- (นำเรื่อง)
- – ๑ – เลี้ยงลูก
- – ๒ – ดูแลครอบครัว
- สรุป
– ๑ –
เลี้ยงลูก
พ่อ-แม่เลี้ยงลูก คือสร้างสรรค์โลก
ปุจฉา: ในฐานะที่ครอบครัวเป็นรากฐานของการปลูกฝังคุณธรรม ชาวพุทธควรอบรมเลี้ยงดูให้สมาชิกมีคุณธรรม ระหว่าง พ่อ-แม่-ลูก ระหว่างพี่น้อง ควรเลือกใช้หลักอย่างไรคะ
วิสัชนา: หลักปฏิบัติทั่วไปโดยพื้นฐานกว้างๆ มีอยู่แล้ว หลักพื้นฐานเริ่มจากพ่อแม่เป็นหัวหน้าครอบครัว พ่อแม่เป็นผู้นำ ส่องแสงสว่าง ท่านยกให้พ่อ-แม่ เป็นเหมือนทิศตะวันออก คือทิศที่พระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งมีความสำคัญมาก คือ ดวงอาทิตย์ขึ้นมาก็ส่องแสงสว่าง นำทางการดำเนินชีวิตของคนและสัตว์ทั้งหลาย ชีวิตของลูก พ่อ-แม่ ก็เป็นแบบอย่างและให้ความสว่าง คือให้ความรู้ ความเข้าใจ บอกวิธีดำเนินชีวิต ให้แม้แต่ชีวิตของลูก
พระพุทธเจ้าทรงแสดงฐานะของพ่อแม่ไว้ว่า
๑. เป็นพระพรหม เป็นผู้ให้กำเนิด เป็นผู้สร้างชีวิตให้กับลูก แล้วก็เป็นผู้เลี้ยงลูก เป็นผู้แสดงโลกนี้แก่ลูก
๒. เป็นบูรพาจารย์ของลูก คือ เป็นครูอาจารย์คนแรก สอนตั้งแต่ กิน ดื่ม นั่ง นอน เดิน พูด ทุกอย่างที่จะใช้ในการดำเนินชีวิต หรือเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเองต่อไป
๓. เป็นอาหุไนยบุคคลของลูก อาหุไนยบุคคลนี้เป็นคำเรียกพระอรหันต์และพระอริยะทั้งหลาย ในสังคมไทยจึงเรียกพ่อแม่ง่ายๆ ว่าเป็นพระอรหันต์ของลูก คือมีคุณธรรม อย่างน้อยท่านมีจิตใจบริสุทธิ์ต่อลูก รักลูกด้วยใจจริง ไม่มีอะไรเคลือบแฝง
ฐานะทั้ง ๓ ประการนี้ถือว่าเป็นสำคัญ ขอย้ำอีกครั้งว่า หนึ่ง เป็นพระพรหม สอง เป็นบูรพาจารย์ สาม เป็นพระอรหันต์ของลูก
คุณธรรมที่จะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี ข้อสำคัญก็คือ เมื่อเป็นพระพรหม พ่อแม่ก็เลี้ยงลูกมาโดยมีหลักคือ พรหมวิหาร ๔ ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ซึ่งโดยสาระสำคัญทั้ง ๔ ข้อรวมแล้วก็มี ๒ ด้าน
ด้านที่หนึ่งคือ ด้านความรู้สึก หมายถึง ความรู้สึกที่ดีงาม ถ้าเรียกเป็นภาษาอังกฤษก็คือ positive emotion คือ พ่อแม่โดยพื้นใจไม่มีความรู้สึกโกรธเคือง ชิงชัง รังเกียจ คิดร้าย เอาเปรียบ เป็นต้นต่อลูก มีแต่ความรู้สึกในทางที่ดี คือ เมตตา ความรัก ความปรารถนาดี กรุณา สงสาร คิดจะช่วยเหลือให้พ้นทุกข์ มุทิตา ยินดีด้วยเมื่อประสบความสุข ความสำเร็จ ทำอะไรได้ดีก็ชื่นชม แล้วก็ส่งเสริม ทั้งสามนี้เป็นความรู้สึกที่ดี ทำให้ชีวิตความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-แม่-ลูก รวมไปถึงในครอบครัวทั้งหมดมีความรัก ความอบอุ่น มีความร่าเริง ผ่องใส มีความอ่อนโยน เป็นสุข นี่เป็นด้านความรู้สึก
ส่วนอีกด้านหนึ่งก็คือ ด้านความรู้ พ่อ-แม่จะมีเพียงด้านความรู้สึกไม่ได้ ต้องมีความรู้ และรู้จักใช้ปัญญาด้วย เพราะหลักทั่วไปมีอยู่ว่า คนเรามีชีวิต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ และกฎที่เป็นของธรรมชาตินี้ ไม่เข้าใครออกใคร พ่อแม่จะใช้ความรู้สึกไปช่วยเหลืออย่างไร ก็ทำเกินกฎธรรมชาติไม่ได้ ด้านนี้แหละถ้าพ่อแม่รุกล้ำเข้าไปจะทำให้เสีย
คนเราทุกคนนี้มีความเป็นมนุษย์อยู่ ๒ ด้านในเวลาเดียวกัน คือ
๑. ด้านที่เป็นชีวิต ซึ่งเป็นไปตามกฎธรรมชาติ และ
๒. ด้านที่เป็นบุคคล ซึ่งอยู่ร่วมในสังคม
พ่อแม่จะช่วยได้มากที่สุดก็คือ ด้านที่ลูกเป็นบุคคลผู้อยู่ในสังคม ซึ่งพ่อ-แม่เข้าถึงได้โดยตรง ในด้านนี้ พ่อแม่ควรส่งเสริมความรู้สึกที่ดี ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีงาม รัก ให้ความอบอุ่น ให้มีความสุภาพ อ่อนโยน จิตใจดี
ส่วนด้านที่ลูกเป็นชีวิตซึ่งเป็นไปตามกฎธรรมชาตินั้น พ่อแม่เข้าถึงโดยตรงไม่ได้ จะใช้แค่ความรู้สึกไม่ได้ แต่ต้องใช้ความรู้ โดยสื่อผ่านปัญญาจึงจะโยงไปถึงด้านธรรมชาติของเขา ด้านที่เป็นธรรมชาติของชีวิตนั้นต้องใช้ปัญญา ความจริงด้านนี้เป็นด้านสำคัญที่ลูกจะต้องพัฒนาเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง
ด้านที่หนึ่ง พ่อแม่มีความรู้สึกดีงาม รัก ผูกพัน จะคอยให้ความช่วยเหลือ และจะทำให้
แต่พอถึงด้านที่สอง ชีวิตของลูกเป็นของเขาเอง เขาต้องอยู่กับความเป็นจริง เริ่มตั้งแต่ร่างกายของเขาก็ต้องอยู่ใต้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ต้องกินอาหาร ต้องขับถ่าย ฯลฯ ถ้ากินอยู่ไม่ถูกต้องก็จะเจ็บป่วย หรือเสียสุขภาพ เขาต้องรู้จักเป็นอยู่ให้ถูกต้อง และจะต้องรับผิดชอบชีวิตของเขาเองต่อไป เพราะฉะนั้นเขาจึงต้องได้รับการเตรียมความพร้อมที่จะให้รับผิดชอบตนเองได้ ต้องเติบโต เจริญงอกงาม ต้องมีคุณสมบัติ มีความรู้ความสามารถของตนเอง ซึ่งพ่อแม่ทำให้ไม่ได้ แต่พ่อแม่สามารถช่วยเกื้อหนุน โดยใช้ปัญญาประสานกับอารมณ์ หรือเอาความรู้มาประสานกับความรู้สึก
ในเมื่อพ่อแม่มีความรู้สึก เช่นรักลูกเป็นต้นแล้ว ก็โยงต่อไปสู่ด้านความรู้ คือเรารักเขา อยากให้เขาเป็นคนเก่ง คนดี มีความสุขต่อไป แต่ชีวิตเป็นของเขา ซึ่งเขาจะต้องรับผิดชอบตนเอง เราจะช่วยเขาได้อย่างไร ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาว่า เขาต้องทำอะไรบ้าง ต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง และด้วยการใช้ความรู้ หรือใช้ปัญญา ก็คิดพิจารณาว่าจะเตรียมฝึกให้เขาทำอะไรอย่างไร
การที่ใช้ปัญญาคิดไว้ล่วงหน้านี้ จะทำให้เตรียมหาแบบฝึกหัด หรือเตรียมกิจกรรมเพื่อฝึกลูกอย่างหลากหลาย ตรงนี้ก็กลายเป็นว่า พ่อแม่ไม่ทำให้เขาแล้ว แต่เฉยเพื่อดูให้เขาทำ ตรงนี้แหละเรียกว่า อุเบกขา คือข้อที่ ๔ ของพรหมวิหาร ๔
ฉะนั้นในพรหมวิหารจึงมี ๒ ภาค คือ ภาคความรู้สึก ได้แก่สามข้อแรก แยกเป็น เมตตา กรุณา มุทิตา และภาคปัญญา ซึ่งแสดงออกที่อุเบกขา ได้แก่การวางท่าทีหรือวางตัวเฉยไว้ ไม่ทำให้ แต่คอยดูให้เขาทำ
ปุจฉาแทรก: อุเบกขาที่ท่านอธิบายนี้ ชาวบ้านไม่ค่อยเข้าใจ อาจจะสับสน หรือเข้าใจกันมาผิดๆ
วิสัชนา: คงเป็นความเข้าใจพร่อง หรือเพี้ยนไป กลายเป็น “เฉยโง่” เสียแหละมาก
“อุเบกขา” แปลว่า การคอยดูอยู่ใกล้ๆ ในกรณีนี้หมายความว่า แทนที่เราจะทำให้ ก็ให้เขาทำเอง แต่เราก็ดูอยู่ เหมือนกับบอกว่า เรื่องนี้เธอจะต้องทำให้เป็นเองนะ แล้วก็ให้เขาทำ แล้วเราคอยดูอยู่ใกล้ๆ เมื่อเขาทำผิด หรือทำถูก เราก็จะได้ชี้แนะ และเมื่อเขาสงสัยเขาจะได้ถามเรา พ่อแม่ก็ทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษา
อุเบกขา จึงหมายความว่า พ่อแม่คอยดูให้ลูกทำ โดยเป็นที่ปรึกษา คอยตอบ คอยแก้ คอยแนะ ให้เขาเรียนรู้ ให้เขาฝึก แต่พ่อแม่ไม่ทำให้ เพื่อให้เขาหัดทำด้วยตนเอง ตรงนี้แหละจะทำให้เด็กได้พัฒนามาก ดังนั้น อุเบกขาจึงเป็นข้อสำคัญที่ให้โอกาสแก่เด็ก เพื่อจะมีการพัฒนา
ถ้าเราเอาแค่จิตใจคือด้านความรู้สึก โดยมีเมตตา กรุณา มุทิตา เด็กจะพัฒนาในส่วนที่มีความรัก ความอบอุ่น เป็นคนอ่อนโยน ละมุนละไม มีความสุข แต่จะอ่อนแอ และพึ่งพา ทำอะไรไม่เป็น และถ้ามากเกินไปเด็กก็จะกลายเป็นนักเรียกร้อง ไม่รู้จักพอ ดังนั้นจึงต้องใช้ด้านปัญญาโดยเอาอุเบกขามาสร้างความสมดุล อะไรที่เด็กควรรับผิดชอบตนเองให้ได้หรือควรหัดทำให้เป็น พ่อแม่จะวางเฉย ไม่ขวนขวายทำให้ แต่เฉยโดยคอยดูอยู่ คือเฉยมอง ไม่ใช่เฉยเมย เฉยเมิน หรือเฉยไม่รู้เรื่องและเฉยไม่เอาเรื่อง ซึ่งกลายเป็นอัญญาณุเบกขา คือ เฉยโง่
การวางเฉยของอุเบกขาหมายถึงเฉยด้วยปัญญา เพราะรู้ว่าเรื่องนี้สมควรทำอย่างนี้ โดยมีเหตุผลอย่างนี้ ซึ่งโดยมากเป็นการวางเฉยเพื่อให้เขาทำ ตนเองจะได้ดู โดยสังเกตว่าเขาทำอะไรเป็น หรือไม่เป็น และเราควรจะแก้ไข หรือฝึกฝนลูกอย่างไร
ถ้าพ่อแม่มีเมตตา กรุณา มุทิตามากเกินไป จะกลายเป็นว่าพ่อแม่ขัดขวางการพัฒนาของลูกเสียเอง จึงต้องมีอุเบกขามาช่วยดุลให้พอดี เพื่อให้ลูกมีโอกาสพัฒนาตัวเอง ซึ่งจะทำให้เด็กมีความเข้มแข็ง รับผิดชอบตนเองได้ ช่วยให้การเจริญเติบโตของเด็กเป็นไปทั้ง ๒ ด้านอย่างมีดุลยภาพ เป็นการเจริญเติบโตอย่างพอดี คือ ทั้งมีความอ่อนโยน มีความสุข ความอบอุ่น และพร้อมกันนั้นก็มีความเข้มแข็ง มีความสามารถ มีปัญญา รับผิดชอบตนเองได้
ถ้ามีการเอียงไปข้างหนึ่ง อย่างที่พูดเมื่อกี้ว่า เอียงด้านความรู้สึกมากไป ไม่มีอุเบกขา ขาดปัญญา เด็กก็จะอ่อนแอ ต้องคอยพึ่งพา และอาจเลยเถิดกลายเป็นนักเรียกร้อง ถ้าออกไปในระดับสังคมก็อาจจะเกิดโทษในแง่ที่ว่า เสียกฎกติกา และเสียความเป็นธรรม คือจะมีการช่วยเหลือกันในแง่ส่วนตัว โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรม แต่ถ้ามีอุเบกขาก็จะตรึงไว้ว่า ทุกอย่างต้องไม่เกินธรรม ไม่เกินความจริง จะช่วยกันต้องไม่เกินความถูกต้อง ถึงจะมีเมตตา กรุณา มุทิตา มาจะช่วย แต่ถ้ากระทบต่อหลักการกติกาก็หยุด อุเบกขาจะช่วยตรึงไว้ ดังนั้น อุเบกขาก็ช่วยรักษาความเป็นธรรมได้
อุเบกขา นอกจากจะทำให้คนเข้มแข็ง รู้จักรับผิดชอบ และเจริญเติบโตพัฒนาได้ดีแล้ว ก็ยังรักษาความถูกต้องชอบธรรมในสังคม เช่นรักษาความยุติธรรมได้ด้วย ดังนั้นสังคมก็จะอยู่ดี ตั้งแต่สังคมในครอบครัว
อย่างไรก็ตาม ถ้ามีอุเบกขาที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เฉยแบบไม่รู้เหตุผล คือเรื่อยเฉื่อย เฉยเมิน หรือเฉยเมย ก็อาจจะทำให้เด็กเสียได้ คือเด็กไม่ได้รับการเอาใจใส่ มีชีวิตที่แห้งแล้ง ขมขื่น ซึ่งจะทำให้เด็กบางคนกลายเป็นคนแข็งกระด้าง เหี้ยมเกรียม หรือเสียคน หรือบางคนอาจจะเก่งไปเลย เช่น เด็กที่ถูกทอดทิ้ง บางคนมีความคิดพัฒนาตัวเอง กลายเป็นคนเก่งเข้มแข็ง แต่อาจจะแข็งแบบกระด้าง ไม่มีน้ำใจ ไม่รู้จักเห็นใจใคร หรือคิดแก้แค้นสังคม
รวมความว่า อุเบกขาช่วยให้เข้มแข็ง แต่ถ้าขาดสามข้อแรกก็จะกระด้างไป ไม่เห็นอกเห็นใจใคร เพราะฉะนั้นจึงต้องมีความพอดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก จะต้องเน้นให้ตระหนักว่าครอบครัวเป็นตัวอย่าง เป็นที่พิสูจน์ว่าสังคมจะอยู่ดีได้หรือไม่ ถ้าพ่อแม่สามารถรักษาพรหมวิหาร ๔ ให้สมดุลไว้ได้ดี ครอบครัวก็จะมีความเป็นอยู่ดี เป็นรากฐานที่ดีของสังคม เด็กที่เติบโตออกไปอยู่ในสังคม ก็จะช่วยสร้างสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างดี
No Comments
Comments are closed.