เว้นจากการประกอบศิลปวิทยาเพื่อหาเลี้ยงชีพ เพราะทำหน้าที่ดำรงและสืบทอดธรรมในหมู่มนุษย์ ได้รับการอุดหนุนด้วยปัจจัยสี่มีภัตตาหารเป็นต้น ก็เท่ากับได้รับการถวายอายุให้สามารถบำเพ็ญกิจของผู้ดำรงและสืบทอดธรรมอยู่ได้ต่อไป ส่วนทางฝ่ายผู้ให้หรือผู้บำรุงอุดหนุนนั้น ก็ชื่อว่าได้ประกอบกุศลกรรม ซึ่งก่อให้เกิดความปิติยินดี แลละความมีจิตใจเบิกบานผ่องใส เป็นพลังส่งเสริมอายุ สามารถช่วยหนุนให้มีอายุยืนยาวได้ เมื่อให้อายุแก่ผู้อื่นแล้ว ตนเองก็เป็นผู้ได้อายุด้วยเช่นเดียวกัน พุทธพจน์ที่แสดงอานิสงส์เช่นนี้มีหลายแห่ง เป็นต้นว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ให้ เมื่อให้อาหาร ชื่อว่าให้ฐานะ ๕ ประการ แก่ผู้รับ คือให้อายุ ให้วรรณะ สุข พละ และปฏิภาณ ครั้นให้อายุแล้วก็เป็นผู้มีส่วนได้อายุด้วย…”

องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๓๗/๔๔-๔๕; เทียบ องฺ.จตุกฺก ๒๑/๕๘/๘๓

เมื่อคนทั่วไปหรือคนส่วนใหญ่ มีไมตรีจิต รักใคร่ ปรารถนาดีต่อกัน กระแสจิตเมตตาก็จะแผ่เอิบอาบซึมซ่านกระจายไปทั่วทั้งสังคม บันดาลให้เกิดความสงบสุขรู้สึกร่มเย็นแผ่ปกคลุมอยู่ทั่วไป จะไปไหน ทำอไร ก็ไม่ต้องคอยเสียวสะดุ้งหวาดระแวง ในสภาพเช่นนี้ ชีวิตด้านกายก็ปลอดภัย จิตใจก็มีสุขภาพสมบูรณ์ นับว่าเป็นสภาพอุดมคติของสังคม ที่ทางพระศาสนาจะชี้แนะให้คนนึกถึง เพื่อกระตุ้นเตือนให้พากันประพฤติธรรม ซึ่งหากเป็นได้เช่นนี้ คนทั้งหลายก็ย่อมจะมีอายุยืนยาวทั่วกัน และจะยืนยาวยิ่งขึ้นไป3 ได้ผลยิ่งกว่ายาชูกำลังหรือยายืดขยายชีวิตอย่างที่เรียกว่ายาอายุวัฒนะในฝ่ายวัตถุ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าความมีอายุยืนจะเป็นสภาพที่น่าปรารถนาอย่างยิ่ง แต่ในทางธรรม ท่านมิได้ถือว่า ความมีอายุยืนนั้นเป็นตัวตัดสินคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต เครื่องตัดสินคุณค่าที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ว่า ระหว่างที่อายุยังทรงอยู่ ไม่ว่าจะสั้นหรือยาวก็ตาม บุคคลได้ใช้ชีวิตนั้นอย่างไร คือได้อาศัยชีวิตนั้น ก่อกรรมชั่วร้ายเป็นโทษ หรือทำสิ่งดีงามเป็นประโยชน์ พอกพูนอกุศลธรรมหรือเจริญกุศลธรรม ปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามอำนาจของอวิชชาตัณหาหรือดำเนินชีวิตด้วยปัญญาและกรุณา ชีวิตที่งอกงามด้วยกุศลธรรมอำนวยประโยชน์สุขแก่ตนเองและผู้อื่น แม้จะสั้น ก็ยังประเสริฐกว่าชีวิตซึ่งยืนยาว แต่เป็นที่สั่งสมและแผ่ขยายความทุกข์ ดังตัวอย่างพุทธพจน์ในธรรมบทคาถาว่า

“ผู้ใดเกียจคร้าน หย่อนความเพียร ถึงจะมีชีวิตอยู่ได้ร้อยปีก็ไม่ดีอะไร ชีวิตของผู้มีความเพียรมั่นคง แม้เพียงวันเดียวก็ยังประเสริฐกว่า”

“ผู้ใดทรามปัญญา ไม่มีสมาธิ ถึงจะมีชีวิตอยู่ได้ร้อยปีก็ไม่ดีอะไร ชีวิตของผู้มีปัญญา มีสมาธิ แม้เพียงวันเดียวก็ยังประเสริฐกว่า”

“ผู้ใดไม่เห็นอุดมธรรม ถึงจะมีชีวิตอยู่ได้ร้อยปีก็ไม่ดีอะไร ชีวิตของผู้เห็นอุดมธรรม แม้เพียงวันเดียวก็ยังประเสริฐกว่า”

ขุ.ธ. ๒๕/๑๘/๒๙-๓๐

ชีวิตที่ไร้ธรรมและเป็นโทษ ยิ่งอยู่นาน ก็ยิ่งมีโอกาสพอกพูนอกุศลให้หนาแน่น และแผ่ขยายทุกข์ภัยให้มากมายกว้างขวางยิ่งขึ้น

ส่วนชีวิตที่ชอบธรรมและบำเพ็ญคุณประโยชน์ แม้จะอยู่เพียงเวลาสั้นก็ยังมีคุณค่ามาก ดังที่เรียกว่าเป็นชีวิตอันประเสริฐ หากยิ่งอยู่ยาวนานมากขึ้น ก็ยิ่งเป็นกำลังส่งเสริมธรรมให้เข้มแข็งและสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้พรั่งพร้อมยิ่งขึ้นแก่พหูชน

กล่าวอีกนัยหนึ่ง โดยเฉพาะสำหรับท่านซึ่งเป็นผู้นำในการเชิดชูธรรมและในงานสร้างสรรค์ประโยชน์สุข อายุของผู้ทรงธรรมก็เท่ากับหรือเป็นส่วนสำคัญแห่งอายุของธรรมที่จะรุ่งเรืองอยู่ในสังคมด้วย อายุของผู้บำเพ็ญคุณประโยชน์ก็เท่ากับเป็นส่วนสำคัญแห่งอายุของประโยชน์สุขในสังคมนั้นด้วย ยิ่งผู้ทรงธรรมมีอายุยืนเท่าใด ก็ยิ่งช่วยให้ธรรมมีกำลังรุ่งเรืองอยู่ในโลกหรือในสังคมนั้นยืนนานมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งผู้สร้างสรรค์ประโยชน์สุขมีอายุยืนนานมากเท่าใด ก็ยิ่งช่วยให้ประโยชน์สุขดำรงอยู่ในโลกหรือในสังคมยืนนานมากขึ้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้อายุของผู้ทรงธรรมและบำเพ็ญประโยชน์สุข จึงมีคุณค่ามาก เพราะมีความหมายสัมพันธ์เป็นอันเดียวกัน หรืออย่างน้อยก็เป็นเครื่องเกื้อหนุนแก่อายุธรรมและอายุของประโยชน์สุขที่จะมีผลต่อสังคมหรือต่อประชาชน

เท่าที่กล่าวมาทั้งหมด ในเรื่องข้อปฏิบัติเกี่ยวกับอายุและการทำให้อายุยืนนี้ มีข้อสรุปอย่างหนึ่ง กล่าวคือ ไม่ว่าจะหลีกเลี่ยงเหตุซึ่งจะตัดรอนหรือทอนชีวิตให้สั้น ก็ดี จะปฏิบัติตามวิธีการฝ่ายรูปธรรมในการทำให้มีอายุยืน ก็ดี จะดำเนินตามข้อปฏิบัติทางจิตใจเพื่อให้ประสบอายุวัฒนะ ก็ดี หรือจะทำให้อายุมีคุณค่าตลอดเวลาที่ดำรงอยู่ด้วยการทรงธรรมและสร้างสรรค์คุณประโยชน์ ก็ดี ทุกอย่างนี้ ล้วนต้องอาศัยกุศลธรรมข้อหนึ่ง เป็นแกน เป็นหลัก หรือเป็นประธาน จึงจะสำเร็จได้ กุศลธรรมข้อนั้น ก็คือความไม่ประมาท ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นธรรมเอก เป็นตัวนำหน้า และเป็นตัวเร่งเร้าให้กุศลธรรมข้ออื่นๆ ลุกขึ้นจากความเฉื่อยชา นิ่งเฉย ออกมาสู่สนามหรือเวทีแห่งการปฏิบัติการ

ความไม่ประมาท คือ ความไม่ปล่อยตัวให้เลื่อนลอยไร้หลัก ไม่ปล่อยใจให้มัวหลงใหลเพลิดเพลินสยบหยุดเขวหรือเตลิดไป ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงผ่านไปเปล่าหรือคลาดจากประโยชน์ ไม่ละเลยโอกาสและกิจที่ควรทำตามจังหวะ ตื่นตัวพร้อมอยู่เสมอ มีสติคอยกระตุ้นเตือน ให้ทำในที่ควรทำ ให้เร่งรัดในที่ควรเร่งรัด ให้ป้องกันแก้ไขและให้ระวังในที่ควรป้องกันแก้ไขและพึงระวัง ให้ยั้งหยุดหรือละเลิกได้ในที่ควรยั้งหยุดหรือละเลิก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คอยชี้บอกเร้าเตือนให้นำเอาธรรมข้ออื่นๆ ทุกอย่างออกมาปฏิบัติให้ตรงตามตำแหน่งหน้าที่และจุดจังหวะของธรรมนั้นๆ ความไม่ประมาทมีหน้าที่สำคัญอย่างนี้ จึงเป็นแกนนำที่จะทำให้การปฏิบัติตามอายุวัฒนธรรมสำเร็จได้ ทำให้ชีวิตประสบและอำนวยประโยชน์สุขทั้งระดับที่ตามองเห็นและระดับที่เลยสายตา4 ตลอดจนทำให้ชีวิตเท่าที่ดำรงอยู่ตลอดอายุของตนเป็นชีวิตที่มีคุณค่าอย่างสูง แม้กระทั่งทำให้ประสบอมตธรรมและทำให้กลายเป็นอมตะ ดังพุทธภาษิตที่ว่า “ความไม่ประมาทเป็นทางอมตะ ผู้ไม่ประมาทย่อมไม่มีมรณะ”5

ในสมัยปัจจุบัน ได้มีประเพณีนิยมในการทำบุญอายุ การทำบุญอายุนั้น เกิดจากการปรารภริเริ่มของท่านเจ้าของอายุเอง ก็มี เกิดจากญาติมิตรวิสาสิกชนคนที่เคารพนับถือริเริ่มจัดให้ ก็มี

หากว่าเกิดจากท่านเจ้าของอายุริเริ่มจัดขึ้นเอง การทำบุญอายุนั้นก็เป็นการแสดงความรู้ตระหนักถึงความสำคัญ และให้ความสำคัญแก่ชีวิตของตนซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยสมควรแก่ความสำคัญของอายุและชีวิตนั้น ตลอดจนเป็นการระลึกถึงและให้ความสำคัญแก่บุคคลผู้มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับชีวิตของตน มีบิดามารดาเป็นต้น ตลอดถึงบรรพบุรุษที่เหนือขึ้นไป และย้อนลงมาถึงบุตรภรรยาญาติมิตรบุคคลใกล้ชิดที่เกื้อกูลแก่ชีวิตของตน เมื่อระลึกและยอมรับความสำคัญแล้ว ก็แสดงออกด้วยการอุทิศกุศล ให้การสงเคราะห์ แสดงไมตรีจิต และมีกิจกรรมสนุกสนานบันเทิงเป็นต้น สุดแต่ประเพณีนิยม กำลัง ความดำริริเริ่มและความเห็นสมควร นอกจากนั้นก็เป็นโอกาสที่จะทำบุญมีทานเป็นต้น ประกอบกุศลกรรม สร้างสมสิ่งที่ดีงามเพิ่มพูนให้แก่ชีวิต ซึ่งจะมีผลสะท้อนกลับมาให้เกิดความปีติยินดี เอิบอิ่ม ผ่องใส เบิกบานใจ อำนวยผลดีทางด้านจิตใจ เสริมกำลังอายุตามหลักอายุวัฒนธรรมให้ยิ่งขึ้นไปอีก

หากว่า การทำบุญอายุนั้นเกิดจากบุคคลอื่นๆ ริเริ่มร่วมกันจัดให้ ก็เป็นเครื่องแสดงยืนยันเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่า ท่านเจ้าของวันเกิดนั้นได้มีชีวิตที่เป็นคุณประโยชน์ ซึ่งทำให้ผู้อื่นมองเห็นคุณค่าแห่งอายุของตน อย่างน้อยก็เป็นผู้มีอุปการะแก่หมู่ชนหรือกลุ่มบุคคลที่จัดงานให้นั้น ซึ่งมักเป็นไปตามอัตราสัมพันธ์ระหว่างคุณธรรมของผู้จัด กับโลกธรรมที่ท่านเจ้าของวันเกิดกำลังประสบเสวยอยู่ในเวลานั้นๆ

ไม่ว่าการทำบุญอายุนั้น จะจัดขึ้นด้วยการปรารภหรือริเริ่มอย่างไรก็ตาม ย่อมกลายเป็นโอกาสให้บุคคลผู้รู้จักมนสิการได้เจริญอัปปมาทธรรม คือความไม่ประมาท เมื่อพิจารณาในด้านหนึ่งผู้ไม่ประมาทย่อมมองเห็นว่า การที่ได้เจริญอายุจนมาบรรจบครบรอบปีหนี่งๆ หรือตลอดช่วงวัยหนึ่งๆ นั้น นับว่าได้ผ่านพ้นมาแล้วด้วยดีจากภยันตรายต่างๆ มากมาย ที่เป็นอุปสรรคและศัตรูต่ออายุ ตลอดจนได้ก้าวล่วงสิ่งล่อเร้ายั่วยวนต่างๆ ที่จะชักจูงให้เขวพลาดออกไปจากวิถีทางแห่งการตั้งตนไว้ชอบ สามารถประคับประคองตัวอยู่ได้ในชีวิตที่ดีงามตลอดมา จัดได้ว่าเป็นชัยชนะที่สำคัญอย่างหนึ่ง จึงเป็นข้อที่ควรปีติยินดี ทั้งแก่ตนเอง และแก่เหล่าบุคคลผู้หวังดี เมื่อได้พิจารณาทบทวนเหตุการณ์ต่างๆ อนุสรณ์ถึงอัปปมาทธรรม ซึ่งนำตนให้บรรลุสวัสดิภาพมาถึงเพียงนี้แล้ว ก็จะเห็นตระหนักความสำคัญที่จะตั้งใจบำเพ็ญความไม่ประมาทนั้นสืบต่อไปข้างหน้า ทั้งในด้านที่จะดำรงอายุให้ยืนยาวด้วยอายุวัฒนธรรมทางกายและทางใจ และในด้านที่จะทำให้การดำรงอายุของตนนั้นมีคุณค่าแก่การดำรงอายุของธรรมและประโยชน์สุขในโลกของมนุษย์

วันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ นี้ เป็นมงคลสมัยคล้ายวันเกิดของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และเป็นวาระพิเศษที่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มีอายุครบ ๕๐ ปี บรรดาญาติมิตรและวิสาสิกชนโดยเฉพาะผู้ที่เป็นศิษย์ถือเป็นโอกาสดีงาม อันสำคัญและสมควรที่จะแสดงออกซึ่งความมีน้ำใจปรารถนาดีและความเคารพนับถือ จึงได้จัดพิธีฉลองและจัดเตรียมเครื่องแสดงสัมมาคารวธรรมต่างๆ เช่น หนังสือธรรม สำหรับอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ แจกชำร่วยแก่ผู้ไปอวยพรและร่วมงานพิธีในมงคลสมัยนั้น การแสดงออกเช่นนี้ แม้เป็นกิจกรรมหนึ่งเดียว แต่เป็นเครื่องประกาศพร้อมกันถึงคุณความดีของบุคคลสองฝ่าย ทั้งฝ่ายท่านเจ้าของวันเกิดและฝ่ายผู้จัดเตรียมพิธีมงคล กล่าวคือ ในฝ่ายท่านเจ้าของวันเกิด ย่อมเป็นเครื่องแสดงว่า เป็นผู้มีความดีงาม ความเกื้อกูลและอุปการคุณต่างๆ ที่ได้บำเพ็ญไว้ อันเป็นเหตุให้บุคคลที่ได้รับหรือได้รู้ประจักษ์แล้ว มีความระลึกและเคารพนับถือเป็นพื้นฐานสำหรับจะนำมาแสดงออก ส่วนในฝ่ายญาติมิตรศิษย์และวิสาสิกชนผู้ขวนขวายจัดเตรียมพิธีมงคล กิจกรรมนี้ก็เป็นเครื่องยืนยันถึงความมีน้ำใจ ความมีไมตรีและกตัญญูกตเวทิตาธรรมเป็นต้น ที่เป็นแรงกำลังชักนำให้มีการแสดงออกเช่นนั้น

ในโอกาสมงคลทำบุญอายุของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์นี้ อาตมภาพได้รับคำบอกแจ้งว่า ท่านเจ้าของวันเกิดใคร่อาราธนาให้กล่าวหรือเขียนถ้อยคำบางอย่างเพื่อจะได้อ่าน ได้ฟังไว้เป็นเครื่องเตือนสติเนื่องในกาละอันสำคัญนั้น แต่อาตมภาพมีความรู้สึกว่าตนเอง ในฐานะที่ยังเป็นผู้ต้องการคำเตือนสติ ยากที่จะยอมรับฐานะเป็นผู้กล่าวคำเตือนสตินั้นได้ น่าจะยอมรับด้วยซ้ำว่าการขอคำเตือนสตินั้น ก็เป็นคำเตือนสติอย่างหนึ่ง ข้อนี้เป็นเหตุให้คิดหาทางเลือกสำหรับการปฏิบัติที่เหมาะสมล่าช้าอยู่ และได้มองเห็นว่า ทางปฏิบัติที่สมควรและไม่ผิดก็คือ การนำเอาพระธรรมบางข้อที่เข้ากับโอกาสมงคลนี้มาแสดง ซึ่งนอกจากอาตมภาพจะได้ทำหน้าที่เป็นเพียงเสมือนทางผ่านแห่งพระดำรัสของพระพุทธเจ้า นำพุทธพจน์มากล่าว สุดแต่ท่านเจ้าของงานบุญนี้จะพิจารณาไตร่ตรองแล้ว ก็จะได้อาศัยพุทธภาษิตซึ่งเป็นอุดมมงคลเป็นเครื่องอนุโมทนาและอำนวยพรแด่ท่านเจ้าของวันเกิดในมงคลสมัยนี้ด้วย

อาตมภาพได้เริ่มรู้จักและรู้สึกต่ออาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เมื่อเวลาเกือบ ๒๐ ปีมาแล้วในฐานะเป็นผู้มีความคิดริเริ่มกว้างไกล เป็นนักคิดที่คิดได้ในแง่มุมแปลกใหม่ซึ่งชวนให้พิจารณา มีสายตาคม รู้จักเลือกคน มีความคิดและเลือกแหล่งความคิด สามารถรวมกำลังจากคนเจ้าความคิดและคนมีฝีมือในด้านต่างๆ มาผลิตงานที่มีพลังและก้าวหน้า ทั้งตนเองก็สามารถพูดและเขียนแสดงความรู้ความคิดเห็น ที่กระตุ้นและเร้าเตือนให้ผู้อื่นเกิดความรู้สึก และปลุกปลูกข้อคิดที่เป็นทางเจริญปัญญาได้เป็นอย่างดี อาตมภาพเองนี้ ก็ได้รับประโยชน์จากความรู้และความคิดของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์อยู่เรื่อยมา มองในแง่หนึ่ง อาจถือได้ว่าอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์เป็นนักเตือนสติของสังคมนี้ ซึ่งมีทัศนะคมและแสดงออกได้ตรงแรง แต่การที่จะมองเห็นเป็นผู้เตือนสติอย่างนี้ได้คงจะต้องขึ้นต่อผู้อ่านและฟัง ที่จะรู้จักถือเอาประโยชน์ โดยไม่เป็นผู้ถูกอำนาจความโกรธ ความขัดเคืองกระทบใจ หรือความรู้สึกไม่พึงใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้ามาปิดบังหรือชักพาออกไปไม่ให้รับพิจารณาความรู้หรือทัศนะที่เสนอนั้นเสียก่อน

ในทางธรรมถือว่า ความรู้จักคิด หรือคิดเป็น หรือรู้จักพิจารณาด้วยปัญญา เป็นหลักสำคัญที่จะทำให้เกิดความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมนำไปสู่ความเห็นถูกต้องที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ ตลอดจนความรู้แจ้งหยั่งเห็นสัจจธรรมในที่สุด ความรู้จักคิด รู้จักพิจารณาโดยแยบคายนี้ เรียกชื่อว่า โยนิโสมนสิการ บุคคลผู้มีความปรารถนาดีและมีความสามารถช่วยชี้แนะกระตุ้นเตือนผู้อื่นให้เกิดโยนิโสมนสิการ รู้จักคิดพิจารณาด้วยปัญญาอย่างถูกต้องท่านเรียกว่าเป็นกัลยาณมิตร กัลยาณมิตรที่มีลักษณะครบถ้วนสมบูรณ์ท่านแนะไว้ว่าพึงประกอบด้วยคุณสมบัติ ๗ ประการ คือ น่ารัก ให้เกิดความรู้สึกสนิทสนมสบายใจอยากเข้าไปหา (ปิโย) น่าเคารพ (ครุ) น่าเจริญใจ เป็นคนฝึกหัดขัดเกลาฟื้นฟูตนอยู่เสมอ ทำให้นึกถึงพูดถึงได้ด้วยความภูมิใจ (ภาวนีโย) รู้จักพูด สอนหรือเป็นที่ปรึกษาได้ดี (วัตตา) ทนต่อถ้อยคำ รับฟังผู้อื่นได้ ยอมให้วิพากษ์วิจารณ์ (วจนักขโม) ชี้แจงแถลงเรื่องที่ยากลึกซึ้งได้และนำให้รู้เรื่องที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป (คัมภีรัญจะ กถัง กัตตา) ไม่ชักนำไปในเรื่องเสียหายหรือเหลวไหลไร้สาระ (โน จัฏฐาเน นิโยชเย)6

กัลยาณมิตรที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมเต็มที่ทุกข้อทุกประการคงจะมิใช่หาได้ง่าย หากพบได้ก็ย่อมเป็นการดี แต่คนที่ใฝ่ธรรมแสวงปัญญาแท้จริง แม้จะใฝ่หากัลยาณมิตร แต่ก็ย่อมจะมิใช่คอยรอหวังพึ่งกัลยาณมิตรอยู่โดยไม่ขวนขวายเพียรพยายามฝึกหัดปรับปรุงตนเอง คนที่มีโยนิโสมนสิการเป็นพื้นเดิมอยู่บ้างแล้วนั้น อย่าว่าถึงจะต้องรอให้พบกัลยาณมิตรชนิดที่เพียบพร้อมสมบูรณ์เลย ขอเพียงให้พบคนมีปัญญาก็แล้วกัน เขาก็สามารถรับเอาปัญญาของคนนั้นมาพัฒนาชีวิตของเขาได้ เอาไปทำประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ แม้แต่ถ้าผู้มีปัญญานั้นจะมีลักษณะท่าทีที่ไม่น่าพึงพอใจแก่เขา เขาก็คบหาได้ รู้จักมองในทางที่เป็นประโยชน์ เหมือนดังถือตามพุทธภาษิตที่ว่า

“พึงมองเห็นคนมีปัญญา ที่ชอบชี้โทษ พูดจาข่มขี่ เสมือนเป็นผู้บอกขุมทรัพย์ คนอย่างนั้น ที่เป็นบัณฑิตพึงคบเถิด เมื่อคบคนอย่างนั้นย่อมดีขึ้น ไม่เลวลง”

ขุ.ธ. ๒๕/๑๖/๒๕

ในวงการของปัญญาชน ย่อมเป็นที่รู้จักกันดีว่า อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นผู้นำทางความคิดที่สำคัญมากท่านหนึ่ง ความคิดความเห็นหรือทัศนะของท่าน มีผู้เห็นตามถือตามและคอยติดตามกันอยู่มากมาย ถ้าไม่พูดถึงวงการระหว่างประเทศซึ่งเป็นเรื่องไกลออกไป กล่าวเฉพาะในสังคมไทยนี้ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ย่อมมีอิทธิพลทางความคิดอยู่มากทีเดียวและน่าจะเด่นชัดในหมู่คนรุ่นใหม่

ว่าตามหลักธรรม ความคิดความเห็น คือ ทิฏฐินั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะความคิดความเห็น เป็นตัวนำการพูดการทำ การประพฤติปฏิบัติ และการดำเนินชีวิตทั้งหมด ถ้าบุคคลคิดเห็นอย่างไร เขาก็ดำเนินชีวิตของเขาไปอย่างนั้น ถ้าสังคมยอมรับนิยม ยึดถือตามทิฏฐิอย่างใด สังคมก็สร้างสรรค์สภาพของตนให้เป็นไปตามทิฏฐิอย่างนั้น ถ้าความคิดความเห็นคือทิฏฐิตั้งไว้ผิด วิถีชีวิต วิถีของสังคมก็ผิดไปตาม ถ้าความคิดความเห็นคือทิฏฐิตั้งไว้ถูกต้อง วิถีชีวิต วิถีของสังคมก็ดำเนินไปถูกต้อง เมื่อมองในระดับสังคม บุคคลที่เป็นผู้นำทางความคิดจึงมีความสำคัญมาก ที่จะช่วยให้สังคมนั้นดำเนินไปด้วยดีหรือไม่ เพราะฉะนั้นในทางพระพุทธศาสนาจึงถือว่า ถ้าผู้นำทางความคิด เป็นผู้มีความเห็นถูกต้องเป็นคนสัมมาทิฏฐิ ก็นับว่าเป็นผู้สร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ประชาชน แต่ถ้าผู้นำทางความคิดเป็นผู้มีความเห็นผิด เป็นคนมิจฉาทิฏฐิ ก็นับว่าเป็นผู้ชักนำความเสื่อมความพินาศมาให้แก่ประชาชน ดังจะเห็นตัวอย่างได้ในพุทธพจน์ต่อไปนี้

“ภิกษุทั้งหลาย เอกบุคคล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิใช่ประโยชน์ มิใช่ความสุขแก่พหูชน หากแต่เพื่อความพินาศ เพื่อเสียประโยชน์ เพื่อความทุกข์แก่ชนจำนวนมาก แก่เทวะและมนุษย์ทั้งหลาย เอกบุคคลนั้นได้แก่ คนมีมิจฉาทิฏฐิ มีทัศนะวิปริตผิดพลาด เขาย่อมชักพาพหูชนให้หันออกจากธรรมที่ถูกที่ชอบ ให้ตั้งอยู่ในสิ่งที่มิใช่ธรรม”

“ภิกษุทั้งหลาย เอกบุคคล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่พหูชน เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนจำนวนมาก แก่เทวะและมนุษย์ทั้งหลาย เอกบุคคลนั้นได้แก่ คนมีสัมมาทิฏฐิ มีทัศนะไม่วิปริตผิดพลาด เขาย่อมชักนำพหูชนให้ออกจากสิ่งที่มิใช่ธรรม ให้ตั้งอยู่ในหลักที่ถูกต้องชอบธรรม”

องฺ.เอก. ๒๐/๑๙๑-๒/๔๔.

ตามที่ทราบนั้น อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ก็ได้เน้นย้ำอย่างมาก ในเรื่องการแก้ปัญหาเกี่ยวกับความคิดผิดเห็นผิดในสังคมไทย เพียรพยายามชี้ให้เห็นความสำคัญว่าจะต้องสร้างสัมมาทิฏฐิขึ้นมาให้ได้ การมองเห็นความสำคัญของการเลิกล้างมิจฉาทิฏฐิ และสร้างเสริมสัมมาทิฏฐิ ย่อมเป็นการสอดคล้องกับหลักการของพระพุทธศาสนา และคงจะต้องช่วยกันพิจารณาชี้แจงต่อไปอีกว่าอะไรเป็นมิจฉาทิฏฐิ อะไรเป็นสัมมาทิฏฐิให้ชัดแจ้งยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะคิดจะพิจารณา พูด หรือกระทำการกันในเรื่องใดๆ ก็ตาม ในที่สุดจุดรวมยอด ก็อยู่ที่ปัญหาว่าจะแก้ปัญหาของสังคมไทย หรือจะพัฒนาสังคมไทยให้สำเร็จได้อย่างไร

มองในด้านสาระสำคัญ ชีวิตของสังคมก็มีสภาพคล้ายกับชีวิตของบุคคล ชีวิตของแต่ละคนที่จะดำเนินไปด้วยดี ย่อมต้องอาศัยความสืบเนื่องติดต่อ เช่นความรู้จักพื้นเพภูมิหลังรากฐานความสัมพันธ์เกี่ยวข้องแต่เดิมของตน และการสั่งสมประสบการณ์ต่างๆ ตลอดมาจนถึงสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถ้ามีความรู้จักตัวเองต่อเนื่องตลอดสายอย่างนี้ เมื่อประสบสถานการณ์แปลกใหม่ที่จะต้องแก้ปัญหาหรือเกี่ยวข้อง ก็จะสามารถแก้ปัญหาหรือใช้ประโยชน์จากสถานการณ์นั้น ให้เป็นผลดีแก่ชีวิตของตนได้มากที่สุด ทั้งนี้เพราะอดีต ปัจจุบันและอนาคต ที่ประกอบเป็นชีวิตของเขานั้นเชื่อมต่อถึงกันหมด เป็นเนื้อตัวของชีวิตอันเดียว บุคคลอย่างนี้ ถ้าเขาดำเนินชีวิตตลอดมาโดยมีหลักอย่างดี หากเขามีอายุยืน ความมีอายุยืนนั้น ก็เป็นอายุยืนที่เป็นคุณ ยิ่งทำให้ชีวิตของเขาพรั่งพร้อมชำนาญอยู่ดีและเกื้อกูลแก่ผู้อื่นมากขึ้น แต่ถ้าบังเอิญบุคคลนั้น ประสบอุบัติเหตุหรือได้รับความกระทบกระเทือนอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เขาสูญเสียความรู้จักตัวเองหรือหมดความทรงจำ จำเรื่องราวของตนเองที่ผ่านมาแล้วไม่ได้ ชีวิตของเขาจะไม่สามารถเป็นอยู่ดีโดยสมบูรณ์ หรือเป็นชีวิตที่มีประสิทธิภาพดีได้อีกต่อไป แม้ว่าเขาจะได้รับการเอาใจใส่ให้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ในสภาพแวดล้อมใหม่ที่จัดให้อย่างดีเพียงไรก็ตาม ทั้งนี้เพราะขาดความต่อเนื่อง เกิดมีช่องว่างที่คอยหลอนและฉงนอยู่ตลอดเวลา และอวัยวะน้อยใหญ่ที่หัดใหม่เมื่อโต ไม่อาจให้คล่องแคล่วเคยชินกับสภาพแวดล้อมใหม่ได้โดยสมบูรณ์

สังคมก็เช่นเดียวกัน มีชีวิต มีประสบการณ์ มีความชำนิชำนาญต่างๆ ที่สืบทอดต่อเนื่องกันมา จำต้องมีความรู้จักตัวและความทรงจำที่เชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตให้ถึงกันได้ ประสบการณ์ ความชำนิชำนาญ ความรู้จักตัว และความทรงจำต่างๆ ของสังคม ก็คือวัฒนธรรม ถ้าวัฒนธรรมสืบทอดต่อเนื่องมาด้วยดี และสังคมสามารถใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมได้สังคมนั้นก็มีชีวิตที่เป็นอยู่ดี มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาและเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ อย่างได้ผลดี ความมีอายุยืนของสังคมนั้น ก็เป็นความมีอายุยืนที่สมบูรณ์มีความหมายแท้จริง แต่ถ้าสังคมไม่รู้จักวัฒนธรรมของตน สืบต่อและใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมของตนไม่ได้ ตลอดจนไม่สามารถจัดการหรือเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของตนเองให้ถูกต้องได้ สังคมนั้นก็เป็นเหมือนบุคคลที่ขาดสมปฤดี ไม่รู้จักตัวเอง หรือสูญเสียความทรงจำ จำเรื่องราวของตนเองไม่ได้กลายเป็นสังคมที่ขาดประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา และไม่สามารถมีชีวิตที่ดีของตนได้โดยสมบูรณ์ แม้จะมีอดีตยาวนาน ก็ไม่ใช่เป็นความมีอายุยืน เพราะไม่มีพลังต่อเนื่องของชีวิต เหมือนกับต้องถือว่า อายุขาดตอนไปแล้วตั้งต้นนับอายุใหม่ แต่ก็นับใหม่ไม่ได้จริง เหมือนคนที่ฟื้นจากสลบ แต่กลายเป็นอัมพาต หรือสูญเสียความทรงจำอย่างที่กล่าวมาแล้ว

ตามที่ปรากฏโดยผลงานและการแสดงออกต่างๆ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์เป็นผู้สนใจได้ศึกษามาก มีความรู้อย่างดีท่านหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตของไทย หรือวัฒนธรรมไทยในแง่ด้านต่างๆ และได้พยายามอยู่เสมอที่จะชี้ให้เห็นความสำคัญของการเรียนรู้เข้าใจสังคมไทยที่เป็นมาในอดีต เพียรย้ำความจำเป็นของการสืบต่อทางวัฒนธรรม ในการที่จะแก้ปัญหาของสังคมไทยและการพัฒนาประเทศไทย เห็นได้ว่าชีวิตของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้ผูกพันเกี่ยวเนื่องกันมากับความรู้ในเรื่องสังคมไทยและวัฒนธรรมไทยตลอดเวลายาวนาน หากว่าอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มีความตั้งใจมั่นยืนหยัดอยู่ในแนวทางเช่นนี้ และร่วมมือช่วยส่งเสริมงานและผู้ทำงานด้านนี้สืบไป ยิ่งอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์มีอายุมากขึ้น การศึกษา ความรู้ ความเข้าใจ และการเห็นความสำคัญของเรื่องราวในอดีตหรือวัฒนธรรมของสังคมไทย ก็จะยิ่งเพิ่มพูนเข้มแข็งชัดแจ้งมากขึ้นด้วย หากเป็นได้เช่นนี้ ก็จะเป็นข้อที่ควรอนุโมทนาสาธุการเป็นอย่างยิ่ง

ในมงคลสมัย ที่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เจริญอายุครบ ๕๐ ปี ในวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๒๖ นี้ อาตมภาพขอตั้งกัลยาณจิต ร่วมกับญาติมิตร ศิษย์และวิสาสิกชนทั้งหลาย อาราธนาคุณพระรัตนตรัย อำนวยพรแด่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในโอกาสแห่งการประกอบมงคลพิธีทำบุญอายุ ขอบุญที่บำเพ็ญนั้น จงเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความเป็นผู้มีอายุยืน และขอความมีอายุยืนของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ จงมีความหมายสัมพันธ์เนื่องกันกับความมีอายุยืนนานของธรรมและประโยชน์สุขในสังคมมนุษย์ ขออาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ พร้อมทั้งมารดาของท่านและครอบครัวจงเจริญพรั่งพร้อมด้วยจตุรพิธพรชัย ไพบูลย์ด้วยสิริสวัสดิ์ รุ่งเรืองงอกงามในธรรม ตลอดกาลทุกเมื่อ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปพระธรรมเทศนา อโมฆชีวีกถา >>

เชิงอรรถ

  1. พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ อายุวัฒนกถา แจกเนื่องในงานวันเกิด ส.ศิวรักษ์ ครบรอบ ๕๐ ปี
  2. องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๑๒๕-๖/๑๖๓.
  3. เช่น ที.ปา. ๑๑/๔๗/๘๐
  4. ดู สํ.ส. ๑๕/๓๗๙/๑๒๖; องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๔๓/๕๓.
  5. ขุ.ธ. ๒๕/๑๒/๑๘.
  6. อ.งฺ. สตฺตก. ๒๓/๓๔/๓๓

No Comments

Comments are closed.