- ยิ่งก้าวถึงสุข ยิ่งใกล้ถึงธรรม
- ต้องการสุขแท้ แต่ยังทำไม่ถูกวิธี
- ปรนเปรอประสาททั้งห้า เป็นวิธีหาความสุขพื้นฐาน
- มนุษย์กับสัตว์อื่นหาสุขบำเรอประสาท เสมอเหมือนกัน แต่มนุษย์ก่อทุกข์ได้มหันต์ ยิ่งกว่าสัตว์เหล่าอื่น
- ปรนเปรอเท่าไรไม่รู้จักพอ ความเบื่อรอตัดหน้าความอิ่ม
- เอาสุขไปฝากไว้กับการบำเรอประสาท เลยต้องทุกข์ถนัด เมื่อประสาทนั้นไม่ประสิทธิ์
- จะพึ่งพาวัตถุ หรือพึ่งพาคนอื่น ก็ไม่เป็นสุขโดยอิสระ
- กล่อมประสาท กล่อมจิต เครื่องช่วยสำหรับผู้ไม่สามารถเป็นสุขด้วยตนเอง
- รู้จักกล่อม แทนที่จะทำให้หลง กลับพาไปหาอิสรภาพ
- สุขเพราะกล่อม ก็ใกล้กับสุขในความฝัน
- จะอยู่ด้วยการกล่อม หรือด้วยการปลอบขวัญ ก็ยังไม่พ้นการต้องพึ่งพา
- สุขเต็มอิ่มภายใน ด้วยลำพังจิตใจของตนเอง
- สุขแท้ เมื่ออยู่กับความจริงโดยไม่มีทุกข์
- มีสุขแท้ที่ไร้ทุกข์เป็นฐาน สุขอื่นทุกประการก็เต็มอิ่มจริง
- สุขสามระดับ มากับหลักปฏิบัติสามขั้น
- สุขแท้ อยู่ในวิถีแห่งอิสรภาพ
- อิสรภาพ คือหลักประกันของความสุขที่แท้
- ฝึกเว้นสุขแบบพึ่งพา เพื่อพัฒนาสุขที่เป็นอิสระ
- เว้นสุขบำเรอประสาท คือหัดเป็นสุขอย่างอิสระ ไม่ใช่จะหาทุกข์มาทน
- ศีลพุทธไม่ใช่ข้อห้าม แต่ตามจริงเป็นข้อหัด
- เมื่อสุขแท้ ก็ถึงธรรม
เอาสุขไปฝากไว้กับการบำเรอประสาท
เลยต้องทุกข์ถนัด เมื่อประสาทนั้นไม่ประสิทธิ์
ต่อไปประการที่สาม ความสุขจากวัตถุปรนเปรอนี้ มันอยู่ข้างนอก ฉาบฉวย มันปรนเปรออยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย มันไม่เข้าลึกไปถึงใจเต็มที่ ในใจที่แท้จริงในระดับประณีตลึกซึ้ง มันไม่สุขเต็มที่ ไม่เต็มชีวิตชีวา บางทีข้างนอกหาความสุขไป ตาดู หูฟัง สนุกสนานไป แต่ในใจมีทุกข์อัดอยู่เต็มที่ อย่างนี้ก็เป็นความสุขแบบพอกไว้เท่านั้นเอง หรือสุขแต่เปลือก ได้แค่เคลือบหรือห่อหุ้มไว้ ไม่ช้าก็ลอกก็หลุดหายไป เนื้อในคือตัวจริงอาจเป็นทุกข์ ไม่ใช่สุขแท้จริง
อีกประการหนึ่ง เพราะเหตุที่มันจำกัดอยู่กับการบำเรอประสาททั้ง ๕ พอถึงเวลาที่ประสาททั้ง ๕ ไม่สามารถรับบำเรอความสุขนั้นได้ ในเวลานั้นคนที่เอาความสุขฝากไว้กับการบำเรอประสาททั้ง ๕ นี้ จะมีความทุกข์ มีความเดือดร้อนทุรนทุรายมาก เพราะเกิดความรู้สึกติดขัดคับแค้นผิดหวังที่ประสาททั้ง ๕ ไม่สามารถรับความสุขให้แก่ตนได้ และไม่สามารถที่จะมีความสุขได้ด้วยวิธีอื่น
ขอยกตัวอย่าง เช่น ในเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย บางทีอาหารที่เคยอยากเคยชอบ ก็ไม่อร่อย กลับเบื่อด้วยซ้ำไป อาหารที่เคยชอบรับประทานที่สุด เอามาวางข้างหน้า กลับบอกให้เอาออกไปเสีย ให้เอาไปทิ้ง ไม่อยากรับประทานเลย ไม่ว่าอะไรก็ตาม ที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มันเบื่อ มันรำคาญ มันขัดใจไปหมด
เวลานั้นประสาททั้ง ๕ ไม่สามารถรับความสุขให้แก่เราได้ ตอนนั้นเราต้องอยู่ลำพังกับจิตของตนเอง ตอนนี้ คนที่ฝากความสุขไว้กับประสาทสัมผัสจะมีแต่ความทุกข์ ความเดือดร้อนทุรนทุราย
ไม่เฉพาะเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเท่านั้น ไม่ว่าเวลาใดก็ตามที่ไม่สามารถแสวงหาสิ่งเหล่านั้นมาปรนเปรอตัวเอง ตลอดจนในยามเฒ่าชราเมื่อร่างกายส่วนต่างๆ บกพร่อง อ่อนแอ การทำงานของประสาทต่างๆ เสื่อมโทรมลงไป การที่จะบำรุงบำเรอประสาททั้ง ๕ ก็ไม่ได้ผลเต็มที่
การฝากความสุขไว้กับวัตถุ ที่บำรุงบำเรอประสาททั้ง ๕ มีข้อบกพร่อง มีจุดอ่อนหลายประการ อย่างที่กล่าวมา ฉะนั้น มันจึงไม่สามารถให้เข้าถึงชีวิตที่ดีและมีความสุขแท้จริงได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคมก็ตาม หรือเป็นด้านชีวิตส่วนตัวก็ตาม เพราะฉะนั้นเราจะต้องก้าวต่อไป
ขอให้มาดูกันว่า คนหาความสุขด้วยวิธีอะไรต่อไปอีก คนที่พัฒนามากขึ้น ก็จะมีวิธีหาความสุขในระดับอื่นต่อไป
ก่อนจะก้าวไปสู่วิธีหรือช่องทางที่สองของการหาความสุข ก็ยอมรับความจริงกันไว้ก่อนว่า แน่นอน ในขั้นพื้นฐานมนุษย์ยังต้องหวังความสุขจากการบำรุงบำเรอประสาททั้ง ๕ อันนี้เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ แต่ตอนนี้เราก็รู้ความจริงเพิ่มขึ้นด้วยว่า ความสุขด้านนั้นระดับนั้นไม่เพียงพอที่จะให้มีชีวิตที่ดีงาม และไม่เป็นความสุขที่สมบูรณ์ พร้อมทั้งยังมีช่องมีแง่มีโอกาสที่จะทำให้เกิดปัญหาหรือทำพิษเอาด้วย คือมนุษย์ก็เกิดทุกข์เพราะความสุขประเภทนี้แหละ
No Comments
Comments are closed.