แทรกความรู้วิชาการ

2 พฤศจิกายน 2551
เป็นตอนที่ 5 จาก 8 ตอนของ

แทรกความรู้วิชาการ

ขอเสริมอีกนิด เป็นความรู้เชิงวิชาการสักหน่อยว่า ปราโมทย์ กับ ปีติ สองอย่างนี้บางทีรู้สึกว่าคล้ายๆ หรือใกล้เคียงกัน ดูที่อรรถกถาอธิบายไว้ ส่วนมากบอกว่า ปราโมทย์ ก็คือ ปีติอย่างอ่อนๆ1

ถ้าถือว่าปราโมทย์คือปีติอ่อนๆ ทั้งปราโมทย์และปีติก็เป็นคุณสมบัติของจิต2 ที่เป็นได้ทั้งฝ่ายเวทนา และฝ่ายสังขาร

ในแง่ที่เป็นเวทนานั้น ทั้งสองอย่างจัดเป็นสุขเวทนา

แต่ในแง่ที่เป็นสังขาร คือดีชั่วที่ปรุงแต่งจิต ปีติ เป็นคุณสมบัติกลางๆ ที่เกิดได้กับจิตทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล3 แต่ ปราโมทย์ ที่เป็นอาการของจิตอันแสดงออกต่อมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ก็คือมุทิตา ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดี เป็นสังขารฝ่ายกุศล4 เป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งในพรหมวิหาร ๔

ดูต่อไปอีก ตามหลักในเรื่องการเจริญอานาปานสติแบบที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ไปด้วย ที่เรียกว่าอานาปานสติ ๑๖ ฐาน จะเห็นว่า เรื่องปีติ และ สุข ท่านจัดไว้ในเวทนานุปัสสนา5 แต่การทำจิตให้ปราโมทย์ จัดเข้าในจิตตานุปัสสนา6

ที่ยกเรื่องนี้มาพูดเสียยืดยาวนั้น ก็ด้วยอยากจะให้ไม่เน้นปราโมทย์ในแง่ปะปนกับปีติ ที่เป็นสภาวะฝ่ายเวทนา

แต่อยากจะให้มองปราโมทย์ในแง่ที่เป็นอาการแสดงออกของจิตที่ดีงามเป็นกุศล

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ต้องระวังไว้บ้าง ไม่ให้เขวผิดทางไปเสียธรรมชาติของจิตเองนั้นเปล่งปลั่ง >>

เชิงอรรถ

  1. เช่น สํ.อ.๒/๒๓/๖๓; ปฏิสํ.อ.๑/๑๑๐/๒๓๒, ๑๔๕/๓๒๙; บางแห่ง (ปฏิสํ.อ.๒/ ๒๙๔/๓๐๖) บอกว่า “มากด้วยปราโมทย์” (ปาโมชฺชพหุโล) ก็คือ มีปีติอย่างแรง
  2. คุณสมบัติของจิต หมายถึง “เจตสิก”
  3. คือเป็น อัญญสมานาเจตสิก
  4. เป็นโสภณเจตสิกอย่างหนึ่ง
  5. ปีติปฏิสํเวที (รู้เจาะชัดปีติ) และ สุขปฏิสํเวที (รู้เจาะชัดสุข)
  6. อภิปฺปโมทยํ จิตฺตํ (ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง)

No Comments

Comments are closed.