แม้แต่ธรรมก็ต้องมีดุลยภาพ

29 ธันวาคม 2534
เป็นตอนที่ 12 จาก 19 ตอนของ

แม้แต่ธรรมก็ต้องมีดุลยภาพ

ทีนี้ ดุลยภาพยังไม่หมด ยังมีดุลยภาพที่ลึกซึ้งไปกว่านั้นอีก เมื่อกี้นี้พูดถึงดุลยภาพ มาถึงดุลยภาพของใจ และดุลยภาพระหว่างกายกับใจ นอกจากนี้ยังมีดุลยภาพที่ลึกลงไปกว่านั้นคือ ดุลยภาพแห่งธรรม

ธรรมก็มีดุลยภาพเหมือนกัน คือ การปฏิบัติธรรม หรือทำความดีอะไรต่างๆ ต้องมีดุลยภาพ กล่าวคือ ความพอเหมาะพอดีเหมือนกัน ถ้าไม่พอเหมาะพอดี ก็เกิดโทษ ยกตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เช่นอย่างศรัทธาที่เราฟังกันมา มีเรื่องศาสนาก็ต้องมีเรื่องศรัทธา

สำหรับคนที่เข้ามานับถือศาสนานั้น คำที่ได้ยินบ่อย ก็คือคำว่า ศรัทธา ได้แก่ความเชื่อ ซึ่งต้องมีไว้เป็นหลักสำคัญอันหนึ่ง แต่ในทางพระพุทธศาสนาบอกว่า ศรัทธาที่เป็นคุณธรรมอย่างเดียวไม่พอ จะปล่อยให้ศรัทธาเรื่อยเปื่อยไปไม่ได้ ต้องมีดุลยภาพ สิ่งที่จะทำให้เกิดดุลยภาพ เข้าคู่กันกับศรัทธา ก็คือ ปัญญา

หลักนี้มาในหมวดธรรมที่เรียกว่า อินทรีย์ ๕ ประการ ท่านบอกว่าอินทรีย์ ๕ ต้องได้สมดุลต้องมีความสม่ำเสมอ พอเหมาะพอดีกัน นี่ก็คือ หลักดุลยภาพนั่นเอง

อินทรีย์ ๕ นั้นมีที่ต้องเข้าคู่กันสองคู่ คู่ที่หนึ่งก็คือ ศรัทธา กับ ปัญญา ศรัทธามีไว้ ถ้ามากเกินไปไม่มีปัญญาคุม จะกลายเป็นความงมงาย เชื่อไปตามเขาหมดอะไรๆ ก็เชื่อ หลงใหลโน้มใจเชื่อง่าย ถูกหลอกง่าย ใครเขาอยากจะหลอกก็หลอกได้ง่าย

ในทางตรงข้าม ถ้ามีแต่ปัญญา ใช้แต่ปัญญา ก็มักมองอะไรข้ามไปง่ายๆ บางทีก็เอาแต่ความรู้ที่ตัวมีอยู่ไปวินิจฉัย คอยจะปฏิเสธไปหมด หรือไม่ก็คิดฟุ้งซ่านไป ไม่ยอมตั้งหลักพิจารณา ไม่ยอมจับหรือรับเอามาพิจารณาก็เลยเป็นคนที่จับอะไรเป็นจุดเป็นหลักไม่ค่อยได้ บางทีก็กลายเป็นฟุ้งซ่านไป นี่เรียกว่ายึดไปข้างปัญญามากเกินไป

เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่าต้องปรับศรัทธากับปัญญาให้สมกัน ให้พอดีกัน ศรัทธาเป็นตัวช่วย ถ้าทำให้ถูกต้องก็เป็นตัวนำไปสู่ปัญญา และช่วยเสริมปัญญา แต่ถ้าใช้ไม่เป็น ศรัทธาก็มาขวางปัญญา

ทำไมศรัทธาจึงขวางปัญญา เพราะว่าถ้าเชื่อแล้วเขาว่าอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น ก็เลยไม่ได้ปัญญาอะไรขึ้นมา

แต่ในทางตรงข้าม ที่ว่าศรัทธาเสริมปัญญานั้นเป็นอย่างไร ก็คือ มันเป็นจุดให้เราเริ่มต้นได้ เราเห็นว่าสิ่งนี้ดีมีเหตุผลเข้าทีเรารับฟังมา หรือฟังท่านผู้นี้พูดมีเหตุมีผลน่าเชื่อ ศรัทธาก็เกิดขึ้น พอศรัทธาเกิดขึ้นก็ได้จุดที่จะนำมาพิจารณา และถ้าเอาจริงเอาจัง ศรัทธาเป็นตัวที่ทำให้เกิดพลังว่า ต่อไปนี้เราจะคิดเรื่องนี้จริงจัง ได้จุดที่จะไปศึกษาค้นคว้า

คนที่จะไปศึกษาค้นคว้าเรื่องอะไร มันต้องมีจุดมีเป้าที่ชัดเจน และต้องเริ่มที่ศรัทธา ศรัทธาเป็นตัวจับเอาไว้ พอศรัทธาเป็นตัวส่งแรงไปแล้ว ปัญญาก็ค้นในเรื่องนั้นไปจริงจัง จนกระทั่งสำเร็จได้ปัญญาเห็นแจ่มแจ้งโดยสิ้นเชิง พอปัญญาจบสิ้นแล้ว ก็บอกว่าอยู่เหนือศรัทธา ไม่ต้องอาศัยศรัทธาอีก

ตอนแรกศรัทธากับปัญญาต้องมีดุลยภาพ ได้สมดุลกัน ศรัทธาก็มาเป็นตัวเสริมช่วยตั้งจุดเริ่มต้นให้ปัญญา ปัญญาก็มาคุมศรัทธาไว้ และอาศัยศรัทธาเป็นตัวชี้นำทางพุ่งไปทำให้มีกำลังที่จะศึกษาค้นคว้าได้เต็มที่ ดังนั้น ก็ต้องใช้ศรัทธากับปัญญาให้เป็น จึงต้องมีดุลยภาพ ดังที่ท่านบอกว่าต้องปรับศรัทธากับปัญญาให้สมกัน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< คนโง่ เสียดุลยภาพกายแล้วก็พลอยเสียดุลยภาพใจไปด้วย คนฉลาด เอาดุลยภาพใจมาช่วยดุลยภาพกายถ้าจัดธรรมเข้าดุลได้ ก็ไม่พลาดจากผลที่มุ่งหวัง >>

No Comments

Comments are closed.