(เนื้อหา)

12 ธันวาคม 2522
เป็นตอนที่ 3 จาก 3 ตอนของ

อัตตา-อนัตตา ในพระพุทธศาสนา

พระราชวรมุนี เรื่องอัตตา-อนัตตานี้ ในความเห็นของอาตมาว่า ก่อนที่เราจะพิจารณาเนื้อหาแท้ๆ มีเรื่องที่เราจะต้องทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นอยู่รวม ๔ อย่าง

อย่างที่ ๑ คือ เรื่องความหมายของศัพท์หรือการใช้ศัพท์

ศัพท์อัตตานี้มีขอบเขตของมัน บางทีเราใช้สับสนกับคำว่าธรรมะ ธรรมะที่แปลว่าสิ่ง ส่วนอัตตาใช้ในความหมายอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเราจะต้องกันไว้โดยเฉพาะ ข้อนี้สัมพันธ์กับอย่างที่ ๒

อย่างที่ ๒ คือ คำว่าอัตตานี้ตัวแท้ของมันมีความหมายในทาง Subjective แม้เราจะพิจารณาในทาง Objective บ้าง มันก็จะต้องมีความหมายทาง Subjective อยู่นั่นเอง คือตัวเดิมของมันมาจากความหมายด้านนี้

อย่างที่ ๓ ได้แก่ เรื่องความจริง ๒ ระดับคือ ระดับสมมติสัจจะ ความจริงในระดับที่มนุษย์สมมติ หมายถึงความจริงที่ตกลงยอมรับร่วมกันเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเมื่อพูดในทางศาสนาก็เกี่ยวข้องกับจริยธรรม ความจริงในระดับสมมตินี้พระพุทธศาสนาก็ยอมรับใช้ประโยชน์

คำว่าอัตตาที่ใช้ในระดับสมมตินี้มีมากมาย เช่น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน หรือว่า อตฺตสมฺมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ เป็นต้น อัตตาแบบนี้จะมีทั้งดีทั้งเลว เป็นความหมายในระดับที่เรียกว่าสมมติ เรายอมรับเอามาใช้ประโยชน์ในการสื่อสารและการดำเนินชีวิตประจำวันทั่วไป

ทีนี้อีกระดับหนึ่งก็คือ ระดับปรมัตถ์ ในเมื่อเราต้องการจะเข้าใจสภาวธรรมที่แท้จริง จะเข้าถึงความจริงของสิ่งต่างๆ เราจะมาติดอยู่ในขั้นสมมติไม่ได้ เช่น จะพิจารณาความจริงแท้ของโต๊ะนี้ เราจะติดในคำโต๊ะอยู่ไม่ได้ เราต้องรู้ว่าคำว่าโต๊ะนี้เป็นคำสมมติที่เราตกลงกัน บัญญัติขึ้น

สำหรับวัตถุที่มาประกอบกันเพื่อใช้ประโยชน์อย่างนี้ เมื่อเราจะศึกษาตัวจริงของมัน เราก็ต้องแยกแยะวิเคราะห์ลงไป ดูว่ามันมีอะไรเป็นส่วนประกอบ เป็นไม้ เป็นตะปู เป็นอะไรต่างๆ จนได้ความจริงระดับปรมัตถ์ ที่เราพูดถึงอนัตตาว่า ไม่ใช่อัตตา ไม่มีอัตตาอะไรนี้ เราพูดในระดับปรมัตถ์ เป็นการพูดในระดับปัญญา

สิ่งที่ควรเข้าใจอย่างที่ ๔ คือ เรื่องความพร้อม โดยเฉพาะความพร้อมในทางปัญญาซึ่งต้องอาศัยความแก่กล้าของอินทรีย์โดยเฉพาะ ปัญญินทรีย์หรืออินทรีย์คือปัญญานั้น ต้องมีปริปักกภาวะ คือความแก่กล้านี้ การที่ต้องมีความแก่กล้าหรือความพร้อมก็เพราะว่า ความเข้าใจในเรื่องของ อัตตา-อนัตตา หรือสภาวธรรมนี้ มันสัมพันธ์กับกิเลสที่อยู่ในใจของเรา เรามีกิเลสคือความยึดมั่นถือมั่นเป็นทุนอยู่ ความยึดมั่นในอัตตานี้เป็นสิ่งที่ลึกซึ้งเหลือเกินในจิตใจของเรา เราจะมองสิ่งต่างๆ โดยลำเอียงเข้าข้างกิเลสหรือสังโยชน์ตัวนี้ แล้วก็จะยึดมั่นเอาไว้ เพราะฉะนั้นแม้เราจะพิจารณาเห็นความจริงจนกระทั่งถอนความเข้าใจหรือยึดในอัตตาระดับหยาบไปได้ เราก็จะไปไขว่คว้าหาอัตตาใหม่ แล้วก็ไปยึดเอาสิ่งที่ละเอียดกว่านั้นเป็นอัตตาเรื่อยไป คือ ในตัวเรา เราก็เริ่มต้นด้วยยึดรูปธรรมคือร่างกายว่าเป็นอัตตา เมื่อยึดร่างกายไม่ได้ ความยึดถือก็จะลึกเข้าไปในด้านจิต ยึดเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อยึดสิ่งเหล่านี้ไม่ได้แล้วเราก็จะไปยึดสิ่งที่เรานึกว่าเป็นภาวะที่มีอยู่จริง จะเป็นพระผู้เป็นเจ้า เป็นพรหม เป็นนิพพานก็ตาม เราก็จะต้องยึดให้ได้สักอย่างหนึ่งเอาเป็นอัตตา แล้วก็ตีความ แม้จะยอมเปลี่ยนคุณภาพของอัตตาไปเพื่อจะให้เข้ากับสิ่งนั้น ตราบใดที่เรายังมีตัวความยึดมั่นนี้อยู่ เราก็ต้องหาอัตตายึดอยู่เรื่อยไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราไปยึดมั่น จึงไม่ใช่ของจริง เป็นเพียงการที่เราลำเอียงเข้าข้างตนอยู่หรือเป็นทาสของความยึดถือ

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราต้องกำจัดในขั้นสุดท้าย คืออัตตาที่เป็น Subjective ได้แก่ ภาพของอัตตาที่เราวาดขึ้นจากความยึดมั่น หมายความว่า อัตตาที่มันอยู่ข้างนอกเป็น Objective นั้นไม่มีจริง แต่มันมีอยู่ในใจเรานี้เอง จากจุดนี้ เราก็เอาเรื่องอัตตาไปสับสนกับคำว่าธรรมะ เกิดคำถามว่า ธรรมะมีอยู่จริงหรือไม่จริง แล้วก็เอาอัตตาเข้าไปใส่ ไปซ้อนกันอย่างที่พูดกันว่า สิ่งทั้งหลายมีตัวตนหรือไม่ นี้แสดงว่า เราเอาความยึดมั่นของเรานี้ ไปซ้อนสภาวธรรม นี่ก็เป็นความเข้าใจเบื้องต้น

ผู้ถาม อัตตานี้มีมากก็เพราะว่ามีอุปาทานใช่ไหม

พระราชฯ ใช่ มีอุปาทานที่เป็นกิเลสอยู่ในใจของเรา ตัวยึดทำให้เราไขว่คว้าหาอัตตามายึดให้ได้ สิ่งสำคัญที่จะพูดต่อไปก็คือเรื่องอัตตามีหรือไม่นี้ ต้องแยกออกไปจากการพิจารณาว่า สภาวธรรมต่างๆ หรือธรรมนั้นมีหรือไม่ การพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องธรรมหรือสภาวธรรมนี้เป็นเรื่อง Objective แล้ว เพราะฉะนั้นต้องแยกกันให้ได้เสียก่อน แต่ทีนี้สิ่งหนึ่งที่ควรจะเน้นก็คือว่า แม้จะพิจารณาอะไรที่เป็น Objective เราก็จะเอาสิ่งที่เป็น Subjective นี้เข้าไปซ้อนเรื่อย คือเอาอัตตาเข้าไปซ้อนในตัวธรรม ที่พูดว่า สิ่งทั้งหลายมีตัวตนหรือไม่ อย่างนี้เรียกว่าเอาอัตตาไปซ้อนธรรม เราจะพูดว่าสิ่งทั้งหลายมีอยู่หรือไม่เท่านี้ไม่ได้หรือ ทำไมต้องพูดเลยไปว่าสิ่งทั้งหลายมีตัวตนหรือไม่

ผู้ถาม ถ้าเผื่อว่าคำว่า “มีตัวตน” นั้นต้องการหมายถึงสภาวะที่ยืนโรงอย่างนี้เป็น Objective หรือ Subjective เหมือนอย่างทางพราหมณ์ ที่ว่า เราเกิดมาชาติหนึ่งๆ ก็จะมีวิญญาณ หรือสิ่งที่ยืนโรงหรือว่าเป็นจิตดวงเดิม จนกว่าจะเข้าไปสู่ปรมาตมัน

พระราชฯ อันนี้ละคือเรื่องที่จะต้องพิจารณากันต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว ตรงกับหัวข้อเรื่องอัตตา-อนัตตา

ผู้ถาม ถ้าอย่างนี้เป็น Subjective หรือ Objective

พระราชฯ เรามีอัตตาที่เป็น Subjective แล้วก็เอาอัตตานั้นไปซ้อนไว้ในขบวนการที่แม้จะมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ขออธิบายเพิ่มเติมว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงไปโดยบังเอิญ หรือเป็นไปอย่างตามลมตามแล้งหรือเป็นไปอย่างเลื่อนลอย

การที่สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงนี้ เปลี่ยนแปลงโดยเป็นไปตามเหตุปัจจัย ภายในขบวนการที่มีการเปลี่ยนแปลงโดยเป็นไปอย่างมีเหตุปัจจัยนี้ สิ่งทั้งหลายย่อมมีความสัมพันธ์กัน เหตุปัจจัยเป็นอย่างไร มันก็ออกผลในรูปอย่างนั้น ทำให้สิ่งต่างๆ มีการคุมรูปร่างอย่างที่เรียกว่าเป็นกระแสหรือเป็นกระบวนการต่อเนื่องไปได้ กระแสของธรรมหรือกระบวนการอันนี้มันไหลเนื่องกันไปตามเหตุปัจจัยนั้น แต่มนุษย์เราเอาตัวความยึดมั่นนี้เข้าไปจับมัน สร้างอัตตาซ้อนเอาไว้ในกระแสหรือกระบวนการนั้นอีกที

ผู้ถาม ถ้าอย่างนั้น คำถามที่ว่ามีตัวยืนโรงนี้ คล้ายๆ กับว่าจะไปสร้างอัตตาซ้อนเข้าไปอีกกระมัง

พระราชฯ ใช่ คืออัตตาซ้อนนั่นแหละ หมายความว่าเอาอัตตาไปซ้อนสภาวธรรมคือ สร้างอัตตาขึ้นมา อัตตาตัวซ้อนคือตัวที่อยู่ในความยึดมั่นของเรา เราไปสร้างซ้อนเอาไว้ในกระแส หรือกระบวนการของสภาวธรรมที่มันไหลเรื่อยไปนั่นเอง ในสมัยพุทธกาล ก็มีพระองค์หนึ่งเคยสงสัยว่า ก็เมื่อสิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา กรรมที่อนัตตาทำจะถูกต้องตัวได้อย่างไร นี้คือคำถามที่เราสงสัยกันอยู่นี้ กรรมที่อนัตตาทำจะถูกต้องตัวได้อย่างไร ถูกต้องตัวก็คือจะมีผลแก่คนนั้นได้อย่างไร

ผู้ถาม คือ คนเราพูดกันว่าไม่มีตัวตน ของไม่มีตัวมีตนทำแล้วถ้าอย่างนั้นจะมีคนไปรับบาปบุญในนรกสวรรค์หรือ

พระราชฯ สิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา ก็ไม่มีตัวตน กรรมที่อนัตตาทำ จะถูกต้องคนนั้นได้อย่างไร ทีนี้ ให้สังเกตในคำถามนี้นะ มีการสับสนระหว่างตัวสภาวธรรมกับตัวอัตตาที่เป็น Subjective เกิดขึ้น บอกว่ากรรมที่อนัตตาทำ อนัตตานี้มันทำกรรมไม่ได้ แต่ว่าเอาละสมมติว่าทำกรรมได้ จะถูกต้องบุคคลนั้นได้อย่างไร ตอนที่พูดถึงบุคคลนั้นคือมีอัตตาแล้ว ยึดมั่นในอัตตา คือ หมายความว่าเกิดการสับสนระหว่างกระบวนการของสภาวธรรมล้วนๆ กับตัวอัตตาที่ยึดไว้ ๒ อันนี้ เอามาบรรจบเข้า เพราะฉะนั้นจึงเกิดความสับสน

ผู้ถาม สรุปว่า ที่คนพูดว่าอัตตาไหลนี้เพราะว่าเขาเอากระแสธรรมที่ส่งต่อๆ ไปหลายๆ ชาติ เวียนว่ายตายเกิดน่ะค่ะ เขาเอาลักษณะว่ามันเป็นกระแสธรรมคือไม่ใช่ตัวร่างกาย กระแสกรรมนั้นเป็นตัวที่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ว่าลักษณะที่เป็นอยู่ของสภาวะอันนั้น เป็นการอยู่แบบ เกิด-ดับ เกิด-ดับ

พระราชฯ คือ เราจะเอาจิตหรือวิญญาณเป็นตัวยืนโรงละ คล้ายๆ อย่างนั้นใช่ไหม ทีนี้ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องจิตหรือวิญญาณ แต่จะขอย้อนออกไปพูดสัมพันธ์กับเรื่องกรรม พระพุทธศาสนาบอกว่าทำกรรมแล้วต้องมีผล ทีนี้มันจะมีผลอย่างไรก็มองใน ๒ ระดับ

ระดับสมมติ บอกว่าเมื่อทำกรรมใดแล้ว ก็จะได้รับผล นี่ระดับจริยธรรมพูดเต็มที่เลย หมายความว่ายอมรับสมอ้างเลยว่าคนทำอะไรไว้ก็จะได้รับผลอันนั้น

แต่ทีนี้ในขั้นปรมัตถ์ เรามองในรูปของกระบวนธรรมต่างๆ กระแสธรรมที่ว่าคนเราประกอบด้วยกาย คือรูป และนามคือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทีนี้ท่านบอกว่า ๕ อย่างนี้แต่ละอย่างมีการเกิด-ดับตลอดเวลา แม้แต่จิตหรือวิญญาณนี้จะเกิดดับไวกว่าวัตถุอีก

อภิธรรมท่านว่าวิญญาณเกิด-ดับ ๑๗ ขณะ รูปธรรมจะเกิด-ดับขณะหนึ่ง แสดงว่า นามธรรมนี้เกิดดับรวดเร็วมากเหลือเกิน แต่การที่มันเกิด-ดับอย่างนี้ มันเป็นไปตามกระบวนการของการเป็นเหตุเป็นผลด้วย เพราะฉะนั้นมันจึงเรียกว่าเป็นสันตติ คือการสืบต่อ หมายความว่า สิ่งที่ดับไปเป็นปัจจัยแก่สิ่งเกิดต่อมา กล่าวคือจิตที่ดับไป เป็นปัจจัยของจิตที่เกิดใหม่ตลอดเรื่อยไป

ทีนี้กระบวนธรรมอันนี้ที่ประกอบด้วยรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ท่านบอกว่า ๕ อย่างทั้งขันธ์ ๕ นั้น ที่มันมีการเกิดดับนั้น มันไปสัมพันธ์กับข้างนอกและข้างในอะไรต่ออะไรนี้ในภาษาสมมติ เราเรียกว่า คนทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือทำกรรมนั้นกรรมนี้ แต่เมื่อพูดเป็นกระบวนธรรม เราไม่เรียกว่าทำกรรม คือมันเกิดความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนธรรม หรือผลรวมของธรรมที่เป็นกลุ่มนี้ทั้งหมดมันมีกิริยา และปฏิกิริยากับสิ่งต่างๆ แล้วผลมันก็เกิดขึ้นทั้งแก่กระบวนธรรม และแก่สิ่งภายนอกทั้ง ๒ ฝ่าย คือองค์ประกอบต่างๆ ในกระบวนธรรมอันนี้ ที่เอากันง่ายๆ แค่ ๕ อย่างนี้นะ ซึ่งละเอียดลออยังแยกออกไปอีกมากมาย มันมีกิริยาและปฏิกิริยาต่อสิ่งทั้งหลายรอบตัวมัน มันก็เป็นเหตุปัจจัย ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงข้างนอก แล้วก็เหตุปัจจัยข้างนอก ก็มีผลต่อมัน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นภายใน กระบวนการนี้ก็จะเป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งข้างนอกข้างในปรากฏความเปลี่ยนแปลงไปต่างๆ ตามเหตุปัจจัยเหล่านั้น นี่เรามองในแง่ปรมัตถ์ มันก็เป็นไปของมันอย่างนี้

ส่วนในระดับสมมติ เรามองกระบวนการอันนี้ แต่เราไม่ได้มองตามสภาวะของมัน เราเรียกมันว่าเป็นคนคนหนึ่งหรือคนชื่อนั้นชื่อนี้ซึ่งตามสภาวะที่แท้จริงไม่มีคำเรียกว่าเป็นคน หรือ นาย ก. นาย ข. อะไร มันเป็นกระบวนธรรมที่ไหลเรื่อยไป เมื่อเรามามองอย่างสมมติ เพื่อใช้ประโยชน์ในระดับจริยธรรม การที่องค์ประกอบ ๕ อย่างนี้ มีกิริยา ปฏิกิริยา กับสิ่งทั้งหลายรอบตัวมันนี้เอง คือ ที่เราเรียกว่า เป็นการทำกรรม แล้วผลก็เกิดขึ้นกับมันคือความเปลี่ยนแปลงในกระบวนการนั้น ทีนี้เราไม่ต้องเอาคำว่าอัตตาเข้ามาใส่ มันเปลี่ยนแปลงได้ไหม มันก็เปลี่ยนแปลงได้ นั่นแหละคือมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาโดยไม่ต้องมีอัตตา ถึงจะไม่พูดว่า คนนั้นคนนี้ทำกรรม กระบวนธรรมนั้นก็มีกิริยา-ปฏิกิริยากับสิ่งต่างๆ ถึงจะไม่พูดว่าคนนั้นคนนี้ได้รับผลของกรรมนั้นกรรรมนี้ กระบวนธรรมนั้นก็มีความเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยคือกิริยา-ปฏิกิริยาอยู่นั่นเอง ถ้ามีอัตตาซิจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถ้ามีอัตตาก็จะมีตัวยืนโรงขึ้นมาอันหนึ่ง เป็นตัวลอยๆ ต่างหากซึ่งเที่ยงแท้คงที่แน่นอน แล้วจะทำกรรมได้อย่างไร เพราะทำอย่างไร มันก็ไม่เปลี่ยนแปลงก็คงอยู่อย่างนั้น

แม้แต่ลัทธิอาตมันของเขา แบบฮินดูแท้ๆ นั้น เขาถือว่าที่มนุษย์ทำกรรมอะไรต่ออะไรไปนี้ อัตตาไม่มีความเปลี่ยนแปลงเลย อัตตาจะคงที่อย่างไรก็อย่างนั้น เป็นแต่ว่า มนุษย์นี้อยู่ในระดับภายนอกเท่านั้นที่ทำกรรม แล้วเมื่อไรที่เราเข้าถึงตัวแท้ของมัน เราจะเข้าถึงตัวอัตตาที่ไม่เปลี่ยนแปลง คงอยู่ในสภาพเดิมตลอดเวลา นั่นคือภาวะเดิมแท้เป็นอาตมัน และเป็นอันเดียวกับปรมาตมัน

เพราะฉะนั้นถ้าหากว่ามีอัตตาแล้วก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทำกรรมก็ไม่มีผลแท้จริง แต่ที่มันมีผลนี้ก็เพราะว่ามันไม่มีตัวยืนโรงที่ตายตัว ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่มันเปลี่ยนได้ มันจึงรับผลกรรมได้ คือเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ทีนี้เป็นอันว่า ผลหรืออะไรต่ออะไรเป็นไปตามกระบวนการของเหตุปัจจัยนั่นเอง กระบวนธรรมนี้ไหลไปแล้ว ไหลไปเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยเรื่อยไป อันนี้เมื่อเราพูดในระดับสมมติ เราก็พูดซ้อนเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง โดยเรียกกลุ่มก้อนสภาวธรรมอันนี้ที่เป็นกระบวนการนี้ ว่าเป็นคนผู้นั้นคนผู้นี้ ขบวนธรรมนี้ ซึ่งเรียกว่านายคนนี้ ขณะหนึ่งเมื่อนี้ได้มีปฏิกิริยาต่อสิ่งทั้งหลายอย่างนี้ เรียกว่าทำกรรมอันนี้ไว้ แล้วผลก็เกิดขึ้นในขบวนการนั้นเรียกว่านายคนนั้นได้รับผลของกรรมนั้น ขบวนการนี้ก็ไหลเรื่อยไป เรียกว่านายคนนั้นทำกรรมต่างๆ ผลมันก็เกิดตลอดเวลาเรียกว่าเขาได้รับผลกรรมเมื่อพูดในระดับสมมติ จึงพูดได้เลยว่า นี้เขาทำกรรมเขาต้องได้รับผล เพราะในระดับของสภาวธรรม เราเห็นชัดว่าขบวนการของเหตุปัจจัย เป็นไปอย่างแน่นอน เมื่อมีปฏิกิริยามีผลขึ้นมาตลอดเวลา ก็เท่านั้นเอง เป็นเพียงระดับปรมัตถ์กับระดับสมมติซ้อนกันอยู่

ในระดับปรมัตถ์นั้น เราถือว่าไม่มีตัว นาย ก. นาย ข. ใช่ไหม ไม่มีเพราะว่าโดยสภาวธรรม มันไม่มี ทีนี้เราเกิดมายึดถือกันขึ้น เมื่อเรายึดเราก็ต้องตกลงตามนั้น ถ้าเรายึดกระบวนธรรมนี้ว่านี่เป็นนาย ก. เมื่อกระบวนธรรมกลุ่มธรรมอันนี้มีกิริยา-ปฏิกิริยาอย่างนี้ เกิดผลขึ้นมาอย่างนี้ มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างนั้น เราก็บอกว่า นาย ก. ได้รับผลกรรมอย่างนั้นๆ ใช่ไหม ตามความจริงนั้น ในเมื่อกระบวนธรรมเป็นไปอยู่ และเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยของมัน ถึงแม้ว่าเราจะไม่พูดว่านาย ก. ทำกรรมนั้น แล้วได้รับผลกรรมนั้น กระบวนธรรมมันก็เป็นไปของมันอย่างนั้นได้ ใช่หรือไม่ นี่แหละในเมื่อเราไปสมมติเรียกมัน เพื่อให้รู้เข้าใจกันในการสื่อสาร แล้วเราเองกลับไปสับสน เอาสมมติกับปรมัตถ์ไปปนกันยุ่งหมดใช่หรือไม่

ผู้ถาม ในกระบวนการของธรรมที่เป็นไปนั้น ไม่มีนาย ก. นาย ข. ใช่ไหม

พระราชฯ กระบวนธรรมมันไม่มีนาย ก. นาย ข. เมื่อเราเกิดใหม่ก็ไม่มีชื่อนาย ก. นาย ข. แต่กระบวนการหรือกลุ่มก้อนสภาวธรรมนั้นก็เปลี่ยนแปลงได้ใช่ไหม แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เลื่อนลอย มันจึงมีผล คือเป็นไปตามเหตุปัจจัย องค์ประกอบต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป แต่มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ข้อสำคัญอยู่ตรงนี้ คือไม่มีตัวตนแต่ไม่ใช่เลื่อนลอย ใช่ไหม มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้าเราเอาอัตตาไปซ้อนเมื่อไร ถ้ามีอัตตาซิ จะรับผลไม่ได้ เพราะว่าอัตตานั้นมันจะเที่ยงแท้มั่นคงยั่งยืน มันก็ไม่เปลี่ยนไปตามการกระทำนั้น

ผู้ถาม มันก็คงสบายดี ถ้าหากว่าอย่างนั้นเป็นแต่เพียง ถ้าหากทำบาปก็ไม่ต้องรับบาป มันหลีกเลี่ยงได้

พระราชฯ ก็ไม่ต้องได้รับผล อัตตามันเป็นของคงที่ตามเดิม ถ้ามีอัตตามันก็ไม่เปลี่ยน แต่ความจริง น่าเสียดายที่อัตตานั้นมันไม่มี

ผู้ถาม ถ้ามี ทำบาปอย่างไร ทำบุญอย่างไรก็ไม่ต้องรับเลย หลีกเลี่ยงได้เลยไม่ต้องรับ

พระราชฯ ในวิสุทธิมรรค ท่านให้ความหมายของคำว่าอัตตาไว้ ๔ อย่าง อย่างที่ ๑ ว่าเป็นของสูญ ที่ว่าสูญคือว่างเปล่าจากตัวอัตตาคือปราศจากอัตตานี้ ว่างจากอัตตาคือไร้ตัวแก่นสาร ตัวยืนโรง ตัวที่คงที่แน่นอน เวลาท่านพูดถึงความหมายข้อนี้ท่านบอกว่าธรรมะล้วนๆ หมุนเวียนเปลี่ยนไป คนที่วิเคราะห์อัตตาไหลเขาคงตั้งใจจะหมายความว่ามีตัวยืนโรง แต่ว่ายืนโรงแบบที่เปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ

พระราชฯ เขาใช้คำคืออัตตา ในความหมายนี้ อาจจะเป็นระดับสมมติ คือพูดระดับสมมติสัจจะให้ไปเชื่อมกับปรมัตถสัจจะ คืออัตตาระดับจริยธรรมมันมีใช่ไหม เรายอมรับ สมมติว่ามี แล้วพูดเชื่อมกับปรมัตถ์ โดยเอาอัตตานี้เป็นอัตตาที่ไหลคือหมายความว่า เป็นเพียงขบวนการหรือกระแสธรรมะที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

ผู้ถาม คือเขาจะหมายถึงกระแสธรรม ใช่ไหม ยังสงสัยอยู่ อยากให้ท่านพูดเรื่อง กระแสกรรมหรือคำว่ากรรมเลย กรรมก็คงจะหมายถึงว่าการที่กรรมนี้มันให้ผล ทำแล้วมันได้ สงสัยว่าทำแล้วมันไม่ไร้ผล ทั้งดีทั้งชั่ว อันนี้มันคงจะว่ากระแสใช่ไหม

พระราชฯ เข้าใจว่าใช้คำว่ากระแสกรรมเพื่อให้เข้าใจว่า ไม่มีตัวที่ยืนโรงอยู่แต่ก็ส่งผลต่อไปได้

ผู้ถาม ยังสงสัย ไม่เข้าใจคำว่ากระแสกรรม กระแสนี้หมายความอย่างไร จะหมายความอย่างนี้หรือเปล่า คนเราที่ว่าเป็นขันธ์ ๕ นี้ เมื่อเอาขันธ์แต่ละขันธ์แยกออกจากกันแล้วไม่มีอะไรเหลืออยู่ แต่ที่จริงแล้วยังมีเหลืออยู่อีกอันหนึ่งคือกระแสกรรมของเรา เป็นกระแสของการกระทำที่ส่วนหนึ่งเป็นกรรมที่ทำมาแต่อดีตชาติและอีกส่วนที่ทำในปัจจุบัน

พระราชฯ ความจริงเป็นอย่างนี้นะ คือเวลาเราแยกนี้เราลืมไป กระแสกรรมที่ว่านี้คือสังขาร อยู่ในขันธ์ ๕ นั่นเอง กรรมนี้อยู่ในขันธ์ ๕ อยู่แล้ว สังขารนี่ไง สังขารเป็นกรรม แล้วกระแสของกรรม คือการไหลเวียน เปลี่ยนแปลงในส่วนที่เราเรียกว่าสังขาร เพราะฉะนั้นกระแสกรรมมันมีอยู่ในนี้แล้ว คือเป็นส่วนหนึ่งของขันธ์ ๕ ที่เมื่อมารวมกันแล้ว เราเรียกสมมติว่าเป็นบุคคลหรือตัวตน ในระดับสมมติเรายอมรับเป็นคนนั้นคนนี้ แต่ในแง่ปรมัตถ์มันก็เป็นที่รวมกระแสอันหนึ่ง

แต่อย่าลืมว่ากระแสกรรมนี้ ไม่มีอยู่ต่างหากจากธรรมส่วนอื่นที่รวมกันเข้าแล้วเราเรียกว่าเป็นคน หรือ เป็นผู้ทำกรรมใช่ไหม กระแสกรรมอันนี้มันจะมีอยู่ต่างหากไม่ได้ มันมีอยู่ด้วยกันกับองค์ประกอบอื่นๆ มันอาศัยซึ่งกันและกัน คำว่ากระแสกรรมเป็นเพียงการพยายามหยิบยกองค์ประกอบสำคัญขึ้นมาพูดให้เห็นเด่นชัด ซึ่งที่จริงตัวจริงของมันก็คือสังขารนั่นเอง

ผู้ถาม ถ้าอย่างนั้น กระแสกรรมที่ว่านี้ก็ เกิด-ดับ เกิด-ดับ

พระราชฯ เกิด-ดับเรื่อย กระแสหมายถึงการไหลไป ไหลไป ไม่ใช่คงอยู่เป็นตัวเดิม

ผู้ถาม เกิด-ดับ แต่ว่าส่งผลหรือ

พระราชฯ ส่งผลกันต่อเนื่องไป เพราะเกิดดับนี่แหละจึงส่งผลได้ คือจึงเกิดมีความเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เลื่อนลอย คือ เปลี่ยนแปลงตามเหตุ จึงเรียกอย่างสมมติว่า ได้รับผลตามกรรมที่ทำ เหมือนเซลล์เกิดดับร่างกายจึงโตจึงแก่ได้

ผู้ถาม อย่างถ้าเรารับผลของกรรมเก่า กรรมเก่าที่มาส่งผลให้เรานี้มันก็อยู่ในสภาวธรรมที่มันเกิด-ดับ เกิด-ดับเหมือนกัน

พระราชฯ นี่แสดงว่าเรามองกรรมเก่านั้นเหมือนเป็นก้อน ที่จริงในเรื่องกรรมนั้น แม้แต่ในเวลาทำสิ่งที่เราเรียกว่ากรรมอันหนึ่ง มันก็ประกอบด้วยขณะจิตต่างๆ ใช่ไหม กว่าจะทำกรรมหนึ่งเสร็จสิ้นไปก็ประกอบด้วยขณะจิตซอยยิบไปเลยทีนี้ ในกรรมนี้มันมีส่วนประกอบสำคัญ คือเจตนา ซึ่งเป็นสังขารอันหนึ่ง เจตนานี้มีความแรงเท่าไร มีความยาวนานในการสืบต่อขณะจิตเท่าไร มันจะส่งผลได้มากเท่านั้น แต่มันก็เป็นขณะๆ เหมือนกัน โดยมีผลส่งเข้ามาในผลรวมที่เป็นกระแสที่ไหลไปเรื่อยๆ

ผู้ถาม เพราะฉะนั้นอาจจะส่งผลที่เป็นภพเป็นชาติเลย

พระราชฯ อันนี้ คือที่เราเรียกในระดับสามัญว่า นาย ก. ทำกรรมนี้ๆ ให้เห็นเป็นชิ้นเป็นอันชัดๆ ขึ้นมา แล้วต่อมาก็ว่าเขาไปได้รับผลอย่างนั้นๆ มองกันเป็นก้อนๆ เลย นี้ระดับสามัญคือระดับสมมติสัจจะ มองเป็นก้อน

แต่ในแง่ปรมัตถ์ก็ไม่ได้มองอย่างนั้น ในแง่ปรมัตถ์ที่เรียกว่าทำกรรมอันหนึ่งนี้มันมีส่วนประกอบอะไรต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย มีเจตนา มีกิเลส มีโทสะ มีโลภะ เป็นต้น ประกอบกัน ในขณะนั้นมันมีอย่างนี้ แล้วมันก็เป็นปัจจัยแก่องค์ประกอบต่างๆ ที่เกิดต่อมา มันดำเนินต่อ….ต่อ….ต่อ…สืบเนื่องไปอย่างนี้ ทีนี้เมื่อมันเกิดการสืบต่อขึ้นมาในรูปนี้แล้ว มันก็มีความโน้มเอียงคล้ายๆ กับว่าเกิดตัวเร่งขึ้นมาทางนี้ แล้วมันก็เหไปในทางนี้ ทีนี้ถ้าไม่มีตัวขัด มันก็จะไปทางนั้นเรื่อย นี้มันเป็นการรับผลอยู่ในตัว ถ้าว่าตามเรื่องปรมัตถ์แล้ว ผลของกรรมนั้นมันมีการสืบทอดตลอดเวลาทุกขณะไป ทีนี้ถ้าว่ามีตัวที่มาแซงเกิดขึ้นขณะหนึ่งมันก็อาจหันเหไปได้เหมือนกัน หันไปอีกทาง แต่รวมความแล้วก็ว่าเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั่นเอง

ขอสรุปง่ายๆ ว่า ภาษาปรมัตถ์ว่ากระบวนธรรมนี้ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างนี้ๆ ตามเหตุปัจจัย พูดเปลี่ยนเป็นภาษาสมมติว่านาย ก. นาย ข. ได้รับผลอย่างนี้ๆ ตามกรรมที่เขาทำ ถ้ารู้เท่าทันเข้าใจตรงตามนี้ ไม่มีปัญหาเลย แต่ถ้าเอามาสับสนกันเมื่อไร ก็งงและหลงผิดเมื่อนั้น

ผู้ถาม แล้วอย่างกรณีที่เป็นอโหสิกรรมก็ดับตลอดไปหรือ

พระราชฯ ในตัวศัพท์อโหสิกรรมแปลว่า “กรรมที่ได้มีแล้ว” ได้มีแล้วก็หมายความว่ามีผลออกมาแล้วใช่ไหม ทีนี้มันมีผลนี้ มันมีผลต่อส่วนที่เรียกว่าเป็นจิต คือจิตนี้มันได้รับผลกระทบ คล้ายว่ามันได้ระบายออกมาแล้ว

ทีนี้ก็มาถึงปัญหาเรื่องการสั่งสมกรรม มีการสั่งสมกรรมเกิดขึ้น สั่งสมได้อย่างไร นี่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความซับซ้อนของจิต ปัญหานี้ก็ยากเหมือนกัน ใช้ภาษาสมัยใหม่ คงว่ามีมิติ มีมิติของจิต จิตที่เป็นขณะนิดเดียวนี้ มันจะสั่งสมอะไรต่ออะไรอย่างที่เราเรียกว่ากรรมได้อย่างไร ตัวอย่างเช่นในขณะที่เรามาพูดจากันนี้ เราไม่นึกถึงอะไรอื่นตั้งเยอะแยะ สิ่งอื่นเยอะแยะเหล่านั้นมันหายไปอยู่ที่ไหน ถ้ามันไม่มีอยู่ในขณะนี้ มันหลุดไปแล้ว จิตขณะนี้ไม่มีสิ่งเหล่านั้นมันขาดหายไปแล้ว แต่พอจิตนี้ดับไปแล้ว มีจิตขณะอื่นเกิดใหม่แล้ว ความโลภ ความกลัว อะไรต่ออะไรเก่าก่อนที่ไม่มีในจิตขณะนี้ อันนั้นมันมาได้อย่างไร อันนี้คือเรื่องที่เรียกว่าสันตติ มีการสืบต่อสะสมกันอย่างไร

ผู้ถาม อย่างเช่นมีเรื่องโกรธเคืองกันไปหลายวัน แล้วกลับนึกขึ้นมาได้อีกโกรธขึ้นมาอีก

พระราชฯ นั่นซิ อย่างนั้นหรือนิสัยเราที่สั่งสมไว้ ความพร้อมความสามารถอะไรต่างๆ ใช่ไหม อย่างเราเรียนความรู้ไว้ตั้งเยอะแยะ เราไม่ได้นึกเลย วันนี้ไม่ได้นึกทั้งวัน บางที ๒ วัน ๔ วัน ๕ วัน ก็ไม่นึก พอถึงเวลาจะต้องใช้งาน หลังจากนั้นตั้งเดือนหนึ่ง เราก็นึกได้ ใช้ได้ เราก็รู้ อะไรอย่างนี้ นี้มันมาจากไหน อันนี้ก็จะต้องเรียกว่าเป็นมิติของจิต พูดยาก ต้องหาเรื่องที่จะเทียบเคียง บางทีก็ต้องใช้อุปมาอุปมัย

เหมือนอย่างเวลาพระนาคเสนกับพระยามิลินท์โต้กันเรื่องกรรม และเรื่องอะไรต่างๆ ก็ต้องหาอุปมากันมาพูด เช่นถามว่ากรรมไปเก็บอยู่ที่ไหน ก็บอกว่าอ้าวท่านเอาเม็ดมะม่วงมาเม็ดหนึ่ง แล้วท่านบอกซิว่าใบมันอยู่ที่ไหน คือเม็ดมะม่วงนี้เอาไปปลูกแล้วต่อมามันจะออกเป็นกิ่งใบมีผลมีอะไรต่ออะไรตั้งเยอะแยะ เหล่านี้มันเป็นสิ่งที่จะมีอยู่จะมีขึ้นได้จากเม็ดพืชอันนี้ แล้วตอนที่มันเป็นเม็ดพืชนี้เราชี้ได้ไหมว่ากิ่ง ใบ ผล เป็นต้นเหล่ามันนี้อยู่ที่ไหน ชี้ได้ไหม ก็ชี้ไม่ได้

มันก็จนใจเรื่องชาติ ภพ กรรม ธรรมดาธรรมชาติแค่นี้เราก็คิดไม่ออก พูดไม่ถูก เราไม่สามารถจะเข้าใจได้จริง นอกจากพูดโดยอุปมา ก็เอาของที่มันมีอยู่จริงนั่นแหละมาเปรียบเทียบให้เห็น นี้ก็เป็นอุปมาอย่างหนึ่ง จะพูดให้มองเห็น ก็ได้อย่างนี้ แค่นี้ การสั่งสมกรรมก็อย่างนี้เหมือนกัน แม้แต่ต้นมะม่วงนั้น มันเป็นพันธุ์นี้จริง แต่ต่อมามันจะปรับปรุงขึ้นให้ดีกว่าเดิมก็ได้ ใช่ไหม แล้วเม็ดของมัน ต่อไปเอาไปปลูกก็ดีกว่าต้นอื่น สั่งสมขึ้นไปอีก แต่ว่าเวลาที่เป็นเม็ดนั้น สิ่งที่มันเกิดเป็นต้นเป็นอะไรต่ออะไรอยู่ที่ไหนมันชี้ไม่ได้ บอกไม่ถูก

เปรียบเทียบกับจิตของคนเราที่เป็นขณะๆ สืบต่อไปนี้ ถ้าเราเปรียบเหมือนเม็ดมะม่วงซึ่งเล็กนิดเดียวกับต้นใหญ่ ก็หมายความว่ามันสามารถเก็บทุกอย่างในตัวไว้ทั้งหมด ซึ่งส่วนไหนจะแสดงออกหรือไม่แสดงออกก็แล้วแต่ ในเวลาที่เม็ดมะม่วงนั้นโตขึ้นมาหน่อยหนึ่ง มันก็ยังไม่มีลูกใช่ไหม มันยังไม่ถึงเวลา แต่มันมีได้ใช่ไหม อะไรอย่างนี้แหละ นี่มันเป็นสิ่งที่มีของจริงอยู่ แต่ว่ามันพูดไม่ถูก ก็ในขณะจิตเดียว ซึ่งสั้นเหลือเกินนี้มันก็มีคุณสมบัติเหล่านี้พร้อมอยู่ในตัวเสร็จ แต่มีส่วนที่เราเรียกว่าใช้งานหรือไม่ใช้งานขณะนั้น นี่ก็ได้มาพูดในแง่กรรมแล้ว เรียกว่าอัตตาหรืออนัตตาสัมพันธ์กับหลักกรรม ทีนี้ขอย้อนกลับไปพูดเรื่องตัวอัตตา-อนัตตาที่อาตมาพูดถึงไว้ตามความหมายที่วิสุทธิมรรคให้ไว้มีอยู่ ๔ อย่าง

อย่างที่ ๑ ก็บอกว่าสูญ คือว่างจากอัตตา คือมันเป็นแต่กระบวนธรรมล้วนๆ เป็นไป ไม่มีตัวตนอยู่ข้างใน ซึ่งได้อธิบายมาแล้ว

อย่างที่ ๒ ท่านบอกว่าความหมายของอนัตตา คือไม่มีเจ้าของ นี้แหละๆ เราจะเห็นความหมายในแง่ Subjective ไม่มีเจ้าของ เมื่อเราพูดว่ามีตัวตน นั้นแสดงว่าเรารู้สึกเหมือนกับมีเจ้าของอยู่ใช่ไหม

การที่มีตัวตน เท่ากับมีตัวผู้เป็นเจ้าของสิ่งนั้นอยู่ ซึ่งที่จริงไม่มี ความหมายในแง่นี้ก็คือว่า ไม่มีเจ้าของ ใครๆ ครอบครองมันจริงไม่ได้ โดยเฉพาะถ้าพูดในแง่ของคนเรา ซึ่งเป็นผู้ยึดถือว่านี่คือตัวตนของเราอย่างนี้ เท่ากับเรายึดว่าขันธ์ ๕ นี้เป็นของเรา เช่นว่ากายของเรา ร่างกายของฉัน ในภาษาสมมตินี้เรายอมรับ เราบอกว่านี่ร่างกายของฉัน นี่แขนของฉัน นิ้วของฉันใช่ไหม เรายอมรับเลย แล้วก็ต้องพูดกันอย่างนั้น ถ้าไม่พูดกันอย่างนี้ ก็จะเป็นคนวิปริตไปเสียด้วย ใช่ไหม นี่ต้องยอมรับ แล้วพูดกันต้องรู้

แต่ในสภาวะความเป็นจริง ในทางปรมัตถ์นี้เราเป็นเจ้าของมันจริงหรือเปล่า เราเป็นเจ้าของมันได้หรือไม่ มีตัวเราที่เป็นเจ้าของมันหรือไม่ ที่จริงเราไม่สามารถเป็นเจ้าของ เราไม่ใช่เจ้าของมันแน่ แต่มันมีอัตตาที่เราสร้างขึ้นมาสำหรับเป็นเจ้าของ ซึ่งอัตตานี้ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของแน่นอน เห็นเลยใช่ไหม เราไม่สามารถเป็นเจ้าของมันจริงๆ แต่มันเป็นส่วนประกอบของร่างกาย แล้วมันมีองค์ประกอบและกลไกต่างๆ ที่จะให้มีการบังคับควบคุมกันได้ ทำให้เราเข้าใจว่ามันอยู่ในอำนาจของเรา เราบังคับมันได้ เราก็รู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของมัน ฉันอยากจะหยิบอะไร ฉันก็ใช้มือนี้หยิบ ฉันอยากจะกินน้ำก็เอามือนี้ไปหยิบน้ำมาแล้วฉันก็ดื่ม ฉันก็เป็นเจ้าของมือเจ้าของปาก ที่ฉันใช้ปากใช้มือของฉันได้ เรานึกว่าเป็นเจ้าของใช่ไหม แต่ถ้ากลไกและองค์ประกอบสำหรับการบังคับควบคุมนั้นเสียไป เราบังคับควบคุมมือและปากของเราได้ไหม มือและปากยังมี แต่เราใช้มันไม่ได้เลยใช่ไหม มันเป็นของใครแน่ แต่ที่แท้แน่จริงคือ เราไม่ได้เป็นเจ้าของ อันนี้จะไปสัมพันธ์กับความหมายที่ ๓

ความหมายที่ ๓ ของอนัตตา คือ ไม่เป็นไปในอำนาจแท้จริง ไม่อยู่ในอำนาจแท้จริง

ร่างกายของเรา ถ้าเราเป็นเจ้าของ เราต้องสั่งบังคับกันได้ให้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ แต่มันไม่เป็นอย่างนั้นจริง การที่เราบังคับมันได้ก็เพราะว่า เหตุปัจจัยที่จะให้สัมพันธ์กันในลักษณะที่เรียกว่าสั่งงานใช้กันได้ มันมีอยู่

แต่ถ้าเหตุปัจจัยนั้นมันหมดไป หายไป สมมติประสาทเส้นหนึ่งที่สั่งบังคับตรงนี้ไม่ทำงานก็สั่งไม่ได้เสียแล้ว บอกว่าของฉัน ของฉัน ฉันจะยกมือ แต่มือมันไม่ยกใช่ไหม เพราะเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นอย่างนั้นมันไม่มี เราไม่ใช่เจ้าของมันจริง ไม่เป็นไปในอำนาจ หรืออย่างร่างกายของเรา เราต้องการให้มันคงอยู่อย่างนี้ไม่ให้มันโตขึ้นกว่านี้ ไม่ให้มันแก่ ไม่ให้มันเปลี่ยนแปลงไป ก็บังคับไม่ได้ใช่ไหม เราจึงต้องพยายามทำเหตุปัจจัยเอา เพราะมันเป็นเพียงขบวนการธรรมชาติ แต่เรามายึดมันเอง ว่ามันเป็นของเรา มันเหมือนกับว่าอยู่ในอำนาจ แต่ที่จริงไม่อยู่เลย มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามเหตุปัจจัย ทั้งในทางรูปธรรม นามธรรม นี่คือไม่เป็นไปในอำนาจในความหมายที่ ๓

ความหมายที่ ๔ ก็บอกว่าแย้งกับอัตตา แย้งกับอัตตาคือสภาวะของมันเองก็ปฏิเสธอัตตาในตัว คือการที่มันเป็นกระบวนธรรมที่เปลี่ยนแปลงได้

การที่มันเปลี่ยนแปลงได้ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยแวดล้อมต่างๆ แสดงถึงการที่ไม่มีตัวยืนโรงอยู่แน่นอน มันเป็นตัวขัดแย้งอัตตา ถ้ามันเป็นตัวยืนโรงแน่นอนคงที่ มันก็ไม่ต้องเปลี่ยนแปลง ไม่จำเป็นจะต้องไปถูกปัจจัยแวดล้อมมาบีบคั้นเอา ไม่จำเป็นต้องเป็นอนิจจัง คือไม่คงที่ ไม่จำเป็นต้องเป็นทุกขัง คือไม่น่าที่ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ จะมาบีบคั้นเอาได้ เพราะฉะนั้นมันก็เป็นการขัดแย้ง อันนี้ความหมายแบบวิสุทธิมรรคให้ไว้ ๔ อย่าง

ทีนี้จะมาพิจารณาในเรื่องเนื้อหาของ อัตตา-อนัตตาอีก มีแง่ที่ควรพิจารณาอีกหลายอย่าง มองไปที่พระพุทธพจน์เองที่พระพุทธเจ้าสอนในเรื่องอัตตา-อนัตตานี้ ก็จะมีคำสอนในแง่ต่างๆ เช่น แง่ที่ว่าไม่เป็นไปในอำนาจ รู้สึกว่าจะตรัสบ่อย เช่น ในอนัตตลักขณสูตร ที่ตรัสแก่พวกเบญจวัคคีย์ ที่ทำให้ท่านเหล่านั้นได้บรรลุอรหัตตผล ก็ตรัสเรื่องอนัตตาที่ไม่เป็นไปในอำนาจ โดยใจความว่า ถ้าหากว่าเป็นอัตตาจริง มันก็ไม่ควรเป็นไปเพื่ออาพาธ คือความบีบคั้นอะไรต่างๆ เหล่านั้น แล้วเราจะสั่งมันว่าให้เป็นไปอย่างนั้น อย่าเป็นอย่างโน้น ก็ควรเป็นไปตามปรารถนาของเรา แต่มันก็ไม่เป็น นี่เป็นแง่ที่ตรัสบ่อย

แล้วก็แง่ที่เกี่ยวกับความสับสนในเรื่องกระบวนธรรมนี้ เรามักจะสับสนโดยยึดเอาอันหนึ่งเป็นเจ้าของอีกอันหนึ่ง เหมือนเช่นอย่างขวดกับแก้ว แก้วที่มาทำเป็นขวดเราพูดว่าขวด ขวดก็คือแก้วนั้นแหละ แล้วบางครั้งเราก็บอกว่าแก้วอยู่ที่ขวด เหมือนกับว่ามีเนื้อแก้วอยู่อย่างหนึ่ง และมีขวดอยู่อีกอย่างหนึ่ง แล้วเนื้อแก้วไปอยู่ที่ขวด ที่จริงมันมีของ ๒ สิ่งนี้จริงหรือเปล่า มีได้ไหม ก็ขวดนั้นทำด้วยแก้ว เราเรียกว่าขวดแก้ว เราอาจจะพูดว่าแก้วอยู่ที่ขวดตามภาษาสมมติ แต่ถ้าเราไม่รู้ทันความเป็นจริง ในกรณีนี้เราจะสับสนด้วยภาษา เนื้อแก้วอยู่ที่ขวด เหมือนกับมีขวดอยู่ แล้วมีแก้วอยู่ที่ขวด ที่จริงมันไม่มีของต่างหากจากกันนี้เลย ไม่มีขวดต่างหากจากแก้ว นี่ก็เป็นความสับสนกันอย่างหนึ่ง ทีนี้ถ้าเราคิดสมมติบัญญัติแล้ว มันจะสร้างความเข้าใจผิดอันนี้ขึ้นมาได้ หรืออย่างคำว่า ต้นไม้มีเงา ก็เหมือนกับพูดว่าต้นไม้เป็นเจ้าของเงา ความรู้สึกตามธรรมดาเป็นไปได้ แต่ความจริงต้นไม้นั้นเป็นเจ้าของเงาหรือเปล่า มันก็เป็นธรรมชาติอย่างนั้นเท่านั้นเองใช่ไหม ความจริงเงาก็ไม่เป็นของต้นไม้ แต่เราบอกว่าต้นไม้มีเงา หรืออย่างบอกว่าเปลวไฟมีสี มันก็เป็นเรื่องคุณสมบัติต่างๆ ส่วนประกอบ เราเอาส่วนประกอบอะไรบ้าง ความสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านี้ มาปรุงแต่งความสัมพันธ์ในความคิด แล้วบัญญัติขึ้นมาเป็นต่างๆ กัน เป็นเจ้าของบ้าง เป็นอะไรบ้าง นี่ก็ด้านหนึ่ง

แล้วยังมีอุปมาในด้านอื่นๆ อีก ตัวอย่างที่จะหลงอัตตาอีกอันหนึ่งก็คือ อย่างนักปรัชญาฝรั่งคนหนึ่ง บอกว่า “ฉันคิด เพราะฉะนั้นฉันต้องมี (I think, therefore I am.)” นี่คืออัตตามี ถ้ามองในแง่พุทธศาสนานี่ถือว่าหลง หลงอะไร หลงเพราะแกไม่สามารถแยกกระบวนธรรมออกเป็นขณะๆ ฉันคิด คือ ต้องมีตัวผู้คิด มีการคิด และมีสิ่งที่ถูกคิด ก็มี ๓ อัน การคิดนี้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้คิดและสิ่งที่ถูกคิด ต้องมี ๓ อันแล้วก็บอกว่าฉันคิด แสดงว่าต้องมีตัวฉันแล้ว อัตตามันต้องมีอยู่ แกไปสรุปตัวอย่างนี้ แกคิดตั้งนาน แกสงสัยนานเหลือเกิน เอ! ไอ้ตัวฉันนี้มันมีหรือเปล่า อัตตามีหรือไม่ แกคิดตั้งนานในที่สุดแกก็ไปลงมติว่า อ้อ ! นึกออกแล้ว ฉันคิด เพราะฉะนั้นฉันมีอยู่ มันต้องมีผู้คิดและสิ่งที่ถูกคิด ถ้ามองในแง่พุทธศาสนา แกหลงอย่างไร แกไม่สามารถตัดขณะได้ เวลาเราบอกว่าฉันคิดนั่นนะ พอนึกว่า ฉันนี่ก็คือการคิดขณะหนึ่งแล้ว พอบอกว่าคิดก็เป็นการคิดอีกขณะหนึ่ง พอนึกถึงสิ่งที่ถูกคิด ก็อีกขณะหนึ่งแล้ว เป็นคนละขณะกัน พอคิดถึงฉันตอนนั้นคำว่าคิดไม่มี พอคิดถึงว่าคิด ตอนนั้นคำว่าฉันก็ไม่มี พอคิดถึงสิ่งที่ถูกคิดขณะนั้นฉันและคิดก็ไม่มี แต่รวมความแล้วทั้งหมดนี้ในแง่ของพุทธศาสนานั้นมีการคิดเท่านั้นเอง

เคยมีพระถามพระพุทธเจ้าถึงปัญหาแบบนี้หลายครั้ง คือว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนหลักปฏิจจสมุปบาท พระก็ถามว่าใครเป็นผู้ผัสสะ หรือใครเสวยอารมณ์ ผัสสะแปลว่าการถูกต้อง การรับรู้ ใครรับรู้นั่นเอง เวทนา แปลว่าเสวยอารมณ์ ใครรู้สึกสุข-ทุกข์ พระถามว่าใครรู้สึกสุข-ทุกข์ ใครรับรู้ พระพุทธเจ้าทรงตอบว่าคำถามนั้นตั้งผิดแล้ว ถ้าตั้งคำถามผิดแบบนี้แล้วจะงง และจะหลงหมดเลย ความจริงมันมีแต่เพียงความคิด การรับรู้ การรู้สึกสุขทุกข์ แล้วก็เป็นกระบวนการ เช่นว่า รับรู้ แล้วมีการรู้สึกสุขทุกข์ มีการปรุงแต่งอะไรต่ออะไรว่ากันไป และถ้าว่าถึงในแง่กระบวนธรรมแล้วมีแต่การหรือสภาวะ คือการอย่างนั้นการอย่างนี้ หรือสภาวะอย่างนั้น สภาวะอย่างนี้เรื่อยไป เวลาบอกว่าฉันก็เป็นขณะจิตหนึ่ง แต่พอบอกว่าคิด ขณะที่บอกว่าฉันนั้นเลยไปแล้ว หมดไปแล้ว เป็นคิดแล้ว คิดอะไรดี คิดถึงเทป พอถึงเทปนี่ ๒ อันก่อน คือ ฉันคิดนั่นหายไปแล้ว ทีนี้เราเอา ๓ อันหรือ ๓ ขณะนี้มาปนกัน ขณะที่ล่วงไปแล้วเป็นอดีตหมด พอคิดถึงอันนั้นอีกที ก็พรางตัวขึ้นมาเป็นว่ามีตัวฉัน มีการคิด และมีสิ่งที่ถูกคิด นี่ก็เป็นการหลงในแง่ของการสืบต่อเป็นกระบวนธรรม การแยกเป็นขณะ ในแง่นี้ทางพุทธศาสนามีคำศัพท์เรียกว่าเป็น ขณิกวาท แปลว่าเป็นคำสอนที่ให้แยกแยะวิเคราะห์ออกเป็นขณะๆ

ผู้ถาม หมายความว่าเป็น ๓ ขณะจิต แต่ใน ๓ ขณะจิตนี้ต่างก็อยู่ในกระแสจิตที่เกิด-ดับต่อเนื่องใช่ไหม

พระราชฯ ก็เป็นกระแสจิตที่เกิด-ดับต่อเนื่องกันไป

ผู้ถาม เป็นกระแสเดียวกัน แต่ว่าเกิด-ดับ

พระราชฯ จะเรียกว่าอย่างนั้นก็ได้ เป็นกระแสเดียวกันก็ได้ เรียกว่ากระแสเดียวกันก็ถูก เมื่อเราพูดในแง่กระแส ทำให้เกิดความรู้สึกต่อเนื่องกันอันนี้กลายเป็นว่ามีหลายกระแสแล้ว มีกระแสกรรม กระแสอะไรต่ออะไร มีกระแสกายด้วย กระแสรูปธรรมก็มี

ผู้ถาม หมายความว่ามี ๓ ขณะจิตนี่แหละ แต่ว่ามันก็ยังเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องกัน

พระราชฯ ใช่ ก็ต่อเนื่องกันไป

ผู้ถาม ทีนี้ กระบวนการอันนี้แหละใช่ไหม ที่เดการ์ตคิดว่าเป็นคน เป็นอัตตาขึ้นมา คล้ายๆ กับว่า มีเจ้าของกระบวนการขึ้น

พระราชฯ ใช่ ก็เลยนึกว่ามีเจ้าของกระบวนการขึ้น คือมีผู้คิดขึ้นมาแล้ว เพราะแกบอกว่าฉัน แล้วก็คิด คิดอะไรล่ะ คิดเรื่องเทป มันต้องมี ๓ อย่าง แต่ในความจริงนั้นเป็นแต่กระบวนธรรมที่ไหลเนื่องไป คือเวลาเรานึกถึงฉันก็เป็นขณะหนึ่ง มันเกิดขึ้นในขณะนั้น แล้วมันก็ดับไป พอคิดถึงการคิดขึ้นมานี่ คิดถึงฉันไม่ได้ แล้วในขณะที่คิดถึงเทป สองอันก่อนคือฉันคิดก็ผ่านไปแล้ว เป็นขณะจิตที่ต่อเนื่องกันไป แม้แต่เทปที่ว่าถูกเราคิด ก็เป็นเพียงแต่ความคิด ไม่ใช่เทปจริง คือว่า จิตนี้มันเป็นไปอย่างรวดเร็วนั่นเอง เราผ่านขณะที่คิดขึ้นมาถึงสิ่งต่างๆ นี้ได้อย่างรวดเร็วต่อเนื่องกันไป มันก็ออกเป็นภาพ

ผู้ถาม ความที่เข้าใจในรูปของการเป็นกระแสจิตอันเดียวกันนี้แหละ ทำให้สร้างอัตตาขึ้นมา แต่ว่าความจริงมันก็อยู่ในรูปกระแสอันเดียวกันใช่ไหม

พระราชฯ เรียกกันอย่างธรรมดา เรียกได้ว่าเป็นกระแส เพราะมันต่อเนื่องกันไปเราก็ใช้คำกันอย่างนั้น เรียกกระแส

ผู้ถาม เข้าใจว่าคนที่ใช้อัตตาไหล ก็คงจะเป็นอย่างนี้ คือว่ามันก็เป็นรูปกระแสจริง แต่ว่ามันก็ต้องมีเจ้าของกระแส

พระราชฯ เอาอีกละ นี่มันยุ่งตรงนี้เอง

ผู้ถาม ความจริงมันตรงนี้ใช่ไหม แม้ตั้งแต่คิดว่ากระแสนั้นมันก็ไม่เป็นกระแส

พระราชฯ เอาละ เรายอมรับล่ะว่าให้เป็นกระแสต่อเนื่องกันไป มันก็เป็นกระบวนธรรมไปเรื่อยๆ ทีนี้ถ้ามันเป็นเจ้าของขึ้นมา มันจะยุ่ง ยุ่งอย่างไร กระบวนการธรรมชาติมันจะเป็นไปตามเหตุปัจจัยแท้ๆ ไม่ได้ ถ้ามีเจ้าของ เพราะคำว่าเจ้าของนี่เล็งถึงความสามารถที่จะบังคับบัญชาได้ด้วย เจ้าของนี้ก็จะทำให้กระบวนการนี้ไม่เป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่ให้เป็นไปตามความต้องการของมันได้ใช่ไหม ทีนี้ก็ไม่ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยแล้วเจ้าของกระแสจะหยุดกระแส จะเปลี่ยนกระแส จะพักกระแสเมื่อไรก็ได้ เอาละเจ้าของก็มีได้ แต่ก็เป็นเจ้าของจอมปลอม คือตัวความยึดถือตัวอุปาทานนั่นแหละเป็นเจ้าของ เราเกิดยึดถือขึ้นมา ความจริงอุปาทานนี้ก็เป็นตัวธรรมอันหนึ่ง แล้วก็เป็นเหตุปัจจัยได้ในกระบวนการนั้นด้วย เป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่ง

ผู้ถาม ติดใจที่ท่านพูดถึงกระแสกรรม ที่ท่านบอกว่า กระแสกรรมที่เกิด-ดับ เกิด-ดับ ตอนนี้ถ้าเผื่อว่า เมื่อส่งผลแล้วยังจะต้องเป็นอยู่ในสภาวะที่เกิด-ดับๆ ต่อไปอีกหรือไม่ หรือว่าจบไปแล้ว มีการดับสูญไหม

พระราชฯ ที่บอกว่ากรรมให้ผลแล้วหมดไป อาตมาว่าเรามองได้ ๒ แง่ อันหนึ่งเรามองในแง่เป็นผลกรรมภายนอก เป็นผลที่เรามองเห็นภายนอก ซึ่งก็คือการได้ประสบเหตุการณ์อะไรอย่างหนึ่งเท่านั้นใช่ไหม

แต่ที่จริงกระบวนการของกรรมที่แท้มันอยู่ในกระบวนการของอัตภาพที่เรียกว่าเป็นขันธ์ ๕ นี้มันมีผลอยู่แล้ว แล้วผลนี้มันก็ต้องต่อเนื่องไป นี่คือแง่ที่ ๒ ที่เป็นไปภายในกระบวนการเอง เหมือนอย่างกับว่า เราได้ทำกรรม คือ ความโกรธ ถ้าทำรุนแรง ก็หมายความว่า เราได้แสดงออกทางกาย วาจาด้วย โดยอาจจะกระทำการเบียดเบียนทำร้ายเขาหรือพูดคำรุนแรงออกไป เจตนาที่จะทำให้ออกมาเป็นการกระทำทางกายวาจาได้นั้นมันแรงใช่ไหม นี่แหละคือกรรมแล้ว

การสั่งสมกรรมอย่างนี้ไว้ทำให้จิตมันกร้าวขึ้น ทำให้อุปนิสัยมันแข็งกระด้าง อะไรต่ออะไรนี้ นี่มันมีผลอยู่ในตัวเลย ไม่ว่าจะได้รับผลข้างนอกหรือไม่ได้รับผลกรรมอันนี้ ที่เป็นไปภายในกระบวนการมันมีอยู่ตลอดเวลาใช่ไหม มันสั่งสมอยู่แล้วมันสร้างเป็นนิสัยของเรา ถ้าเราไม่เปลี่ยนคือไม่เกิดเจตนาที่โน้มน้าวกระแสไปทางอื่นมันก็จะโน้มไปในทางที่เคยสั่งสมไว้นี้ เราคิดโกรธคิดเคืองบ่อยๆ จนกระทั่งแสดงออก ด่าบ้าง ทำร้ายบ้าง รุนแรงอะไรต่างๆ เรื่อยๆ มันก็เคย สั่งสมกันไปอย่างนี้ใช่ไหม มันก็จะโน้มน้าวไปทางนี้ ผลของกรรมจะมีในที่รูปนี้ คือความไม่สบายใจ ความร้อนใจอะไรต่างๆ มันมีมาของมันเองในตัวของมันอยู่เรื่อยไป ไม่ว่ามันจะได้รับผลภายนอกหรือไม่ ในแง่นี้ได้รับผลอยู่เรื่อยไปเลย แล้วอุปนิสัยอะไรต่ออะไร ลักษณะรูปแบบของพฤติกรรมของเรา มันก็จะออกในรูปอย่างนั้นเรื่อยไป ได้ผลคือมีผลเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ในแง่นี้รับผลเรื่อย ไม่ต้องมองในแง่รับผลข้างนอกก็ได้ ทีนี้รับผลข้างนอกนี้มันเป็นอีกชั้นหนึ่ง เป็นชั้นรองชั้นนอกออกไป เราอาจจะรับผลจากการที่เราสร้างนิสัยอย่างนั้นอยู่เรื่อยไปทั้งผลข้างในและผลข้างนอก เช่นว่า เรามีนิสัยรุนแรงข้างใน เรารับผลโดยพบเห็นอะไร นึกคิดอะไร ก็ปรุงแต่งไปในทางรุนแรงและจะแสดงออกรุนแรง ใจร้อนแรงวุ่นวาย ส่วนภายนอก มันก็มีโอกาสรับผลรุนแรงตอบมาเรื่อยเหมือนกัน มีการกระทบกระทั่งเกิดบ่อย เดี๋ยวก็กระทบ เดี๋ยวก็กระทบ เดี๋ยวก็กระทบ เกิดเรื่องกับคนนั้นคนนี้เรื่อยไป

ผู้ถาม ถ้าอย่างนั้นกรรมอีกประเภท ประเภทที่เรียกว่า อโหสิกรรม ตามไม่ทันก็ไม่ส่งผล จะอธิบายอย่างไรคะ

พระราชฯ อันนี้ท่านมองในแง่ผลข้างนอกคือ กรรมประเภทที่สั่งสมภายในซึ่งอยู่ในตัวแต่ไปสัมพันธ์กับผลภายนอก คือกรรมที่สั่งสมไว้นี้ มันมีทุกอย่าง อะไรที่เราทำผ่านไปแล้วมันไม่มีลืมไปเลย กรรมประเภทหนึ่งคือ กรรมสั่งสมแบบอุปนิสัย พื้นนิสัยที่มันทำให้บุคลิกอะไรต่ออะไรของเราเปลี่ยนแปลง เปรียบเหมือนขับรถเรื่อยไปบนถนน ก็มีผลให้ใกล้จุดหมายปลายทางเข้าไปทุกที ส่วนกรรมอีกประเภทหนึ่ง คือ กรรมที่ทำอย่างที่เรียกว่าเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นการกระทำออก แสดงออกมาซึ่งมีผลเข้าไปในจิตของเราอย่างรุนแรง เปรียบเหมือนอย่างรถที่แล่นไปบนถนน แล้วไปถึงแห่งหนึ่งมันตกหลุมตกบ่ออย่างรุนแรง อันนี้มันก็เป็นส่วนหนึ่งในกระแสของการที่เราวิ่งรถไปนั่นแหละ แต่ตอนที่มันไปตกหลุมอย่างรุนแรงมันจะไปมีผลต่อส่วนประกอบอะไรบางอย่างไว้ใช่ไหม ซึ่งไปถึงวันเวลาหนึ่ง ขณะที่เรากำลังแล่นรถอยู่ อาจพรวดพราดเกิดอุบัติเหตุ เช่นรถอาจพลิกคว่ำลงไปปรากฏว่ามันเป็นเพราะผลกรรมที่ไปตกหลุมไว้ ซึ่งทำให้ส่วนประกอบอันหนึ่งชำรุดไปโดยเราไม่รู้ตัว แล้วอันนั้นน่ะปุบปับแสดงผลขึ้นมา เราไม่รู้ตัวเลยโครมลงไปเลย นี้เรียกว่ากรรมมันตัดรอน ทีนี้กรรมที่เราทำตามปกติ คือวิ่งรถนั่นน่ะมันก็จะส่งผลเรื่อย แต่มันยังไม่ทันส่งผลตลอดถึงจุดหมายปลายทางเลย อันนี้มันมาตัดเสียแล้ว

ผู้ถาม ก็เลยไม่ต้องส่งผลหรือ

พระราชฯ กรรมที่ส่งมานี้ กรรมที่ไปตกหลุมนี้ การตกหลุมอย่างรุนแรงส่งผลเสียในระหว่างนี้ รถนั้นอาจยังไม่ถึงที่หมาย กรรมอีกอย่างคือการขับรถมุ่งไปซึ่งจะให้ถึงที่หมายก็เลยกลายเป็นอโหสิกรรมไป

ผู้ถาม แล้วมันก็เลยไม่ได้ส่งผลต่อไปใช่ไหม กรรมที่ว่ามีอะไรมาตัดรอนเสียก่อน

พระราชฯ อ้อ กรรมอื่นสิ กรรมอีกอย่างที่กำลังเดินอยู่ถูกกรรมอันนี้มาตัดเสียก่อนอันนั้นก็เลยเลิก อันเดิมที่ให้ผลอยู่ก็พลอยหยุดไปด้วย

ผู้ถาม แล้วกรรมอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า กรรมที่ตามไม่ทัน จะอธิบายอย่างไร

พระราชฯ อ้อ! อย่างนี้เขาเรียกว่า มองกันในระยะช่วงสั้น หมายความว่าชาตินี้ถ้าไม่มาเจออันนี้เสีย ก็มีหวังไปเจออันนั้น เมื่อเจออันนี้เสียก็เลยไม่ได้เจออันนั้น เรียกว่าตามไม่ทัน หรือไม่ถึงจุดหมายเสียก่อน บางที่จวนจะระเบิดยังไม่ทันระเบิดเลยรอดไป

ผู้ถาม ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่ากรรม ๑๒ ประเภท มีประเภทหนึ่งที่เรียกว่าอโหสิกรรม คือกรรมที่ตามให้ผลไม่ทันแล้วก็เลิกกันไปนั้นมีใช่ไหม

พระราชฯ ก็คือมี ในเมื่อมองกรรมตามหลักกรรมหยาบๆ ที่รับผลชัดๆ ออกมาให้เห็นภายนอกเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ที่จริงจะว่ามันมีผลอยู่ตลอดเวลาอยู่ก็ได้ เช่นยางที่จะระเบิดนั้นก็คือเป็นผลร้าย มีผลอยู่แล้วนั้นเองแต่ยังไม่ปรากฏผลภายนอกเป็นระเบิดแล้วรถพลิกคว่ำ อีกตัวอย่างสมมติรถคันนี้ คนขับแกไปมีเรื่องโกรธเคืองไว้กับคนอื่น จึงมีคนมาซุ่มดักยิงแกอยู่ ทีนี้เผอิญรถคันนั้นไปพลิกเสียก่อน ตาคนที่ไปรอซุ่มยิงเลยไม่ได้ยิง อันนี้ถูกในแง่นั้นก็เลยไม่มีผลกรรมไปเลย

ผู้ถาม ก็กลายเป็นว่ากรรมประเภทที่ไม่ให้ผล

พระราชฯ ใช้ในแง่นี้ เรามองในแง่ผลที่ได้รับภายนอกหรือผลหยาบๆ แต่ว่าผลที่มันเป็นไปในกระแสของมันที่สร้างบุคลิกอะไรต่ออะไร นี่มันมีใช่ไหม มีไปเรื่อยๆ มองได้ ๒ ชั้น

ผู้ถาม สรุปก็เลยมีกรรมประเภทที่ไม่ส่งผลภายนอก

พระราชฯ ใช้อย่างที่ชี้แจงมาแล้ว การแบ่งกรรมแบบนี้อยู่ในเรื่องกรรม ๑๒ ซึ่งท่านพระพุทธโฆษาจารย์เป็นผู้รวบรวมขึ้นภายหลัง เมื่อ ๙๐๐ ปี หลังพุทธกาล

ผู้ถาม ท่านกรุณาอธิบายที่พูดถึงอโหสิกรรมอีกครั้งหนึ่ง ท่านบอกว่าถ้ามองระยะสั้นก็เรียกว่าเป็นกรรมตามไม่ทันก็เป็นอโหสิกรรม ท่านจะหมายความว่าอย่างนี้หรือเปล่า ว่าถ้ามองระยะยาว ความจริงแล้ว กรรมทุกชนิดให้ผลทั้งสิ้นไม่มีกรรมใดที่ไม่ให้ผล

พระราชฯ มันมีผลตั้งแต่ขณะที่ทำแล้ว

ผู้ถาม ไม่มีกรรมชนิดไหนที่ไม่ให้ผลใช่ไหม

พระราชฯ อย่างนี้ก็ถูก เพราะกรรมเกิดขึ้นแล้วต้องมีผล แต่ทีนี้ผลที่เรามองเป็นชิ้นเป็นอันออกมานั้นไม่แน่ อย่างที่ว่าเราโกรธกับใครไว้ อะไรอย่างนี้ ความโกรธนั้นมีผลแล้วแหละ แต่ที่จะไปออกผลให้เขามายิงนั้นมันไม่แน่

ผู้ถาม ถ้าอย่างนั้น ก็ต้องว่าอโหสิกรรมมันมีขอบเขตเฉพาะข้างนอก

พระราชฯ มองกันในแง่ผลหยาบ แต่จะมีได้อีกอย่าง แต่อันนี้ไม่จำเป็นต้องเรียกว่าอโหสิกรรม คือเราต้องพูดถึงว่าตามที่พระพุทธโฆษาจารย์ท่านรวบรวมไว้ด้วยนะ ท่านเรียกว่ากรรม ๔, ๓ หมวด โดยไม่เรียกกรรม ๑๒, กรรม ๔ กรรม ๔ ทีนี้กลับกลายเป็นหลักกรรม ตามพุทธพจน์เราเคยพูดกันว่ากรรมล้างไม่ได้ ใช่ไหม แต่ความจริงนี้มันมีอยู่เหมือนกันที่พุทธพจน์ตรัสไว้ทำนองว่ากรรมล้างได้เหมือนกัน ก็อย่างการฝึกอบรมจิตของตนอย่างแรงกล้านี้ ถ้าทำอย่างดีแล้วก็มีผลในการหักล้างผลของกรรม อย่างท่านตรัสเรื่องเมตตาเจโตวิมุตติ กรุณาเจโตวิมุตติ อะไรพวกนี้ท่านว่ากรรมที่เล็กๆ น้อยๆ ไม่รุนแรงมันก็หมดผลไปเลย

ผู้ถาม ถ้าไม่มีผลนี้เรียกว่า ยังอยู่ในกระบวนการเกิด-ดับ หรือกระแสกรรมไหม

พระราชฯ อันนี้ถ้าหากว่าเราจะเทียบนะ ในกระบวนการนี่แหละมันมีการเปลี่ยนแปลงได้ใช่ไหม เหมือนอย่างสมมติว่าในกระบวนการของเราเป็นอย่างนี้ แต่เรามีน้ำยาเคมีอยู่อย่างหนึ่ง ต่อมาเราใส่น้ำยาเคมีชนิดนี้เข้าไป มีทั้งอย่างที่ทำให้เจือจาง และอีกอย่างทำปฏิกิริยาล้างอันนี้ไปได้เลย นี่คือ เราทำกรรมอีกอย่างที่มาล้างกรรมนี้ได้ มันก็เป็นกรรมเหมือนกัน เพราะฉะนั้นกรรมทุกอย่างมีผลก็ถูก แม้ในหลักธรรมดาที่ว่ามีน้ำยาเคมี แล้วน้ำยาเคมีอีกชนิดหนึ่งมาล้างมันก็มีผลของมันอยู่ มันมีผลที่ทำปฏิกิริยากับอันใหม่มันมีผลทุกอันแหละ แต่ทีนี้ในกรณีที่ทำปฏิกิริยาอันนี้เราเรียกได้ว่า หมดไปเลย ใช่ไหม เราเรียกว่าอโหสิกรรม ก็เป็นแบบนี้ ซึ่งก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน นั่นแหละคือทุกอย่างต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่หมายความว่ามันหมดไปเอง

ผู้ถาม อีกลักษณะหนึ่งที่อธิบายกับอโหสิกรรมนั้น หมายความถึงผู้ที่ได้นิพพานแล้วกรรมก็ตามไม่ทันอย่างนั้นก็ได้ใช่ไหม

พระราชฯ อันนั้นเรียกว่าล้มเลิกกันไป ถึงจุดหมายสุดท้าย เลิกใช้รถแล้ว ยางหรือส่วนชำรุดไม่มีโอกาสทำอะไรเขาอีก อ้อ ขอแทรกอีกหน่อยที่จริง อโหสินี้มันแปลว่าได้มีแล้ว คือมันได้มีแล้วให้ผลไปแล้ว

ผู้ถาม คือให้ผลตั้งแต่ตอนที่กำลังทำกรรมนั้นอยู่เลย อันนี้สงสัยภาษามาบังไว้อีกหรือเปล่า ที่ว่าเรื่องอโหสิกรรมนั่นคือไม่เอาเรื่องกัน ชาวบ้านเข้าใจว่าอย่างนี้ เพราะฉะนั้นก็เลยอาจจะทำให้เข้าใจว่า ทำกรรมแล้วพอคนไปเกิด คือคิดอย่างนี้เกิดขึ้นมาพอกรรมตามไปพบเข้าก็ไม่ได้ให้ผลแก่กัน บอกว่าอโหสิกันนะ เพราะคิดว่ากรรมกับคนมันอยู่คนละส่วน คนกับกรรมแยกกัน แต่เรื่องของกรรมจริงๆ นั้น กรรมกับคนหรือชีวิตของคนนั่นมันไม่ได้แยกกันเลย

พระราชฯ คนก็เลยมักคิดว่าอโหสิกรรมคือ อยู่กันคนละทาง เลิกแล้วกันไป นี่ก็เป็นคำพูด สำหรับใช้ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ไปเสียแล้ว ไม่ใช่เรื่องของกรรมโดยตรง แต่มันมีผล ความคิดที่ว่าเลิกแล้วกันไม่เอาเรื่องต่อไป ก็เป็นกรรมใหม่อีก แต่เป็นกรรมฝ่ายดี เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ย่อมมีผลเป็นธรรมดา

ผู้ถาม รู้สึกว่าที่อธิบายกันมาจะเป็น ๒ อย่างใช่ไหม คืออธิบายว่าให้ผลแล้วประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็คือไม่มีโอกาสจะให้ผล เมื่อเป็นพระอรหันต์ กรรมก็หมดไปเพราะกรรมตามไม่ทัน ไม่มีโอกาส

พระราชฯ นี่ก็เป็นการพยายามอธิบาย ก็นำเอาเรื่องเกี่ยวกับการบรรลุนิพพานเข้ามาผสม

ผู้ถาม อันนี้จะถือว่าเป็นการรับกันได้ไหม วิธีการอันนี้

พระราชฯ ตามหลักการ พอบรรลุนิพพานก็เท่ากับหักล้างกรรมกันไปในตัว เป็นกิริยาใหม่ที่รุนแรงที่มาล้าง จะถือว่าเป็นน้ำยาเคมีก็ได้ที่สามารถล้างอันเก่าได้หมดเลย ถ้าจะแยกกรรมเป็นว่ากรรมดำ กรรมขาว กรรมไม่ดำไม่ขาวเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ก็เรียกได้ว่าเป็นกรรมที่หักล้างกรรม ในภาษาวิชาการท่านเรียกว่าสิ้นกรรมไม่เรียกว่ากรรมตามไม่ทัน แต่จะพูดแบบภาพพจน์อย่างนั้น ก็คงไม่เสียหายอะไร เพียงแต่ให้เข้าใจรู้เท่าทันภาษาพูด แม้แต่อโหสิกรรมตามภาษาชาวบ้านที่จริงมันก็อยู่ในกระบวนการของกรรม เราจะเห็นว่าเวลาเรามีเรื่องโกรธเคืองหรือทำอะไรกันไว้ ๒ ฝ่าย ก็เกิดอาฆาตแค้นเคืองกันความรู้สึกในใจมันก็มี ทีนี้พอเรามีเจตนาขึ้นมาว่า แหม เรื่องนี้อย่าไปเอาเรื่องกันเลยแค่นี้กรรมใหม่มันก็เกิด นี้เราสร้างกรรมฝ่ายตรงกันข้ามขึ้นมาแล้ว ปฏิกิริยาก็หักล้างกัน เวลาเราไปพูดกับเขาว่า เลิกแล้วกันนะ นี่ก็เป็นกรรมเหมือนกันนะ กรรมดีใช่ไหม กรรมดีเกิดขึ้นมาก็หักล้างกลบกรรมไม่ดีพับไม่ออกผลไปเลย แต่ว่ามันไม่ใช่หายไปเลย ก็เป็นอันว่าเราได้เคยสร้างความรู้สึกไม่ดีหรือโกรธเคืองกันไว้ แม้แต่เวลาไปอโหสิกันนี้ ความรู้สึกอะไรบางอย่างมันก็ยังมีเหลืออยู่บ้าง แล้วแต่ว่ากรรมนี้จะแรงแค่ไหน ถ้าหากอันเก่ามันแรงมาก การอโหสิกรรมนี้ก็อาจจะลบล้างความรู้สึกอันนั้นได้ไม่หมด แต่ถ้าหากว่าการกระทำครั้งใหม่นี้ที่มีเมตตาต่อกัน มีความรู้สึกดีต่อกันมันแรงมาก ก็อาจจะทำให้ความรู้สึกอันนั้นเกือบจะหมดไปเลย แล้วบางทีกลับมีผลในทางดีก็ได้ เข้าหลักที่ว่าอกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลได้ บางทีที่โกรธกันไว้ เคยขัดเคืองกันนี่นะ บางทีมันเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้สึกอีกอย่างที่ดีขึ้นมาทำให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นก็ได้ เพราะฉะนั้นมองกรรมนี้ไม่ใช่ว่าจะต้องออกรูปเดียวกันหมด มันเข้าในรูปที่ว่าอกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลได้ มีบางรายที่เคยมีเรื่องโกรธเคืองกัน แล้วต่อมาเปลี่ยนมาเป็นสนิทสนมรักกันจริงเลยก็มี มันก็เป็นเหตุปัจจัย ทุกอย่างมันก็เป็นไปตามปัจจัยทั้งนั้น เหตุปัจจัยที่สำคัญคือปัญญา ความเข้าใจ ปัญญานี้เป็นตัวสำคัญมากในการล้างกรรม เป็นตัวสำคัญที่สุด

ผู้ถาม ทุกอย่างในพุทธศาสนาเป็นที่ปัญญาทั้งนั้น มันถึงจะสำเร็จใช่ไหม

พระราชฯ นั่นเป็นขั้นสุดท้าย แต่ในระดับต้นๆ นี้ ศรัทธาสำคัญมากเหมือนกัน ระดับโสดาบันนี้ศรัทธาสำคัญมาก เพราะว่าผู้ที่มีศรัทธาสูงสุดคือพระโสดาบันเขาเรียกว่า อเวจจปสาทะ หรือ อจลศรัทธา คือศรัทธาไม่มีหวั่นไหวระดับพระโสดาบัน แต่ทำไมศรัทธาจึงไม่หวั่นไหว เพราะมีปัญญาเป็นเครื่องรองรับแล้ว คือได้เห็นเหตุผลต่างๆ ว่ามันเป็นไปตามเหตุปัจจัยอย่างนั้นเรียกว่า ศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย เชื่อมั่น แน่วแน่เลย มีความเข้าใจรองรับอยู่ แต่ว่ายังอยู่ในขั้นศรัทธาอยู่นั่นเอง จนกระทั่งมาถึงพระอรหันต์ จึงจะเป็นอย่างที่พระสารีบุตรกล่าว คือ พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า เราว่าอย่างนี้ เธอเชื่อไหมว่าเป็นอย่างนั้น พระสารีบุตรก็ทูลว่า ข้าพระองค์ก็เห็นว่าเป็นอย่างนั้น แต่ที่ว่าอย่างนี้มิใช่ว่าไปตามที่เชื่อต่อพระองค์ แต่เพราะเห็นประจักษ์ด้วยตนเอง คือพ้นขั้นเชื่อไม่ใช่ไม่เชื่อ ความหมายคนละอย่าง ไม่ใช่ไม่เชื่อ แต่หมายความว่าไม่ต้องอาศัยความเชื่อ คือ ขั้นอรหันต์นี้ ไม่ต้องอาศัยความเชื่อ แต่ขั้นพระโสดาบันนี้ยังต้องใช้ความเชื่ออยู่ เพราะฉะนั้นในทางพระพุทธศาสนานี้สูงสุดก็ปัญญา แต่ก็ไม่ใช่ว่า ศรัทธาไม่สำคัญ สำคัญมาก

ผู้ถาม คนที่เป็นถึงขั้นพระอริยบุคคล โดยไม่ได้ผ่านขั้นศรัทธา เคยมีไหมคะ อย่างพระพุทธเจ้าก็ ก็ทรงบรรลุอริยมรรคด้วยปัญญา คือไม่ได้มีเบื้องต้นจากศรัทธาในอะไร

พระราชฯ ก็ถ้าเราพูดแบบง่ายๆ ก็บอกว่าตรัสรู้เลยทันที เป็นไปได้

ผู้ถาม แต่ทรงใช้สติปัญญาใคร่ครวญ แต่ว่าไม่ได้ไปศรัทธากับอะไรกับสิ่งไหน

พระราชฯ ก็ถูก มีอย่างนี้นะ หลักตอนต้นก่อนที่จะเกิดสัมมาทิฏฐิ ท่านเรียกว่า มีปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ ๒ ประการคือ หนึ่ง กัลยาณมิตร เป็นปัจจัยประเภทศรัทธา กัลยาณมิตรนี่แหละจะนำไปสู่ศรัทธา เราจะต้องมีศรัทธาคือมีครู มีอาจารย์ มีผู้แนะนำสั่งสอนเราที่ให้คำสั่งสอนที่ดีแล้วเราเชื่อก็นำไปสู่ความเข้าใจถูกต้อง นี่เป็นไปตามแนวศรัทธา ทีนี้อีกอย่างเรียกว่า โยนิโสมนสิการ คือการใช้ความคิดเป็น ท่านบอกว่า คนประเภทอย่างพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่ผ่านกัลยาณมิตร ก็ไม่ต้องผ่านขั้นศรัทธา คือเข้าโยนิโสมนสิการแล้วไปสัมมาทิฏฐิเลย ก็เป็นไปได้

ผู้ถาม แต่ต้องเป็นคนระดับพระพุทธเจ้า หรือพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วอย่างระดับ พระโสดาบัน หรือพระสกทาคามี หรือพระอนาคามี นี่ยังต้องผ่านศรัทธาอยู่ใช่ไหมคะ

พระราชฯ อ้อ ต้องผ่านอยู่แล้วล่ะ ถ้าเป็นพระโสดาบันก็แสดงว่ามาตามสายศรัทธา ถ้าคนทั่วไปโดยปกติก็เป็นอย่างนั้นเราจะใช้ความคิดเองเป็น เข้าสู่ทางที่ถูกยากหน่อย ก็เหมือนกับว่าจะเริ่มเดินทางไปถูก คนทั่วไปต้องอาศัยมีคนบอกเล่าบ้าง อ่านหนังสือบ้าง แผนที่บ้างอะไรอย่างนี้ ที่จะคิดสืบค้นด้วยตนเอง จนกระทั่งไปพบทางที่ถูกเข้าเองนี่ยาก โดยทั่วไปก็ต้องมีคนนำทางก่อน นำทางโดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง เช่น อ่านหนังสือบ้าง ดูแผนที่ แต่พวกที่ดูแผนที่ก็มีกัลยาณมิตรที่ขาดกำลัง เหมือนอย่างคนที่ไปถึงทางแล้ว ไม่มีคนนำทางที่ตนเชื่อถือ ไม่อุ่นใจ เดินทางไม่อุ่นใจ เดินทางไม่มั่นใจ ไม่แน่วแน่ ไม่รู้สึกเข้มแข็ง ที่จะเดินตรงแน่วไปเลย อาจจะลังเลหรือรู้สึกหวั่นๆ อยู่เป็นต้น แม้จะได้ดูแผนที่ ไปถึงทางแล้วก็ยังไม่ค่อยอุ่นใจ แต่ถ้ามีคนที่เราเชื่อใจ มั่นใจว่าเขาเดินทางนี้มาจนชำนาญแล้วเขารู้แน่นอน เราจะสบายใจ อุ่นใจ มีความกล้าหาญ เดินได้อย่างมั่นคงไปเลยใช่ไหม สำหรับคนทั่วไป กัลยาณมิตรจึงสำคัญมาก หลักพระพุทธศาสนา ที่จริงเน้นมาก เดี๋ยวนี้เราเน้นมรรคกัน โดยลืมปัจจัย ๒ อย่างแรก พระพุทธเจ้าเน้นเรื่องปัจจัยสัมมาทิฏฐิ ๒ อย่างนี้ กัลยาณมิตรกับโยนิโสมนสิการ ที่จริงนี่คือตัวหลักการที่จะสร้างการเดินทางหรือการศึกษา แม้มองในแง่การศึกษา นี่ก็สำคัญที่สุด พอเข้าถึงสัมมาทิฏฐิ ก็เป็นเรื่องภายในตัวบุคคลแล้วนะ คนอื่นเข้าไปเกี่ยวข้องไม่ได้แล้ว สัมมาทิฏฐิมันอยู่ในตัวเขาเป็นความเข้าใจถูก แต่สัมมาทิฏฐิจะเกิดขึ้นได้อย่างไร นี่ซิเราไม่ค่อยพิจารณากัน เราจะไปเอาแต่ว่า ต้องมีสัมมาทิฏฐินะ มรรคมีองค์ ๘ ประการ มีอย่างนี้ๆ นะ แต่เราไม่คิดว่าการที่จะมีสัมมาทิฏฐิได้ จะต้องทำอย่างไร นี่คือจุดที่พระพุทธเจ้าเน้น ที่จริงเป็นหลักสำคัญ

ผู้ถาม มาถึงตอนนี้ก็รู้สึกว่า เป็นเรื่องอยู่ในใจ คิดอยู่ในใจเหมือนกันว่า ในฐานะภาควิชาปรัชญาและศาสนา ก็มีหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาบุคลิกภาพจริยธรรมอะไรทำนองนี้ บางทีก็สับสนว่า เราจะมีวิธีการที่จะพัฒนาหลักธรรมหรือปลูกฝังคุณธรรมแก่นิสิต นักศึกษา ได้อย่างไร อย่างเช่น การจัดกิจกรรมเกี่ยวกับจริยธรรมนี้ สมมติว่าถ้าไม่มีการกะเกณฑ์หรือว่าอะไรทำนองนี้บ้าง ก็รู้สึกว่าจะไม่ค่อยมีคนมาฟังกัน ก็กำลังคิดๆ กันอยู่ว่าเราจะมีวิธีการอะไรที่จะสั่งสอน หรือว่าวิธีการที่จะปลูกฝังจริยธรรมให้แก่นักศึกษา บางท่านก็บอกว่าเรื่องจริยธรรม เรื่องศาสนานี้ควรจะปล่อยให้เป็นเรื่องของเสรีภาพให้เขาศรัทธาเอง

พระราชฯ เราจะมองในแง่หนึ่งก็ถูก คือเราให้โอกาสเขาคิดใช่ไหม แต่ว่ามันก็ต้องมีวิธีการช่วย ตามหลักที่ว่ามันก็ต้องมีกัลยาณมิตรมาช่วย ถ้าไม่มีคนจะชี้แนะนำ ให้คลำทางไปเอง บอกให้มีเสรีภาพนั่นนะ ก็เดินวนกันอยู่นั่นแหละ สมมติว่าอยู่ในป่า จะเดินออกจากป่ามีเสรีภาพจะคิดก็คิดกันไป คิดกันอยู่นั่นแหละ แล้วก็เดินวนกันในป่า แต่ถ้าหากว่ามีกัลยาณมิตร คอยแนะนำบอกทางให้บ้าง มันก็คงจะดีใช่ไหม

ผู้ถาม บางทีก็มีปัญหา คือ กัลยาณมิตรก็พยายามชี้นำ ชี้ทาง แต่ท่านก็ไม่พยายามเดินกันอยู่นั่นแหละ

พระราชฯ ก็….มันมีองค์ประกอบอยู่หลายอย่าง ที่เราเรียกว่ามรรค นี่ก็เป็นองค์ประกอบของทางในแง่ที่เป็นตัวทางแท้ๆ ทีนี้ในการปฏิบัติ เราจะเห็นว่า พระพุทธเจ้ามาออกที่ไตรสิกขา จะนำมรรคนั้นมาจัดใหม่เป็นไตรสิกขา คือ จัดเป็นระบบการฝึกอบรมเอามาใช้ ระบบนี้ก็จะเริ่มด้วยศีล ทีนี้ในสมัยปัจจุบันนี้บางทีเรามีปัญหาว่า ถ้าเราจะมีระเบียบวินัยอะไร ก็เกิดแง่ขึ้นว่า มันจะไปขัดแย้งกับเสรีภาพอะไรหรือไม่ มันเป็นปัญหาที่ต้องขบคิดกันว่าจะเอากันแค่ไหน ถ้ายุติปัญหานี้ไม่ได้มันก็เดินทางไม่ได้ เพราะหลักของพุทธศาสนาถ้าจะมีการฝึกอบรมแล้วมันเริ่มด้วยศีล ถ้าศีลมันเริ่มไม่ได้มันก็ไปไม่ได้ ทีนี้ความสำคัญในแง่ของทาง ถ้าพูดถึงทางแท้ๆ ก็จะพูดถึงมรรค นี่ก็ไม่พูดถึงว่าเราจะใช้อย่างไรนะ พูดถึงองค์ประกอบของทาง คือตัวกระบวนการแท้ๆ ท่านก็บอกว่ามรรคก็เริ่มที่สัมมาทิฏฐิ หลักความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของทางเอง เพราะว่าเราจะต้องมีสัมมาทิฏฐิความเข้าใจถูกต้องก่อน อย่างน้อยก็รู้ว่านี่ทางที่ถูก มันจึงจะเดินไปได้ หรืออย่างในทางปฏิบัติ เช่นว่า เด็กเมื่อแกมีความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติอย่างไร แกก็จะทำอย่างนั้น ถ้าเด็กมีทัศนคติว่ารังแกเขาได้แล้วเป็นคนเก่ง ดีอย่างนี้แกก็โน้มไปในทางที่จะรังแกข่มเหงกัน ที่เรียกกันว่าเป็นค่านิยม เป็นพวกทิฏฐิ มีค่านิยมอย่างไรมันก็โน้มไปในทางนั้น ทิฏฐินี้สำคัญมาก เราจะต้องสร้างค่านิยมที่ถูกต้อง สร้างทิฏฐิที่ถูกต้องขึ้นมา แล้วคนมันจะเดินถูกต้อง นี่ก็เป็นเรื่องของความจริงในแง่ของทาง หรือองค์ประกอบของมรรค นี้ด้านหนึ่ง ถ้าเราสร้างอันนี้ได้ ก็เป็นการเข้าถึงเรื่องเดินถูกทาง แต่ทีนี้ทางปฏิบัติสำหรับคนหมู่มากอยู่กันหมู่ใหญ่ การใช้ทางนี้มันจะต้องออกในรูปของกระบวนการที่เรียกว่า ไตรสิกขา ก็มีศีล มีระเบียบวินัยเพื่อจัดสภาพแวดล้อมและจัดโอกาส เพราะคนเราถ้ามีโอกาสมากสำหรับทำความชั่วและถ้ามันสนองความปรารถนามันก็อยากหรือโน้มที่จะทำ จิตใจบางทีมันก็ไม่เข้มแข็งพอ ทั้งที่รู้ว่าไม่ดีแต่บางทีมีโอกาสก็ทำ ทีนี้อะไรจะช่วยแก้เรื่องนี้ ก็คือศีล ศีลนั้นมันเป็นตัวตัดโอกาสที่จะทำความเสียหายได้แล้วก็จะคุมให้อยู่ในขอบเขต ศีลคือวิธีการตัดโอกาสทางเสียทางชั่ว และเสริมโอกาสที่จะทำดีเท่านั้นเอง ศีลมีความมุ่งหมายอย่างนี้ เมื่อเราจัดสรรสภาพแวดล้อมในทางตัดโอกาสที่จะทำชั่ว แล้วมาส่งเสริมโอกาสทำดีแล้ว เขาก็มีโอกาสที่จะเดินมาทางนี้มากขึ้น นี่หลักของการฝึกคน ถ้าเราจะนำทางเดินสำหรับคนหมู่มาก อาตมาว่ามันต้องมีอันนี้ด้วย เรายอมรับไหมล่ะ ธรรมชาติของคนที่ว่าเรามีจิตที่ต้องการสนองความปรารถนาของตนอยู่แม้เราจะรู้ว่าไม่ดี แต่เมื่อมันสนองความต้องการ ถ้ามีโอกาสก็จะทำ คนเป็นอย่างนี้อยู่ใช่ไหม ถ้าเรายอมรับอย่างนี้แล้วต้องยอมรับหลักเรื่องศีล ก็ถือว่าเอาระเบียบวินัยมาตัดโอกาสทำความชั่วนั้นเสีย แล้วส่งเสริมปัจจัยแวดล้อมให้ทำดี ถ้าเราตกลงตามหลักการนี้ได้ ศีลก็ออกมาได้ ศีลจะออกมารูปไหนก็แล้วแต่ ก็จะได้ผล ศีลก็เท่านี้แหละ สาระสำคัญคือสร้างปัจจัยแวดล้อมที่จะตัดโอกาสที่จะทำความชั่ว แล้วก็สร้างปัจจัยแวดล้อมที่จะเสริมให้คนทำความดีต่อไป การฝึกคนในขั้นนี้ก็เป็นเรื่องระเบียบวินัย วินัยระเบียบเหล่านี้ก็เพื่ออำนวยโอกาสให้คนทำความดีกันทั้งนั้น เหมือนอย่างกับพระพุทธเจ้าตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมา วางระเบียบวินัยขึ้นก็เพื่อสร้างปัจจัยแวดล้อม ที่จะให้พระก้าวไปในทางปฏิบัติของพระได้ดี อันนี้ ถ้ารับหลักการอันนี้ก็จำจะต้องมีเรื่องศีล ถ้าไม่ยอมรับอันนี้ ก็ก้าวยาก ถ้าจะเอาแต่สัมมาทิฏฐิ เพราะต้องสร้างค่านิยมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เมื่อเขามีค่านิยม มีทัศนคติที่ดีแล้ว เขาก็จะทำตามนั้น แต่จะให้ดีต้องทำพร้อมกันไปทั้ง ๒ อย่างคือทั้งวินัยหรือศีล และการสร้างสัมมาทิฏฐิโดยเฉพาะค่านิยมและทัศนคติที่ถูกต้อง

ผู้ถาม เรื่องสร้างค่านิยมนี้คงยาก เพราะรู้สึกว่าต้องขึ้นกับสิ่งแวดล้อมด้วย

พระราชฯ แน่นอน ก็ต้องกลับมาศีลอีกนั่นแหละ ทีนี้เราเดี๋ยวนี้กำลังไม่เห็นความสำคัญของศีลกันแล้วใช่ไหม เราจะให้มันเกิดขึ้นเอง ทีนี้ธรรมชาติของมนุษย์ ที่ว่านี้เราจะยอมรับกันหรือไม่

ผู้ถาม ธรรมชาติของมนุษย์ส่วนมากออกจะมีแนวโน้มที่จะทำความชั่วกันมากกว่า

พระราชฯ ทีนี้ ถ้าหากว่าเราหย่อนในเรื่องศีล เราก็จะต้องมาระดมกำลังในด้านกัลยาณมิตร ทีนี้มันก็มาหนักแก่กัลยาณมิตร โดยเฉพาะครูอาจารย์ที่เกี่ยวข้องทางจริยธรรม เพราะจะต้องสร้างกิจกรรมสร้างการกระทำอะไรต่างๆ ที่มาชักจูงเขา

การระดมกำลังในเรื่องนี้ก็หนักมาก ทำได้เท่าไรยังไม่รู้ เพราะกัลยาณมิตรมีแต่ที่โรงเรียนอย่างเดียวก็ง่อนแง่น กัลยาณมิตรทั่วไปในสังคม เช่นทางสื่อมวลชน ถ้าไม่มีเห็นจะได้ผลน้อย ยิ่งในสังคมเช่นสื่อมวลชนนั้นมีแต่บาปมิตรด้วย ครูอาจารย์ก็เหลือความหมายน้อยเหลือเกิน ทีนี้ถ้ามันได้ทั้ง ๒ อย่างช่วยกันมันก็จะดีมาก ศีลปัจจัยแวดล้อมก็อำนวย สภาพความเป็นอยู่ก็อำนวย แล้วตัดโอกาสเรื่องการทำความชั่วมีทางทำดีได้มาก อ้าว กัลยาณมิตรก็มีช่วยแนะ ช่วยชี้ อะไรต่ออะไรก็ดีขึ้นอีก ยิ่งเรารู้จุดที่จะสร้างค่านิยม ปลูกสัมมาทิฏฐิให้เขาเข้าสู่เป้านี้ แล้วก็ให้เขามีโยนิโสมนสิการ รู้จักคิดเองเป็นด้วย มันก็ช่วยกัน อาตมาว่าต้องประกอบกัน เราอาจจะมี

๑. มีระเบียบวินัยอยู่บ้าง อาศัยเรื่องศีล สร้างปัจจัยแวดล้อมให้อำนวยโอกาสแก่ความเจริญงอกงามของจริยธรรม

๒. มีกัลยาณมิตร มีบุคคลที่ช่วยแนะนำ มีกิจกรรม มีอะไรต่ออะไรสร้างขึ้นมา มีหนังสือหนังหาให้อ่าน มีสื่อสารมวลชนที่ดี

แล้วก็กัลยาณมิตรพวกหนึ่ง โดยเฉพาะที่ทำงานหน้าที่ครูนี้พยายามเสริมให้เขารู้จักคิดเป็น ให้มีโยนิโสมนสิการ แล้วรู้จุดว่าต้องการสร้างค่านิยมอะไร แล้วก็สร้างกันขึ้นมา อาตมาว่านี่ก็เป็นทางที่จะทำกันได้ พอจะเห็นว่าเป็นวิถีทางที่จะสร้างจริยธรรม แต่ถ้าในสังคมนี้ ศีลวินัยก็ไม่เอา สัมมาทิฏฐิ โดยเฉพาะค่านิยมที่ดีงามก็ขาดแคลน กัลยาณมิตรก็หายาก มีแต่ปาปมิตรระบาดในสังคม เริ่มแต่สื่อมวลชน การสร้างจริยธรรมในสังคมก็หวังได้ยาก

ผู้ถาม เดี๋ยวนี้ออกนอกศีลธรรมกันหมดแล้ว ไม่ถือกันเลย

พระราชฯ ไม่ถือกันเลย นั่นซิ เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่า ถ้าผิดก็หมายความว่าในระดับผู้บริหารมีมิจฉาทิฏฐิเสียเองแล้วใช่ไหม ถ้าอย่างนี้นะคือ ถ้าผู้บริหารการศึกษาเองเกิดมีมิจฉาทิฏฐิ บอกว่า ศีลไม่สำคัญ เมื่อมิจฉาทิฏฐิมันเริ่มต้นกันแล้ว มันก็นำไปสู่ทาง หรือการปฏิบัติที่ผิดต่อไป ตอนนี้ก็ต้องสร้างสัมมาทิฏฐิในระดับผู้บริหารด้วย แน่นอน ต้องสร้างในระดับนี้ ว่าให้เห็นความสำคัญของศีล

ผู้ถาม ตอนนี้ก็ได้เวลาอันสมควรพอดี ถ้าหากจะมีปัญหาอะไรอีกก็จะขอความกรุณามารบกวนพระเดชพระคุณท่านอีกในโอกาสต่อไป

พระราชฯ อันนี้อาตมาเองก็ยินดี ก็ถือเป็นหน้าที่ของพระอันหนึ่ง ทางฝ่ายอาจารย์ก็มีอุตสาหะมาถึงที่พักของอาตมาเอง อาตมาก็ควรจะพยายามทำเท่าที่จะทำได้ ก็ขออนุโมทนาด้วย

บรรยายเมื่อวันพุธที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๒๒
เวลา ๑๔.๐๐ – ๑๖.๐๐ น.
ณ วัดพระพิเรนทร์

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< คำปรารภ

No Comments

Comments are closed.