แนวทางปฏิบัติที่ควรจะเป็น

24 กรกฎาคม 2531
เป็นตอนที่ 6 จาก 12 ตอนของ

แนวทางปฏิบัติที่ควรจะเป็น

ตามที่ปรากฏและเท่าที่ข้าพเจ้ารู้จัก ชาวสันติอโศกมักจะเป็นผู้มีกิริยามารยาทเรียบร้อย เป็นอยู่เรียบง่าย มีระเบียบ วินัยเคร่งครัด ตั้งใจและทำจริงจังในสิ่งที่ยึดถือว่าถูกต้อง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดี และนับว่าเป็นข้อดีของชาวสันติอโศก เมื่อมองแต่ในด้านนี้ ก็ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นความหวังใหม่ ในการที่จะช่วยกันพื้นฟูพระพุทธศาสนา แต่ถ้าคุณสมบัติที่ดีเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในเรื่องที่ผิดพลาด หรือผู้มีคุณสมบัติที่ดีนั้นเดินทางผิดเสียเอง ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ยิ่งในกรณีที่เห็นผิดและถือผิด คุณสมบัติที่ดีเช่นความขยันจริงจัง จะยิ่งกลับเป็นพลังที่ทำให้เกิดผลร้ายรุนแรงหนักยิ่งขึ้น อย่างน้อยผลดีก็ไม่คุ้มผลเสีย เหมือนคนขยันเอาจริงเอาจังเมื่อหลงทางแล้วก็ยิ่งผิดไปไกล

พระโพธิรักษ์ ผู้เป็นเจ้าสำนักสันติอโศกเอง ได้แสดงความเอาจริงเอาจังอย่างมากในการพูด การเขียนติเตียน ความประพฤติบกพร่องย่อหย่อน และพฤติการณ์ผิดสมณวิสัยต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้นในคณะสงฆ์และวงการพระพุทธศาสนาโดยทั่วไป คำพูดและข้อเขียนของท่านรุนแรงมากในระยะแรก ๆ แต่ต่อมาก็ได้ผ่อนเบาและมีลักษณะประนีประนอมมากยิ่งขึ้น มองในแง่หนึ่ง ก็เป็นการดีที่ท่านได้แสดงออกเช่นนี้ ในช่วงเวลาที่หลายสิ่งหลายอย่างในวงการพระพุทธศาสนาควรได้รับการแก้ไขปรับปรุง แต่แล้วการกระทำของพระโพธิรักษ์ ก็ไม่เป็นแรงกดดันให้เกิดการแก้ไขปรับปรุงอย่างที่น่าจะได้เป็น ทั้งนี้เพราะปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะคือ ท่านไม่เพียงติเตียนสิ่งที่ควรติเตียนเท่านั้น แต่ยังได้แสดงความเห็นความเข้าใจที่ผิดพลาด และประกาศข้อปฏิบัติดีงามบางอย่างที่ท่านนำมาถืออย่างผิดๆ ออกมาด้วย ทำให้ไม่ได้รับความเชื่อถือตามที่ควร และทำให้เกิดประเด็นขัดแย้งขึ้นมาใหม่ ประเด็นขัดแย้งใหม่นี้บางทีก็กลับเด่นขึ้นมากลบทับ หรือบดบังปัญหาที่แท้ซึ่งควรได้รับการแก้ไขไปเสีย หรือสิ่งที่เขาปฏิบัติกันมาผิดควรจะได้รับการแก้ไข ท่านก็ปฏิบัติผิดไปเสียอีกสุดทางหนึ่ง กลายเป็นเพิ่มปัญหาขึ้นมาเสียเองใหม่อีก พวกเก่าที่ผิดก็กลับได้โอกาสไม่ต้องแก้ไขตนเอง นอกจากนั้น ท่านก็ตั้งตัวอยู่บนฐานที่มีจุดอ่อนในตนเอง ประการสุดท้าย ผู้อื่นในวงการพระศาสนาด้วยกัน ซึ่งต้องการเห็นการแก้ไขปรับปรุง ก็ไม่อาจเห็นชอบด้วยกับท่าน และกลับกลายเป็นอยากเห็นตัวท่านได้รับการแก้ไขปรับปรุงไปเสียด้วยอีก ตัวอย่างเกี่ยวกับการกระทำที่ท่านแสดงออกอย่างเด่นชัด ซึ่งเป็นการผิดพลาดเสียหายโดยไม่จำเป็นจะต้องทำก็คือ การแก้ไขปรับปรุงด้วยวิธีละเมิดกฎหมาย และการพยายามแสดงตัวว่าอยู่นอกคณะสงฆ์ไทย

๑. พระโพธิรักษ์เห็นว่า กฎหมายคณะสงฆ์เป็นเครื่องขัดขวาง ทำให้ท่านเผยแพร่คำสอนและปฏิบัติตามหลักการของท่านไม่ได้หรือไม่สะดวก เช่นการที่พระสงฆ์ต้องสังกัดวัด เป็นต้น ท่านจึงไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมายคณะสงฆ์ แต่กฎหมายคณะสงฆ์นั้นรัฐตราไว้ นอกจากเพื่อส่งเสริมคุ้มครองพระศาสนาแล้ว ก็มุ่งเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติด้วย พระภิกษุสงฆ์ เมื่อเป็นพลเมืองของประเทศใด หรืออยู่ในดินแดนของประเทศใด ก็ต้องเอื้อเฟื้อต่อกฎหมายของประเทศนั้น ถ้าพระสงฆ์ในประเทศไทยทั้งหมด พากันไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นกฎหมายของประเทศ ก็จะต้องเกิดความระส่ำระสายวุ่นวายขึ้นในสังคม จริงอยู่ กฎหมายคณะสงฆ์ (คือกฎหมายที่รัฐตราไว้สำหรับการปกครองคณะสงฆ์) ก็เหมือนกฎหมายอื่นๆ อาจมีบทบัญญัติที่ไม่อำนวยผลดีบางอย่างเท่าที่ควร หรือทำให้การปฏิบัติดีบางอย่างไม่สะดวก หรือไม่เหมาะสมกับสภาพของกาลสมัยเป็นต้น ในกรณีเช่นนี้ วิธีปฏิบัติที่เป็นไปตามหลักการของสังคมประชาธิปไตย ก็คือ การดำเนินการเพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนั้น ไม่ใช่การฝ่าฝืนหรือละเมิด ฉะนั้น เมื่อสันติอโศกเห็นว่ากฎหมายคณะสงฆ์ไม่เอื้อต่อการปฏิบัติศาสนกิจ ก็ควรดำเนินการตามแบบแผนของสังคมที่ให้โอกาสอยู่แล้ว โดยพยายามให้มีการแก้ไขกฎหมายคณะสงฆ์ ซึ่งก็มีกลุ่มอื่นคณะอื่นพยายามดำเนินการกันอยู่บ้างแล้ว ไม่ใช่ใช้วิธีฝ่าฝืนละเมิดโดยไม่ปฏิบัติตาม ถ้าทำตามแบบแผนเช่นนี้ก็ย่อมเป็นที่ยอมรับได้ในหมู่อารยชน (การที่สันติอโศกอ้างว่า ไม่ขึ้นต่อกฎหมายคณะสงฆ์จึงไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายนั้น ไม่เป็นความจริง ดังเหตุผลที่กล่าวแล้วในข้อก่อนๆ)

๒. พระโพธิรักษ์พูดในทำนองที่ให้เห็นว่า พระสงฆ์ทั้งหลายทั่วไปในคณะสงฆ์ไทยประพฤติปฏิบัติไม่ถูกต้อง ท่านจึงขอลาออกไปอยู่นอกคณะสงฆ์ไทย เพื่อจะได้ประพฤติปฏิบัติได้ตามหลักการที่ท่านเห็นชอบ ในกรณีนี้ การลาออกของท่านไม่สำเร็จผล และไม่มีความหมายใดๆ เลย (ดังกล่าวแล้วในข้อก่อนๆ) ยิ่งกว่านั้น ก็เป็นการกระทำที่ไม่มีความจำเป็นใดๆ ทั้งนี้เพราะว่า พระภิกษุที่ประพฤติเหลวไหลต่างๆ ก็เป็นเพียงบางกลุ่มบางพวกในคณะสงฆ์ไทย และถ้าท่านมีเจตนาดีจริงๆ ก็ควรอยู่ช่วยกันแก้ไขปรับปรุงภายในคณะสงฆ์เอง ก็จะเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลแก่พระศาสนาได้มากขึ้น และในส่วนที่ตัวท่านเองผิดพลาดบกพร่อง ผู้อื่นก็จะได้ช่วยแก้ไขปรับปรุงให้ท่านได้สะดวกขึ้นด้วย ในคณะสงฆ์ไทยนี้ ยังมีช่องสำหรับผู้ที่จะช่วยสร้างสรรค์ปรับปรุงได้อยู่ กรณีที่ท่านอ้างให้เห็นว่า พระสงฆ์ในคณะสงฆ์ไทยประพฤติผิดแปลก หรือไม่มีช่องที่ท่านจะอยู่ร่วมได้นั้น ไม่เป็นความจริง ดังเช่น

ก) ข้อเขียนที่เป็นคำแถลงของสันติอโศกเอง ดังข้อความ ว่า “…แต่มีลัทธินิยมที่ผิดแผกแตกต่างกันไป เช่นอย่าง สวนโมกข์, ธรรมกาย, สันติอโศก, มหาเถรสมาคม ฯลฯ เป็นต้น” (ฟังเสียงกวางน้อย, พุทธสถานสันติอโศก, ๒๒ มิ.ย. ๒๕๓๑, หน้า ๙) ทำให้มองเห็นไปได้ว่า สันติอโศกไม่รู้จัก ไม่เข้าใจอะไรเลย เกี่ยวกับระบบการปกครองคณะสงฆ์ที่ท่านคิดว่าท่านได้ขอลาออกไปแล้ว ข้อความข้างต้นนั้น เป็นการจับเอาสิ่งที่เป็นคนละเรื่องคนละประเภทมาเรียงเข้าชุดกัน เหมือนกับคำพูดว่า “ท้องถิ่นที่แตกต่างกันไป ดังเช่น จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครปฐม และคณะรัฐมนตรี” ซึ่งผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจอ่านแล้ว ย่อมมองเห็นเป็นคำพูดที่ชวนขบขัน ข้อความข้างต้นแสดงว่า สันติอโศกเข้าใจว่า คณะของตนเป็นคณะสงฆ์หนึ่ง และมหาเถรสมาคมเป็นอีกคณะสงฆ์หนึ่ง ซึ่งความจริง มหาเถรสมาคมเป็นองค์กรสำหรับทำหน้าที่ปกครองเท่านั้น และสันติอโศกเข้าใจว่า สวนโมกข์ก็ต่างหากจากมหาเถรสมาคม เช่นเดียวกับคณะของตน ถ้าสันติอโศกมีความเข้าใจในเรื่องราวเหล่านี้สับสนไม่รู้จักไม่เข้าใจอะไรเสียเลย การพิจารณาตัดสินใจต่างๆ ของสันติอโศกจะวุ่นวายสับสนเพียงใด และจะเป็นที่ยอมรับได้อย่างไร (พึงสังเกตว่า ข้อเขียนของสันติอโศก จะมีลักษณะอย่างนี้บ่อย ๆ )

อนึ่ง พึงสังเกตด้วยว่า ท่านพุทธทาส ที่สันติอโศกนำคำประพันธ์ของท่าน มาอ้างในหนังสือแถลงของตนนั้น ท่านก็อยู่ในคณะสงฆ์ไทยโดยสมบูรณ์ ทั้งโดยกฎหมาย(เช่นเดียวกับสันติอโศก) และโดยที่ท่านไม่เคยประกาศตัวแยกออกไป (ต่างจากสันติอโศก) เมื่อท่านพุทธทาสทำงานปรับปรุงพื้นฟูต่างๆ ทางพระศาสนา ท่านก็ไม่ต้องประกาศตัวแยกจากคณะสงฆ์ไทย ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำ และถึงทำก็ไม่ได้มีผลอะไรดังได้กล่าวแล้ว

ข) สันติอโศกพูดในทำนองที่ให้เห็นว่า พระสงฆ์ในคณะสงฆ์ไทยห่มจีวรสีเหลือง ผิดวินัย ถ้าท่านอยู่ในคณะสงฆ์ไทย ท่านก็จะต้องห่มจีวรสีเหลือง และผิดวินัยด้วย ท่านจึงต้องแยกออกไป คำพูดเช่นนี้มีความผิดพลาดซ้อนสองชั้นด้วยกัน

๑) สีจีวรที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติห้ามมิให้ พระสงฆ์ใช้มี ๗ สี คือ คราม เหลือง แดง บานเย็น แสด ชมพู และดำ โดยนัยนี้ ถ้าพระภิกษุรูปใดใช้จีวรสีเหลืองก็ย่อมผิดวินัย แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า พระสงฆ์ในประเทศไทย ไม่ได้ใช้จีวรสีเหลือง สีจีวรพระไทยที่เห็นกันมากแบบหนึ่งนั้น เป็นสีกึ่งแดงกึ่งเหลือง ไม่เหมือนสีที่มีชื่อเรียกสีใดเลย แต่เพื่อให้พูดจากันรู้เรื่อง จึงได้เรียกด้วยสีที่เทียบเคียงว่า ผ้าเหลือง แต่ไม่ได้หมายความว่าเหลืองจริงๆ (คล้ายกับที่บางคนเรียกสีจีวรของชาวสันติอโศกว่า จีวรดำ ซึ่งก็ไม่ใช่สีดำจริง เพราะถ้าดำจริงก็ผิดวินัย) บางทีก็เรียกให้เฉพาะเข้าว่าสีจีวรพระ ดังนั้น ชาวสันติอโศกจึงควรเบาใจได้ในประการที่หนึ่งว่า ถ้าจะห่มจีวรสีอย่างที่พระไทย(จำนวนหนึ่ง)ห่มกันอยู่ ก็ไม่ผิดวินัย

๒) อย่างไรก็ตาม พระสงฆ์ไทยอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งก็มีจำนวนไม่น้อยเลย ห่มจีวรสีกรักหม่น ถ้าชาวสันติอโศกไม่ชอบสีอย่างแรก หรือยังไม่สบายใจที่จะห่มสีอย่างนั้น ก็สามารถเลือกห่มจีวรสีกรักหม่นนี้ได้

ด้วยเหตุนี้ เรื่องสีจีวรไม่เป็นเหตุผลใดๆ เลย ที่สันติอโศกจะสามารถนำไปยกเป็นข้ออ้าง ในการที่จะออกจากคณะสงฆ์ไทย

ค) ชาวสันติอโศกไม่โกนคิ้ว แต่เหตุผลที่อ้างในการไม่โกนคิ้วนั้นว่า เพื่อไม่ให้เหมือนพระสงฆ์ในคณะสงฆ์ไทย จะได้ไม่มีใครฟ้องได้ว่าแต่งกายเลียนแบบคณะสงฆ์ไทย การอ้างในข้อนี้ไม่มีผลและไม่มีความหมายใดๆ เลย เพราะพระโพธิรักษ์ยังอยู่ในคณะสงฆ์ไทยตามกฎหมายโดยสมบูรณ์ (เว้นแต่จะได้ต้องอาบัติหนักจนขาดจากความเป็นพระภิกษุ) คำพูดในข้อนี้แทนที่จะเป็นว่า “พระสันติอโศกไม่อยู่ในคณะสงฆ์ไทย จึงไม่โกนคิ้ว เพื่อไม่ให้เป็นการแต่งกายเลียนแบบพระในคณะสงฆ์ไทย” ก็กลายเป็นจะต้องเปลี่ยนใหม่ว่า “พระสันติอโศกแต่งกายให้ผิดแปลกจากพระสงฆ์ไทย ทั้งๆ ที่อยู่ในคณะสงฆ์ไทย”

บางคราว สันติอโศกจะพูดในทำนองที่ให้คนเข้าใจว่า พระสงฆ์ไทยโกนคิ้ว ผิดวินัย เพราะพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า ให้พระสงฆ์โกนผมและหนวดเท่านั้น ไม่ได้สั่งไว้ให้โกนคิ้ว และคณะสงฆ์ในประเทศอื่นๆ ก็ไม่โกนคิ้ว เรื่องโกนคิ้วนี้กล่าวได้ว่าเป็นลักษณะเฉพาะของพระสงฆ์ไทย ไม่ใช่เรื่องว่าผิดวินัยหรือไม่ จัดเข้าในประเภทขนบธรรมเนียมประเพณี ถ้าขนบธรรมเนียมประเพณีนั้นไม่ขัดกับพระวินัย (ไม่ได้บัญญัติห้ามว่าไม่ให้โกนคิ้ว) หรือช่วยเสริมวินัยให้มั่นขึ้น ก็เป็นการชอบ ตัวอย่างเช่น ในประเทศไทย มีประเพณีว่าพระสงฆ์ใช้ผ้ารับประเคนของจากสตรี ไม่รับจากมือโดยตรง การใช้ผ้ารับประเคนนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติเป็นวินัยไว้ และพระสงฆ์ในประเทศอื่นๆ ก็ไม่ใช้ผ้ารับประเคนของจากสตรี ในกรณีนี้ประเพณีช่วยเสริมการรักษาวินัยให้มั่นขึ้น จึงได้ส่งเสริมและยึดถือปฏิบัติกันมา

การที่พระสงฆ์ไทยโกนคิ้วนั้น สันนิษฐานได้อย่างหนึ่งว่า จะให้พระภิกษุต่างจากคฤหัสถ์ที่โกนหัว ซึ่งโกนแต่ผมอย่างเดียว อันเป็นที่นิยมกันบ้างในคนบางหมู่บางพวกบางยุคบางสมัย การทำเช่นนี้ จะเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้ภิกษุสามเณรบางรูป ที่คะนองปลอมตัวเป็นคฤหัสถ์ไปในที่ต่างๆ เป็นเครื่องช่วยคุมไว้อีกชั้นหนึ่ง ในกรณีที่เป็นเช่นนี้ ก็จัดได้ว่าเป็นประเพณีเสริมพระวินัย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< การอยู่มาได้นานโดยไม่ถูกจัดการ แสดงว่าไม่ผิดกฎหมาย?พระสงฆ์กับการเมือง >>

No Comments

Comments are closed.