- ปฏิสันถาร
- ภาค ๑ สังฆทานครั้งใหญ่ ที่คลุมไปถึงค่อนปี / วันอาสาฬหบูชา กับวันเข้าพรรษา มาต่อกัน
- เข้าพรรษา มาถวายสังฆทานใหญ่ ทีเดียวได้ ๓ เดือน
- ทำบุญ อยู่แค่สังฆทานไม่พอ ต้องต่อให้ครบสาม หรือสิบ
- บุญจะเพิ่มขยาย เมื่อใจแผ่กว้าง และปัญญาเห็นไกล
- ทำบุญครบ ๕๐ ปี ที่มีวันอาสาฬหบูชา
- เหตุการณ์ของวันอาสาฬหบูชา เกิดมาแล้ว ๒๕๙๕ ปี
- ภาค ๒ จักรตัวใหม่ ที่ขับดันยุคไอที / ธรรมจักรหมุน ทางเป็นมัชฌิมา ถึงพุทธศาสนาทันที
- พอจักรเกิดขึ้น อารยธรรมก็ขยับเคลื่อน
- ธรรมจักรหมุนมา พาอารยธรรมเข้าสู่วิถี
- “จักร” เล็กก็สำคัญ “จักร” ใหญ่ก็อัศจรรย์
- “จักร” ถึงมือคน ก็เริ่มต้นผันอารยธรรม
- “จักร” ขับเคลื่อนอารยธรรม สู่ยุคใหม่แห่งอุตสาหกรรม
- “จักร” พาอารยธรรม ก้าวขึ้นยุคใหม่ที่ชื่อไอที
- “จักร” บอกความเป็นญาติมิตร ว่าลึกลงไปยังมั่น
- “จักร” จะหมุนไปทางไหน อยู่ที่คนเป็นเสรีทาส หรือเสรีไท
- “จักร” หมุนอย่างไร “เครือข่าย” จึงกลายเป็น “ตาข่าย”
- “จักร” นั้นไซร้ ไฉนต้องหมุนไปในทางสายกลาง
- “จักร” จะขับเคลื่อนอารยธรรมได้ ต้องหมุนไปด้วยปัญญา
- “ทางสายกลาง” พาคนถึงจุดหมาย นำอารยธรรมให้ศรีวิไล
เหตุการณ์ของวันอาสาฬหบูชา เกิดมาแล้ว ๒๕๙๕ ปี
ทีนี้พอมีเป็นหลัก ๓ วันแล้ว คือ วันวิสาขบูชา มาฆบูชาอาสาฬหบูชา ก็เลยมาคิดกันว่า เอ้อ ๓ วันนี้ เรามาเรียกเป็นวันพระรัตนตรัย แยกเป็นแต่ละวันๆ ก็ดีนะ
วันวิสาขบูชานี้ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ปรินิพพาน เป็นวันเกี่ยวกับองค์พระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นน่าจะเรียกว่าเป็นวันพระพุทธเจ้า ก็ดูสมเหตุสมผลดี
ทีนี้ก็มาดูว่า เออ… วันมาฆบูชาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์นั้น ก็เป็นการแสดงหลักใหญ่แห่งคำสอนของพระพุทธเจ้า คือหลักใหญ่แห่งธรรมะ หรือหลักการของพระพุทธศาสนาทั้งหมด ฉะนั้น น่าจะถือว่าวันมาฆบูชาเป็นวันพระธรรม ก็เลยบอกว่าให้วันมาฆบูชาเป็นวันพระธรรม
ส่วนวันอาสาฬหบูชานี่ พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่เบญจวัคคีย์ แล้วหัวหน้าเบญจวัคคีย์ ชื่อว่าโกณฑัญญะ ได้ฟังแล้วบรรลุธรรม ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อัญญาสิ วต โภโกณฑัญโญ” ที่แปลว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ก็เลยเติมชื่อให้ท่าน เหมือนกับเป็นสมญาว่า อัญญาโกณฑัญญะ (แต่ประเทศอื่นเขาเรียก อัญญาตโกณฑัญญะ เพี้ยนกันนิดหน่อย)
ทีนี้ ท่านขอบวช ก็เลยเป็นพระภิกษุองค์แรก เราก็ถือว่าเออ… ในวันอาสาฬหบูชานี่เกิดพระภิกษุองค์แรก ซึ่งเป็นพระสาวกองค์แรกในอริยสงฆ์นะ ถ้าอย่างนั้นเราก็เรียกวันอาสาฬหบูชาเป็นวันพระสงฆ์ ดูเข้าเหตุผลดี
ก็เลยคล้ายๆ ตกลงกันมา แต่ที่จริงก็ไม่ได้มีการตกลงเป็นทางการหรอก แต่คล้ายๆ ถือกันมาว่า วันวิสาขบูชาเป็นวันพระพุทธเจ้า วันมาฆบูชาเป็นวันพระธรรม วันอาสาฬหบูชาเป็นวันพระสงฆ์
แต่ว่ากันไปแล้ว ที่จริง ตามเหตุการณ์ในพุทธประวัติเองนั้น วันของอาสาฬหบูชาเกิดก่อนวันของมาฆบูชา เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ก็คือเทศน์ครั้งแรก จนกระทั่งมีสาวกองค์แรกขึ้นมา ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิ-โมกข์ในวันมาฆบูชานั้น มีพระสงฆ์ตั้ง ๑๒๕๐ รูปแล้ว
ทีนี้บางท่านก็มาคิดว่า เอ… วันอาสาฬหบูชานี่ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงเทศน์ครั้งแรก เป็นวันประกาศธรรมะนี่ น่าจะเป็นวันพระธรรม ก็เลยบอกว่าน่าจะเอาวันอาสาฬหบูชาเป็นวันพระธรรม ดูมีเหตุผลอยู่ ก็ว่าไป
อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องไปเถียงกันหรอก อันนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงว่ามาหรอก เรามาว่ากันเอง ตกลงกันอย่างไรก็ได้ ให้มันได้ความหมายดีก็แล้วกัน เมื่อได้ความหมายเป็นประโยชน์ มีคุณค่า และให้เกิดผลในการปฏิบัติ เอามาใช้ได้ละ ก็เป็นดีที่สุด
ทีนี้ เราก็มาถึงวันอาสาฬหบูชาละ จะเรียกเป็นวันพระสงฆ์ก็สุดแต่เห็นเหมาะ เพราะสอดคล้องเข้าในชุดอย่างที่ว่ามาแล้วจะถืออย่างนั้นก็ถือไป
แต่ถ้าพูดตามเหตุการณ์ ก็เรียกว่าเป็นวันประกาศพระธรรมจักร และแสดงมัชฌิมาปฏิปทา หรือประกาศพระธรรมจักรแสดงทางสายกลาง อันนี้คือตัวเหตุการณ์ที่แท้
เมื่อกี้บอกว่า วันอาสาฬหบูชานั้น มาถึงวันนี้ครบ ๕๐ ปี แต่เหตุการณ์ของอาสาฬบูชานั้น ๒๕๙๕ ปีแล้วนะ ไม่ใช่ ๕๐ ปี ที่ว่า ๕๐ ปี คือพูดตามที่เราได้จัดได้มีพิธีบูชากันมา
No Comments
Comments are closed.