เมื่อสุขแท้ ก็ถึงธรรม

29 พฤษภาคม 2534
เป็นตอนที่ 21 จาก 21 ตอนของ

เมื่อสุขแท้ก็ถึงธรรม

ตกลงว่า ที่อาตมภาพได้กล่าวมานี้ก็เข้าในหลักการของพระพุทธศาสนา ซึ่งยกเอาเรื่องของชีวิตมนุษย์นั่นเองมาเป็นตัวตั้ง นั่นคือ การที่มนุษย์ทุกคนนี้ต้องการชีวิตที่ดีและมีความสุขที่แท้จริง และเราก็ดำเนินชีวิตเพียรพยายามทำทุกอย่างเพื่อหาสิ่งนี้ แต่แล้วมนุษย์ก็ประสบปัญหากันอยู่อย่างนี้แหละ เพราะเพียรพยายามไป โดยไม่รู้ไม่เข้าใจว่าชีวิตที่ดีและความสุขที่แท้จริงนั้นคืออะไร

ขอรวบรัดพูดในตอนสุดท้ายนี้อีกครั้งหนึ่งว่า หลักในการสร้างชีวิตที่ดีและมีความสุขนี้ ไม่มีอะไรมาก ที่จริงก็คือการเข้าถึงธรรมนั่นเอง เป็นอันเดียวกัน เมื่อใดที่เราเข้าถึงชีวิตที่ดีมีความสุขที่แท้จริง อันนี้ก็คือเราเข้าถึงธรรม พูดสั้นๆ ว่า เมื่อสุขแท้ ก็ถึงธรรม เมื่อพูดอย่างนี้แล้วทุกท่านจะได้ไม่หนักใจ คือ จะได้เห็นการก้าวเข้าไปหาธรรม เป็นเรื่องที่ตรงกับจุดหมายของชีวิตของเราอยู่แล้ว

ถ้าหากว่า ท่านใดยืนยันกับตัวเองว่า ฉันเข้าถึงชีวิตที่ดีมีความสุขแท้จริงแล้วได้ ถ้าท่านยืนยันได้อย่างนั้น ท่านก็บอกกับตนเองได้เลยว่า ข้าพเจ้าเข้าถึงธรรมแล้วเหมือนกัน แต่ท่านจะยืนยันได้หรือเปล่า ถ้าหากว่าท่านยืนยันไม่ได้ก็ต้องบอกว่าฉันยังต้องพยายามเข้าถึงชีวิตที่ดีมีความสุขต่อไป นั่นก็คือ ฉันจะต้องเข้าถึงธรรมต่อไป สองอย่างนี้เป็นอันเดียวกัน คือ เมื่อสุขแท้ ก็ถึงธรรม และเมื่อถึงธรรม ก็สุขแท้

พระพุทธศาสนาก็ได้บอกแล้วว่า การเข้าถึงชีวิตที่ดีมีความสุข หรือการเข้าถึงธรรมนั้น ก็มีให้เราเข้าถึงได้อยู่แล้วเป็นขั้นๆ หลายขั้น ซึ่งจัดรวมได้เป็น ๓ ระดับ

ระดับที่ ๑ คือขั้นกาม ได้แก่การที่จะบำรุงบำเรอประสาทสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ในขั้นนี้ เราจะแสวงหาทรัพย์สินเงินทองไปท่านก็ไม่ว่า แต่ว่าให้มีศีลนะ ศีลควบคุมให้เราอยู่กันในสังคมด้วยดีมีสันติสุข ไม่เบียดเบียนกัน แต่ให้เอื้อเฟื้อเกื้อกูลมีไมตรีต่อกัน ได้แค่ขั้นศีลนี้ก็ไปได้แล้ว ทุกคนก็มีความสุขทางวัตถุกันได้ โดยที่ต่างคนก็มีโอกาสเสวยสิ่งบำรุงบำเรอประสาททั้ง ๕ กันได้ ตามสมควร

แต่ท่านบอกว่า แค่นี้ยังไม่พอนะ เธอเป็นมนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาตัวเองได้อีก ถ้าแค่นี้ยังไม่พ้นทุกข์จริงหรอก ยังมีโอกาสที่จะเจอทุกข์เข้าจนได้อีก ทั้งทุกข์นอกและทุกข์ใน เพราะเป็นสุขที่ตั้งอยู่บนสิ่งที่เป็นทุกข์ ฐานมันไม่มั่น ฉะนั้นเราจะต้องพัฒนาต่อไป แล้วท่านก็บอกขั้นต่อไปอีก

ระดับที่ ๒ คือขั้นจิต ได้แก่ขั้นรูปาวจร และ อรูปาวจร ขั้นนี้เราเข้าถึงได้ด้วยสมาธิ หรือการพัฒนาจิตใจ แต่ท่านก็บอกว่าแค่นี้ก็ยังไม่พออีกนั่นแหละ การที่เราจะอยู่ข้างในกับจิตอย่างเดียว มันดื่มด่ำไปได้ลึกล้ำก็จริง แต่อาจจะกลายเป็นพวกหลีกหนีสังคม ไม่เผชิญหน้าความจริง แก้ปัญหาไม่ตก เพราะฉะนั้น จะต้องก้าวต่อไปอีกให้ถึงความสมบูรณ์จบสิ้นปัญหา ให้เป็นสุขโดยไม่มีทุกข์เหลืออยู่ แล้วท่านก็บอกขั้นต่อไปอีก

ระดับที่ ๓ คือ ขั้นปรมัตถ์ หรือ โลกุตตระ เป็นขั้นที่ถึงได้ด้วยปัญญา ท่านสอนว่า เธอจะต้องแก้ปัญหาด้วยปัญญาให้มันเสร็จสิ้นไปในปัจจุบันเลยเฉพาะหน้า เผชิญได้กับทุกสิ่งโดยไม่มีความทุกข์ แล้วเมื่อนั้นแหละเธอจะเอาความสุขทางจิตมาใส่อีกก็ไม่ว่า จะมีความสุขทางประสาททั้งห้ามาเสริมก็ได้ความสุขนั้นเต็มสภาพของมันอย่างบริบูรณ์ และทั้งไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ใครด้วย มันจะอยู่ในขอบเขตที่พอดีไปหมดเลย เพราะมีปัญญาที่ไร้ทุกข์เป็นตัวควบคุม เพราะฉะนั้นก็มีความสุขขั้นสุดท้ายที่ไร้ทุกข์ด้วยปัญญา ก็จบกัน

เป็นอันว่าพระพุทธศาสนาได้ให้ไว้แล้วได้แสดงไว้แล้ว เกี่ยวกับหลักการในการเข้าถึงชีวิตที่ดีมีความสุข คือการเข้าถึงธรรม แล้วก็แบ่งไว้เป็นขั้นเป็นตอน ดังที่ได้กล่าวมา

รวมแล้วหลักการในเรื่องนี้ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เท่านั้นเอง อาตมภาพพูดมาเสียยาวนาน ไม่ได้ไปไหนเลย ก็อยู่ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตของเรานี่เอง เพราะฉะนั้น ก็ขอให้เราเข้าใจธรรมกันในความหมายหนึ่งนี้ ซึ่งที่จริงมันเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่มีอะไรมาก ในเรื่องธรรม บางคนเข้าถึงธรรมปั๊บเดียวเลย เพราะว่าตัวสาระมันก็แค่นี้เอง แต่ถ้าไปแจกแจงในรายละเอียดมันก็เยอะแยะเหลือเกิน ไม่รู้จักจบ ถ้าจับสาระให้ถูก ให้เรามีชีวิตที่ดีมีความสุขได้จริง ก็จบเรื่องกัน

วันนี้ อาตมภาพก็ขออนุโมทนาทุกท่านที่มานั่งฟังในที่ประชุมนี้จนกระทั่งจบ ซึ่งก็ได้พูดไปนานจนกลายเป็นเกินเวลาโดยไม่รู้ตัว ในเมื่อท่านมีเจตนาอันเป็นกุศล และมาพยายามที่จะปฏิบัติธรรม การที่มาฟังรายการนี้ ก็คงสนใจในหัวข้อที่ว่าจะเข้าถึงธรรม ก็แสดงว่ามีจิตใจที่หวังจะพัฒนาชีวิตของตนเองให้เจริญไปสู่สภาวะที่ดีงามยิ่งขึ้น ก็ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จ ในการฝึกฝนพัฒนาตนตามหลักการที่พระพุทธเจ้าได้ประกาศไว้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อจะได้ก้าวไปให้เข้าถึงธรรม จะได้มีชีวิตที่ดีงาม ประสบความสุขที่แท้จริง โดยทั่วกันทุกท่าน

ขออานุภาพคุณพระรัตนตรัย จงอวยพรให้ทุกท่านเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีความร่มเย็นงอกงามในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั่วกันทุกท่าน ตลอดกาลนาน เทอญ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ศีลพุทธไม่ใช่ข้อห้าม แต่ตามจริงเป็นข้อหัด

No Comments

Comments are closed.