รุ่งอรุณของการศึกษา

1 มกราคม 2532
เป็นตอนที่ 1 จาก 1 ตอนของ
  • รุ่งอรุณของการศึกษา

รุ่งอรุณของการศึกษา1

การศึกษามีความหมายอย่างหนึ่งว่า เป็นการฝึกฝนพัฒนาคนให้รู้จักดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องดีงาม หรือพูดสั้นๆ ว่า การศึกษาคือการพัฒนาคนให้มีชีวิตที่ดีงาม คำว่าชีวิตที่ดีงามนี้ หมายรวมถึงความเป็นอยู่อย่างถูกต้อง มีคุณค่า เกื้อกูล เป็นประโยชน์ และมีความสุข อย่างน้อยไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

เมื่อพูดว่า ดำเนินชีวิต ก็เท่ากับว่าเรามองการมีชีวิตอยู่ หรือการเป็นอยู่ของมนุษย์ เหมือนเป็นการเดินทาง อย่างที่เรียกว่า วิถีชีวิต หรือทางชีวิต และเมื่อมองการมีชีวิตเป็นการเดินทาง ก็บ่งชี้ต่อไปอีกว่า เรามองเห็นการมีชีวิตหรือการเป็นอยู่ของมนุษย์นั้นว่า เป็นไปเพื่อจุดหมาย คือเป็นการเดินทางสู่จุดหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อมองอย่างนี้ ก็สอดคล้องกับความหมายของการศึกษาที่ว่าเป็นการพัฒนาคน โดยทำให้คนนั้นก้าวไปในวิถีชีวิตที่ดีงามสู่จุดหมายมากยิ่งขึ้นๆ

ทางชีวิตที่ดีงาม คือทางอย่างไร? และจุดหมายของทางนั้นคืออะไร? จุดหมายของชีวิตที่ดีงามนั้น ถ้าพูดตามหลักพุทธธรรมก็คือ ความดับทุกข์ หรือ ภาวะไร้ปัญหา คือการแก้ปัญหาได้ หรือการที่เรื่องราวและสิ่งต่างๆ ไม่เกิดเป็นปัญหาขึ้นแก่ชีวิต ตลอดจนชีวิตนั้นเองไม่เกิดเป็นปัญหา เพราะปฏิบัติต่อมันอย่างถูกต้อง และเพราะแก้ไขให้ปัญหาหมดไปได้ ซึ่งอาจจะเรียกว่า ความหลุดพ้นหรืออิสรภาพ เพราะปลอดพ้น ปราศจากความบีบคั้นกดดันจำกัดขัดข้อง บางทีก็เรียกว่า สันติและความสุข

ทางหรือวิถีชีวิตที่ดีงามนั้น ในฐานะที่เป็นทางสายกลาง ซึ่งสมดุลและพอดีที่จะนำไปให้ถึงจุดหมาย เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ในฐานะที่เป็นการดำเนินชีวิตอย่างอุดมคติ เรียกว่า พรหมจริยะ แปลว่า จริยะอันประเสริฐ หรือจริยธรรมอันสมบูรณ์ และในฐานะที่เป็นทางชีวิตที่มีองค์ประกอบ ๘ ประการ เรียกว่า มรรคมีองค์ ๘ หรือเรียกสั้นๆ ว่า มรรค การฝึกหัดพัฒนาคนและพัฒนาตนให้เดินอยู่ และเดินไปในวิถีชีวิตที่ถูกต้องดีงามนั้น เรียกว่า สิกขา หรือ การศึกษา สิกขาหรือการศึกษานั้นมี ๓ ด้าน คือ ฝึกฝนพัฒนาในด้านการแสดงออกทางกายและวาจา พร้อมทั้งสัมมาชีพ (อธิศีล) ฝึกฝนพัฒนาในด้านคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพจิต (อธิจิต) และฝึกฝนพัฒนาในด้านปัญญา (อธิปัญญา) จึงเรียกว่า ไตรสิกขา หรือการศึกษา ๓ ด้าน หรือ ๓ ส่วน

เมื่อพูดถึงการปฏิบัติ การดำเนินชีวิต และการฝึกฝนอบรมตามหลักพระพุทธศาสนา ชาวพุทธจำนวนมากรู้กันดีว่า ได้แก่มรรค และไตรสิกขา โดยเฉพาะจะเน้นกันมากว่า การที่จะบรรลุถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนาได้นั้น จะต้องปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ถือกันว่า มรรคเป็นหลักปฏิบัติ หรือจริยธรรมทั้งหมดของพระพุทธศาสนา ความเข้าใจเช่นนี้ก็ถูกต้อง แต่สิ่งหนึ่งที่มักถูกมองข้ามไปก็คือ ข้อพิจารณาว่า มรรคและการปฏิบัติตามมรรค หรือทางและการเดินทางเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เป็นตัวแท้ที่จะให้ไปถึงจุดหมายก็จริง แต่ก็มีปัญหาว่า คนทั้งหลายโดยส่วนใหญ่ยังอยู่ห่างจากทาง และไม่รู้จักทางเลย ทำอย่างไรจะให้คนเหล่านั้นหันมาสนใจ รู้จักจุดเริ่มต้นของทาง และหันเหชักจูงเขาให้มาเข้าสู่ทาง เพื่อจะได้เริ่มต้นเดินทางต่อไป แม้ว่าทางจะมีอยู่และเป็นทางที่ถูกต้องนำไปสู่จุดหมายได้แท้จริง แต่ถ้าคนไม่มาเข้าสู่ทาง การเดินทางก็เกิดขึ้นไม่ได้ จึงจะต้องสนใจกันในเรื่องของการนำคนเข้ามาสู่ทาง หรือการทำให้คนเข้ามาหาทางด้วย มิฉะนั้น การพูดถึงการเดินทาง และความดีเลิศแท้จริงของทางอาจจะกลายเป็นความเลื่อนลอย หรือเป็นเพียงความสวยหรูของถ้อยคำ ที่ไม่มีการปฏิบัติกันอย่างแท้จริง ในที่นี้จึงขอเชิญชวนให้มาสนใจกับการเตรียมการขั้นต้น ที่จะทำให้คนรู้จัก สนใจ เข้ามา และเริ่มต้นเดินทาง

ความจริง พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญแก่หลักปฏิบัติก่อนมรรค หรือการนำเข้าสู่ทางนี้เป็นอย่างมาก โดยทรงแสดงหลักธรรมไว้หมวดหนึ่ง มี ๗ ข้อ เรียกว่า บุพนิมิตแห่งมรรค คือ สิ่งที่ส่อแสดง หรือเครื่องหมายนำหน้า ซึ่งส่อแสดงว่าการปฏิบัติตามมรรคกำลังจะเกิดขึ้น ใช้คำไทยง่ายๆ ว่า แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม ถ้าโยงเข้ามาหาการศึกษา ก็เรียกได้ว่าเป็น รุ่งอรุณของการศึกษา ธรรมหรือหลักปฏิบัติและคุณสมบัติ ๗ ประการนี้ เป็นทั้งตัวนำเข้าสู่ทางดำเนินชีวิตที่ดีงาม และเป็นตัวกำกับประคับประคองให้คนเดินหน้าไปด้วยดี ในทางดำเนินชีวิตที่ดีงามนั้น เป็นหลักประกันว่าการพัฒนาตนของบุคคลจะเริ่มต้น และดำเนินก้าวหน้าต่อไป เหมือนกับการปรากฏขึ้นของแสงเงินแสงทอง หรือรุ่งอรุณ เป็นหลักประกันว่า อาทิตย์จะอุทัยแล้วดำเนินไปตามวิถีโคจรในท้องฟ้า พร้อมด้วยแสงสว่างแห่งกลางวันจะตามมา อย่างที่มีพุทธพจน์ตรัสไว้ว่า ธรรมเหล่านี้ จะทำมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และมรรคที่เกิดขึ้นแล้วก็จะเจริญเต็มบริบูรณ์ คือ เป็นทั้งเครื่องช่วยนำเข้าสู่ทางและเป็นเครื่องช่วยในการเดินทางให้ได้ผลดี จนบรรลุถึงจุดมุ่งหมาย หรือเป็นทั้งตัวนำและตัวช่วย หลักธรรมชุดนี้ถูกมองข้าม ละเลย หรือหลงลืมกันมานาน ถึงเวลาแล้วที่จะรื้อฟื้นขึ้นมาสู่ความสนใจและการปฏิบัติจริง เพื่อให้กระบวนการการศึกษา และการดำเนินชีวิตที่ดีงามเป็นระบบที่ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะจะต้องถือเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษา ที่จะสร้างเสริมให้เด็กหรือนักเรียนนักศึกษามีธรรม ๗ ประการนี้เป็นพื้นฐานของชีวิตแต่เบื้องแรก

แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม หรือ รุ่งอรุณของการศึกษา เป็นชุดขององค์ธรรม ๗ ประการ เหมือนดังลำแสงที่กระจายรัศมีเป็นสีทั้ง ๗ มีหัวข้อซึ่งได้เรียบเรียงไว้ให้จำได้ง่ายดังนี้

๑. รู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดี

๒. มีชีวิตและอยู่ร่วมสังคมเป็นระเบียบด้วยวินัย

๓. พร้อมด้วยแรงจูงใจใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์

๔. มุ่งมั่นพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ

๕. ปรับทัศนคติและค่านิยมให้สมแนวเหตุผล

๖. มีสติกระตือรือร้นตื่นตัวทุกเวลา

๗. แก้ปัญหาและพึ่งพาตนได้ด้วยความรู้คิด

จะอธิบายขยายความตามลำดับ พอเป็นพื้นความเข้าใจดังต่อไปนี้

๑. รู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดี 

ธรรมข้อนี้เป็นหลักปฏิบัติสำคัญที่ทำให้มั่นใจว่า เด็กจะมีสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ดี และรู้จักใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมที่ดีนั้น เรียกตามภาษาทางธรรมว่า ความมีกัลยาณมิตร หรือพูดให้คลุมความกว้างขึ้นอีกว่า การมีและการได้กัลยาณมิตร เรียกเป็นคำศัพท์ว่า กัลยาณมิตตตา

ความมีกัลยาณมิตรนี้ แยกความหมายได้เป็น ๒ ขั้น คือ

๑) การที่สังคมเป็นกัลยาณมิตร หรือจัดสรรกัลยาณมิตรให้ โดยเฉพาะผู้รับผิดชอบในสังคมทำหน้าที่จัดหา จัดสรร และทำตัวให้เป็นกัลยาณมิตรแก่เด็กหรือผู้เรียน เช่น พ่อแม่ทำตนเป็นพ่อแม่ที่ดี ครูอาจารย์ประพฤติตนทำหน้าที่เป็นครูอาจารย์ที่ดี สื่อมวลชนเสนอข่าวสารข้อมูลที่ดีงาม เป็นประโยชน์ จัดทำรายการที่มีคุณค่า ทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนที่ดี ผู้บริหารและผู้ปกครองจัดสรรสภาพแวดล้อมทางสังคมให้เรียบร้อยดีงาม เอื้ออำนวยบริการข่าวสารข้อมูลและแหล่งความรู้ เช่น ห้องสมุดที่ดี เป็นต้น ผู้ใหญ่และผู้นำในสังคม ทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี และคนเหล่านี้ทั้งหมดคอยช่วยชี้แนะให้เด็ก และเยาวชน รู้จักเลือกหาแหล่งความรู้ และถือเอาแบบอย่างที่ดี

๒) การที่ตัวเด็กเองรู้จักเลือกคบหากัลยาณมิตร คือเด็กรู้จักเลือกคบคนดี รู้จักเลือกหาแหล่งความรู้ที่ดี และรู้จักถือเอาแบบอย่างที่ดี หรือรู้จักเลือกบุคคลที่จะนิยมเป็นแบบอย่างในความประพฤติ หรือในการครองชีวิต เช่น รู้จักใช้ห้องสมุด รู้จักเลือกอ่านหนังสือ รู้จักเลือกรายการโทรทัศน์

รุ่งอรุณของการศึกษา เริ่มขึ้นแท้จริงในขั้นที่ ๒ คือ เริ่มขึ้นต่อเมื่อ เด็ก ผู้เรียน หรือตัวบุคคลนั้นเองรู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดี ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็เป็นหลักประกันที่ชัดเจนว่าเขากำลังก้าวเข้าสู่การศึกษา การพัฒนาตนกำลังจะตั้งต้น และชีวิตที่ดีงามกำลังจะตามมา

๒. มีชีวิตและอยู่ร่วมสังคมเป็นระเบียบด้วยวินัย 

หมายถึงความมีวินัยในการดำเนินชีวิต และในการอยู่ร่วมในสังคม หรือการรู้จักจัดระเบียบชีวิตและความสัมพันธ์ในสังคมให้เรียบร้อยเกื้อกูล เรียกตามภาษาทางธรรมว่า ความถึงพร้อมด้วยศีล หรือการทำศีลให้ถึงพร้อม ตรงกับคำศัพท์ว่า สีลสัมปทา

ในบ้าน หรือในสถานที่ที่จะทำการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อจะอยู่ให้สบาย หรือจะทำการทำงานให้สะดวกและสำเร็จผลด้วยดี สิ่งสำคัญเบื้องแรกที่จะต้องทำเป็นการเตรียมการเบื้องต้น ก็คือ การจัดสิ่งของเครื่องใช้ และอุปกรณ์ต่างๆ ให้เป็นที่เป็นทาง ไม่ให้เกะกะกีดขวาง และให้สะดวกแก่การที่จะหยิบจะใช้ได้คล่องแคล่ว รวดเร็ว ยิ่งในงานบางอย่างที่สำคัญและละเอียดประณีต อาจต้องถึงกับจัดอุปกรณ์ต่างๆ ให้เข้าตำแหน่งตามลำดับของงานที่จะใช้ และต้องมีการซักซ้อมจังหวะประสานงาน เช่นการส่งต่อกันไว้ให้พร้อมเป็นอย่างดี หรือในการที่จะเดินทางให้สะดวกไปได้เร็ว ก็ต้องจัดเตรียมทางให้สะอาดเรียบร้อยโปร่งโล่ง ปราศจากสิ่งกีดขวาง ไม่ขรุขระ ไม่เป็นหลุมเป็นบ่อ ราบรื่น ในการพัฒนาตนให้ก้าวหน้าไปในชีวิตที่ดีงาม ก็เช่นเดียวกัน พื้นฐานเบื้องต้น ที่จะช่วยให้การพัฒนาได้ผลก้าวหน้าไปด้วยดี ก็คือ การจัดระเบียบชีวิตและความสัมพันธ์ในสังคม ให้การเป็นอยู่ส่วนตัวและการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เป็นไปอย่างเรียบร้อยราบรื่น ประสานกลมกลืน และเกื้อกูลกัน อันจะทำให้เรามีสภาพชีวิตและสภาพสังคมที่เหมาะ และเอื้อต่อการทำกิจทำการ และดำเนินกิจกรรมทุกอย่าง เพื่อการพัฒนาให้สำเร็จผลด้วยดี

การจัดระเบียบชีวิตของตน และอยู่ร่วมกับคนอื่นด้วยดีนี้ รวมตั้งแต่การมีความประพฤติส่วนตัวสุจริตไม่เป็นที่น่ารังเกียจ ความมีระเบียบในการเป็นอยู่ไม่สับสนวุ่นวาย เช่น รู้จักแบ่งเวลาและทำอะไรเป็นเวลา การมีกิริยามารยาททั้งกายวาจา เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานวัฒนธรรมของสังคม การประกอบอาชีพที่สุจริตปราศจากเวรภัย การไม่เบียดเบียน การไม่ละเมิดต่อกันทั้งด้านชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน คู่ครอง และไม่ละเมิดด้วยวาจา ไม่ก่อความเดือดร้อนเสียหายและความขัดแย้ง ไม่รุกรานทำลายสภาพแวดล้อม รู้จักร่วมมือและประสานงาน ร่วมอยู่ร่วมทำงานกับผู้อื่นได้ รักษาวินัยของหมู่ เป็นสมาชิกหรือส่วนร่วมที่ดีของสังคม ร่วมสร้างเสริมสภาพแวดล้อมและสภาพชีวิต ที่เอื้อหรือเกื้อกูลต่อการพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป

ในรุ่งอรุณของการศึกษาข้อแรก คือ ความมีกัลยาณมิตรนั้น บุคคลมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือสังคม ในลักษณะของการเป็นผู้ได้หรือเป็นผู้รับก่อน คือรับเอามาจากสังคมโดยได้ประโยชน์แก่ตนเอง แต่ในข้อที่ ๒ นี้ ความสัมพันธ์เป็นไปในทางตอบสนอง หรือย้อนกลับบ้าง คือบุคคลเป็นผู้ให้ หรือเป็นผู้กระทำต่อผู้อื่นและสังคม โดยมีพฤติกรรมที่เอื้อหรือเกื้อกูล ปฏิบัติต่อสังคมในทางที่เอื้ออำนวย ตลอดจนมีส่วนร่วมที่จะให้แก่ผู้อื่นและสังคมบ้าง อย่างน้อยไม่เบียดเบียนหรือทำลาย ไม่ก่อกวน สร้างความเดือดร้อนระส่ำระสายหรือยุ่งยากวุ่นวาย

๓. พร้อมด้วยแรงจูงใจใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์

หมายถึงการมีแรงจูงใจที่เกิดจากการรักความจริง รักความถูกต้องดีงาม คือ เมื่อรักความจริง ต้องการเข้าถึงความจริง ก็ทำให้มีความอยากรู้หรือใฝ่รู้ เมื่อรักความถูกต้องดีงาม ก็อยากทำให้ความถูกต้องดีงามนั้นเกิดมีเป็นจริงขึ้น ความอยากรู้และอยากทำให้ถูกต้องดีงามนี้ ในภาษาทางธรรมเรียกว่า ฉันทะ หลักปฏิบัติข้อนี้ ท่านจึงเรียกว่า ความถึงพร้อมด้วยฉันทะ หรือการทำฉันทะให้ถึงพร้อม ตรงกับคำศัพท์ว่า ฉันทสัมปทา

การที่จะก้าวหน้าไปในการพัฒนาได้ ก็ต้องมีแรงจูงใจเป็นพลังที่จะชักจูงหรือผลักดันให้ก้าวไป ดังนั้น เมื่อเตรียมการจัดความเรียบร้อยเบื้องต้นพร้อมแล้ว ทางราบรื่นโปร่งโล่ง ปราศจากสิ่งเกะกะติดขัดกีดขวางแล้ว สิ่งที่จะทำให้ออกเดินก้าวไปในทางนั้น ก็คือแรงจูงใจ

อย่างไรก็ดี แรงจูงใจที่จะให้ก้าวไปในทางนั้น ก็ต้องเป็นแรงจูงใจที่ถูกต้องสอดคล้องกันด้วย ถ้ามีแรงจูงใจที่ผิด ก็อาจจะทำให้ติดเพลินอยู่กับที่เดิม หรือชักพาให้ก้าวไปในทิศทางอื่นกลายเป็นออกนอกลู่นอกทางไป แรงจูงใจใหญ่ๆ ที่เด่นมากมี ๒ อย่าง คือ

๑) ความปรารถนาสิ่งบำรุงบำเรอปรนเปรอตัวตน

๑) ความปรารถนาสิ่งบำรุงบำเรอปรนเปรอตัวตน ซึ่งแสดงออกเป็นแรงจูงใจใฝ่เสพ ใฝ่บริโภค แรงจูงใจประเภทนี้ไม่คำนึงไม่ใส่ใจและไม่พิจารณาว่า สิ่งที่พบเห็นเกี่ยวข้องต้องการนั้น จะมีคุณค่าเป็นประโยชน์แก่ชีวิตจริงหรือไม่ เกิดโทษแก่ชีวิตหรือไม่ จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตหรือไม่ หรือว่าจะช่วยให้เกิดการพัฒนานำไปสู่จุดหมายที่ดีงามหรือไม่ มองแค่ว่าถูกตา ถูกหู ถูกจมูก ถูกลิ้น ถูกอก ถูกใจ ก็อยากจะได้จะเอา อยากเสพอยากบริโภค รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสที่ตื่นเต้นเร้าอินทรีย์ เห็นเขามี เขาใช้ เขาบริโภคอะไร ก็อยากมี อยากใช้ อยากบริโภคอย่างนั้นบ้าง ไม่คิดที่จะเรียนรู้ ไม่คิดที่จะสร้างสรรค์ทำให้มีให้เป็นขึ้นเอง แรงจูงใจอย่างนี้มีแต่จะทำให้ติดเพลิน ลุ่มหลงอยู่กับที่ หรือไม่ก็ออกนอกลู่นอกทางไป ไม่ทำให้เกิดการพัฒนา ที่จะก้าวไปในทางของการสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ให้เกิดความเจริญงอกงาม จึงเป็นแรงจูงใจที่ผิด เรียกว่า ตัณหา ซึ่งบางทีก็มาด้วยกันกับแรงจูงใจใฝ่โก้ ใฝ่หรูหรา ที่เรียกว่า มานะ

๒) ความรักความจริง รักความดีงาม 

๒) ความรักความจริง รักความดีงาม ซึ่งแสดงออกเป็นความใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์ แรงจูงใจประเภทนี้ทำให้ต้องคำนึง ใส่ใจ และพิจารณาอยู่ตลอดเวลาว่า สิ่งที่พบเห็นเกี่ยวข้องต้องการนั้น เป็นของแท้จริงหรือไม่ มีคุณค่า และความหมายเป็นประโยชน์แก่ชีวิตอย่างแท้จริงหรือไม่ จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตหรือไม่ และจะช่วยให้เกิดการพัฒนานำไปสู่จุดหมายที่ดีงามหรือไม่ ไม่มองแค่ถูกตา ถูกหู ถูกใจ ไม่คิดแต่จะได้จะเอา ไม่มุ่งแต่จะเสพ จะบริโภค แต่มุ่งที่จะรู้จักและหาคุณค่าที่แท้จริงจากสิ่งเหล่านั้น แล้วพยายามสร้างสรรค์ให้เกิดผลที่ดีงามขึ้น เพื่อเป็นเครื่องสนับสนุนในการพัฒนาชีวิตยิ่งขึ้นไป แรงจูงใจประเภทนี้เรียกร้องปัญญา เพราะต้องอาศัยปัญญาช่วยให้รู้ว่า สิ่งนั้นดีงามเป็นประโยชน์แท้จริง ส่งเสริมคุณภาพชีวิตหรือไม่เป็นต้น และพร้อมกันนั้นก็ทำให้ต้องใช้ปัญญา เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถ่องแท้ชัดเจนยิ่งขึ้นไป จึงเป็นแรงจูงใจที่เจริญงอกงามคู่เคียงกันไปกับความเจริญงอกงามของปัญญา และจึงเป็นแรงจูงใจที่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาเริ่มแต่ออกเดินก้าวไปในทางของชีวิตที่ดีงาม แรงจูงใจประเภทนี้เรียกว่า ฉันทะ

แรงจูงใจใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ ซึ่งเป็นอาการแสดงออกของการรักความจริงรักความดีงามนี้ เป็นตัวกระตุ้นเร้าให้มีการใช้ปัญญาและริเริ่มลงมือทำ เช่น อยากมีสังคมที่ดีงาม ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้ว่าสังคมอย่างไรเป็นสังคมที่ดี แล้วก็มองเห็นว่าสังคมที่ดีนั้นจะต้องเป็นสังคมที่เรียบร้อย มีความสงบสุข มีความเป็นธรรม ประชาชนมีสุขภาพ มีอนามัยดี เมื่ออยากจะมีสังคมที่ดีงามอย่างนั้น เราก็ต้องสร้างสรรค์จัดทำ ต้องทำงาน ซึ่งเป็นปัจจัยโดยตรงที่จะทำให้เกิดผลที่ต้องการ แรงจูงใจแบบนี้จึงทำให้คนพยายามที่จะทำ และเป็นผู้ผลิต เป็นนักสร้างสรรค์ แต่ในทางตรงข้าม ถ้ามีแรงจูงใจใฝ่เสพ ก็จะทำให้ไม่อยากทำงาน หรือถ้าจะทำก็เพราะเป็นเงื่อนไข คือต้องทำจึงจะได้เงิน ถ้าหลีกเลี่ยงได้ ก็จะหลีกเลี่ยงการทำงาน เพราะไม่อยากทำ ทำด้วยความจำใจ และหาทางลัด กู้หนี้ยืมสิน ถ้าลักขโมยได้ก็เอา เพื่อจะได้สิ่งเสพมา เพื่อมีเงินไปซื้อของ เพราะฉะนั้น การพัฒนาที่มีส่วนส่งเสริมแรงจูงใจใฝ่เสพ กระตุ้นเร้าตัณหา จึงเป็นการพัฒนาที่ผิดพลาด นำไปสู่ความเสื่อมโทรม และการเกิดปัญหาในด้านต่างๆ ฉะนั้น ในการศึกษาเล่าเรียน และในการพัฒนาชีวิตพัฒนาสังคม จึงต้องมีแรงจูงใจที่ถูกต้อง ที่เรียกว่า ฉันทะ

คนมีฉันทะนั้น เห็นอะไรไม่ดี ไม่เรียบร้อย ไม่สมบูรณ์ ก็อยากทำให้ดี ให้เรียบร้อย ให้สมบูรณ์ มีแรงกระตุ้นเตือนจากภายในให้ออกไปทำ ไม่ต้องรอให้ใครคอยบอกคอยสั่ง และไม่มองหาผลตอบแทนแก่ตนนอกจากความสำเร็จของงาน ทำเพื่อเห็นแก่ความถูกต้องดีงาม หรือความเรียบร้อยสมบูรณ์นั้นล้วนๆ แท้ๆ ยิ่งกว่านั้น เมื่อผลได้ส่วนตัวขัดกับหลักการหรือความถูกต้องชอบธรรม ฉันทะจะทำให้ยอมสละผลได้หรือผลประโยชน์ส่วนตัว และยึดถือหรือปฏิบัติไปตามหลักการหรือตามความถูกต้องชอบธรรมนั้น แรงจูงใจที่เรียกว่าฉันทะนี้ จึงจำเป็นยิ่งสำหรับการสร้างสรรค์พัฒนาสังคมประชาธิปไตย ถ้าไม่สามารถสร้างฉันทะให้เกิดขึ้น การพัฒนาประชาธิปไตยจะไม่มีทางสำเร็จ

๔. มุ่งมั่นพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ 

หมายถึงการมีจิตสำนึกเร้าเตือนใจอยู่เสมอ ในการที่จะพัฒนาตนให้เต็มที่ จนถึงความสมบูรณ์แห่งศักยภาพ เรียกสั้นๆ ด้วยภาษาทางธรรมว่า การทำตนให้ถึงพร้อม หรือเรียกเป็นคำศัพท์ว่า อัตตสัมปทา

ตามหลักธรรม ถือว่า คนเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก ถ้าไม่ฝึกฝนพัฒนาเลย คนจะด้อยยิ่งกว่าสัตว์ทั้งหลายอื่นส่วนมาก ซึ่งมีข้อเด่นด้านร่างกายและสัญชาตญาณ แต่คนนั้นถ้าฝึกฝนพัฒนาแล้ว ก็ประเสริฐเลิศสามารถยิ่งกว่าสัตว์อื่นใดทั้งปวง และสามารถฝึกฝนพัฒนาได้อย่างถึงที่สุด จนถึงขั้นที่ท่านกล่าวว่า แม้แต่เทวดามารพรหมก็นอบนบบูชา

อนึ่ง พุทธธรรมมีหลักการสำคัญ คือหลักความเชื่อพื้นฐานที่เรียกว่า ตถาคตโพธิสัทธา หรือเรียกสั้นๆ ว่า โพธิสัทธา ซึ่งแปลว่า ความเชื่อในปัญญาตรัสรู้ของตถาคต หรือความเชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์ตรัสรู้เป็นพุทธะได้ ซึ่งทำให้เกิดความมั่นใจว่า จะสามารถพัฒนาตนไปได้จนถึงจุดหมายสูงสุด โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างนำทางไว้แล้ว ความเชื่อความมั่นใจดังกล่าวนี้ เป็นรากฐานให้บุคคลเกิดจิตสำนึก ในการที่จะพัฒนาตนให้เต็มที่ จนถึงความสมบูรณ์แห่งศักยภาพ อันเป็นหลักรุ่งอรุณแห่งการศึกษาข้อที่ ๔ นี้

แรงจูงใจใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ในข้อ ๓ เป็นพลังขับเคลื่อนให้คนออกเดิน และก้าวต่อไปในทางแห่งการพัฒนา ส่วนจิตสำนึกในการพัฒนาตนให้เต็มที่จนถึงความสมบูรณ์แห่งศักยภาพในข้อ ๔ นี้ เป็นตัวโยงการเดินทางให้มุ่งเข้าสู่เป้า หรือโยงเข้าหาจุดหมาย และเป็นปัจจัยที่คอยกระตุ้นเตือนอยู่ตลอดเวลาให้มีความมั่นใจ และเพียรพยายามใช้แรงจูงใจนั้นในการพัฒนาตนในทางแห่งชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นไป จนกว่าจะบรรลุจุดหมาย

๕. ปรับทัศนคติและค่านิยมให้สมแนวเหตุผล

หมายถึง การมีความเชื่อถือ แนวความคิดความเข้าใจ ทัศนคติ และค่านิยมที่ดีงามถูกต้อง สอดคล้องกับหลักความจริงแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย อาจจะใช้คำสั้นๆ ว่า มีโลกทัศน์และชีวทัศน์ดีงามถูกต้องตามแนวทางของเหตุปัจจัย แต่ในภาษาทางธรรม ท่านใช้ถ้อยคำที่สั้นกว่านั้นอีกว่า ความถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ หรือการทำความเห็นความเข้าใจให้ถึงพร้อม คือ ให้ถูกต้องดีงาม เรียกเป็นคำศัพท์ว่า ทิฏฐิสัมปทา

เมื่อก้าวไปในทางของการพัฒนานั้น ตัวบุคคลก็อยู่กับชีวิต ในท่ามกลางโลก และต้องเกี่ยวข้องกับประสบการณ์เรื่องราวปัญหาและสิ่งทั้งหลายที่อยู่รอบตัว นอกจากนั้น การพัฒนาตนก็เกิดจากการเรียนรู้เข้าใจ และปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายเหล่านี้อย่างถูกต้องนั่นเอง ซึ่งเมื่อรู้ เข้าใจและปฏิบัติถูกต้องอย่างแท้จริงแล้ว ก็คือการเข้าถึงจุดหมายของชีวิตที่ดีงาม การรู้เห็นตามเป็นจริง เป็นสาระสำคัญของการแก้ปัญหาและเข้าถึงอิสรภาพ ในแง่หนึ่งอาจกล่าวได้ว่า การพัฒนาทิฏฐิให้ถูกทางจนเกิดปัญญารู้แจ้งสัจจธรรม หยั่งรู้สิ่งทั้งหลายตามเป็นจริงนี่แหละ เป็นแกนกลางของการมีชีวิตที่ดีงามทั้งหมด ดังนั้น การมีทิฏฐิที่ถูกต้อง จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาคน หรือในการที่จะก้าวไปในทางแห่งชีวิตที่ดีงาม

พระพุทธศาสนาประกาศหลักการ แห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย และความสัมพันธ์อิงอาศัยกันของสิ่งทั้งหลาย ถือว่าเป็นความจริงพื้นฐานของทุกสิ่ง ดังนั้น ทัศนคติพื้นฐานที่ต้องการและต้องมีเป็นประการแรก ในการพัฒนาตนสู่ทางชีวิตที่ดีงาม ก็คือ ท่าทีการมองสิ่งทั้งหลาย หรือการมองโลกและชีวิตตามเหตุปัจจัย ซึ่งรวมไปถึงการมองตามความสัมพันธ์อิงอาศัยกัน คือมองแบบสืบสาว ค้นคว้าหาเหตุปัจจัย พร้อมทั้งมองให้เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของสิ่งทั้งหลาย การมองสิ่งทั้งหลายตามแนวทางของเหตุปัจจัยนี้ จะทำให้มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ป้องกันไม่ให้เกิดความเชื่อเหลวไหลงมงาย และไม่มองอะไรตามความพอใจ ไม่พอใจ หรือความชอบชังส่วนตัว ทำให้มีความคิดความเห็นที่กว้าง และเป็นพื้นฐานในการที่จะคิดพิจารณาวินิจฉัยสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้อง ไม่บิดเบือน ไม่ลำเอียง และทั่วตลอด ไม่ผิวเผิน โดยเฉพาะที่สำคัญยิ่งก็คือ เป็นท่าทีการมองที่นำไปสู่การฝึกฝนพัฒนาตนโดยตรง เพราะมองเห็นว่า ความเจริญงอกงามจะเกิดขึ้นได้ ด้วยการสร้างเหตุปัจจัยที่จะทำให้เจริญงอกงาม จึงทำให้ใช้ปัญญาวิเคราะห์สืบสาวหาเหตุปัจจัย เพื่อทำการแก้ไขปรับปรุงและสร้างสรรค์ ให้ตรงตามเหตุปัจจัยนั้นต่อไป

ในการศึกษาสมัยใหม่ มักพูดกันว่า จะต้องให้คนมีทัศนคติแบบวิทยาศาสตร์และมีวิธีคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าพิจารณาตามหลักรุ่งอรุณของการศึกษา จะเห็นได้ว่า ทัศนคติแบบวิทยาศาสตร์นั้น ก็อยู่ในหลักทิฏฐิสัมปทานี้เอง ส่วนวิธีคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ ก็น่าจะเทียบเคียงกับหลักรุ่งอรุณของการศึกษาข้อสุดท้าย หรือข้อที่ ๗ ที่จะกล่าวถึงต่อไป

อนึ่ง ทัศนคติแห่งการมองตามเหตุปัจจัยจะพ่วงเอาท่าทีต่อประสบการณ์ทั้งหลาย แบบที่เป็นการเรียนรู้ติดมาด้วย ท่าทีแห่งการเรียนรู้นี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะในชีวิตประจำวันของคนเรานั้น เนื้อหาแทบทั้งหมดของมันก็คือการรับรู้ประสบการณ์ต่างๆ ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ ตามปกติคนทั่วไปที่ยังไม่ได้รับการศึกษา เมื่อรับรู้ประสบการณ์ทั้งหลาย จะรับรู้ด้วยท่าทีของการรับกระทบตัวตน โดยมีปฏิกิริยาเป็นความพอใจ-ไม่พอใจ ชอบ-ชัง หรือยินดี-ยินร้าย แล้วตามด้วยความคิดปรุงแต่ง ขยายกิเลสและเรื่องราวไปตามแนวทางของความชอบ-ชัง หรือยินดี-ยินร้ายนั้น เป็นการปิดกั้นบดบังปัญญา ไม่ทำให้เกิดปัญญา แต่ทำให้เกิดปัญหา ในทางตรงข้าม เมื่อมองประสบการณ์นั้นๆ ตามเหตุปัจจัย ก็นำไปสู่การวิเคราะห์พิจารณาสืบสาวค้นคว้า เกิดเป็นการเรียนรู้ขึ้น และทำให้เกิดปัญญา ไม่เกิดปัญหา การมีท่าทีต่อประสบการณ์ทั้งหลายแบบเป็นการเรียนรู้ จึงเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งของการมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย หรือการมีทิฏฐิสัมปทา

นอกจากนั้น การมองเห็นความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย ยังส่งเสริมการสร้างสรรค์ด้วย โดยเฉพาะในเมื่อประสานเข้ากับแรงจูงใจใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ ที่กล่าวมาแล้ว เพราะการมองตามเหตุปัจจัยนั้น จะทำให้มองเห็นกระบวนการเกิดมีขึ้นของสิ่งต่างๆ มองเห็นอาการที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดมีขึ้น และการที่สิ่งซึ่งเกิดขึ้นแล้วนั้น เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดผลดีหรือผลร้ายสืบทอดต่อไปอีกอย่างไรๆ ทำให้อยากเห็นการเกิดขึ้นของสิ่งที่ดีงาม โน้มใจไปในการผลิตการสร้างสรรค์ ให้สิ่งดีงามเกิดมีขึ้น เมื่อจิตใจที่ประกอบด้วยแรงจูงใจใฝ่สร้างสรรค์ มีการกระทำ หรือปฏิบัติการจริงเป็นที่โน้มน้อมใฝ่นิยม ก็จะทำให้เกิดค่านิยมในการผลิตและสร้างสรรค์ตามมาได้ง่าย

ทัศนคติสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งจะเกิดพ่วงมากับการมองตามเหตุปัจจัย ก็คือ ท่าทีแห่งการรับผิดชอบต่อการกระทำของตน ผู้ที่ดำเนินชีวิตอยู่ในโลกในสังคม หรือทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อมองดูความสำเร็จหรือความล้มเหลว ความเจริญหรือความเสื่อม ของตนเองก็ตาม ของผู้อื่นก็ตาม ถ้ามีทัศนคติที่มองตามเหตุปัจจัย ก็จะพิจารณาสืบสาวค้นหาเหตุปัจจัย ของความเสื่อมและความเจริญ ของความล้มเหลวและความสำเร็จนั้นอย่างถูกต้อง แล้วแก้ไขป้องกันหรือสร้างเสริมเพิ่มพูนให้ตรงตามเหตุปัจจัย ไม่ปัดความรับผิดชอบ ไม่เอาแต่โทษคนโน้นคนนี้ หรือสิ่งโน้นสิ่งนี้เรื่อยไป ไม่ฝากความหวังไว้กับโชคชะตาอย่างเลื่อนลอย ไม่หวังพึ่งปัจจัยภายนอก หรือรอคอยอำนาจดลบันดาล แต่พึ่งการกระทำของตนเอง มั่นใจในการกระทำดีของตนตามเหตุปัจจัย

ท่าทีการมองตามเหตุปัจจัยนี้ สัมพันธ์ในเชิงหนุน เสริมซึ่งกันและกันกับแรงจูงใจในการใฝ่รู้ และสร้างสรรค์ กล่าวคือ เมื่อใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ ก็ส่งเสริมการมองหาเหตุปัจจัย เพราะเมื่ออยากรู้อยากจะทำอะไรหรือสร้างสรรค์อะไรก็จะต้องเรียนรู้เหตุปัจจัยว่า สิ่งนี้ทำขึ้นมาได้อย่างไร มีเหตุปัจจัยมีองค์ประกอบอะไรบ้าง เพื่อจะได้ทำให้ตรงตามเหตุปัจจัยที่จะให้ได้ผลเป็นจริง ในทางกลับกัน การมองตามเหตุปัจจัย ก็ส่งเสริมการใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ เพราะเมื่อสืบสาวค้นหาเหตุปัจจัย มองเห็นความจริง ก็สนองความใฝ่รู้ และทำให้อยากรู้ให้ชัดเจนหรือทั่วตลอดยิ่งขึ้นไป เมื่อเห็นกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดผลดีและผลร้าย มองเห็นว่าผลดีมีคุณค่าอย่างไร ผลร้ายก่อโทษความเสียหายร้ายแรงเพียงใด ก็จะใฝ่ในการสร้างสรรค์สิ่งดีงามมากยิ่งขึ้น

อนึ่ง ท่าทีแห่งการมองตามเหตุปัจจัยนี้ ส่งผลสัมพันธ์กันโดยตรงกับรุ่งอรุณข้อสุดท้ายคือ โยนิโสมนสิการ ด้วย คือ เมื่อมีท่าทีแห่งการมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัยแล้ว ก็จะทำให้หันไปใช้โยนิโสมนสิการ เพื่อจะได้คิดพิจารณาสืบสาวหาเหตุปัจจัยให้มองเห็นชัดเจน และเมื่อใช้โยนิโสมนสิการ ก็จะทำให้เจริญยิ่งขึ้นไปในทิฏฐิสัมปทา

๖. มีสติกระตือรือร้นตื่นตัวทุกเวลา

หมายถึง ความตื่นตัวที่จะกระตือรือร้นเร่งรัดจัดทำการต่างๆ ด้วยจิตสำนึกต่อกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลง ไม่ปล่อยปละละเลย ทอดธุระ หรือนิ่งเฉย เฉื่อยชา ปล่อยเวลาล่วงเปล่า พูดสั้นๆ ว่า ความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท หรือการทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม เรียกเป็นคำศัพท์ว่า อัปปมาทสัมปทา

หลักธรรมสำคัญอย่างหนึ่ง ที่พุทธธรรมสอนย้ำบ่อยมาก ได้แก่ อนิจจตา คือ ภาวะที่สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงแท้ ไม่คงที่ มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นกฎธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมดาของมัน ไม่ขึ้นต่อความปรารถนาของใคร ความเปลี่ยนแปลงไป ไม่เที่ยงแท้นี้ ปรากฏด้วยอาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วดับไป หรือความดำรงอยู่ชั่วคราว ไม่ยั่งยืน ไม่คงอยู่ตลอดไป ทุกสิ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะเสื่อมโทรมร่วงโรยแล้วแตกสลายไปในที่สุด ความรู้เข้าใจและความสำนึกต่อความเปลี่ยนแปลง จึงโยงไปหาความรู้เข้าใจและความสำนึกต่อความล่วงผ่านของกาลเวลา กาลเวลาล่วงผ่านไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง เป็นทั้งโอกาสและเป็นขอบเขตจำกัดแห่งความเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และความดับล่วงไปของสิ่งทั้งปวง กาลเวลาก็เช่นเดียวกับความเปลี่ยนแปลงที่ดำเนินไปตามกฎธรรมดา ไม่รีรอ ไม่ขึ้นต่อความปรารถนาหรือการอ้อนวอนขอร้องของใคร ชีวิตมนุษย์ ทรัพย์สมบัติ สิ่งที่รัก หวงแหน ครอบครอง และทุกอย่างที่แวดล้อมตัวมนุษย์นั้น เกิดขึ้น เจริญเติบโตงอกงามแล้ว ก็ต้องเสื่อมสลายแตกดับไปตามกาลเวลา และตามกฎแห่งความเปลี่ยนแปลง สำหรับคนทั่วไปซึ่งยังไม่ได้พัฒนาจิตปัญญา ไม่รู้เท่าทันคติแห่งธรรมดา วางท่าทีของจิตใจต่อสิ่งทั้งหลายไม่ถูกต้อง ความเปลี่ยนแปลงนี้จะมีผลกระทบต่อจิตใจ ในทางที่ทำให้เกิดความหวาดหวั่นพรั่นกลัว และความทุกข์โศกเศร้าตรมตรอม หรือโสกะ และปริเทวะ แต่ผู้ที่ได้อบรมจิตปัญญาดีแล้ว จะสัมผัสความเปลี่ยนแปลงด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันคติแห่งธรรมดา และวางท่าทีของจิตใจต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ทำให้ไม่หวั่นไหว หวาดกลัว และมีจิตใจปลอดโปร่งผ่องใสเป็นอิสระ ด้วยความรู้เท่าทันความจริงนั้น

อนึ่ง พร้อมกับกฎธรรมดาแห่งความเปลี่ยนแปลงไปไม่เที่ยงแท้หรืออนิจจตานี้ พุทธธรรมก็แสดงความจริงกำกับไว้ด้วยว่า ความเปลี่ยนแปลงนั้นมิใช่เป็นไปอย่างเลื่อนลอย แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ถ้ามนุษย์เข้าไปมีส่วนร่วมเป็นตัวแปรในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนั้น ด้วยการกระทำของตน วิถีแห่งความเปลี่ยนแปลง ก็จะเป็นไปตามความต้องการได้ภายในวิสัยแห่งความเปลี่ยนแปรของเหตุปัจจัย แม้แต่การพัฒนาตนของมนุษย์ที่เป็นไปได้ ก็เพราะหลักความจริงที่ว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามเหตุปัจจัย หลักความจริงแห่งความเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยนี้ จึงสอนโยงไปหาหลักปฏิบัติสองข้อ หลักหนึ่งว่า ความเป็นไปหรือผลที่มนุษย์ต้องการจะสำเร็จได้ด้วยการกระทำที่เหตุปัจจัย (มิใช่ด้วยการอ้อนวอนหรือนอนรอคอย) และอีกหลักหนึ่งว่า มนุษย์จะต้องสืบค้นให้รู้เหตุปัจจัย เพื่อจะได้แก้ไขป้องกันหรือสร้างสรรค์ปรับปรุงให้ตรงตามเหตุปัจจัย ณ จุดนี้ ท่าทีแห่งการมองตามเหตุปัจจัยในรุ่งอรุณแห่งการศึกษาข้อที่ ๕ คือ ทิฏฐิสัมปทา ได้ปูพื้นจิตใจไว้ให้แล้ว ทำให้เกิดความเชื่อมโยงต่อเนื่องสอดคล้องกัน ทิฏฐิสัมปทานั้น จะช่วยทั้งในแง่ของการรู้เท่าทันคติธรรมดา ซึ่งทำให้จิตใจปลอดโปร่งเป็นอิสระ ไม่บีบคั้นกระวนกระวาย และในแง่ของการที่จะสืบสาวค้นหาเหตุปัจจัยเพื่อทำการให้ตรงตามเหตุปัจจัยนั้นๆ อันจะทำให้เกิดผลขั้นสุดท้ายคือ มีปฏิบัติการแก้ไขป้องกันและสร้างสรรค์ปรับปรุง โดยที่พร้อมกันนั้นจิตใจก็มีความปลอดโปร่งผ่องใสเบาสบาย ไม่เร่าร้อนกระวนกระวาย หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เร่งทำงานด้วยใจสบาย ได้ทั้งงานและความสุข

เมื่อจิตสำนึกต่อกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลงมาโยงเข้ากับหลักความเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัย ก็ทำให้เกิดหลักปฏิบัติสำคัญข้อหนึ่งที่เรียกว่า อัปปมาทะ หรือ ความไม่ประมาท คือความตื่นตัวที่จะต้องกระตือรือร้นขวนขวายเร่งรัดทำการต่างๆ อย่างเอาจริงเอาจัง โดยไม่นิ่งนอนใจ ไม่ผัดเพี้ยน ไม่ปล่อยปละละเลย เฉพาะอย่างยิ่งไม่มัวเพลิดเพลินหลงระเริงมัวเมา คำสอนเกี่ยวกับความมีจิตสำนึกต่อกาลเวลา และความเปลี่ยนแปลงแล้วให้ไม่ประมาทนี้ ท่านเน้นย้ำไว้มาก ในทำนองว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง โดยเฉพาะชีวิตของเรานี้ ไม่ยั่งยืน อยู่ได้ไม่นานนัก ก็จักต้องดับสลาย ความจบสิ้นจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่ก็ไม่แน่นอนว่าจะสิ้นสลายลงที่ไหนเมื่อไร ชีวิตจะเป็นอย่างไร อะไรจะเกิดขึ้นแก่ชีวิตนั้น ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครกำหนดได้ แล้วแต่เหตุปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน ทั้งวันคืนก็ผ่านไปๆ ไม่รอใคร เพราะฉะนั้น จะต้องไม่ประมาท อะไรควรทำก็เร่งทำ อะไรควรแก้ไขก็เร่งแก้ไข เหตุปัจจัยส่วนไหนเรารู้ได้ทำได้ ก็เรียนรู้และทำให้เต็มที่ เร่งละชั่วทำดี เร่งทำกิจหน้าที่ ทำชีวิตนี้ให้มีคุณค่าเป็นประโยชน์ แม้แต่ปัจฉิมวาจา คือพระดำรัสครั้งสุดท้าย ที่พระพุทธเจ้าตรัสฝากไว้แก่ศาสนิกชน เมื่อจะทรงปรินิพพาน ก็เป็นพุทธพจน์ตามหลักการนี้ ซึ่งมีเนื้อความว่า “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา (เพราะฉะนั้น) ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม”

ความเปลี่ยนแปลงโดยทั่วไป ที่เกิดแก่มนุษย์นั้น มักรวมอยู่ในคำว่า ความเจริญและความเสื่อม โดยที่มนุษย์มักเรียกความเปลี่ยนแปลงในทางที่ต้องการ ว่าเป็นความเจริญ และเรียกความเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ไม่ปรารถนา ว่าเป็นความเสื่อม ทั้งนี้รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของชีวิตที่เรียกว่าการพัฒนาตนด้วย หลักความไม่ประมาท หรืออัปปมาทะ จะคอยกระตุ้นเร้าเตือนใจให้มีความตื่นตัวต่อเหตุการณ์และสถานการณ์ต่างๆ ทำให้เป็นคนไวและไหวทันต่อความเปลี่ยนแปลง ทั้งในทางเสื่อมและในทางเจริญ โดยเฉพาะมีสติไวต่อการรับรู้และการเรียนรู้ เกี่ยวกับเหตุแห่งความเสื่อมและเหตุแห่งความเจริญ คอยระมัดระวังเหตุแห่งความเสื่อมและเหตุแห่งความเจริญ มีอะไรเกิดขึ้นจะเป็นเหตุแห่งความเสื่อม ก็รีบหลีกละป้องกันหรือกำจัดเสีย มีปัญหาก็รีบพิจารณาหาทางแก้ไข มองเห็นอะไรจะเป็นเหตุให้เกิดความเจริญ ก็เร่งขวนขวายสร้างสรรค์ปฏิบัติจัดทำ รวมทั้งความกระตือรือร้นในการพัฒนาตนให้ก้าวหน้าไปในวิถีชีวิตที่ดีงาม

อัปปมาท หรือความไม่ประมาทนี้ เป็นธรรมหัวต่อเข้าสู่การปฏิบัติ ทำให้เกิดการลงมือทำ เป็นตัวนำส่งธรรมอื่นๆ ทั้งหมดเข้าสู่การปฏิบัติ ธรรมทั้งหลายจะออกสู่การปฏิบัติหรือออกทำหน้าที่โดยผ่านการกระตุ้น เร่งเร้า และส่งตัวโดยความไม่ประมาทนี้ อาจจะเรียกด้วยสำนวนเปรียบเทียบว่า อัปปมาทะเป็นผู้ปล่อยตัวธรรมต่างๆ ลงสู่สนามปฏิบัติการ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ผู้ปล่อยตัวลงสนาม จึงเป็นหลักธรรมที่ครอบคลุมการปฏิบัติทั้งหมด อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นเหมือนรอยเท้าช้าง คือ รอยเท้าของสัตว์บกทั้งหลายรวมลงได้ในรอยเท้าช้างฉันใด ธรรมทั้งหลายก็รวมลงได้ในความไม่ประมาท ฉันนั้น ถ้าไม่ประมาทแล้ว ธรรมทุกข้อก็ได้รับการปฏิบัติ แต่ถ้าประมาทเสียอย่างเดียว ธรรมทั้งหลายถึงจะเรียนกันมามากมาย ก็ไร้ประโยชน์ เป็นหมันเหมือนนอนหลับอยู่ในสมอง หรือนอนตายอยู่ในคัมภีร์ เพราะไม่เอามาปฏิบัติ ไม่เอามาใช้ ดังนั้น เมื่อพูดมาถึงความไม่ประมาทแล้ว ก็เป็นอันครอบคลุมไปถึงธรรมอื่นๆ ที่เหลือ ซึ่งอยู่ในภาคปฏิบัติทั้งหมด แต่ธรรมทั้งหลายตัวไหนข้อใดจะออกมาปฏิบัติเมื่อใดให้ได้ผล และไม่สับสนกัน ก็ต้องย้อนกลับไปถามว่า ผู้ปล่อยตัวลงสนามถือหลักอะไร จะปล่อยตัวธรรมข้อไหน เมื่อไร และอย่างไร ซึ่งคำตอบก็มีอยู่แล้วง่ายๆ คือ จะปล่อยตัวธรรมข้อใดก็แล้วแต่เหตุปัจจัยที่จะต้องไปทำ หรือพูดสั้นๆ ว่า ตามเหตุปัจจัย หมายความว่า พิจารณาดูให้รู้เหตุปัจจัยในกรณีนั้นๆ แล้วเลือกตัวข้อธรรม ซึ่งเหมาะที่จะไปทำงานป้องกันแก้ไขกำจัด หรือสร้างสรรค์เสริมหรือปรับปรุงเหตุปัจจัยนั้นๆ

๗. แก้ปัญหาและพึ่งพาตนได้ด้วยความรู้คิด

หมายถึง ความรู้จักคิด รู้จักพิจารณา รู้จักสำเหนียก กำหนดมองสิ่งทั้งหลายให้ได้คุณค่า คิดเป็น รู้จักคิดวิเคราะห์ สืบสาวให้เข้าถึงความจริง ซึ่งทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ และรู้จักริเริ่มทำการต่างๆ อย่างถูกต้องได้ด้วยตนเอง ในภาษาทางธรรม ท่านพูดสั้นๆ ว่า ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ หรือการทำโยนิโสมนสิการให้ถึงพร้อม เรียกเป็นคำศัพท์ว่า โยนิโสมนสิการสัมปทา

ความรู้จักคิด หรือคิดเป็นมีความสำคัญอย่างไร เป็นเรื่องที่ย้ำเน้นกันมากอยู่แล้ว ในวงการการศึกษาสมัยปัจจุบัน จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวซ้ำในที่นี้ แต่ข้อที่ควรพิจารณาอยู่ที่ว่า คิดเป็นนั้นคือคิดอย่างไร ความคิดเป็นที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ นั้น มีวิธีคิดหลายวิธี โดยเฉพาะที่สำคัญ คือ

– คิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย

– คิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ

– คิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา

– คิดแบบกระบวนการแก้ปัญหา

– คิดแบบความสัมพันธ์เชิงหลักการและความมุ่งหมาย

– คิดแบบเห็นคุณ โทษ (ข้อดี ข้อเสีย ข้อเด่น ข้อด้อย) และทางออก

– คิดแบบคุณค่าแท้-คุณค่าเทียม

– คิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม

– คิดแบบอยู่กับปัจจุบัน

– คิดแบบวิเคราะห์ทั่วตลอดและรอบด้าน ที่เรียกว่าวิภัชชวาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อว่าโดยสรุป โยนิโสมนสิการเหล่านี้ อาจจัดเป็นประเภทใหญ่ได้ ๒ อย่าง คือ

๑) โยนิโสมนสิการแบบเสริมปัญญา

๑) โยนิโสมนสิการแบบเสริมปัญญา ใช้ในการคิดค้นหาความจริง ในกรณีที่ต้องการรู้ความจริงของสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ หรือสิ่งที่พิจารณาเป็นเรื่องของการที่จะหาความจริง เรียกง่ายๆ ว่าเป็น การมองตามเป็นจริง หรือมองตามที่มันเป็น

๒) โยนิโสมนสิการแบบเร้ากุศล

๒) โยนิโสมนสิการแบบเร้ากุศล ใช้ในการสร้างเสริมคุณธรรม หรือคุณภาพจิต การทำให้เกิดประโยชน์หรือผลดีและความสุข ในกรณีที่ไม่ใช่เป็นเรื่องของการค้นหาความจริง หรือสิ่งนั้นมิได้กำลังถูกพิจารณาในแง่ของความจริง แต่เป็นเรื่องของอัตวิสัยที่จะทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีงามเป็นกุศล หรือความรู้สึกที่ไม่ดีเป็นอกุศล เกิดความสุขหรือความทุกข์ เป็นคุณเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษก็ได้แล้วแต่จะมอง เรียกง่ายๆ ว่าเป็น การมองในแง่ดี เช่น เห็นคนแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าเก่าขาด ถ้าไม่มีโยนิโสมนสิการ อาจเกิดความรู้สึกรังเกียจ หรือดูถูก แต่ถ้ามองด้วยโยนิโสมนสิการ อาจเกิดความรู้สึกสงสาร เห็นใจ อยากช่วยเหลือ ดังนี้เป็นต้น

ในหลายกรณี โยนิโสมนสิการทั้งสองประเภทจะเกิดขึ้นแบบส่งต่อเสริมกันในเรื่องเดียวกัน เช่น ในกรณีเห็นคนแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าเก่าขาด ถ้าไม่ติดตันอยู่กับความรู้สึกรังเกียจหรือดูถูก และถ้าเกิดความรู้สึกสงสารเห็นใจ ก็อาจจะทำให้คิดค้นหาความจริงต่อไป เช่น สืบค้นหาเหตุปัจจัยที่ทำให้คนผู้นั้นยากจน ทั้งเหตุปัจจัยในด้านตัวบุคคลนั้นเอง และปัจจัยในทางสังคมเป็นต้น หรืออาจโยงไปหาการพิจารณาแก้ไขปัญหาความยากจน ของคนยากจนทั่วไป หรือของสังคมทั้งหมด

โยนิโสมนสิการ เป็นแกนนำและเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดในกระบวนการพัฒนา เมื่อคนต่างคน หรือคนเดียวกันแต่ต่างครั้งต่างคราว ได้พบเห็นเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ เหตุการณ์ หรือสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง อาจเกิดความรู้สึก เกิดสภาพจิต ความรู้ความเข้าใจ ความคิด ได้คุณค่า หรือได้ประโยชน์จากกรณีนั้น ต่างรูปต่างแบบและมากน้อยต่างกันไปได้มากมาย สุดแต่จะมีโยนิโสมนสิการหรือไม่ และมีโยนิโสมนสิการในลักษณะใด เด็กสองคนดูโทรทัศน์เรื่องเดียวกัน คนหนึ่งได้แต่ความสนุกสนานเพลิดเพลิน อีกคนหนึ่งได้ความรู้ความคิดบางอย่างที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิต เด็กหลายคนอ่านหนังสือเล่มเดียวกัน คนหนึ่งรู้และจำได้แต่ข้อมูลว่า เขาเขียนไว้เล่าไว้ว่าอย่างนั้นๆ อีกคนหนึ่งเข้าใจเนื้อหาสาระของเรื่องที่เขาเล่า รู้ว่าเรื่องนั้นๆ มีเหตุมีผลอย่างไร อีกคนหนึ่งมองออกถึงความรู้สึกนึกคิด ความต้องการของผู้เขียน อีกคนหนึ่งเลยไปอีก สามารถเชื่อมโยงสัมพันธ์เนื้อหาสาระความคิดเห็นในเรื่องที่อ่านใหม่ เข้ากับความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่แล้ว เพิ่มแง่มุมของความคิด ขยายความรู้ความเข้าใจโลกทัศน์ชีวทัศน์ ให้กว้างขวางออกไป บางคนยิ่งกว่านั้น อาศัยความรู้ความเข้าใจจากหนังสือนั้นเป็นฐาน คิดปรุงแต่งความรู้ขึ้นใหม่ นำไปใช้ทำการบางอย่างได้สำเร็จ นิวตันเห็นลูกแอปเปิลหล่นลงมา คิดได้ถึงกฎความโน้มถ่วงหรือความดึงดูด พระภิกษุรูปหนึ่งเห็นใบไม้แก่ร่วงหล่น เกิดความเห็นแจ้งในหลักอนิจจัง พระภิกษุอีกรูปหนึ่งเดินสวนทางกับคนเสียสติ ได้ยินคนเสียสตินั้น บ่นเพ้อข้อความบางอย่างไปตามความฟั่นเฟื่อนเลื่อนลอยโดยไม่รู้ตัว กลับเกิดความเห็นแจ้งชีวิตเห็นแจ้งธรรม ในข้อก่อนได้กล่าวว่า อัปปมาทะ หรือความไม่ประมาท เป็นผู้ปล่อยตัวข้อธรรมต่างๆ ลงสู่สนามปฏิบัติการ เป็นตัวการที่ทำให้เกิดการปฏิบัติ หรือทำให้เกิดการกระทำ แต่โยนิโสมนสิการในข้อที่ ๗ นี้ เป็นตัวชี้นำและควบคุมปฏิบัติการทั้งหมดทั้งในสนามและก่อนลงสนาม

ในบรรดาองค์ประกอบ ๗ ประการ ที่เป็นแสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงามนี้ ข้อที่ท่านให้ความสำคัญเป็นพิเศษ มี ๒ ข้อ คือ ความมีกัลยาณมิตร และ โยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นข้อต้น และข้อสุดท้าย เรียกได้ว่าเป็นตัวคุมหัวคุมท้ายขบวน ความมีกัลยาณมิตรสำคัญที่สุด เป็นเอกในฝ่ายปัจจัยหรือองค์ประกอบภายนอก โยนิโสมนสิการสำคัญที่สุด เป็นเอกในฝ่ายปัจจัยหรือองค์ประกอบภายใน

เนื่องด้วย การพัฒนาปัญญาเป็นแกนกลางหรือเป็นสาระสำคัญของการศึกษาหรือการพัฒนาชีวิต ความรู้ ความเข้าใจ คิดเห็นเชื่อถือ และมีแนวความคิดถูกต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง อย่างน้อยตามหลักเหตุปัจจัย ซึ่งเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ จึงเป็นองค์ประกอบข้อแรกของทางชีวิตที่ดีงาม แสดงถึงการที่ชีวิตได้รับการพัฒนา เริ่มเข้าสู่ทางที่ถูกต้องแล้ว องค์ประกอบสำคัญทั้งสองคือ ความมีกัลยาณมิตร และโยนิโสมนสิการ เป็นปัจจัยแห่งการเกิดขึ้นของความรู้ความเข้าใจ ความคิดเห็นเชื่อถือถูกต้องที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ นั้น

ปัจจัยภายนอกกับปัจจัยภายใน คือ ความมีกัลยาณมิตร กับโยนิโสมนสิการนั้น เกื้อหนุนกันและทำงานต่อทอดกันให้ได้ผลสมบูรณ์ เริ่มแรกเราอาจได้กัลยาณมิตร โดยสังคมจัดสรรให้หรือมีคนดีมาทำตนเป็นกัลยาณมิตรให้เราเอง หรือโยนิโสมนสิการของเราเองอาจทำให้เราเลือกหาแหล่งความรู้ และแบบอย่างที่ดีที่เป็นกัลยาณมิตร เมื่อได้แหล่งความรู้และแบบอย่างดีงามที่เป็นกัลยาณมิตรแล้ว กัลยาณมิตรนั้นก็เอื้ออำนวยความรู้ และความดีงามให้แก่เรา หรืออย่างน้อยเปิดโอกาสให้เราเข้าถึงแหล่งความรู้ และความดีงาม ตลอดกระทั่งว่ากัลยาณมิตรชั้นเยี่ยมอาจชี้แนะกระตุ้นนำให้เราเกิดมี หรือใช้โยนิโสมนสิการ เมื่อได้กัลยาณมิตรเช่นเลือกหนังสืออ่านที่ดีได้แล้ว ต่อจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของโยนิโสมนสิการอีก ที่จะทำให้เราได้ความรู้ความเข้าใจ ได้ประโยชน์จากกัลยาณมิตร เช่น จากหนังสือเล่มนั้น ในลักษณะใดและมากน้อยเพียงใด

สำหรับคนทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อเริ่มต้นยังไม่มีโยนิโสมนสิการ ความมีกัลยาณมิตรซึ่งเป็นตัวคุมหัวขบวน จะมีบทบาทมากโดยเป็นผู้ช่วยจัดเตรียมชักนำ และกระตุ้นเร้าให้องค์ประกอบทั้งหลายที่เป็นรุ่งอรุณของการศึกษา หรือแสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงามเหล่านี้ทั้งหมด เกิดขึ้นในตัวบุคคลตลอดทั้งขบวน รวมทั้งข้อแรก คือตัวมันเอง และข้อท้ายคือโยนิโสมนสิการด้วย โดยกัลยาณมิตรช่วยชี้แนะให้บุคคล หรือผู้เรียนนั้นรู้จักเลือกหากัลยาณมิตรได้เอง และรู้จักที่จะคิดเองเป็นต่อไป

แต่เมื่อใด บุคคลหรือผู้เรียนมีโยนิโสมนสิการแล้ว โยนิโสมนสิการที่เป็นองค์ประกอบภายใน จะเป็นเจ้าบทบาทในการคุมขบวนทั้งหมดเข้าสู่ทางชีวิตที่ดีงาม เริ่มแต่รู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่เป็นกัลยาณมิตรเอง ไปจนถึงตื่นตัวไม่ประมาทคอยเร่งรัดส่งธรรมต่างๆ ลงสู่สนามปฏิบัติการให้เหมาะกับเหตุปัจจัยที่จะกำจัดหรือจะจัดทำ

ความมีกัลยาณมิตรเป็นจุดเริ่มสำคัญ ของกระบวนการพัฒนา ที่จะก้าวไปในทางชีวิตที่ดีงามก็จริง แต่ตราบใด รุ่งอรุณของการศึกษา ยังต้องอาศัยความมีกัลยาณมิตรเป็นเจ้าบทบาทนำขบวนอยู่ ตราบนั้นการก้าวไปก็ยังอยู่ในลักษณะของการพึ่งพา ยังต้องอาศัยผู้อื่น ขึ้นต่อผู้อื่น บุคคลหรือผู้เรียน ยังพึ่งตนเองไม่ได้ ยังไม่เป็นอิสระ และยังไม่ปลอดภัยแท้จริง เมื่อบุคคลหรือผู้เรียนรู้จักใช้โยนิโสมนสิการมากขึ้นๆ ใช้โยนิโสมนสิการตัวท้ายเป็นเจ้าบทบาทนำขบวนไปได้เอง การที่จะต้องคอยพึ่งพากัลยาณมิตรก็จะลดน้อยลง และพึ่งตนเองได้มากขึ้น เป็นอิสระมากขึ้น และมีความปลอดภัยที่จะอยู่จะเดินไปได้ด้วยตนเอง โยนิโสมนสิการจึงเป็นองค์ประกอบที่จะทำให้คนพึ่งตนเองได้ มีอิสรภาพ บรรลุจุดหมายของการศึกษาอย่างแท้จริง

มองในแง่สังคมหรือมองจากข้างนอกเข้าไป ผู้บริหารบ้านเมือง ผู้บริหารการศึกษา และผู้นำในสังคมโดยทั่วไป ซึ่งเกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ จะหวังให้คนมีโยนิโสมนสิการเอง เอาแต่บอกให้เขารับผิดชอบตนเองไม่ได้ แต่จะต้องเริ่มลงไปจากหัวขบวน โดยถือหลักกัลยาณมิตตตาเป็นสำคัญ ต้องมุ่งมั่นสรรค์สร้างสภาพแวดล้อมทางสังคม ให้เป็นกัลยาณมิตร โดยเฉพาะผลิตครูอาจารย์ที่มีคุณภาพ ให้พ่อแม่หรือครอบครัวทำหน้าที่เป็นบูรพาจารย์ตามหลัก และมีสื่อมวลชนซึ่งตั้งตนอยู่ในคุณธรรมทำหน้าที่ด้วยความปรารถนาดีต่อสังคม ช่วยกันจัดสรรและทำตนเป็นแหล่งความรู้ และแบบอย่างที่ดีพัฒนาช่องทาง ระบบ และรูปแบบต่างๆ ของความสัมพันธ์ การถ่ายทอด และการติดต่อสื่อสารในด้านดีมีประโยชน์ ให้สะดวก ชวนใจ และได้ผล ช่วยกันชักนำ กระตุ้นเร้า ให้องค์ประกอบที่เป็นรุ่งอรุณของการศึกษา หรือแสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม เกิดตามกันมาให้ครบขบวน โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนและจริงจัง ว่าจะทำให้สำเร็จจนถึงขั้นที่เด็ก หรือบุคคลเหล่านั้นสามารถพัฒนาตัวนำฝ่ายองค์ประกอบภายใน คือโยนิโสมนสิการขึ้นมาจูงขบวนไปได้เอง จนทุกคนพึ่งตนเองได้ เป็นอิสระ วางใจได้จริง แล้วทุกคนนั้นก็จะเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม ซึ่งเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ประกอบกันเข้าเป็นสังคมที่มีความเป็นกัลยาณมิตรพร้อมอยู่เองในตัว ซึ่งเมื่อนั้นทั้งหัวขบวน และท้ายขบวนจะประสานงานกันอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นหลักประกันอันมั่นคงว่า ดวงสุริยาแห่งการศึกษาจะอุทัยขึ้นมา และสาดส่องแสงอาทิตย์แห่งชีวิตที่ดีงามให้เจิดจ้าต่อไป

สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุปัจจัย และเป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อเหตุปัจจัยพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ไม่ต้องอ้อนวอนปรารถนา ผลก็เกิดขึ้นมาเอง เมื่อองค์ประกอบ ๗ ประการข้างต้นนี้เกิดขึ้นในตัวบุคคล ก็คือรุ่งอรุณของการศึกษา และแสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงามได้เริ่มต้นแล้ว ถึงจะไม่เพียรพยายามและไม่ปรารถนา การศึกษาและการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ก็จะต้องเกิดมีตามมาอย่างแน่แท้ เหมือนดังคำอุปมาที่ว่า เมื่อแสงเงินแสงทองของรุ่งอรุณปรากฏแล้ว อาทิตย์ก็จะอุทัยอย่างแน่นอน

เชิงอรรถ

  1. บทความ สำหรับหนังสือกฐินพระราชทาน พ.ศ. ๒๕๓๒ ของกระทรวงศึกษาธิการ

No Comments

Comments are closed.